วิธีสังเกตว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน สำหรับประชาชนทั่วไป


บทความสั้นๆ ที่ทำให้พอรู้ได้ว่าเป็นสะเก็ดเงินหรือไม่ ใน 5นาที

นพ.นครัช พฤทธิ์รัตนาภา

แพทย์ผิวหนัง

สะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังแบบไม่ติดต่อชนิดหนึ่งที่พบบ่อย มีชื่อในภาษาไทยเดิมว่า “เรื้อนกวาง” ชื่อนี้มีความหมายไปทับซ้อนกับโรคผิวหนังอักเสบชนิดอื่น รวมทั้งชื่อที่สื่อความหมายน่ารังเกียจ ทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคเรื้อนหรือโรคติดต่ออื่น สร้างตราบาปทางสังคมและกระทบจิตใจผู้ที่เป็นโรคนี้ ปัจจุบันจึงมาใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สะเก็ดเงิน” โรคนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Psoriasis” โดยอ่านว่า ซอ-ไร-อา-สิด

ลักษณะผื่นของโรคสะเก็ดเงิน มีลักษณะเด่น 3 ประการคือ แดง/ขุย/หนา ผื่นที่ปื้นแดงมักมีสีแดงอมชมพูถึงแดงจัด ขุยของผื่นมีสีขาวสะท้อนแสงคล้ายสีเงิน จึงเป็นที่มาชื่อโรคสะเก็ดเงิน ผื่นมักมีความหนาเป็นปื้นยกตัวจากผิวหนังรอบด้านที่เป็นผิวปกติ เวลาลูบจะรู้สึกสะดุดและสากมือ ในผู้ป่วยสะเก็ดเงินบางรายอาจมีผื่นที่เป็นตุ่มหนองขึ้นได้ด้วย อาจมีอาการคันได้ เมื่อแกะสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดออกขนาดเล็ก ในบางคนเมื่อมีแผลหรือการบาดเจ็บในผิวหนังที่ปกติจะลุกลามทำให้เกิดผื่นใหม่ได้

ตำแหน่งของผื่นสะเก็ดเงิน ที่มักเป็นได้ คือ 1.บริเวณหัวเข่า 2.บริเวณข้อศอก 3.หนังศีรษะ ในผู้ป่วยสะเก็ดเงินบางรายอาจมีผื่นที่ตำแหน่งอื่นร่วมด้วยเช่น ใบหน้า ลำตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และเล็บ ในสะเก็ดเงินของเล็บอาจมีเล็บร่อนเป็นรอยหวำ แผ่นเล็บหยาบไม่เรียบ มีขุยหนาแผ่นเล็บแยกออกจากผิวหนังใต้เล็บ พบจุดหนองในเล็บ มีหลุมขนาดเล็กกระจายบนแผ่นเล็บ หรือสีของเล็บไม่สม่ำเสมอได้

ในผู้ป่วยสะเก็ดเงินอาจมีอาการร่วมโดยเฉพาะปวดข้อ มักพบได้บ่อยหลายตำแหน่งคือ นิ้วมือ นิ้วเท้า ใต้เท้า ส้นเท้า และปวดหลัง ปวดบั้นเอว เป็นต้น อาการปวดตามข้อนิ้วมือ-นิ้วเท้าในบางรายอาจมีนิ้วบวมรูปร่างคล้ายไส้กรอกได้

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ การสัมผัสผิวหนัง การอยู่ใกล้ชิด หรือรับประทานอาหารร่วมกัน ไม่ได้ทำให้ติดต่อไปยังคนอื่นได้ ผู้ป่วยสะเก็ดเงินมักมีความเครียด ควรให้ความเข้าใจดูแลเอาใจใส่และเห็นอกเห็นใจ

ผู้ป่วยสะเก็ดเงินบางรายอาจมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดโรคนี้ มีปัจจัยกระตุ้นได้หลายอย่างคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาบางชนิด โรคติดเชื้อ แกะเกาผิวหนัง มีบาดแผล โรคภายในร่างกาย ความเครียด และอดนอน เป็นต้น

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ มีวิธีการรักษาหลายชนิดแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน หากท่านสงสัยว่าเป็นสะเก็ดเงินควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

เอกสารอ้างอิง

1.ป่วน สุทธิพินิจธรรม.(2553). โรคสะเก็ดเงิน.ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.(เล่มที่35,หน้า270-291).กรุงเทพฯ:โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.

2.Li C, et al. Nail Psoriasis [Internet]. Medscape; 2017 [cited on 2018Jan 19]. Available from:https://emedicine.medscape.com/article/1107949-overview.

3.Mayo Clinic. Psoriaticarthritis [Internet]. 2016 [cited on 2018 Jan 19]. Available from:https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/psoriatic-arthritis/symptoms-causes/syc-20354076.

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ19 มกราคม 2561

หมายเลขบันทึก: 644045เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2018 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2018 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท