บันทึกครั้งที่ 4 ข่าวเก่าเมื่อช่วงต้นปี 2549 จำนวน 2 เรื่อง กล่าวถึงการตีความกฎหมายเรื่องการเสียภาษีของบริษัทชินคอร์ป


การที่บุคคลธรรมดาซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ยังไม่ต้องเสียภาษีที่เกิดขึ้นจาก "ส่วนต่าง" ราคาดังกล่าว จนกว่า บุคคลผู้นั้นจะขายหุ้นออกไปในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมา จึงจะนำ "ส่วนต่าง" ดังกล่าวมาคำนวณภาษี ผู้ซื้อได้รับประโยชน์จากการโอนหุ้นซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ช) ตามประมวลรัษฎากร เนื่องจากยังมิได้ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ซื้อแต่ประการใด จนกว่าผู้ซื้อจะได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินที่ลงทุน

สำหรับสัปดาห์นี้ ผมได้มีโอกาสอ่านข่าวเก่าเมื่อช่วงต้นปี 2549 จำนวน 2 เรื่อง มีความต่อเนื่องกัน  กล่าวถึงการตีความกฎหมายเรื่องการเสียภาษีของบริษัทชินคอร์ป  ซึ่งมีการเบี่ยงเบนเจตนาของกฎหมายออกไปจากเดิม  ผมเห็นว่าน่าสนใจเชิญอ่านครับ

 
ข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่16 มกราคม พ.ศ.2549ชื่อเรื่อง  ย้อนรอยกรณีโอนหุ้นไม่เสียภาษี ?

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา ได้พิจารณาแล้วสรุปว่า กรมสรรพากรมีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติ กรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ซื้อหุ้นจากบิดาในราคาต่ำกว่าราคาตลาด กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษี ขณะที่ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ขายหุ้นให้พี่บุญธรรม นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ในราคาพาร์ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดแต่กลับไม่เก็บภาษีจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ พบว่ากรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับ นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับนายเรืองไกร จำนวน 2,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะนั้นราคาตลาดอยู่ที่ 150 บาทต่อหุ้น นางสาวยิ่งลักษณ์ก็ไม่ไปจ่ายภาษี กรมสรรพากรก็ไม่เรียกเก็บภาษี กรณีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ หรือกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่ประเมินและไม่เรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้กรมสรรพากรและประชาชนเสียหาย เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82

 ส่วนคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่อ้างว่าจะเก็บภาษีก็ต่อเมื่อผู้รับโอนหุ้นได้ขายหุ้นนั้นออกไป ทางคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วว่าเป็นคำเลี่ยงของกรมสรรพากร ในความเป็นจริงจะต้องเรียกเก็บภาษีทั้งหมด เพราะเคยมีคำวินิจฉัยถือเป็นรายได้พึงประเมิน เพราะหากไม่เรียกเก็บในกรณีนี้ ผู้ที่รับหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าก็จะมีทางหลีกเลี่ยงออกไปได้อีก โดยซื้อขายกันนอกตลาดหลักทรัพย์ฯในราคาที่ต่ำ ไม่มีการเสียภาษี ก็จะขายราคาต่ำไปเรื่อยๆ ไม่มีใครยอมเสียภาษีในระบบ ก็ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯยิ่งจะเสียหาย นอกจากนี้ จากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการ ในกรณีของคุณหญิงพจมาน ได้โอนหุ้นให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จำนวน 4,500,000 หุ้น แต่อ้างว่าเป็นการโอนให้โดยธรรมจรรยา น้องให้พี่ในลักษณะนี้ กรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีนี้กรมสรรพากรสมควรที่จะปฏิบัติหน้าที่เสียก่อน เพราะคำว่าธรรมจรรยา กรมสรรพากรชี้แจงเองว่า ไม่ได้มีระบุไว้ชัดเจนว่าวงเงินเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นศาลภาษีน่าจะเป็นผู้ตัดสินได้ว่า การให้ในลักษณะที่มูลค่า 600-700 ล้านบาท เป็นการให้แบบธรรมจรรยา น้องให้พี่เหมาะสมหรือไม่

ข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2549

สรรพากรอุ้มซื้อขาย"ชิน" พลิกคำวินิจฉัย"ส่วนต่าง"หุ้น ไม่ใช่เงินได้พึงประเมิน

ยังมีคำถามค้างคาใจว่า การที่ครอบครัวชินวัตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำนวน 1,157 ล้านหุ้น (เฉพาะในส่วนที่มีชื่อในครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ไม่รวมในนอมินี) ให้แก่กองทุนเทมาเสกของสิงคโปร์ในราคาหุ้นละกว่า 50 บาท มูลค่ารวมประมาณ 70,000 ล้านบาทนั้นผู้ที่เคยซื้อหุ้นมาราคาพาร์เพียงหุ้นละ 1 บาท จาก พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ได้แก่ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่บุญธรรมคุณหญิงพจมาน จำนวน 268 ล้านหุ้น (แตกพาร์แล้ว) นายพานทองแท้ ชินวัตร 733 ล้านหุ้น, นางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 20 ล้านหุ้น หรือแม้แต่ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้นต่อมาจากนายพานทองแท้ 367 ล้านหุ้น ในราคา 1 บาท จะต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง" ราคาหุ้นที่ซื้อต่ำกว่า ราคาตลาดหรือไม่เมื่อปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมา กรมสรรพากรได้ยืนยันหลายครั้งว่า การซื้อขายหุ้นกันระหว่างเครือญาติชินวัตรในราคาต่ำกว่าราคาตลาดนั้นไม่ต้องเสียภาษีดังนี้

ครั้งแรก       นายวิชัย จึงรักเกียรติ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร (นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล-ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงการคลัง) ทำหนังสือ ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 (ที่ กค.0811/6312) ระบุว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าว ถือไม่ได้ว่า ผู้ซื้อได้รับประโยชน์จากการโอนหุ้นซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ช) ตามประมวลรัษฎากร เนื่องจากยังมิได้ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ซื้อแต่ประการใด จนกว่าผู้ซื้อจะได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินที่ลงทุน

ต่อมา เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักบัญชีหุ้น บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ ซื้อจากบิดาในราคา 10 บาท จากราคาตลาด 21 บาท มีส่วนต่างประมาณ 55,000 บาท ปรากฏว่าถูกกรมสรรพากรคำนวณเป็นภาษีเงินได้ จึงมีการร้องเรียนว่า กรมสรรพากรเลือกปฏิบัติ ไม่ยอมเก็บภาษี "ส่วนต่าง" ราคาหุ้นชิน ทำให้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2549 ว่าเป็นความผิดพลาดและเข้าใจผิดกรมสรรพากรพร้อมที่จะคืนเงินภาษีที่เก็บไปจากนายเรืองไกรไป นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กรมสรรพากรคืนเงินให้ผู้เสียภาษีโดยผู้เสียภาษีมิได้ขอคืน

ครั้งที่สอง  บันทึกคำให้การของนายเรืองไกร (ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2548) ที่นายพิชเยนทร์ กองทอง นิติกร 8 กรมสรรพากรเขียนขึ้นระบุว่า สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นผลประโยชน์จากการซื้อหุ้น ยังคงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี เพราะเงินได้ในส่วนนี้ยังมิได้มีการก่อให้เกิดรายได้ต่อท่าน (นายเรืองไกร) ท่านจะเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้ก็ต่อเมื่อ ท่านได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินที่ลงทุน ทั้งนี้ ตามมาตรา 40 (4) (ช)

ครั้งที่สาม  นายสุเทพ พงษ์พิทักษ์ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 ทำหนังสือ ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 (ที่ กค.0709.03 (ภค.) / 12123) ถึงนายเรืองไกร เรื่องแจ้งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2546 โดยระบุว่า ในกรณีดังกล่าว ยังไม่อาจถือได้ว่าท่านมีเงินได้พึงประเมินเพราะเป็นเพียงขั้นลงทุน หาใช่ผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ตามมาตรา 40 (4) (ช) ท่าน (นายเรืองไกร) จึงยังคงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับตัวเลขผลประโยชน์จากการซื้อหุ้น จนกว่าท่านจะได้ขายหุ้นดังกล่าวไปโดยได้รับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน

สรุปแล้วทั้ง 3 ครั้งกรมสรรพากรยืนยันว่า การที่บุคคลธรรมดาซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ยังไม่ต้องเสียภาษีที่เกิดขึ้นจาก "ส่วนต่าง" ราคาดังกล่าว จนกว่า บุคคลผู้นั้นจะขายหุ้นออกไปในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมา จึงจะนำ "ส่วนต่าง" ดังกล่าวมาคำนวณภาษี

ซึ่งคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรนั้น ใช้ทั้งกับกรณีนายเรืองไกรที่ซื้อหุ้นมาจากบิดามูลค่ากว่า 50,000 บาท หรือกรณีครอบครัวชินวัตรซื้อหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท (ราคาหุ้นชินหุ้นละ 1 บาท)

ดังนั้น นายเรืองไกรขายหุ้นไปได้กำไร 50,000 บาท ก็ต้องนำ "ส่วนต่าง" 50,000 บาท ดังกล่าวมาคำนวณเป็นภาษีเงินได้ประจำปีเช่นเดียวกับถ้าครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์นำหุ้นชินที่ซื้อมาในราคาหุ้นละ 1 บาทไปขายให้กองทุนเทมาเสกได้ในราคาหุ้นละกว่า 50 บาท เป็นเงินรวมเกือบ 70,000 ล้านบาท หรือมีส่วนต่างกว่า 60,000 ล้านบาท ก็ต้องนำ "ส่วนต่าง" กว่า 60,000 ล้านบาท ไปคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี ซึ่งแน่นอนว่าต้องเสียภาษีสูงสุดร้อยละ 37 ซึ่งเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท

การที่ทั้งนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางไพฑูรย์ เกสร รองอธิบดีกรมสรรพากร รีบออกมารับหน้าว่า การขายหุ้นชินของครอบครัวชินวัตรให้กองทุนเทมาเสกครั้งนี้ ไม่ต้องเสียภาษีใน "ส่วนต่าง" ที่เกิดขึ้น (จากที่ซื้อมาราคาหุ้นละ 1 บาท) ด้วยเหตุผลเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้วทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า เป็นการรักษาผลประโยชน์ของใครกันแน่ และให้ดูกันต่อไปว่า จะมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังรายใดจะได้รับการปูนบำเหน็จเหมือนที่ผ่านๆ มา

แต่ดูเหมือนว่า กรมสรรพากรจะยังไม่แน่ใจว่าจะปิดช่องการเสียภาษีของการซื้อขายหุ้นชินหมดหรือยัง จึงมีหนังสืออีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 29 ธันวาคม 2548 (ที่ กค. 0709.31/18325 ลงนามโดย นางจิตรมณี สุวรรณพูล สรรพากรภาค 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร) ชี้แจงเรื่องนี้ต่อนายเรืองไกรซึ่งเป็นการพลิกคำวินิจฉัยเดิมทั้งหมดว่า การซื้อขายทรัพย์สิน (หุ้น) ราคาต่ำกว่าราคาตลาด "ส่วนต่าง" ดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 ของประมวลรัษฎากรตั้งแต่ต้น

 หนังสือดังกล่าวพยายามอธิบายว่า การซื้อทรัพย์สินโดยปกติจะมีราคาตลาดสำหรับซื้อทรัพย์สินนั้น โดยราคาตลาดจะมีหลายราคา หากเป็นการซื้อเพื่อนำไปใช้เองหรือเป็นผู้บริโภค ผู้ซื้อจะซื้อตามราคาของผู้ขายปลีก หากเป็นการซื้อเพื่อนำไปขายซึ่งต้องซื้อเป็นจำนวนมาก ผู้ซื้อจะต้องซื้อในราคาต่ำโดยอาจซื้อราคาตลาดที่เป็นของผู้ผลิตหรือผู้ขายส่ง

ดังนั้น ทรัพย์สินชนิดเดียวกัน อาจมีราคาซื้อแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)   นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ราคาซื้อดังกล่าวถูกกว่าราคาตลาด เช่น การส่งเสริมการขาย สินค้าตกรุ่น เลหลังสินค้า เลิกกิจการ ขายทอดตลาด ความพอใจ ความสัมพันธ์ส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไป ตามมาตรา 453 ป.พ.พ.

  "การซื้อทรัพย์สินในลักษณะดังกล่าว จะเป็นเรื่องของทุนซึ่งกระทบต่อจำนวนเงินของผู้ซื้อที่มีอยู่ ทั้งจำนวนเงินที่เหลืออยู่และที่ได้จ่ายไป ดังนั้น ไม่ว่าการซื้อทรัพย์สินผู้ซื้อจะซื้อตามราคาตลาดหรือซื้อในราคาถูกกว่าตลาด ผู้ซื้อต้องเสียเงินสำหรับการซื้อตามจำนวนมากน้อยตามราคาที่ตกลงกัน.. การที่ซื้อทรัพย์สินราคาถูกจะทำให้เหลือเงินมากกว่าซื้อทรัพย์สินในราคาปกติ เงินที่เหลือดังกล่าวไม่ว่าจะเหลือมากน้อยเท่าใด ก็เป็นเงินของผู้ซื้อเอง เป็นเรื่องของทุน มิใช่เงินที่ผู้ซื้อได้รับหรือเข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับจากผู้อื่นแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลข้างต้น การซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ อันเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 เช่นเดียวกับส่วนลดปกติและส่วนลดพิเศษที่จะลดให้ทันที เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าตามเกณฑ์ที่กำหนด" หนังสือของกรมสรรพากรระบุจากนั้นสรุปว่า กรณีของนายเรืองไกรซึ่งซื้อหุ้นบริษัท ทางด่วนกรุงเทพจากบิดาต่ำกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการซื้อขายทรัพย์สินกันระหว่างนายเรืองไกรกับบิดาซึ่งเป็นการซื้อขายอันเป็นเรื่องปกติในทางการค้า ส่วนราคาที่ตกลงซื้อขายกันต่ำกว่าราคาตลาด ผู้ขายและผู้ซื้อมีสิทธิตกลงกันได้โดยผู้ซื้อต้องใช้ราคาทรัพย์สินตามที่ตกลงกันนั้นตามมาตรา 453 แห่ง ป.พ.พ.    "ดังนั้น กรณีท่าน (นายเรืองไกร) ซึ่งเป็นผู้ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาด ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น" หนังสือระบุ

หมายเลขบันทึก: 64281เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2006 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
แยกเป็นหลายบันทึกก็ได้ค่ะ ตอนท้าย ข้อความหายไปนะคะ

เพิ่มเติมข้อความส่วนท้ายที่หายไปครับ 

 

จากคำชี้แจงดังกล่าวสรุปได้ว่า การซื้อขายหุ้นต่ำกว่า ราคาตลาด "ส่วนต่าง" ที่เกิดขึ้น มิได้เป็นผลประโยชน์ที่ได้รับมาตั้งแต่ต้น จึงไม่เข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินมาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินตามปกติ โดยมีเงื่อนไข เช่นความสัมพันธ์ส่วนตัว ความพอใจ ดังนั้นต่อไปไม่ว่า ผู้ซื้อจะขายหุ้นนั้นไปในราคาสูงเท่าใด ก็ไม่ต้องเสียภาษีที่เกิดขึ้นจาก "ส่วนต่าง" มาตั้งแต่ต้น  เป็นการพลิกแนวคำวินิจฉัย 3 ครั้งแรก ที่ระบุว่า ถ้าขายหุ้นไปแล้วมีกำไร เกิด "ส่วนต่าง" เกินกว่าที่ได้ลงทุน (ซื้อมา) ต้องเสียภาษี "ส่วนต่าง" ดังกล่าว   การที่กรมสรรพากรเปลี่ยนคำวินิจฉัยดังกล่าวแบบกลับหลังหันช่างสอดคล้องกับห้วงเวลาการขายหุ้นชินให้กับกองทุนเทมาเสกมูลค่าเกือบ 70,000 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างกว่า 60,000 ล้านบาท   เป็นการปิดทางเรียกร้องมิให้เก็บภาษี "ส่วนต่าง" ดังกล่าวกว่า 25,000 ล้านบาท!!
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท