พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9


 พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9


พระเมรุมาศ และพระเมรุ คือ สถาปัตยกรรมชั่วคราว หรือสถาปัตยกรรมเฉพาะกิจที่สร้างขึ้น ณ กลางใจเมือง เพื่อใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระราชพิธีพระศพโดยเฉพาะ มีลักษณะเป็น "กุฎาคาร หรือ เรือนยอด" คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม โดยในอดีตนิยมสร้างเป็นแบบ ยอดปรางค์ อาจมีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้

               พระเมรุมาศ เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต ภายในพระเมรุมาศมี “พระเมรุทอง” ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี 2 รูปแบบคือพระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และพระเมรุมาศทรงบุษบก ส่วนพระเมรุ เช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่มีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองภายใน ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า “ทิวงคต” หรือ “สิ้นพระชนม์

การออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระเมรุ ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ออกแบบจากผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด ที่แสดงลักษณะของพระองค์นั้น

             ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์


ผังอาคารและอาคารประกอบ

แผนผังของพระเมรุมาศ มีแนวคิดจากผังของเขาพระสุเมรุ ในสมัยโบราณจะปรับพื้นที่พูนดินสร้างเขาให้มีลักษณะ ประดุจเขาพระสุเมรุก่อน แล้วจึงก่อสร้าง อาคารประกอบพระราชพิธี ส่วนประกอบอื่นอย่าง ศาลาและอาคารที่ใช้สอยต่าง ๆ มีความหมายถึงสร้างวังทั้งวังขึ้นบนเขา มีรั้วราชวัติล้อมรอบ ประดับฉัตร ธงทิว รายล้อมด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นการล้อเลียนธรรมชาติตามคติในเขาพระสุเมรุ และทิวเขาสัตบริภัณฑ์

อาคารหลักคือ พระเมรุมาศ 1 องค์ และอาคารประกอบอย่าง ประดุจโบสถ์ วิหาร มีระเบียงล้อมรอบ ซึ่งเรียกว่าทับเกษตร อันมีความหมายว่า “เขตอันเป็นที่พัก” ตรงส่วนมุมคดของทับเกษตรทั้ง 4 มุมเรียกว่า “ส้างหรือสำสร้าง” เป็นที่ที่สวดอภิธรรมของพระสงฆ์ นอกจากนี้อาคารบริวาร มีราชวัติ ฉัตร ธง รายล้อม หลังส้างหรือสำส้างมีรูปสัตว์รายรอบ ถัดจากนั้นมี เสาดอกไม้ พุ่ม ดอกไม้ไฟ ส่วนพระที่นั่งชั่วคราวที่เรียกว่า พระที่นั่งทรงธรรม จะอยู่ด้านตรงข้ามพระเมรุมาศ สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ในบริเวณส่วนกลางของพระเมรุมาศหรือพระเมรุ จะประดิษฐานพระจิตกาธานซึ่งประดิษฐานพระโกศ พระศพ จะประดับด้วยพระโกศไม้จันทน์ และดอกไม้สดเป็นลวดลายก้าน ดอก ใบ ที่มีฝีมืออันประณีต สำหรับพระมหากษัตริย์-ราชวงศ์-ข้าราชการ ถวายพระเพลิง   

ส่วนยอดพระเมรุมาศ สามารถแสดงฐานันดรของพระศพได้จากยอด คือหากเป็นพระเมรุมาศสำหรับพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ยอดจะเป็น "พระมหาเศวตฉัตร" หรือหากเป็นพระบรมราชวงศ์ ชั้นฉัตรก็ลดหลั่นลงมา หรืออาจไม่มีฉัตรแต่เป็นยอดนภศูลก็ได้



การจัดแสดงนิทรรศการทั้ง 2 ส่วนภายในพระที่นั่งทรงธรรมและศาลาลูกขุนทั้ง 6 หลัง จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ได้แก่นิทรรศการ “พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์” จัดแสดงภายในพระที่นั่งทรงธรรมแสดงเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แบ่งเป็น ๕ ตอนต่อเนื่องกัน ได้แก่ ๑) เมื่อเสด็จอวตาร ๒) รัชกาลที่ร่มเย็น ๓) เพ็ญพระราชธรรม ๔) นำพระราชไมตรี ๕) พระจักรีนิวัตฟ้า จะมีทั้งภาพพระบรมฉายาลักษณ์และภาพยนตร์ที่หาชมยาก ภาพอุปกรณ์ทรงงานในการดูแลทุกข์สุขของราษฎรตลอดรัชสมัย จดหมายเหตุเรื่องราวการเจริญพระราชไมตรี มีภาพสามมิติรูปรางวัลต่าง ๆ ที่นานาประเทศน้อมเกล้าฯถวาย ในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา และการประมวลความคิด ความรู้สึกของประชาชนชาวไทยต่อการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้

ส่วนที่ 2 คือ นิทรรศการการจัดสร้างพระเมรุมาศสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จัดแสดงภายในศาลาลูกขุน ทั้ง ๖ หลัง จะเล่าเรื่องราวการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศในทุกๆส่วน แสดงแนวคิดและขั้นตอนการทำงาน ทั้งงานสถาปัตยกรรม งานประติมากรรมและจิตรกรรมประดับพระเมรุมาศ งานประณีตศิลป์ในส่วนของพระโกศจันทน์ พระโกศทองคำ เครื่องสังเค็ด และการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ รวมทั้งการเตรียมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธี ที่จะทำให้เห็นการทุ่มเทแรงกาย แรงใจของหน่วยงานราชการ ช่าง ศิลปินทุกสาขา ตลอดจนเหล่าจิตอาสาและประชาชนที่เข้ามาร่วมทำงาน หรือมาสนับสนุนการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งหมดก็เพื่อต้องการทำสิ่งที่ดีที่สุดถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน


กลุ่มอาคารในมณฑลพิธี ณ ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พระเมรุมาศ เป็นประธานในมณฑลพิธี ออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณีรูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูงถึง 50.49 เมตร มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นสูงมี 7 ชั้น ชั้นบนที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วยสำซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ 9 ยอด

พระที่นั่งทรงธรรมในพระราชพิธี ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง ๔๔.๕๐ เมตร        ยาว ๑๕๕ เมตร     ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ โดยออกแบบหลังคาหน้าจั่วรูปทรงภควัม (พะ-คะ-วัม) ลักษณะคล้ายรูปแบบเรือนแก้วพระพุทธชินราช เพดานภายในพระที่นั่งทรงธรรม ประดับด้วยดาวเพดานหล่อไฟเบอร์กลาส ประดับผ้าทองย่นสาบสีสอดแวว และกำหนดให้ตรงกลางของพระที่นั่งทรงธรรมเป็นที่ประทับในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ทางด้านปีกขวาสุดของพระที่นั่ง จะเป็นที่ประทับของพระบรมวงศ์ คณะองคมนตรี คณะทูตานุทูต คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ด้านปีกซ้ายสุดของพระที่นั่ง เป็นที่นั่งของพระราชอาคันตุกะ และผู้นำประเทศต่างๆ

นอกจากขนาดแล้ว อีกหนึ่งความพิเศษของพระที่นั่งทรงธรรมครั้งนี้อยู่ที่ผนังด้านหน้าเป็นกระจกใส ด้านหลังเป็นผนังทึบ เพราะมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ต่างจากเดิมที่เป็นศาลาโถง เปิดโล่ง

 ความรู้ที่ได้/ประโยชน์ที่ได้/ข้อคิดที่ได้ จากการศึกษา ครั้งนี้

          ได้รู้ประวัติความเป็นมาของพระเมรุมาศ และพระเมรุ ว่าคือ สถาปัตยกรรมชั่วคราว หรือสถาปัตยกรรมเฉพาะกิจที่สร้างขึ้น ณ กลางใจเมือง เพื่อใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระราชพิธีพระศพโดยเฉพาะ มีลักษณะเป็น "กุฎาคาร หรือ เรือนยอด" คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม โดยในอดีตนิยมสร้างเป็นแบบ ยอดปรางค์ อาจมีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้และที่สำคัญได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของศิลปะวัฒนะธรรมที่ปราณีตที่สร้างขึ้นได้จดตลอดกาล

 

วิทยากรผู้ให้ความรู้ คือ .นางสาวกัญญา  แก้วคำฟุ่น  ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารบุคคลกรรมศาสนา

หมายเลขบันทึก: 642943เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท