ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ท่าทีของพระพุทธเจ้ากับการเมือง


ท่าทีของพระพุทธเจ้ากับการเมือง

<p></p>

นายอภิสิทธิ์   สุขสวัสดิ์ เลขที่ ๗

พระพุทธเจ้า[๑] คือ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้ว สอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นจากการมองเห็นชีวิตที่เป็นทุกข์ มองเห็นถึงการเกิด แก่ เจ็บและตาย เกิดจากการพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิต เพียรพยายาม แสวงหาทางออกจากทุกข์ที่มองเห็นๆอยู่ แสวงหาทางให้เกิดปัญญา

การเมือง[๒] หมายถึง การจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าหรือทรัพยากรทรัพยากร โดยมีอำนาจที่เป็นที่ยอมรับกันมา ทำให้เกิดการปฏิบัติตาม หรือการเมืองเป็นเรื่องของการที่คนกลุ่มหนึ่งใช้อิทธิพลต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง  เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม สิ่งที่มีคุณค่าทางสังคมในที่นี้มีหลายอย่าง เช่น อำนาจ ความศรัทธานับถือ ความยุติธรรม ความนิยมชมชอบ ความอยู่ดีกินดี ความมั่งคั่ง ความรอบรู้ ทักษะ เป็นต้น ในความหมายนี้ การเมืองจะถูกตรีกรอบเอาไว้เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ในแบบการเมือง ซึ่งสามารถแยกออกจากความสัมพันธ์ของมนุษย์ในระบบย่อยอื่นๆของสังคมได้ เช่น ระบบวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา

ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง[๓] แต่พระองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นครู เข้าไปในฐานะช่วยขจัดทุกข์ พระองค์ทรงเป็นกลางทางการเมืองหรืออยู่เหนือการเมือง   เพราะฉะนั้นพระองค์จึงสามารถประกาศพระศาสนาไปได้ทุกประเทศ ทุกแว่นแคว้น ไม่เลือกว่าแคว้นนั้นๆ จะมีการปกครองในรูปแบบใด พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองในแง่ของหลักคำสอน ในแง่ของการเสนอหลักการ หรือ รูปแบบการปกครองที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในรัฐนั้นๆ โดยการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมะให้เหมาะสมกับรูปแบบการปกครองของรัฐ โดยไม่ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารหรือการปกครองภายในของรัฐแต่อย่างใด

การที่พระพุทธเจ้าทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองในฐานะผู้ชี้แนวทาง ทำให้บทบาทของพระองค์เหมือนกับเป็นที่ปรึกษาเรื่องธรรมะของแผ่นดินหรือของผู้ปกครอง พระองค์มิได้เข้าไปจัดการเงื่อนไขทางสังคม พระองค์อยู่ในฐานะผู้ชี้ทางเท่านั้น มิได้ทรงกำหนดผลว่าจะสำเร็จเพียงใด  เพียงแต่พระองค์เสนอรูปแบบที่ทรงเห็นว่าจะทำให้ประชาชนในรัฐสามารถมีความสุขได้ ส่วนการปฏิบัตินั้นมิใช่ภาระหน้าที่ของพระองค์ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า[๔] “ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา ความเพียรเป็นกิจที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำ (เอง) ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้ชี้ทาง (เท่านั้น)”

พระพุทธองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสองระบบ แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องของพระองค์นั้นอย่างที่กล่าวแล้วในตอนต้นว่า พระองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นครู ทรงเข้าไปในฐานะผู้ดับทุกข์หรือเป็นผู้แก้ปัญหา ฐานะของพระองค์นั้นทรงอยู่เหนือการเมือง ดังนั้น จึงทำให้พระองค์ทรงได้รับการยอมรับและเคารพนับถือจากประชาชนและเจ้าผู้ครองนครรัฐต่างๆ อย่างสูงยิ่งจนตลอดพระชนชีพ  พุทธกิจด้านการเมืองของพระพุทธองค์นั้น พระองค์มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของรัฐแต่อย่างใด แต่ทรงเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและเสนอแนะหลักในการปกครองที่จะช่วยทำให้รัฐมีความมั่นคงและสามารถปกครองให้ประชาชนมีความสงบสุข อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเข้าไปเสนอแนะหลักรัฐศาสตร์หรือหลักการบริหารการปกครองรัฐตามแนวพุทธรัฐต่างๆ ที่พระองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นมีหลายรัฐ 

การเมืองของพระพุทธองค์ นอกจากการที่ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ครองนครรัฐต่างๆ โดยการแนะนำสั่งสอนและเสนอแนะหลักการในการปกครองประเทศแล้ว ยังปรากฏว่าพระองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยอีกด้วย คือ ในคราวที่เสด็จไประงับความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์แห่งเมืองศากยะ และเมืองโกลิยะ ซึ่งกำลังจะทำสงครามกัน แต่เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงความคิดที่จะทำสงครามก็เป็นอันยุติ อันที่จริงแล้วเมืองทั้งสองนั้นต่างก็เป็นพระญาติของพระพุทธองค์ทั้งสองฝ่าย และทั้งสองเมืองต่างก็มีความสัมพันธ์อันดีสืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต สาเหตุของการขัดแย้งนั้นเริ่มต้นจากการแย่งน้ำกันระหว่างประชาชน โดยที่ชาวเมืองทั้งสองต่างก็ตั้งถิ่นฐานอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำโรหิณี และได้อาศัยน้ำในแม่น้ำทำการเกษตร ราชวงศ์และประชาชนทั้งสองเมืองต่างก็มีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี แต่ต่อมาน้ำในแม่น้ำเกิดมีไม่เพียงพอสำหรับทำเพาะปลูกทั้งสองเมือง ชาวเมืองโกลิยะคนหนึ่งก็เสนอว่าให้ปล่อยน้ำทั้งหมดเข้าในเมืองโกลิยะ ตามคัมภีร์มิได้บอกไว้ว่าชาวโกลิยะเสนอที่จะแบ่งผลผลิตจากการทำไร่นาให้แก่ชาวศากยะเพื่อเป็นการตอบแทนหรือไม่ แต่ตามรูปการน่าจะเป็นอย่างนั้น ฝ่ายชาวเมืองศากยะก็ไม่ยินยอม ต่างฝ่ายต่างก็ตกลงกันไม่ได้ การเจรจาถึงขั้นหมดทางประนีประนอม มีการปะทุอารมณ์จนถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า “ครั้นพูดกันมากๆ ขึ้นอย่างนี้ กรรมกรคนหนึ่งก็ลุกขึ้นตีเอาคนหนึ่งเข้า แม้คนที่ถูกตีนั้นก็ตีคนอื่นๆ ต่อไป ต่างฝ่ายต่างตีกันอย่างนี้ ก็เกิดการทะเลาะ กระทบชาติแห่งราชตระกูล”

เมื่อมีการด่าทอกระทบถึงราชตระกูลของกันและกัน การทะเลาะกันของชาวเมืองก็ได้ลุกลามมาถึงข้าราชการและถึงราชวงศ์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต่างก็มีความหยิ่งและรักศักดิ์ศรีมีขัตติยมานะไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นได้ เมื่อมาถึงขั้นนี้ปัญหาของความขัดแย้งมิได้อยู่ที่เรื่องของน้ำแล้ว แต่เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีหรือเรื่องของอัตตามานะทิฎฐิ ของแต่ละฝ่ายที่ไม่มีใครยอมใคร ต่างก็ต้องการที่จะแสดงกำลังของตนให้ประจักษ์ โดยตระเตรียมกองทัพเพื่อเตรียมรบไว้พร้อมแล้วทั้งสองฝ่าย พระพุทธองค์ทรงใคร่ครวญว่า ถ้าหากพระองค์ไม่เสด็จไประงับเหตุ ผลเสียก็จะเกิดขึ้นแก่กษัตริย์และประชาชนทั้งสองเมืองอย่างแน่นอน  ดังนั้นพระองค์จึงได้เสด็จไปยังสถานที่เกิดเหตุ ทันทีที่พระองค์เสด็จไปถึงพวกเจ้าศากยะและกษัตริย์เมืองโกลิยะต่างก็มีความละอายพระทัย ได้พากันทิ้งอาวุธด้วยความดำริว่า

พระญาติผู้ประเสริฐของพวกเราเสด็จมาแล้ว ชะรอยพระองค์คงจะได้ทรงทราบว่าพวกเรากระทำการทะเลาะวิวาทกัน จึงพากันวางอาวุธ เครื่องอาวุธเสีย ด้วยตกลงพระทัยว่า ก็เมื่อพระศาสดาเสด็จมาแล้ว พวกเราไม่อาจที่จะให้ อาวุธตกต้องร่างกายของผู้อื่นได้ พวกชาวเมืองโกลิยะจะฆ่าจะแกงพวกเรา เสียก็ตามทีเถิด แม้พวกกษัตริย์ชาวเมืองโกลิยะก็คิดและกระทำการอย่างนั้นเหมือนกัน[๕]

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงก็ตรัสถามกษัตริย์ทั้งสองเมืองว่า[๖] ทะเลาะกันเรื่องอะไร กษัตริย์ทั้งสองเมืองก็กราบทูลว่าไม่ทราบ แต่เสนาบดีคงทราบ เสนาบดีก็กราบทูลว่าไม่ทราบแต่อุปราชคงทราบ  ต่างก็ซัดทอดกันเรื่อยไปจนถึงทาสและกรรมกร พวกทาสและกรรมกรจึงกราบทูลว่า ทะเลาะกันเรื่องน้ำ   พระศาสดาก็ได้ตรัสถามเหล่ากษัตริย์ถึงผลที่จะเกิดขึ้นแก่สังคม และทรงขอให้พวกกษัตริย์พิจารณาให้เห็นถึงสิ่งที่ควรยึดถือให้ถ่องแท้ โดยทรงตรัสถามกษัตริย์เหล่านั้นว่า[๗]

“น้ำตีราคาเท่าไร มหาบพิตร ?”             “มีราคาน้อย  พระเจ้าข้า”        

“กษัตริย์ทั้งหลายมีราคาเท่าไร ?”           “ ขึ้นชื่อว่ากษัตริย์ทั้งหลาย หาค่ามิได้พระเจ้าข้า”

“ก็การที่ท่านทั้งหลายจะทำกษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้ให้ฉิบหายเพียงเพราะเรื่องน้ำมีประมาณน้อยควรแล้วหรือ”

บรรดากษัตริย์เหล่านั้นนิ่งเงียบ ลำดับนั้นพระศาสดาตรัสเตือนพระญาติเหล่านั้นแล้วตรัสว่า มหาบพิตร เพราะเหตุไรพวกท่านจึงกระทำกรรมถึงปานนี้ เมื่อเราไม่มีอยู่ ในวันนี้แม่น้ำคือโลหิตจักไหลนอง ท่านทั้งหลายทำกรรมไม่สมควรแล้ว ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีเวรด้วยเวรห้าอยู่ ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีความเดือดร้อนด้วย กิเลสอยู่เราไม่มีความเดือดร้อนอยู่[๘]

กษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดได้สดับพุทธดำรัสเตือนสติและได้สดับพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ก็บังเกิดความเลื่อมใสและมีความสำนึกผิด ต่างก็ได้ปรึกษาหารือกันว่า “ถ้าหากว่าพระศาสดาไม่เสด็จมา พวกเราก็จักฆ่าฟันซึ่งกันและกันจนเลือดไหลนองเป็นแม่น้ำ พวกเราชื่อว่าได้ชีวิตเพราะอาศัยพระศาสดา”[๙]

จากการที่พระพุทธองค์ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกษัตริย์ทั้งสองเมืองนั้น ทำให้มองเห็นถึงหลักรัฐศาสตร์สำหรับนักปกครองในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งได้หลายประการ คือ

๑) ทรงรู้จักระยะเวลาที่เหมาะสม ในช่วงระยะเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จไปนั้นเหตุการณ์กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ ความรุนแรงกำลังจะปะทุ การที่พระพุทธองค์ทรงเข้าไปมีบทบาททันเวลา ได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะมิฉะนั้นแล้วความสัมพันธ์อันดีระหว่างแคว้นศากยะและแคว้นโกลิยะ ซึ่งมีมาหลายชั่วอายุคนก็จะสิ้นสุดลงทันที และจะก่อให้เกิดความพินาศแก่บ้านเมือง ความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั้งสองฝ่ายที่จะต้องพากันบาดเจ็บล้มตายจากการทำสงครามอย่างแน่นอน

๒) ความเป็นผู้ทรงธรรม จะเห็นได้ว่าทันทีที่บรรดากษัตริย์ทั้งสองเมืองทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์ ต่างก็ทิ้งอาวุธและล้มเลิกความคิดที่จะทำสงครามกันทันที ทั้งนี้เป็นเพราะว่ามีความเคารพในพระพุทธองค์ แม้บรรดากษัตริย์เหล่านั้นจะมีกำลังกองทัพอันยิ่งใหญ่ แต่พระพุทธองค์กลับมีอานุภาพมากกว่า อำนาจนั้นก็คือ ธรรมะ

๓) ความเป็นกลาง พระพุทธองค์นั้นทรงเป็นชาวศากยะ ซึ่งมาระงับข้อขัดแย้งระหว่างชาวศากยะและชาวโกลิยะ แต่กลับไม่มีผู้ใดคลางแคลงใจในความเป็นกลางของพระองค์ เพราะพระองค์นั้นทรงมีฐานะที่อยู่เหนือการเมือง การที่พระองค์ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยนั้น พระองค์มิได้ถือว่าเป็นชาวศากยะหรือชาวโกลิยะ แต่ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสัตว์โลกเสมอเหมือนกัน ซึ่งพระคุณสมบัติข้อนี้จำเป็นอย่างมากสำหรับนักปกครองที่จะทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ย หรือระงับข้อขัดแย้งภายในองค์กร

๔) ไม่ทรงทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่า สาเหตุของการขัดแย้งที่แท้จริงนั้น เป็นเรื่องของการยึดถือในเรื่องของอัตตามานะทิฏฐิ ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นราชวงศ์ แต่พระองค์ไม่ทรงยกประเด็นนี้ขึ้นมาตรัสถาม เพราะจะทำให้กษัตริย์เหล่านั้นเสียพระพักตร์ แต่พระองค์ทรงนำเอาความขัดแย้งนั้นมาเป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรมะ ทรงให้บรรดากษัตริย์เหล่านั้นรู้ถึงผลเสียของการวิวาทบาดหมางโดยไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด แต่ทรงตั้งคำถามที่จะให้บรรดากษัตริย์เหล่านั้นรู้ถึงผลเสียของการทะเลาะวิวาทด้วยตัวเอง ทรงเตือนสติมากกว่าที่จะเป็นการตัดสินว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด  

หลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระสงฆ์สามารถนำมาเป็นต้นแบบ ในการวางตัวทางการเมืองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับสภาพการเมืองไทยในสมัยปัจจุบัน ที่เกิดความขัดแย้งกันในทางการเมือง จนเป็นที่หวั่นวิตกว่าเราจะหาทางออกให้กับประเทศไทยของเราได้อย่างไร นักการเมืองทั้งสองฝ่ายส่วนใหญ่ก็เป็นชาวพุทธด้วยกัน ถ้าพระสงฆ์เราไปเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมสร้างความไม่พอใจให้เกิดกับอีกฝ่ายหนึ่งแน่นอน และทั้งสองฝ่ายล้วนแล้วแต่เป็นชาวพุทธด้วยกันทั้งนั้น

“อปริหานิยธรรม ๗ หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจ ที่พึงทำ ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ ถือปฏิบัติมั่นตาม วัชชีธรรม(หลักการ)ตามที่วางไว้เดิมฯลฯ” อันเป็นวิธีของสภาใช้องค์ประชุมเป็นวิธีการ ระดมมันสมองร่วมกัน ใช้นิติบัญญัติเป็นหลัก “อธิกรณสมถะ ๗” ก็คือ หลักนิติศาสตร์อันสำคัญที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งยอด ไม่ว่าจะเป็นสัมมุขาวินัย ยิ่งเป็นสติวินัย ยิ่งสุดยอด ไม่ว่าอมูฬหวินัย ที่ไม่เอาผิดกับคนบ้า ไม่ว่าการตัดสินตามจำเลยสารภาพ ปฏิญญาตกรณะ หรือแม้แต่ หลักการตัดสินกัน ด้วยคะแนน เสียงข้างมาก คือ เยภุยยสิกา ก็เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ตัสสปาปิยสิกาก็ดี ติณวัตถารกวินัยก็ดี ล้วนเป็นวิธีการ นิติศาสตร์ อันเป็น ประชาธิปไตย ที่พระพุทธเจ้าทรงสร้างมา แต่ยุคโน้นแท้ๆยิ่งเรื่อง”นานาสังวาส” นี่ยิ่งเป็นการให้อิสระเสรีขั้นสูงสุดสำหรับสิทธิมนุษยชนทีเดียว เป็นบัญญัติหลักการอันยิ่งใหญ่ ที่เปิดทาง ให้มนุษย์ แยกกันปฏิบัติ ด้วยทางออกสุดท้าย เมื่อต่างเกิดความเห็น อันสุดวิสัยในสิทธิ แห่งความคิดความเชื่อของคน ซึ่งแสดงถึง พระปัญญาธิคุณ ในเรื่องของประชาธิปไตย ที่สูงส่งลึกล้ำ ยิ่งยอดที่สุด นี่คือการเมืองของพระพุทธเจ้า เป็นแบบวิธีของสังคม ของบ้านของเมือง ที่พระองค์บัญญัติไว้ ให้แก่มวลมนุษย์[๑๐]

พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสถึงกฎเกณฑ์ที่ดี ที่เรียกว่า ทศราชธรรม[๑๑] หรือทศพิธราชธรรม ซึ่งกฎเกณฑ์ ๑๐ ประการเหล่านี้สามารถนำมาใช้กับรัฐบาลในปัจจุบันที่มุ่งหวังที่จะปกครองประเทศให้มีสันติสุขได้  ทศราชธรรม ๑๐ ประการมีดังนี้:

๑) ทาน           มีความเอื้อเฟื้อและไม่เห็นแก่ตัว

๒) ศีล            มีความประพฤติดี

๓) ปริจจาคะ     พร้อมที่จะเสียสละความสุขสำราญของตนเพื่อความสุขของประชาชน

๔) อาชวะ        มีความซื่อตรง

๕) มัททวะ       มีความอ่อนโยน

๖) ตปะ                    ดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน

๗) อักโกธะ       ไม่กริ้วกราดลุอำนาจความโกรธ

๘) อวิหิงสา       ไม่ใช้ความรุนแรง

๙) ขันติ           มีความอดทน

๑๐) อวิโรธนะ    เคารพในมติมหาชนเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความปรองดอง

เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ปกครองนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำต่อไปว่า

- ผู้นำที่ดีพึงกระทำการสิ่งใดโดยไม่มีการลำเอียงหรือมีอคติระหว่างคนกลุ่มต่างๆ

- ผู้นำที่ดีพึงไม่มีความเคียดแค้นต่อประชาชนคนใดหรือกลุ่มใด

- ผู้นำที่ดีไม่พึงกลัวที่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความยุติธรรม(จักกวัตติสีหนาทสูตร)

ดังนั้นสรุปได้ว่า ท่าทีของพระพุทธเจ้ากับการเมือง พระพุทธเจ้าทรงเป็นกลางทางการเมืองหรืออยู่เหนือการเมือง ไม่เลือกว่าจะมีการปกครองในรูปแบบใด พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองในแง่ของหลักคำสอน ในแง่ของการเสนอหลักการ หรือรูปแบบการปกครองที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในรัฐนั้นๆ โดยการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมะให้เหมาะสมกับรูปแบบการปกครองของรัฐ โดยไม่ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารหรือการปกครองภายในของรัฐแต่อย่างใด

หลักการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้มิได้ตั้งอยู่บนรากฐานของปรัชญาทางการเมือง และมิได้เป็นคำสอนที่ส่งเสริมให้มนุษย์แสงหาความสุขในทางโลก แต่เป็นคำสอนที่จะนำไปสู่การบรรลุถึงซึ่งพระนิพพาน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่า เป้าหมายสูงสุดของคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือการดับเสียซึ่งตัณหาที่จะผูกพันมนุษย์ให้ติดอยู่ในโลกนี้ไว้

 

อ้างอิง

[๑] http://www.geocities.ws/easydharma/dharma003.html.เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐.

[๒] ชลธิศ ธีระฐิติ,๒๕๕๑,http://oknation.nationtv.tv.เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐.

[๓] พระมหาธรรมรัต อริยธมฺโม,พุทธกิจด้านการเมือง,https://www.gotoknow.org.เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐.

[๔] ขุ.ธ.  ๒๕ / ๓๐ / ๓๖.

[๕] พระสูตรและอรรถกถาแปล  ๖๒ / ๕๓๘ - ๕๓๙

[๖] บ้านจอมยุทธ,พระสงฆ์กับการเมือง,๒๕๔๓,https://www.baanjomyut.com.เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐.

[๗] พระสูตรและอรรถกถาแปล  ๔๒ / ๓๖๔.

[๘] พระสูตรและอรรถกถาแปล  ๔๒ / ๓๖๔ - ๓๖๕.

[๙] พระสูตรและอรรถกถาแปล  ๖๒ / ๕๔๐.

[๑๐] วิรัตติ,พระพุทธเจ้ากับการเมือง,http://oknation.nationtv.tv.เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐.

[๑๑] พระพุทธเจ้ากับความปรองดอง,https://sites.google.com.เข้าถึงข้อมูลเมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐.

หมายเลขบันทึก: 641501เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2017 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2017 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท