มิวสิคแชริ่ง “ดนตรี” แบ่งปัน ปั้นฝัน ปันสุข ปลุกเด็กให้กล้าบิน



มิวสิคแชริ่ง “ดนตรี” แบ่งปัน

ปั้นฝัน ปันสุข ปลุกเด็กให้กล้าบิน

          เสียงดนตรี เคล้าเสียงหัวเราะหยอกเย้า แว่วมาจากบ้านดิน 2 ชั้นหลังกะทัดรัด กระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นยิ่งนัก เมื่อเดินลัดเลาะเข้าไปด้านใน จึงเห็นเด็กๆ ขะมักเขม้นกับการฝึกซ้อมดนตรีตามความสนใจของแต่ละคน ชั้นล่างถูกจัดเป็นที่ซ้อมตีกลอง ขณะที่ชั้นบนสอนคีย์บอร์ด เสียงดนตรีในบ้านหลังนี้ จึงอึกกะทึกโป๊กเป๊กตามเครื่องดนตรีที่เล่นกัน ขณะที่บ้านดินอีกหลักที่อยู่ใกล้ๆ กลับมีเสียงกีตาร์ดังกระหึ่มเป็นระยะๆ

            “ไอวี่” หรือ ภัทรานิษฐ์ สมสัก เด็กหญิงวัย 7 ขวบ ที่กำลังพยายามไล่ตัวโน๊ตบนคีย์บอร์ด เล่าว่า รู้สึกตื่นเต้นที่ได้หัดเล่นคีย์บอร์ดจริงๆ หลังจากซ้อมมือบนกระดาษมาจนจำคอร์ด และตัวโน๊ตได้ระดับหนึ่ง ทำให้รู้ว่าการเล่นคีย์บอร์ดไม่ได้ยากเกินไปสำหรับเด็ก ซ้ำพี่ๆ ที่มาช่วยสอน ยังต่อเพลงทีละท่อน ช่วยให้จดจำได้ง่ายขึ้น แม้ว่าตอนนี้จะเล่นค่อนข้างกระท่อนกระแท่น แต่ถ้าหมั่นฝึกซ้อมก็มั่นใจว่าทำได้

            เธอบอกว่า ปกติช่วงปิดเทอม มักจะอยู่บ้านเฉยๆ เมื่อรู้ว่ามีกิจกรรมดนตรีก็สนใจ และครอบครัวก็สนับสนุน คุณลุงมารับ-ส่งถึงที่ด้วยตนเอง เพราะอยากให้หลานมีพื้นฐานด้านดนตรี จะได้ใจเย็น มีสมาธิในการเรียน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป ที่สำคัญคือพอมาที่นี่ ไม่เพียงแค่ได้เรียนรู้เรื่องดนตรี แต่ยังเพลิดเพลินกับการเล่นร่วมกับพี่ๆ อีกด้วย

 

จุดประกายการค้นหาตัวเอง

          “ครูแอ๋ม” หรือ ศิริพร พรมวงศ์ ของเด็กๆ ในฐานะหัวหน้าโครงการ Music Sharing Little Band Can Fly เล่าว่า โครงการนี้ริเริ่มจากภาคกลาง ในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส เช่น ชุมชนแออัด เด็กยากจน มีปัญหาครอบครัว และขยายมายังภาคเหนือ ใน จ.ลำพูน กับ เชียงใหม่ เพราะกลุ่มเพื่อนที่เคยรู้จัก และทำงานร่วมกันมาก่อน กลับมาทำกิจกรรมในชุมชน จึงขยายฐานเปิดให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ดนตรี ศิลปะ ที่ยังมีค่อนข้างน้อยในท้องถิ่น

            “เด็กกลุ่มนี้ มีพื้นฐานต่างกับเด็กภาคกลาง คือเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ครอบครัวมีฐานะปานกลาง จึงมีความพร้อมในระดับหนึ่ง และในภาพรวมถือว่าเด็กให้ความสนใจกับกิจกรรมดนตรีค่อนข้างมาก แต่เปิดรับจำกัด อย่างที่ลำพูน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (Work shop) 5 วัน ที่สวนศิลป์บินสิ บ้านทุ่งยาว ต.ศรีบัวบาน อ.เมือง รับได้ราว 20 คน เพราะข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ เครื่องดนตรี ซึ่งในการดำเนินงานใช้อุปกรณ์ที่ได้รับบริจาคมาเป็นหลัก ผสมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน” ศิริพร อธิบาย

            กิจกรรม 5 วันที่จัดขึ้น เน้นสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ให้เข้าใจการใช้ชีวิต เข้าใจตนเอง ชุมชน สังคม เป็นเสมือนการค้นหา และพัฒนาตนเอง ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของดนตรีเท่านั้น แต่ละพื้นที่ยังสอนเรื่องศิลปะด้วย เช่น ละคร การวาดรูป ขึ้นอยู่กับความสนใจและความเหมาะสมของแต่ละแห่ง อย่างที่สวนศิลป์ฯ พี่ๆ ที่อยู่ในพื้นที่จะให้เด็กมาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันทุกวันอาทิตย์ และถ้าพบว่าเด็กชอบดนตรีจริงๆ ในเชิงทักษะก็จะมีการหนุนเสริมต่อ เพราะมีกองทุนให้เด็กเรียนกต่อด้านดนตรีจนถึงปริญญาตรี

            หัวหน้าโครงการ Music Sharing Little Band Can Fly ย้ำว่า จุดมุ่งหมายของเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมไม่เหมือนกัน ทุกคนไม่ได้มุ่งหวังเป็นนักดนตรี บางคนอาจแค่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ บ้างก็อยากเจอเพื่อนๆ พี่ๆ ช่วงปิดเทอมและวันหยุด การร้องเพลง เล่นดนตรี คือการผ่อนคลาย สร้างความสุขให้กับชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

 

พลิกบทบาทจากผู้รับเป็นผู้ให้

          น้องมิ้น อาสาสมัครจากคลองเตย ที่มาช่วยสอนคีย์บอร์ดให้กับน้องๆ เล่าว่า ที่ผ่านมาอยู่ในฐานะผู้รับ ที่ “ครูแอ๋ม” เข้าไปให้ถึงที่ ทั้งที่คลองเตยถือเป็นพื้นที่สีแดงเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ครูก็ยังไม่ละความพยายามในการสอนดนตรี และเมื่อหันมองรอบตัวก็พบว่าเพื่อนที่ไม่ได้เรียนดนตรีขายยาเสพติด จนถูกจับได้ ต้องเข้าไปอยู่ในบ้านเมตตา ซึ่งถ้าหนูไม่ได้เรียนดนตรีและทำกิจกรรมร่วมกับครูแอ๋ม ก็คงขายยา และมีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างจากเพื่อน

            “ตอนแรกหนูสนใจเล่นอูคูเลเล่ แต่พอเรียนจริงก็รู้ว่าการใช้แรงจากนิ้วในการดีดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ็บนิ้ว จึงหันมาเล่นคีย์บอร์ดแทน ทั้งที่ไม่ได้ชอบตั้งแต่ต้น หากพอเล่นไปเรื่อยๆ ก็มีความสุข ชอบมากขึ้นโดยปริยาย เรียกได้ว่าการทำกิจกรรมด้านดนตรี ไม่ได้แค่ก่อให้เกิดความสุขทางใจ ยังเป็นการยกระดับความคิด ยกระดับสิ่งแวดล้อม ทำให้เห็นว่าคลองเตยไม่ได้มีแค่ยาเสพติดและสิ่งเลวร้าย แต่ยังมีสิ่งดีๆ อีกหลายอย่าง ดังนั้นเมื่อครูแอ๋มชักชวนว่าเราเป็นผู้รับแล้ว ลองเป็นผู้ให้บ้างไหม เพราะครูกำลังขยายกิจกรรมมาทางภาคเหนือ จึงสนใจมาก กลับบ้านลองบอกยายว่าอยากไปทำงานกับครูแอ๋ม ช่วยสอนดนตรีให้น้องๆ ในต่างจังหวัด พอยายอนุญาตรู้สึกดีใจมาก” มิ้น อธิบาย

            เธอเล่าว่าการเป็นผู้เรียนง่ายกว่าการสอน ครูช่วยให้เข้าใจการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นอย่างง่ายๆ แต่พอมาเป็นผู้สอนเอง กลับรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งมาสอนต่างจังหวัดไม่มีเครื่องดนตรีเพียงพอ และไม่รู้จักนิสัยน้องๆ และเพื่อนๆ ที่มาเรียน ซึ่งมีตั้งแต่ระดับ ป.4-ม.3 ตัวอย่างง่ายๆ แค่น้องส่งเสียงดัง จนรบกวนการเรียนการสอน ก็ต้องหาวิธีรับมือ พยายามให้น้องเงียบ คนอื่นๆ จะได้มีสมาธิ กระนั้นก็ยังรู้สึกชอบที่ได้สอนคนอื่นบ้าง ความรู้เรื่องดนตรีจะได้แพร่กระจายออกไปสู่ที่ต่างๆ และถ้าใครเอาจริงเอาจัง ก็อาจกลายเป็นอาชีพเลี้ยงตัวในอนาคต

             ทุกสิ่งสามารถแสวงหาและเรียนรู้ได้ จากคนที่ไม่เคยจับเครื่องดนตรีเลย การเข้าค่ายฝึกซ้อมเพียง 5 วัน อาจเป็นช่วงเวลาที่น้อยนิด แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้ตัวเอง แถมได้ออกมินิคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ภายในสวนศิลป์บินสิ ท่ามกลางแมกไม้ที่โอบล้อมด้วยขุนเขา เพิ่มความสนุก ตื่นเต้น และสุนทรียะของชีวิต ซึ่งไม่แน่ว่าการจุดประกายฝันครั้งนี้ อาจเป็นแรงผลักดันที่ก่อกำเนิดศิลปินหน้าใหม่ในวงการดนตรีก็เป็นได้

 

หมายเลขบันทึก: 643363เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท