ปัญหาและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตร


ปัญหาและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตร

 

                    หลักสูตรมีที่มาจากการวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานด้านต่างๆ ทั้งด้านปรัชญาการศึกษา ด้านจิตวิทยา ด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านสาขาวิชา เป็นต้น หลักสูตรมีที่มาจากความรู้ในหลากหลายสาขาวิชา และผู้ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรก็มาจากนักวิชาการหลากหลายสาขา การพัฒนาหลักสูตรจึงเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบดังกล่าวนี้ ในบทบาทของครูผู้สอนจะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาหลักสูตร  ปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร  เกิดจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนไม่เข้าใจกระบวนการของการพัฒนาหลักสูตร 

 

1.  ปัญหาและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตร

 

                  ปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร  คือปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยกระดับของหลักสูตรจากระดับที่เป็นขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง  ปัญหาอันเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำ  ร่วมกันสร้างหลักสูตร และร่วมกันนำหลักสูตรไปใช้  มีดังนี้

1)  ปัญหาขาดครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

2)  ปัญหาการไม่ยอมรับและไม่เปลี่ยนแปลงบทบาทการสอนของครูตามแนวหลักสูตร

3)  ปัญหาการจัดอบรมครู

4)  ศูนย์การพัฒนาหลักสูตร  ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน

5)  ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ

6)  ผู้บริหารต่าง ๆ ไม่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

7)  ปัญหาขาดแคลนเอกสาร เนื่องจากขาดงบประมาณและการคมนาคมขนส่งไม่มีประสิทธิภาพพอ

 

2.การพัฒนาหลักสูตรในอนาคต

                   2.1  พัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้  (เครือข่ายวิชาการ  วิชาชีพ)

                   2.2  พัฒนาหลักสูตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  (Sustainable Development): จัดหลักสูตรเพื่อการพัฒนาคนต่อเนื่อง

                   2.3  รูปแบบหลักสูตรจะหลากหลายมากขึ้น  เช่น  หลักสูตรการศึกษาภาคพิเศษ  หลักสูตรฝึกอบรม

                   2.4  เปิดหลักสูตรนานาชาติเพิ่มขึ้น

                   2.5  มีการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 2 ประเทศ

                   2.6  มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น  โดยการใช้เทคโนโลยีต้องไม่ส่งผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

                   2.7  หลักสูตรและการเรียนการสอนจะต้องพัฒนาทักษะในการคิด  การศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง  และความสามารถในการสื่อสาร  พัฒนาคนให้คิดกว้าง  คิดไกล  ใฝ่รู้

                   2.8   ให้ผู้เรียนมีความรู้ทั้งเรื่องที่เป็นสากล  นานาชาติ และของไทย  ต้องรู้เขารู้เรา

                   2.9   พัฒนาหลักสูตร ส่วนกลาง 60 % ส่วนท้องถิ่น  40  %

                   2.10   จัดการเรียนการสอน โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน  ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา

                   2.11   จะต้องมีการประกันคุณภาพทางการศึกทุกระดับ

 

3.แนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรด้านบวก

3.1  หลักสูตรใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก จากการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทำให้คนในสังคมต้องการเพิ่มความรู้ความสามารถให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงหันมาสนใจศึกษาต่อในหลักสูตรที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในสังคมสถาบันการศึกษาจึงมุ่งพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ หลักสูตรนานาชาติมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากสภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุน ทำให้ตลาดแรงงานในอนาคตต้องการคนที่มีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการการศึกษาที่เป็นภาษาสากลมีมากขึ้น ที่สำคัญการเปิดเสรีทางการศึกษา ยังเป็นโอกาสให้สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทย และเปิดหลักสูตรภาษาต่างประเทศ แต่เนื่องจากหลักสูตรนานาชาติมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การเรียนในหลักสูตรนี้ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้เรียนที่มีฐานะดี

3.2  การจัดการศึกษามีความเป็นสากลมากขึ้น สภาพโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงในทุกด้านร่วมกันทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายองค์ความรู้ กฎกติกา การดำเนินการด้านต่าง ๆ ทั้งการค้า การลงทุน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เชื่อมต่อถึงกันได้ ส่งผลให้เกิดความต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมในระดับสากล

3.3  ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาลดลง การใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนการสอน ทำให้ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงคนได้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนที่ครอบครัวมีรายได้น้อยอาจเข้ารับบริการทางการศึกษาได้ลดลง เนื่องจากค่าเล่าเรียนแพง

3.4   โอกาสรับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เมื่อเปิดเสรีทางการศึกษา จะก่อเกิดการแข่งขันในการจัดการศึกษาทั้งจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น

3.5   แนวโน้มด้านลบ

3.6   การเพิ่มช่องว่างด้านคุณภาพในการจัดการศึกษา ทรัพยากรตั้งต้นของแต่ละสถาบันการศึกษามีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถและปริมาณของบุคลากรการศึกษา งบประมาณ เงินทุน เทคโนโลยี สถานที่ ความมีชื่อเสียง ฯลฯ ส่งผลให้โอกาสพัฒนาคุณภาพการศึกษาย่อมแตกต่างกันด้วย

3.7  การผลิตบัณฑิตเกินความต้องการของตลาด เนื่องจากความต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามีสูงขึ้น และการพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ต้องหาเลี้ยงตนเอง มีอิสระในการบริหารและเปิดหลักสูตรเพื่อหาผู้เรียนเข้าเรียนให้ได้จำนวนมาก

3.8  การสอนทักษะการคิดและทักษะทางอารมณ์ยังไม่มีคุณภาพ ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนได้เท่าที่ควร เนื่องจากการเรียนการสอนยังมุ่งสอนให้ผู้เรียนคิดตามสิ่งที่ผู้สอนป้อนความรู้มากกว่าการคิดสิ่งใหม่ ๆ ประกอบกับครูผู้สอนมีภาระงานมาก จนส่งผลต่อการพัฒนาบุคคลในด้านอื่น

3.9  การสอนคุณธรรมจริยธรรมยังไม่มีคุณภาพ แนวคิดของทุนนิยมที่มุ่งแข่งขัน เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนอาจละเลยการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม

3.10  การสอนภาษาต่างประเทศยังไม่มีคุณภาพ  การสอนภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศของไทยยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เนื่องจากครูผู้สอนมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศค่อนข้างต่ำ

         สรุปปัญหาและแนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรพิจารณาได้จากข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรที่   ถูกรวบรวมวิเคราะห์เชื่อมโยงเป็นชุดของจุดประสงค์การเรียนรู้ ที่ใช้ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตร และนำไปออกแบบหลักสูตร โดยการอธิบายเหตุผลการได้มาของสาระความรู้ในหลักสูตร ที่มีเหตุผลประกอบหลักวิชาโดยอาศัยทฤษฎีการเรียนรู้ต่างๆ และนักพัฒนาหลักสูตรนำมากำหนดเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียน กำหนดสาระเนื้อหาและผลการเรียนรู้  ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถเป็นแนวทางช่วยให้อธิบายแนวโน้มของหลักสูตรได้

 

บรรณานุกรม

กฤษฎาภรณ์ สิทธิปกร์. การศึกษาสภาพปัญหาความคาดหวังและแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตาม  

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม  2556. จาก

 http://www.obec.go.th/node/36130

    

 

หมายเลขบันทึก: 642935เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท