หนุนชุมชนกะเหรี่ยงท่าสองยางปลูกผัก เพิ่มความมั่นคงทางอาหารในฤดูแล้ง



หนุนชุมชนกะเหรี่ยงท่าสองยางปลูกผัก

เพิ่มความมั่นคงทางอาหารในฤดูแล้ง

            วิถีชีวิตที่อยู่กับป่าของกะเหรี่ยงบ้านแม่สะเปา ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่ดำรงชีพเคียงคู่กับป่ามานาน ในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินในชีวิตประจำวันมักจะรอคอยการเข้ามาของรถเร่ขายผักขายอาหาร หรือนานทีปีหนที่จะลงไปในเมืองเพื่อซื้ออาหารมากักตุน เพราะการเดินทางที่ลำบาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าเมืองที่ไกลออกไปกว่าหนึ่งร้อยกิโลเมตร

            แม้ว่า การพึ่งพาอาหารที่หาได้จากป่าจะมีอยู่บ้าง แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง พืชผัก หรือสัตว์ป่าที่เคยหาได้ ก็เริ่มลดน้อยลง ส่งผลให้ในฤดูแล้งชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่สะเปาที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 200 คน ในเกือบ 50 หลังคาเรือน ต้องประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งอาหาร

            เพื่อแก้ปัญหาวิฤตขาดแคลนแหล่งอาหารในช่วงฤดูแล้งอย่างยั่งยืน ชาวชุมชนบ้านแม่สะเปา จึงได้เข้าร่วม โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการเรียนรู้และลงมือปลูกผักไว้รับประทานในครัวเรือน อันเป็นสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคง ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอีกทางหนึ่ง

            สุพรรษา เฟืองพงศ์พนา แกนนำที่ชักชวนชาวบ้านหันมาปลูกผักไว้รับประทาน เล่าว่า ชาวบ้านแม่สะเปาจะประกอบอาชีพทำไร่ บางส่วนก็จะเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาทำเป็นอาหารรับประทาน ซึ่งในช่วงฤดูฝนหรือฤดูทำการเกษตรชาวบ้านก็จะปลูกพืชผักไว้รับประทานบ้าง แต่เมื่อหมดฤดูการเกษตรทุกอย่างก็จะหยุดไปทุกอย่าง พืชผักที่ปลูกไว้ก็ไม่มีการดูแลต่อ เพราะต้องใช้น้ำฝนมาหล่อเลี้ยง ทำให้พืชผักที่ปลูกต้องล้มตาย หรือหากบ้านไหนมีพื้นที่ใกล้ลำธารก็พอจะปลูกได้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปในลักษณะปลูกแบบตามมีตามเกิด ขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง เพราะไม่มีความรู้ในการปลูกผักให้ได้กินอย่างถูกต้อง และชาวบ้านมีป่าให้ได้เข้าไปหาอาหารมากินมากมาย

            อย่างไรก็ตามหลายปีที่ผ่านมานี้ พืชผักในป่า หรือสัตว์ป่าเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่ชาวบ้านแทบจะหาของป่ามายังชีพไม่ได้เลย ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างมาก ถ้ายังเป็นแบบนี้ ชาวบ้านก็จะประสบปัญหาวนเวียนกันแบบนี้ทุกๆ ปี ดังนั้นจึงได้เข้าร่วมโครงการกับ สสส. เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ปลูกผักไว้รับประทานในครัวเรือนของตัวเอง และช่วยบรรเทาผลกระทบในฤดูแล้งไปได้บ้าง

            “ขณะนี้มีชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 26 หลังคาเรือน เบื้องต้นเราจะแจกเมล็ดพันธุ์ผักให้นำกลับไปปลูกที่บ้าน ซึ่งผักที่ส่งเสริมให้ปลูกจะเป็นผักที่นำมาประกอบอาหารเป็นประจำ เช่น ผักกาด พริก คะน้า ถั่วฝักยาว เป็นต้น และจะเชิญวิทยากรมาจัดอบรมการทำปุ๋ยหมัก และความรู้การปลูกผัก ทั้งการเตรียมดิน การเลือกพืชให้เหมาะสมตามฤดู เราไม่ได้บังคับว่าต้องปลูกกี่ชนิด แต่ของให้เขาได้ปลูก ได้เริ่ม เมื่อเขาเห็นผลดี เขาก็จะขยายการปลูกของเขาเอง ซึ่งต่อไปเราจะจัดประกวดครัวเรือนต้นแบบเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และให้ชาวบ้านได้ทำเป็นแบบอย่างต่อไป” สุพรรษา เล่า

            ด้าน เอ นพรัตน์ หัวหน้าหน่วยจัดการร่วม สสส. จังหวัดตาก กล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านสะเปา แม้จะคุ้นเคยการทำเกษตร แต่การปลูกผักให้ได้กินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาก็จะปลูกแบบไม่ค่อยดู เพราะคิดว่าไปหาของในป่าง่ายกว่า และยังมีปัญหาเรื่องของสภาพดินบางจุดไม่เอื้อต่อการปลูกพืช รวมถึงแหล่งน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งปัญหาต่างๆ นี้ ทาง สสส.จะเข้ามาช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ให้ชาวบ้านมีการจัดการที่ดี เรียนรู้ และประยุกต์การปลูกผักให้ได้กิน แล้วผักที่ปลูกนั้นกินแล้วต้องมีประโยชน์ ไร้สารเคมี ปลอดภัยต่อสุขภาพ

          

     นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ชาวบ้านรวบรวมสรรพคุณพืชสมุนไพรพื้นบ้าน เพื่อเผยแพร่ต่อไป เพราะพืชพื้นถิ่นบางชนิด ชาวบ้านไม่รู้ว่ามีสรรพคุณเป็นยา ขณะเดียวกันโครงการนี้จะเข้าไปช่วยเชิงรุกด้านสุขภาพ โดยเราจะให้ความรู้เรื่องโภชนาการในการบริโภคผักและผลไม้ควบคู่ไปด้วย เพราะเด็กที่นี่ค่อนข้างผอม เมื่อเด็กได้บริโภคผักที่สะอาดปลอดภัย ควบคู่กับการมีโภชนาการที่ดี เขาก็จะเติบโตอย่างสมบูรณ์” เอ กล่าว

            โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่สะเปา ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนให้ชาวบ้านจากผู้หามาเป็นผู้ผลิต อันเป็นการสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย และช่วยเพิ่มความมั่งคงทางอาหารได้อีกหนึ่ง




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท