การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School - Based Management : SBM)


การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 

(School - Based  Management  :  SBM) 

ความเป็นมาและความหมาย

        การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานได้รับอิทธิพลมาจากวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ประสบผลสำเร็จ โดยมีหลักการ วิธีการ  และกลยุทธ์ ในการทำให้องค์กร  การมีประสิทธิภาพในการทำงาน  ทำให้ผลการปฏิบัติงานสูงขึ้น มีคุณภาพ  สร้างกำไร และสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น  โดยเน้นให้มีการทำงานแบบมีส่วนร่วมและมอบอำนาจให้มีการตัดสินใจเบ็ดเสร็จที่สาขา  หรือหน่วยงานย่อยในประเทศหรือเมืองต่างๆ  ในวงการศึกษาของสหรัฐอเมริกา  และประเทศต่างๆ   ได้แสวงหานวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงหลักสูตร จนกระทั่งปี ค.ศ.1980  เป็นต้นมามีการศึกษาพบว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นนั้น  ต้องปรับปรุงกระบวนการ โดยมุ่งปรับระบบโครงสร้างการบริหารโรงเรียนเสียใหม่   มีการกระจายอำนาจการบริหาร  และจัดการศึกษาไปยังโรงเรียนให้มากขึ้น  และให้โรงเรียนบริหารแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น     นอกจากแนวคิดในเรื่อง  การกระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษาไปยังสถานศึกษาแล้ว ยังเกิดกระแสเรื่องการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม (Shared -Decision Making Movement)  ขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและ  ในช่วงปลายทศวรรษที่  1980  ได้มีการใช้วิธีการและกระบวนการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแห่งแรก แล้วแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ  ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ขอบข่ายหรือภารกิจในการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน  (School-Based Management Tasks)  

       สรุปว่า

        การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน  (School - Based  Management : SBM)  หมายถึง   แนวคิดการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา จากส่วนกลางไปยังสถานศึกษา  โดยตรงให้สถานศึกษามีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากที่สุด

การนำรูปแบบ การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน มาใช้ในประเทศไทย

         ประการที่ 1 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

          ประการที่ 2  การนำการบริหารจัดการโรงเรียนฐาน (School Based Management: SBM)  มาใช้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งหลักการบริหารโรงเรียนสอดคล้องกับหลักการของธรรมาภิบาล เกือบทั้งหมดจึงเป็นการสอดรับกับ พระราชบัญญัติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการ บ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

          ประการที่ 3  ตามที่มี พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2545  มาตรา 39  ซึ่งบัญญัติไว้ว่า    มาตรา 39  กำหนดให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ  งบประมาณ  การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการ และสำนักงานเขตพื้นที่การ ศึกษาและ สถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง   และใน  พ.ร.บ. ระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 35  บัญญัติไว้ว่า     “สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา  34 (2)   เฉพาะที่เป็นโรงเรียนของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อมีการยุบเลิกสถานศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้ความเป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลง”

หลักสำคัญในการบริหารแบบโรงเรียนเป็นฐาน  

            1.การกระจายอำนาจการตัดสินใจไปสู่หน่วยปฏิบัติให้มากขึ้น

            2.การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการตัดสินใจให้สถานศึกษา

            3.มีอิสระในการบริหารจัดการตนเองอย่างมีอิสระภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยมีหน่วยงานต้นสังกัดดูแลด้านนโยบายและมาตรฐาน

            4.มีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบด้านคุณภาพ 

            5.มีมาตรฐานการจัดการศึกษามุ่งให้เกิดผลสำเร็จแก่สถานศึกษา

หลักการสำคัญของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานไว้  5 ประการ ได้แก่

         1.หลักการกระจายอำนาจ  (Decentralization)   ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจากกระทรวง และส่วนกลางไปยังสถานศึกษาให้มากที่สุด  โดยมีความเชื่อว่า  โรงเรียนเป็นหน่วยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาของเด็ก

          2.หลักการมีส่วนร่วม (Participation or Collaboration or Involvement) เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ได้มีส่วนร่วมในการบริหาร  ตัดสินใจ และร่วมจัดการศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีทั้งครู  ผู้ปกครอง  ตัวแทนชุมชน ตัวแทนศิษย์เก่า และตัวแทน  นักเรียน     การที่บุคคลเหล่านั้นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา   จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และจะรับผิดชอบในการจัดการศึกษามากขึ้น

          3.หลักการคืนอำนาจจัดการศึกษาให้ประชาชน (Return Power to People)  ความเจริญก้าวหน้าต่างๆ  เป็นไปอย่างรวดเร็ว  การจัดการศึกษาโดยส่วนกลางเริ่มมีข้อจำกัด  เกิดความล่าช้า  และไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและชุมชนอย่างแท้จริง  จึงต้องมีการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชนได้จัดการศึกษาเองอีกครั้ง  โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบครัว  องค์กรชุมชน  สถานประกอบการ  มีสิทธิจัดการศึกษาได้หรือการมีตัวแทนชุมชน  ผู้ปกครอง  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  องค์กรชุมชนไปร่วมเป็นคณะกรรมการโรงเรียน

         4.หลักการบริหารตนเอง (Self-management) โรงเรียนมีระบบการบริหารด้วยตนเอง  โดยให้โรงเรียนมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินงาน  ซึ่งอาจดำเนินการได้หลากหลายแนวทาง ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันแล้วแต่ความพร้อมและสถานการณ์ของโรงเรียน  ผลที่ได้น่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมที่ทุกอย่างถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง  ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

         5.หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมมาตรฐาน  มีองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการบริหารและการจัด การศึกษา  เพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นไปตามกำหนด และเป็นไปตามนโยบายของชาติ       คณะกรรมการโรงเรียน จะทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกันเสมอ

ลักษณะสำคัญของโรงเรียน ที่บริหารงานแบบ  (SBM)

       1. บุคลากรทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนด วิสัยทัศน์ พันธกิจ ของโรงเรียน

        2. ผู้บริหารมีการบริหารงานแบบเกื้อหนุน

       3. มีการพัฒนาทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง (Whole School Approach)

       4. ผู้นำมีการกระตุ้นบุคลากรในโรงเรียน

       5. การบริหารเชิงกลยุทธ์ เน้นการแก้ปัญหาได้ทันการ

       6. เน้นการทำงานเป็นทีม

       7. ผู้ปกครองมีส่วนในการสนับสนุนโรงเรียนอย่างเต็มที่

       8. ประเมินผลทั้งระบบ ( Input , Process ,Output)


ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จของการบิหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน  ได้แก่   

      1.  การกระจายอำนาจให้โรงเรียนอย่างแท้จริง

      2.  การบริหารแบบมีส่วนร่วม

      3.  การพัฒนาบุคลากร  

      4.  การใช้สารสนเทศเพื่อการบริหาร

     5.  ผู้บริหารโรงเรียนมีความรู้ความสามารถ 

     6.  วิสัยทัศน์ร่วมที่ชัดเจน

     7.  การให้รางวัลอย่างเหมาะสม

ปัญหาสำคัญของการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน   คือ  

     1.ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงนาน

     2.คณะกรรมการไม่มีความสามารถ  และไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ 

     3.โรงเรียนไม่ได้รับการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่และมักไม่ให้ ความสำคัญเรื่องการเรียนการสอนและผลการเรียนเท่าที่ควร


หมายเลขบันทึก: 643546เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2017 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2017 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท