รัฐบาลมาเลเซียอำนวยความสะดวกต่อการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้รับผลประโยชน์


รัฐบาลมาเลเซียอำนวยความสะดวกต่อการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้รับผลประโยชน์

ดร. สุริยะ สะนิวา  

บทคัดย่อ

โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสาเหตุที่รัฐบาลประเทศมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย และ 2) เพื่อศึกษาผลกระทบจากความขัดแย้งที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย  การศึกษานี้ได้มีการจัดทำแบบสอบถาม ทำการสัมภาษณ์ และทำการสนทนากลุ่ม ทั้งในประเทศไทยและในเขตแดนประเทศมาเลเซีย จากผู้ตอบคำถามจำนวนทั้งสิ้น 300 คน เพื่อให้ได้คำตอบของสาเหตุที่รัฐบาลประเทศมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย และผลกระทบจากความขัดแย้งที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย  โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพร้อยละ 60 และเชิงปริมาณร้อยละ 40  ซึ่งผลจากการวิเคราะห์จากคำตอบเชิงคุณภาพพบว่า ประเทศมาเลเซียมีความเป็นห่วงต่อการเสียหายด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชนต่อความมั่นคงทางการเมือง  ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งนั้น ทางฝั่งมาเลเซีย จะเกิดความเสียหายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การสูญเสียรายได้จากการสร้างสถาบันการศึกษาของตนใกล้ชายแดน ต่อแหล่งท่องเที่ยว และต่อธุรกิจชายแดนของตน สำหรับประเทศไทยนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ เพราะระดับความปลอดภัยในชีวิตต่ำมาก  ส่วนผลการวิเคราะห์จากคำตอบเชิงปริมาณพบว่า เหตุผลที่รัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยรวมทั้ง  เพื่อสร้างสันติภาพ และขจัดปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยนั้น  ลำดับที่ 1 คือ รัฐบาลมาเลเซียเข้าใจว่าสภาพด้อยทางการศึกษาจำเป็นต้องมีการทบทวน โดยค่าของความเป็นไปได้คิดเป็นร้อยละ 100    ส่วนในลำดับที่ 2   คือ รัฐบาลมาเลเซียเข้าใจถึงมาตรฐานการครองชีพตกต่ำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล โดยค่าของความเป็นไปได้คิดเป็นร้อยละ 92 ในลำดับที่ 3 คือ รัฐบาลมาเลเซียตระหนักถึงการเลือกปฏิบัติด้านสิทธิการประกอบอาชีพในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องทบทวน  โดยค่าของความเป็นไปได้คิดเป็นร้อยละ 81)  ในลำดับที่ 4   คือ รัฐบาลมาเลเซียตระหนักถึงปฏิบัติการทางทหารและตำรวจเป็นที่กังวลของทุกฝ่าย โดยค่าของความเป็นไปได้คิดเป็นร้อยละ 78  และในลำดับที่ 5   คือ รัฐบาลมาเลเซียยอมรับความเชื่อทางด้านศาสนาและอัตลักษณ์ในสังคมชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ โดยค่าของความเป็นไปได้คิดเป็นร้อยละ 65

 

 

MALAYSIAN GOVERNMENT  FACILITAES TOWARDS PEACE IN SOUTHERN BORDER PROVINCES OF THAILAND: THE MEDIATOR OR THE BENIFICIARY

Dr. Suria Saniwa

ABSTRACT

This research project was aimed to find out 1) why Malaysian government accepted to be mediator for peace building towards the conflict in southern border provinces of Thailand and, to study 2) the impacts of conflict which are effective for economy and security in both Thailand and Malaysia.  This study prepared a set of questionnaires, an interview, and a program of focus groups for both sides: Thailand and Malaysia. The respondents are totaling 300 people to obtain the answers of why Malaysian government accepted to be the mediator and how the impacts are towards their both economy and security.  This research utilized a technique of qualitative 60% and quantitative 40%. The analysis in qualitative, it has found that Malaysia is worried about the damage of economy and the security of people in their political status. In part of the impacts, Malaysia has prepared their educational institutions including some attractions and border-business projects near the border and the conflict may damage all of the economic developments.  For the Thailand side, its economic could not be extended because the security of life towards the people is at a very low level. In addition, the analysis in quantitative, it has found that (1) Malaysia has understood that poor education must be reviewed with the probability 100>#/span###, (2) Malaysia has understood that the standard of living in southern Thailand is critical, with the probability 92>#/span###,  (3) Malaysia has realized that the discrimination in this people’s career must  be reviewed with the probability 81>#/span###,   (4) Malaysia has realized that the operation of military and police is worried by all parties with the probability 78>#/span###,  and (5) Malaysia has accepted that religious belief and ethnicity in southern Thailand are to be proud of with the probability 65>#/span###.

 

 บทนำ

 

ทฤษฎีการไกล่เกลี่ยนั้นเป็นแบบอย่างที่พัฒนาจากเมืองเรนส์ (ประเทศฝรั่งเศส) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 โดยศาสตรจารย์ญังและดูโวลัวร์ดิร์ (Professor Jean Gagnepain and Du Vouloir Dire) ที่พยายามแก้ปัญหาทั้งหมดเกี่ยวกับมนุษย์ศาสตร์ ทฤษฏีนี้เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มประเทศยุโรปบางประเทศ และในสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวางและหลากหลาย ซึ่งครอบคลุมถึงด้านภาษาศาสตร์ วรรณกรรม จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วิเคราะห์เชิงจิตวิทยา และความเชื่อทางศาสนาต่างๆ ทั้งนี้ ทฤษฎีนี้มีความมุ่งหมายเพื่อขยายความอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่กาเนแปง (Gagnepain, 1994) เรียกว่า "in-discipline" (ขาดการควบคุมในพฤติกรรมของกลุ่มคน) โดยทฤษฎีการไกล่เกลี่ยดังกล่าวจะเข้าใจความจำเป็นด้านวัฒนธรรม ซึ่งมิใช่งานทั้งหมดของสังคม และก็มิใช่กรอบของอารยธรรม แต่เป็นกลุ่มย่อยในทักษะที่มนุษย์พึงมี ซึ่งจะไม่มีสภาวะที่สุดโต่ง มนุษย์ทั้งหมดจะร่วมกันแบ่งปันกันโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติศาสนา ซึ่งทฤษฎีการไกลเกลี่ยนั้น วัฒนธรรมและเหตุผล "rationality" (การมีเหตุมีผล)  เป็นสิ่งที่นักปราชญ์ได้อภิปรายเป็นเวลาหลายศตวรรษมาจนเป็นอัตลักษณ์แล้ว จนกลายเป็นแนวคิดอำนาจทางการเมืองหรือการอำนวยความสะดวก (Jones, Review of International Studies, 2000: 647-662)  โดยปรกติแล้ว กระบวนการไกล่เกลี่ย จะมาพร้อมกับประเด็นสันติภาพหรือการสร้างสันติภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพที่รายงานโดยสหประชาชาติโดยท่านอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (Boutros-Ghali) ในปี ค.ศ.  1992 นั้นท่านให้ความหมายว่า “เป็นการกระทำเพื่อกำหนดและสนับสนุนโครงสร้างต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความแข็งแกร่งด้านสันติภาพและเป็นปึกแผ่นในการที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เกิดความขัดแย้ง” (A/47/277 – S/24111, para. 21)

ส่วนปัญหาความขัดแย้งในมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทยนั้น กรอบเวลาและเหตุการณ์ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งสองประเทศที่เกิดขึ้นจะคล้ายคลึงกัน คือ ขบวนการพูโล (Pattani United Liberation Organization) ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1968 และขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (the Moro National Liberation Front) ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1969 ทั้งสองขบวนการกลายเป็นขบวนการที่สำคัญและดำเนินการเคลื่อนไหวในปี ค.ศ. 1970 ก่อนที่จะแตกแยกออกเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งคล้ายคลึงกันนั้นก็ยังมิได้จบสิ้นเลย ทั้งสองประเทศมีอาณาเขตติดต่อกับชายแดนของประเทศมาเลเซีย (พื้นที่ป่าดงดิบติดต่อกับประเทศไทยและพื้นที่ทะเลติดต่อกับประเทศฟิลิปปินส์) ประเทศที่มีบทบาทในความขัดแย้งทั้งสองแห่งย่อมมีความรู้สึกขุ่นมัวต่อการเจรจาหรือการก้าวก่ายต่อความขัดแย้งดังกล่าว  แม้ว่ามาเลเซียพยายามที่จะช่วยเหลือให้เกิดสันติภาพในดินแดนภาคใต้ของทั้งสองประเทศและได้รับการสรรเสริญก็ตาม จากประวัติของประเทศมาเลเซียเองที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองขบวนการในอดีตนั้นยังคงหลอกหลอนและสร้างความสงสัยในความเป็นกลางของประเทศมาเลเซีย ตัวอย่างเช่น ประสบการณ์จากมินดาเนา จากการที่มาเลเซียมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการมุสลิมโมโร ทางภาคใต้ประเทศฟิลิปปินส์เป็นในสาเหตุหลักที่ว่าทำไมความเชื่อถือของกัวลาลัมเปอร์ต่อกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับขบวนการโมโรแห่งชาติ (GPH-MILF peace process) ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความไม่เป็นกลาง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่า แทนที่มาเลเซียจะรวบรวมประชาชนชาวบังซาโมโร (Bangsamoro people) แต่กลับแยกชุมชนบังซาโมโรออกโดยเลือกเอาเฉพาะกลุ่มเดียวคือ ชาวมากินดาเนา (Maguindanaons) ซึ่งเป็นฐานของขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) เท่านั้น โดยทอดทิ้งกลุ่มอื่นๆ เช่น ชาวเทาซุก (Tausugs) ซึ่งเป็นฐานของขบวนการแห่งชาติโมโร (MNLF) และกลุ่มสุลต่านซุลูเป็นต้น  แท้ที่จริงนั้น ผู้สร้างสันติภาพ จะเข้าใจต่อกัวลาลัมเปอร์ได้อย่างไร หากเลือกเอาเฉพาะกลุ่มที่จะให้ประโยชน์ต่อตนเองกลุ่มเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ตัวอย่างกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย การสร้างสันติภาพของมาเลเซียต่อมุสลิมในภาคใต้นั้นได้เกิดความเจ็บปวดต่อปัญหามากมาย เช่น ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา ก่อให้เกิดความกดดันต่อความมั่นคงมาตั้งแต่ที่มีการขยายดินแดนมาตั้งแต่อดีต นอกจากนี้ ประชาชนในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย เช่น รัฐกลันตัน ได้แสดงออกถึงความเห็นใจอย่างสุดซึ้งต่อประชาชนชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งโดยฐานกำเนิดเป็นชาวมาเลย์ มีความเชื่อที่เหมือนกัน พูดภาษาเดียวกันและมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน 

สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยของวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556 นั้น เป็นวันที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ยกธงมาเลเซียพร้อมๆ กันในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและบางส่วนของสงขลา เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกราชของประเทศมาเลเซียจากผู้ล่าอาณานิคม และวันที่ก่อตั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนเบอร์ซาตูในปี พ.ศ. 2532 จากกระแสรายงานแหล่งข้อมูลการเคลื่อนไหวของขบวนการที่ให้แก่ Asia Times Online ว่า คำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นมาจากผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศมาเลเซีย ชาวมุสลิมมาเลย์บางรายให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นผู้ล่าอาณานิคมในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งเคยเป็นรัฐแห่งสุลต่านมาก่อน พวกเขาเชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 103 ครั้งนั้น เป็นจำนวนปีที่ประเทศไทยครอบครองดินแดนแห่งนี้มาเป็นเวลา 103 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 (The Anglo-Siamese Treaty of 1909 demarcated borders between Siam, present-day Thailand, and Malaysia, ending traditional tributary relations).  

สำหรับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนในภาคใต้ให้ความเห็นต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สัมภาษณ์ต่อผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 30 คนโดย ดร. สุริยะ สะนิวา (2557) ข้อมูลที่ได้รับคือ “ข้าราชการต้องให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนในพื้นที่และดูแลพวกเขาให้ทั่วถึง สิ่งที่เป็นอันตรายที่น่าเป็นห่วงคือ มีข้าราชการในอดีตที่ผ่านมายังคงคิดถึงผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าอย่างอื่น นอกจากนี้ คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ควรจะมีการกำหนดโควต้าสัดส่วนความเป็นข้าราชการอย่างเหมาะสมในพื้นที่ รัฐบาลต้องมองดูว่า ทำไมคนนอกพื้นที่เข้ามาทางานในพื้นที่แห่งนี้มากมายเหลือเกิน นี่คือประเด็นที่ทำให้คนในพื้นที่ว่างงาน”  ลักษณะอย่างนี้จะคล้ายคลึงกับสิ่งที่ปรากฏขึ้นในประเทศสหภาพแอฟริกาใต้ ซึ่งลัทธิก่อการร้ายก่อตัวขึ้นมาเนื่องจากชนพื้นเมืองไม่มีโอกาสทางานดีๆ ในโลกสมัยใหม่ ผู้ปกครองผิวขาวพยายามกีดกันโดยมิให้ชาวพื้นเมืองซูลู (Zulus) ซูซัส (Xhosas) และ ชาวผิวดำอื่นๆ (other black ethnic groups) ได้รับงานทำที่ดีกว่า  ใน ปี ค.ศ. 1912 ผู้นำชาวแอฟริกันกระทำการกบฎโดยก่อตั้งสภาแห่งชาติแอฟริกัน (African National Congress -ANC) ซึ่งสภานี้มีความมุ่งหมายที่จะปกป้องสิทธิของชาวอัฟริกัน ซึ่งวันเดอเวียร์ และยูวีมา (Van de Vliert, Evert; Euwema, Martin C. 1994) ได้ให้ข้อแนะว่า สงครามอาจเกิดขึ้นระหว่างผู้แพ้กับผู้ชนะ

ดังนั้น โครงการวิจัยนี้จึงดำเนินการเพื่อตรวจสอบโจทย์ปัญหาวิจัยคือ “เพราะเหตุใดรัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย”

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

 

1) เพื่อหาสาเหตุที่รัฐบาลประเทศมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย

2) เพื่อศึกษาผลกระทบจากความขัดแย้งที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย

วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและกรอบแนวคิด

 

ปัญหาของชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาทางอัตลักษณ์ การศึกษาของท่านสงคราม ชื่นภิบาล (1975) พบว่า ได้มีการกลืนชาติของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนส่วนใหญ่พึ่งพิงผลิตผลทางการเกษตร ศาสนาอิสลามก็เป็นปัญหา ทั้งนี้เป็นศาสนาที่ไม่เปิดกว้าง จะเข้าสังคมในวงจำกัด เพราะยึดถือศาสนา ประเพณี และภาษาที่จำกัด และท่านได้สรุปว่า นี่คือสาเหตุที่การกลืนชาติต่อชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปด้วยความยากลำบาก  และท่านมีการแนะนำว่า การแก้ไขปัญหานั้น ควรจะให้มีการย้ายถิ่นฐานจากคนนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ให้มากเพื่อที่จะได้ลดจำนวนอัตราประชากรให้น้อยลง  ส่วนท่านอุทัย ดุลยเกษม (1981) ศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาและชาตินิยมในชาติพันธุ์  มีการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างแง่คิดกระบวนการสมัยใหม่ เช่น การศึกษาสมัยใหม่ เศรษฐกิจและนโยบายสมัยใหม่กับชาตินิยมในชุมชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การพัฒนาใดๆ ในชุมชนดังกล่าว ต้องไม่กระทบต่อศาสนาและประเพณีของท้องถิ่น ต่อมาท่านสุรินทร์ พิทสุวรรณ (1985) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามกับชาตินิยมมลายู  พบว่า ความขัดแย้งเกิดขึ้นเนื่องจากนโยบายของรัฐได้ทำลายศาสนาและวัฒนธรรมของชาวมุสลิม โดยที่โรงเรียนปอเนาะหลายแห่งถูกปิดลง เห็นได้จากปฏิกริยาที่ตอบโต้ของขบวนการต่างๆ เช่น บีเอนพีพี (BNPP) บีอาร์เอน (BRN)  พูโล (PULO) และมูจาฮิดีน (Mujahideen) 

ในปี  ค.ศ. 1991 ท่านวันกาเดร์ เจ๊ะมาน ศึกษาถึงปัญหาเชื้อชาติโมโรในมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และเชื้อชาติมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการหวงแหนอำนาจทางการเมืองการปกครองของตระกูลสุลต่านที่หายไป ส่วนท่านด์ซิราญูลอิสลาม (2005) ศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ท่านพบว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากรัฐบาลไปทำลายภาษาของชนกลุ่มน้อย  อย่างเช่น ไปเปลี่ยนแปลงชื่อเรียกภาษามลายูไปเป็นภาษาท้องถิ่น เปลี่ยนชื่ออัตลักษณ์จากเชื้อชาติมลายูไปเป็นเชื้อชาติไทยเป็นต้น

นอกจากนี้ ท่านลูเชียนไพ (1966) ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาทางการเมืองอยู่ข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น การพัฒนาใดๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น ต้องคำนึงถึงเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง หากตราบใดที่ประชาชนมีรายได้ตกต่ำ ก็หมายความว่า เราไม่อาจหนีออกจากความขัดแย้งนั้นได้

แล้วเราจะสร้างสันติภาพขึ้นได้อย่างไร เกี่ยวกับสันติภาพนั้น เคยมีตัวอย่างจากรายงานของท่าน  Brahimi Report คณะกรรมการฝ่ายนโยบายเลขาธิการสหประชาชาติ ปี 2000 ได้ให้คำนิยามว่า การสร้างสันติภาพนั้น เป็น “กิจกรรมที่ควบคุมความขัดแย้งเพื่อให้เกิดการก่อตั้งองค์กรการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีการกำหนดเครื่องมือในการสร้างองค์กรเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามีมากกว่าความหมายที่มีเพียงแต่ไม่ให้เกิดสงคราม” ส่วนทฤษฎีการไกล่เกลี่ยของมาร์กซิสนั้น ได้กล่าวถึง การสร้างความเป็นสมานฉันท์ของสองขั้วอำนาจภายในสังคม (ตัวอย่างเช่น แนวทางวัฒนธรรมและแนววัตถุ หรือโครงสร้างพิเศษกับฐาน) โดยผ่านทางไกล่เกลี่ย สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือ ภายในสื่อศึกษาถึงการนำปัจจัยวัฒนธรรมเป็นตัวกลางของการสื่อสารด้วยตัวมันเอง ความคิดการไกล่เกลี่ยที่มีมีชื่อเสียงคือ การสร้างสมานฉันท์ของสองพรรคที่ค้านกันโดยกลุ่มที่สาม นี่คือเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันต่อความหมายของทั้งทฤษฎีมาร์กซิสและจากการศึกษาการนำสื่อกลาง สำหรับคาร์ลมาร์กซ์และเฟดริกแอนเกิลส์นั้น ปัจจัยที่เป็นสื่อนำคือทุนหรือแรงงาน (Marx, Karl and Frederick Engels, 1973)

เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2540: 3-4) ได้มีการนำระบบยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในระบบศาลแล้ว ปัจจุบันพบว่าระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรมนั้น คู่ความ หรือประชาชนค่อนข้างพอใจ ส่วนผู้ประนีประนอม/ผู้ไกล่เกลี่ยควรได้รับการพัฒนาให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และยังขาดแคลนงบประมาณในการบริหารจัดการไกล่เกลี่ยของศาลยุติธรรมในบางประเทศ ทั้งนี้การนำระบบยุติธรรมทางเลือก และการนำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในศาลยุติธรรมนี้เป็นกระแสหลักของการพัฒนากระบวนการยุติธรรม โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ถึงแม้อาจจะประสบปัญหาในเชิงของข้อโต้แย้ง เช่น ความเหมาะสม และศักยภาพของประเทศไทยว่าจะสามารถสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนได้แท้จริง หรือไม่ หรือเป็นการลอกเลียนการบริหารจากวัฒนธรรมตะวันตก อย่างไรก็ตามสภาพของชุมชนท้องถิ่น และศักยภาพของการนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในพื้นที่ประเทศไทยนั้นค่อนข้างมีความแตกต่าง เช่น สังคมเมือง สังคมชนบท หรือวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค/ ท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็สามารถอำนวยประโยชน์ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เช่น ความพยายามในการนำระบบไกล่เกลี่ยไปใช้ในชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะของความแตกต่างระหว่างไทย-มุสลิม ไทย-พุทธ เมื่อกฎหมายของส่วนกลางมีความขัดแย้งกับวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ก็จำเป็นต้องแสวงหาแนวทางกลไกที่จะอำนวยความยุติธรรมให้ดำเนินไปได้ ซึ่งการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้สามารถเป็นทางเลือกหนึ่ง

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2540: 3-4) ได้ศึกษาการนำระบบไกล่เกลี่ยโดยคำนึงถึงความแตกต่างของสภาพสังคมเมืองและชนบท และพบว่า สังคมเมืองมักนึกถึงผลประโยชน์และยินดีกับการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายมากกว่าระบบของการประนีประนอมแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งสังคมเมืองในทางปฏิบัติค่อนข้างแสวงหาผู้ไกล่เกลี่ยได้ยาก ซึ่งต่างจากสังคมชนบท เช่น หมู่บ้านไทยที่มีการปกครองตัวเอง และมีการตัดสินข้อพิพาทด้วยชุมชนมาแต่ครั้งบรรพกาล ลักษณะการปกครองเช่นนี้ ยังปรากฏร่องรอยเหลืออยู่ในระบบ “สภาผู้เฒ่า” ของบางหมู่บ้านในภาคอีสาน คือ ที่หมู่บ้านนาหว้าใต้ กิ่งอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หากมีการวิวาทกัน เช่น เรื่องครอบครัว เรื่องชู้สาว หรือการทำมาหากิน จะถือว่าเป็นเรื่องลูกหลานทะเลาะกัน แต่ละฝ่ายจะหาผู้เฒ่ามาฝ่ายละ 4-5 คน สภาผู้เฒ่าจะปรึกษาหารือกันแล้วตัดสินใจโดยการคารวะขอโทษกัน แล้วปรับความเข้าใจใหม่ แล้วอบรมสั่งสอนมิให้มีการประพฤติผิดอีก นอกจากนี้ในภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเกิดข้อพิพาทจะนำไปปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ในชุมชน โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ค่านิยมสังคมชนบทของไทยยังยึดถือและเชื่อฟังผู้นำชุมชน และยอมรับให้ทำหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทมาโดยตลอด และเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญมากสำหรับการไกล่เกลี่ย

อัครศักย์ จิตธรรมมา (2551: บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง การพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลยุติธรรมของประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า การพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องพัฒนาองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ คือ การสนับสนุนทรัพยากรจากรัฐบาล อีกทั้งสร้างเสริมทัศนคติในเชิงบวกต่อระบบการไกล่เกลี่ย การฝึกฝนและอบรมและการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม ส่วนการพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบดังเช่นที่ศาลยุติธรรมดำเนินการอยู่ แต่สามารถเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจากศาลยุติธรรมได้ ทั้งด้านรูปแบบ องค์ความรู้ การพัฒนาในเชิงนโยบาย ระเบียบกฎหมาย และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ นั้นต่างเดินมาบนเส้นทางที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก

วรศิริ จันทร์ทร (2550: บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่อง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบ Facilitative Approach สำหรับครอบครัว การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบการช่วยกระบวนการกลุ่ม (Facilitative Approach) เป็นการแก้ไขข้อพิพาทอย่างมีทางเลือก หรือ ADR (Alternative Dispute Resolution) ในรูปแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคนกลาง (Mediation) รูปแบบหนึ่งในศาลของสหรัฐอเมริกา แนวทางหลัก คือเป็นกระบวนการจัดการกับความขัดแย้งที่มีบุคคลที่สาม ซึ่งกรณียอมรับว่าเป็นกลาง เข้าทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการให้คู่กรณีสามารถระบุความต้องการที่แท้จริงลึกๆ ภายในจิตใจของตน เพื่อเปิดทางให้คู่กรณีค้นหาทางออกใหม่ร่วมกันและช่วยแก้ไขปัญหาของความขัดแย้งที่มีให้ลุล่วงไปได้อย่างราบรื่นและเป็นการร่วมมือกันหาทางออกของคู่พิพาทอย่างแท้จริง ถือเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในอุดมคติ โดยการจัดการกับความขัดแย้งรูปแบบนี้ผู้ไกล่เกลี่ยเป็นเพียงผู้ขับเคลื่อนกระบวนการและไม่เข้าแทรกแซงทางด้านเนื้อหาสาระของข้อพิพาท คู่กรณีทุกฝ่ายจึงรู้สึกได้ว่าตนได้รับการเยียวยาจิตใจและขจัดความขุ่นมัวให้หมดสิ้นได้อย่างแท้จริงและต่างพบว่าตนก็เป็นผู้ชนะเช่นกัน จากการศึกษาพบว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในรูปแบบการช่วยกระบวนการกลุ่มเป็นวิธีระงับข้อพิพาทในคดีครอบครัวที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนจึงได้เสนอแนะแนวทางและบทบัญญัติของกฎหมายสำหรับนำวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทรูปแบบการช่วยกระบวนการกลุ่มมาใช้ระงับข้อพิพาทในคดีครอบครัว เพื่อเสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมตามระบบปกติของศาลเยาวชนและครอบครัว และเพื่อพัฒนาการระงับข้อพิพาทในคดีครอบครัวอันเป็นการช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง

จากการศึกษาข้างต้น พบว่าการไกล่เกลี่ยในสังคมประเทศไทยนั้นได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต โดยจะใช้กระบวนการจัดการ และมาตรการทางสังคม อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในบางสังคมในภาคเหนือ และภาคอีสาน และยังคงมีการใช้จนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยปัจจัยทางสังคมเช่นกัน ที่ผลักดันให้สังคมไม่มีความผูกพันกัน และไม่เชื่อใจกันโดยเฉพาะในสังคมเมือง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีด้วยกลไกของศาลที่ละเอียด และใช้เวลานานกว่าจะสิ้นสุดคดีทำให้เกิดความตระหนักที่จะให้นาระบบการไกล่เกลี่ยมาใช้ อันเป็นกระบวนการทางเลือกในศาล และมีผลในทางกฎหมายไม่ต่างจากผลการพิจารณาตัดสินโดยกระบวนการปกติ การพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยในทางศาลจึงเป็นแนวทางที่ดี แต่ในการพัฒนาระบบนี้ให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องพัฒนาองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ คือ การสนับสนุนทรัพยากรจากรัฐบาล อีกทั้งสร้างเสริมทัศนคติในเชิงบวกต่อระบบการไกล่เกลี่ย การฝึกฝนและอบรมและการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม นอกจากนี้การพัฒนาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต้องพัฒนาทั้งในด้านรูปแบบ องค์ความรู้ การพัฒนาในเชิงนโยบาย ระเบียบกฎหมาย และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน กรณีศึกษา ศูนย์ยุติธรรมชุมชนตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ครั้งนี้ ผู้วิจัย ได้ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การประนอม ข้อพิพาท จากหนังสือ บทความ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ระเบียบ และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการตั้งคำถามในการวิจัย ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างกรอบแนวคิดบางส่วนในการวิจัยโดยใช้ผลงานวิจัยของอานันท์ ธีระชิต (2538) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การประนอมข้อพิพาทระดับหมู่บ้านโดยคณะกรรมการหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการประนอมข้อพิพาทในระดับหมู่บ้าน ได้ทำให้ทุกฝ่ายมีความพอใจเป็นอย่างดี และคู่กรณีให้การยอมรับผลของการประนอมข้อพิพาท ในระดับหมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยว่า น่าจะดำเนินการประนอมข้อพิพาท ในระดับหมู่บ้านต่อไปโดยปรับปรุงให้ทันสมัย และเสนอแนะการปรับปรุงวิธีการประนอม ข้อพิพาทระดับหมู่บ้าน โดยการฝึกอบรมผู้ประนอมข้อพิพาท ให้มีความรู้ ส่งเสริมให้มีการประนอมข้อพิพาทระดับหมู่บ้านมากขึ้น การหาวิธีให้ได้ผู้ประนอมข้อพิพาทที่เที่ยงธรรม และการให้อำนาจตามกฎหมายแก่หมู่บ้าน

งานของกฤษณะ พินิจ (2539) ได้ทำวิจัยเรื่อง ชนชั้นนำท้องถิ่นกับการประนอมข้อพิพาทในหมู่บ้าน กรณีศึกษากิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ผลการวิจัยพบว่า ชนชั้นนำที่ดำรงตำแหน่งที่เป็นทางการภายในชุมชนจะมีศักยภาพ และความสามารถในการประนอมข้อพิพาทสูงกว่าชนชั้นนำประเภทอื่น ดังนั้นควรจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการประนอมข้อพิพาทภายในหมู่บ้านเป็นการเฉพาะ โดยให้สมาชิกของชุมชนเป็นผู้เลือกจากบุคคลที่เห็นว่ามีความรู้ความสามารถเพียงพอ เพราะการประนอมข้อพิพาทจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการยอมรับในตัวบุคคลเป็นสำคัญ

งานของกัญทิยา ใจกลางดุก (2543) ได้ศึกษาถึงศักยภาพของชุมชนในการจัดการกับความขัดแย้ง ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการความขัดแย้งโดยใช้กลุ่มผู้นำเครือข่ายผู้นำทั้งภายในและภายนอกชุมชน อีกทั้งนำศักยภาพทางเครือข่ายของชาวบ้าน เครือข่ายกลุ่มอาชีพ เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม และปัจจัย/องค์ประกอบต่าง ๆ ในการจัดการกับความขัดแย้งภายในชุมชน โดยใช้แนวทางแก้ปัญหา 2 วิธี คือแนวทางอย่างสันติวิธี และแนวทางความรุนแรง ทั้งนี้ การจัดการความขัดแย้งดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งผ่านกระบวนการเรียนรู้จากแหล่งความรู้ทั้งภายในและภายนอกชุมชนเพื่อจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง

ในส่วนงานของสุมิตรา สุวรรณรงค์ (2549) ได้ศึกษาเรื่อง สัมฤทธิ์ผลของการนำวิธีการไกล่เกลี่ยและประนอม ข้อพิพาทแรงงานมาใช้ในศาลแรงงานภาค 5 ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิต่อการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท คือ เพศ เรื่องพิพาทที่เกิดขึ้น ที่มาของการไกล่เกลี่ย รวมทั้งขั้นตอนและกระบวนการไกล่เกลี่ย สำหรับปัญหาของการไกล่เกลี่ยคือ ปัญหาทางด้านบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการไกล่เกลี่ยและสถานที่ตั้งของศาลแรงงานภาค 5 ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการ

งานของชลาธิป อ้างอิง (2554) ได้ศึกษาเรื่องบทบาทของผู้นำชุมชนกับการประนอม ข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น กรณีศึกษาตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ผลของการศึกษาพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากประชาชนขาดความเชื่อมั่น ศรัทธา ผู้นำชุมชน และขาดความรู้ในกระบวนการประนอมข้อพิพาท ส่งผลให้ประชาชนไม่เห็นความสำคัญในบทบาทของผู้นำชุมชนในการประนอมข้อพิพาท และไม่ต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการประนอมข้อพิพาทด้วย

ส่วนมาเลเซีย ในแง่การเป็นผู้ประสานงานหรือไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพนั้น มีตัวอย่างให้เห็นคือ ปาเลสไตน์ มีความเชื่อมั่นว่า มาเลเซียจะเป็นประเทศที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในกระบวนการสร้างสันติภาพจากความขัดแย้งในหลายๆ ประเทศ จนมีที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงในสหประชาชาติ ซึ่งท่านอาลี อาบูไดก์ (เลขาธิการคณะมนตรีฝ่ายปาเลศไตน์ (Palestinian Cabinet Secretary-General) แสดงความเห็นต่อสมาชิกปุตาจายาว่า มาเลเซียจะสามารถเจรจาในการแก้ปัญหาความมั่นคงของนานาชาติทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อแคว้นกาซา (Putrajaya, October 19, 2015) 

                อย่างไรก็ตาม จากการอภิปรายข้างต้นนั้น ยังไม่มีนักวิชาการท่านใดอภิปรายถึง สาเหตุที่รัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยได้ ฉะนั้น โครงการนี้จึงเป็นเรื่องใหม่ที่จะนำสู่การไขปัญหา  “เพราะเหตุใดรัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย”

 

วิธีดำเนินการวิจัย

 

โครงการวิจัยนี้ เก็บข้อมูลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพร้อยละ 60 และปริมาณร้อยละ 40  ซึ่งข้อมูลปฐมภูมินั้นได้รับจากการสัมภาษณ์และสร้างแบบสอบถามเพื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 ตัวอย่าง (จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ประเทศไทยจำนวน 150 คน และรัฐตอนเหนือประเทศมาเลเซียจำนวน 150 คน โดยจัดเป็น Focus Group ดังที่ได้อธิบายในหัวข้อขอบเขตของโครงการวิจัยแล้วข้างต้น)  การสัมภาษณ์ต่างๆ เพื่อหาคำตอบจากความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามต่อโจทย์ปัญหาวิจัย “เพราะเหตุใดรัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย” โดยมีคำถามปลีกย่อยต่างๆ คือ 1) รัฐบาลประเทศมาเลเซียมีบทบาทอย่างไรต่อความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) ปัจจัยอะไรที่เป็นปัญหาและส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 3) ความขัดแย้งได้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ฉะนั้น งานวิจัยนี้ จะเป็นไปในรูปแบบทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณควบคู่กันไป มีทั้งข้อมูลด้านเอกสารเพื่อศึกษาบทบาทต่างๆ ที่มีต่อการไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพ (วัตถุประสงค์ข้อ 1) และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย (วัตถุประสงค์ข้อ 3) ส่วนปัจจัยอะไรที่เป็นปัญหาและส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น   คำตอบต่างๆ จากผู้ตอบแบบสอบถามจะทำการวิเคราะห์ในรูปแบบของการจัดกลุ่ม Focus Group เพื่อหาระดับความความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นกับตัวแปรตามหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง  ผลลัพธ์จากจากการวิเคราะห์จากหกตัวแปรต้นต่างๆ จะเป็นคำตอบที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาวิจัยของโครงการวิจัยนี้ ส่วนข้อมูลทุตยภูมิ จะได้รับจากเอกสารตีพิมพ์ต่างๆ ซึ่งความคิดรวบยอดที่ใช้สำหรับโครงการวิจัยนี้คือ ปัจจัยการไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นทุนหรือแรงงานทางเลือกที่นำเสนอโดยคาร์ลมาร์กซ์และเฟรดริกแอนเกิล (1973) สิ่งที่ปรากฏให้เห็นคือชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูก่อตั้งทั้งองค์กรสายกลางและองค์กรซ้ายจัดเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มตนรวมทั้งสวัสดิการ คำถามที่สอบถามที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์คือ (ก) อิทธิพลของโลกาภิวัฒน์ส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยอย่างไร  (ข) ปฏิบัติการทางทหารและตำรวจส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยอย่างไร (ค)  การกีดกันด้านสิทธิการประกอบอาชีพ ส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยอย่างไร  (ง) มาตรฐานการครองชีพตกต่ำส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยอย่างไร  (จ) ความเชื่อทางด้านศาสนาและอัตลักษณ์ส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยอย่างไร และ (ฉ) สภาพด้อยทางการศึกษาส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยอย่างไร โครงการวิจัยนี้ จะรวบรวมข้อมูลจากการตอบกลับมาของผู้ตอบแบบสอบถามและตรวจสอบความถี่ของคำตอบแต่ละประเด็นตัวแปรอิสระที่เปลี่ยนเป็นจำนวนร้อยละ  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อบรรยากาศแห่งการไกล่เกลี่ยต่อความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

ผลการวิจัย

 

เหตุผลที่รัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยนั้น  ค่าของความเป็นไปได้ในลำดับที่ 1 คือ รัฐบาลมาเลเซียเข้าใจว่าสภาพด้อยทางการศึกษาจำเป็นต้องมีการทบทวน  ส่วนค่าของความเป็นไปได้ในลำดับที่ 2 คือ รัฐบาลมาเลเซียเข้าใจถึงมาตรฐานการครองชีพตกต่ำในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งที่น่ากังวล ค่าของความเป็นไปได้ในลำดับที่ 3 คือ รัฐบาลมาเลเซียตระหนักถึงการเลือกปฏิบัติด้านสิทธิการประกอบอาชีพในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องทบทวน  ค่าของความเป็นไปได้ในลำดับที่ 4 คือ รัฐบาลมาเลเซียตระหนักถึงปฏิบัติการทางทหารและตำรวจเป็นที่กังวลของทุกฝ่าย  และค่าของความเป็นไปได้ในลำดับที่ 5 คือ รัฐบาลมาเลเซียยอมรับความเชื่อทางด้านศาสนาและอัตลักษณ์ในสังคมชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากความขัดแย้งที่มีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย

ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา มาเลเซียแสดงความสนใจมากที่จะมีความร่วมมือด้านฮาลาลกับประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันมากพอสมควรในบางภาคส่วนของราชการ ธุรกิจ วิชาการ และพี่น้องชาวไทยมุสลิมว่าประเทศไทยควรจะร่วมมือกับมาเลเซียหรือไม่

ประเทศมาเลเซียมีความเป็นห่วงต่อการเสียหายด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชนต่อความมั่นคงทางการเมือง  ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งนั้น ทางฝั่งมาเลเซีย จะเกิดความเสียหายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การสูญเสียรายได้จากการสร้างสถาบันการศึกษาของตนใกล้ชายแดน ต่อแหล่งท่องเที่ยว และต่อธุรกิจชายแดนของตน  

นอกจากนี้ การที่มาเลเซียสนใจที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในเรื่องนี้ ก็เพราะมาเลเซียมองเห็นอนาคตของ ฮาลาลและได้กำหนดให้การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ มาเลเซียมีจุดแข็งในแง่ที่เป็นประเทศมุสลิมชั้นนำของโลก ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ด้านและเป็นที่ชื่นชมของโลกมุสลิม แต่ขณะเดียวกัน มาเลเซียก็มีจุดอ่อน ในแง่ที่มิได้เป็นชาติผู้ผลิตสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ พูดง่าย ๆ คือ มาเลเซียขาด“วัตถุดิบ” เพราะเหลือภาคการเกษตรหลักเฉพาะปาล์มน้ำมันและยางพารา

อภิปรายผล

 

ประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันและเป็นชาติผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก มาเลเซียจึงเห็นประเทศไทยว่าน่าจะเป็นหุ้นส่วนที่ดีของตน

 ประเด็นอยู่ที่ว่าประเทศไทยมองเรื่องนี้อย่างไร เห็นความจำเป็นหรือประโยชน์ที่จะร่วมมือกับมาเลเซียหรือไม่ ถ้าเห็นประโยชน์ ความร่วมมือก็คงเกิดขึ้น

 จนถึงขณะนี้น่าจะกล่าวได้ว่า หลายคนที่ดูแลเรื่องนี้ยังเห็นว่าประเทศไทยไม่น่าจะร่วมมือกับมาเลเซีย ไม่มีความจำเป็น และออกจะเป็นการไม่ฉลาดที่จะทำเช่นนั้น

คนเหล่านี้เห็นว่า จริงๆ แล้ว ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลตรงไปยังผู้บริโภคในประเทศมุสลิมต่างๆ ได้อยู่แล้ว ดังจะเห็นได้ว่าแม้มิใช่ประเทศมุสลิม ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก และบรรดาประเทศส่งออกสินค้าฮาลาลใหญ่ๆ ของโลก ก็ล้วนแต่เป็นประเทศที่มิใช่มุสลิม (เช่น บราซิล สหรัฐฯ และอินเดีย)

สิ่งที่เราควรสำนึกอยู่เสมอคือ ที่ชัดเจนมากที่สุด มาเลเซียสามารถเป็น “หุ้นส่วน” เกี่ยวกับสินค้าฮาลาลของประเทศไทยได้

                ประการแรก ต้องยอมรับว่าความเป็นประเทศมุสลิมชั้นนำนั้น เป็นใบเบิกทาง (credential) ที่สำคัญของมาเลเซีย มาเลเซียไม่ต้องทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากเท่าประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศที่มิใช่มุสลิม จริงอยู่ที่ผู้บริโภคหลายคนในประเทศมุสลิมอาจจะไม่ได้เคร่งครัดยึดมั่นในเรื่องสินค้าฮาลาลมากนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า คนมุสลิมที่เคร่งครัดก็มีเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้ต้องการความมั่นใจว่าสินค้าเป็นฮาลาลที่แท้จริง

                พูดง่าย ๆ ผู้บริโภคหลายคนในประเทศมุสลิมจะมั่นใจในความเป็นฮาลาลของสินค้าที่ผลิตจากประเทศมุสลิมมากกว่าสินค้าที่ผลิตจากประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม

                ประการที่สอง จริงอยู่ที่ว่าประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น ประเทศไทย ก็สามารถที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้เช่นกัน แต่ความมั่นใจดังกล่าวต้องอาศัยการโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรฐาน ฮาลาลอยู่มากและต้องมากกว่าประเทศมุสลิมเช่นมาเลเซีย

                คำถามก็คือ ประเทศไทยได้ทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานฮาลาลของตนเองในประเทศมุสลิมและกับผู้บริโภคมุสลิมมากน้อยขนาดไหน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการฮาลาลของประเทศไทยคงทราบดี   ประเด็นมิได้อยู่ที่ว่าประเทศไทยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลระดับโลกหรือตราฮาลาลของไทยออกโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งมีมาตรฐานสูงมาก แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทำการประชาสัมพันธ์มากน้อยขนาดไหน

                ประการที่สาม ไม่ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการสร้างอุตสาหกรรมฮาลาลมาก น้อยเพียงใด แต่การที่มาเลเซียจะซื้อวัตถุดิบจากประเทศไทยเพื่อไปส่งออก (re-export) หรือไปแปรรูป แล้วติดตราฮาลาลของมาเลเซีย น่าจะมองได้ว่าเป็นผลประโยชน์เสริม (added benefit) ของประเทศไทย เป็นการช่วยให้ ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลได้มากขึ้น นอกเหนือจากที่ประเทศไทยส่งออกตรงไปยังประเทศที่สาม

                เรื่องนี้ก็ไม่แตกต่างจากที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ ซื้อสินค้าไปจากประเทศไทยแล้วนำไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง โดยทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลาง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็มิได้มีข้อขัดข้องในเรื่องดังกล่าว คำถามคือถ้ามาเลเซียกระทำอย่างเดียวกันสำหรับสินค้าฮาลาล เหตุใดประเทศไทยจึงจะมีข้อขัดข้อง

                ประการที่สี่ ความร่วมมือกับมาเลเซียในเรื่องฮาลาลจะก่อประโยชน์มากต่อการพัฒนาภาคใต้ รวมทั้งต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

                การร่วมมือกับมาเลเซียจะช่วยให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังมาเลเซีย เพื่อการส่งออก (re-export) หรือเพื่อการแปรรูปเพิ่มเติม ช่วยดึงการลงทุนจากมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทย เพราะประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องวัตถุดิบ แรงงาน และต้นทุนการผลิตโดยรวมที่ยังต่ำกว่ามาเลเซีย ซึ่งก็จะเป็นการสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนในภาคใต้ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาความไม่สงบ

                ประการสุดท้าย ในเชิงยุทธศาสตร์ ความร่วมมือกับมาเลเซียในเรื่องที่สำคัญทางเศรษฐกิจมากเช่นนี้จะเป็นการผูก  (bind) ทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ช่วยการเสริมความตระหนักในผลประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศมีอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ในภาพรวม ทำนองเดียวกับความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ทางทะเลร่วมกัน (Joint Development Area -  JDA) ซึ่งดำเนินมาด้วยดียิ่งตลอด 20ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือด้านฮาลาลจะเป็นการสร้างเสาใหม่ที่ช่วยค้ำยันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง

                โดยสรุป ผู้เขียนสนับสนุนที่ประเทศไทยจะเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างจริงจังและแข็งขัน เพื่อให้สินค้าฮาลาลของไทยสามารถครองตลาดโลกได้มากขึ้น และหากประเทศไทยสามารถ “ขายตรง”ให้กับตลาดสำคัญๆ ได้ ก็ยิ่งดี แต่ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็เห็นว่า มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ดีของประเทศไทยในอุตสาหกรรมฮาลาลได้ การเป็นหุ้นส่วนกับมาเลเซียจะเป็นประโยชน์เสริม (added benefit) ของประเทศไทย และจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของภาคใต้โดยรวม ดังนั้น เราจึงควรเปิดใจกว้างและพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

                สิ่งที่เราไม่ควรลืมคือ มาเลเซียสร้างมหาวิทยาลัยตามชายแดนไทยเพื่อรองรับอะไร สร้างสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งศูนย์การค้างต่างๆ สถานีรถไฟความเร็วสูงตามชายแดนนั้นไว้เพื่ออะไร ผู้เขียนมีประสบการณ์ที่ได้เห็นอย่างชัดเจนคือ มาเลเซียเคยใช้ข้าวไทยมาบรรจุห่อใหม่ในลักษณะดับเบิ้ลแบ้ก และเขียนระบุที่ห่อข้าวสารบนผิวนอกว่า “Made in Malaysia” ส่งออกไปขายในประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง

                ถึงจุดนี้แล้ว เราพอจะมองได้แล้วยังว่า  เพราะเหตุใดรัฐบาลมาเลเซียยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างสันติภาพต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งหากไม่เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ผลกระทบจากความขัดแย้งที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซียนั้นจะเป็นอย่างไร

 

ข้อเสนอแนะ

 

เราต้อง.ยอมรับในด้านระบบการเมืองการปกครองของไทยเรายังต้องพัฒนาให้สู่หลักสากลให้มาก

ที่สุด นอกจากนี้ คนในชาติต้องมีความรักชาติ และพี่น้องร่วมชาติอย่างมีเหตุผล และเคารพในความต่างของคนในชาติ  รวมทั้ง ต้องยอมรับในความเป็นจริงว่า สังคมในยุคใหม่นั้น เรื่องปากท้องสำคัญกว่าอุดมการณ์ สังคมที่จะเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจขึ้นได้นั้น ต้องมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่   หากอาณาเขตของไทยเราแคบลงเมื่อไหร่ ศักยภาพของการสร้างเศรษฐกิจก็จะต่ำลง และเมื่อถึงจุนั้น เราก็จะสายเกินแก้

 

กิตติกรรมประกาศ

            ผู้เขียนและคณะขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์จากจังหวัดต่างๆ ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนอกเขตพื้นที่ คือ รัฐกลันตัน รัฐเปอร์ลิส และรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ผู้วิจัยและคณะต้องขอขอบคุณมายังผู้นำทางเพื่อนัดพบและประชุมผู้ที่ให้ข้อมูลต่องานวิจัยนี้ และผู้ที่ให้ความคิดเห็นต่อแบบสอบถามที่ได้เตรียมไว้ ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุมย่อยที่เราเข้าพบเพื่อจัดทำโฟกัสกรุ๊ป  ซึ่งข้อมูลจากการระดมความคิดเห็นและการเลือกตอบในแบบสอบถามดังกล่าวนั้น ถือเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ายิ่ง

เอกสารอ้างอิง

กฤษณะ พินิจ. (2539). ชนชั้นนำท้องถิ่นกับการประนอมข้อพิพาทในหมู่บ้าน: กรณีศึกษากิ่งอำเภอ

         แม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองและการปกครอง,

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

กัญทิยา ใจกลางดุก. (2543). ศักยภาพของชุมชนในการจัดการกับความขัดแย้ง. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองและการปกครอง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

กิตติพัฒน์ สุวรรณสิริเมธี. (2550).  ''เอกสารประกอบวิชาปรัชญาการเมืองตะวันตก'' มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (2547). การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. กรุงเทพมหานคร : คณะ

สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กระทรวงศึกษาธิการ.(2548). การจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้.สืบค้นเมื่อ 27

กุมภาพันธ์ 2550 จาก http://www.onec.go.th/publicat...49006/kum_49006.htm

คณะกรรมการนโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้.(2548). เอกสารสรุปการจัดทำร่างที่

4 เกี่ยวกับข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้. วันที่ 28-29 เมษายน 2548. ณ โรงแรมซีเอส   จังหวัดปัตตานี. คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์. (2549). เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์.       กรุงเทพ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล.

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.).  (2549).  เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์. 

กรุงเทพ: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  ทำเนียบรัฐบาล. 

ครองชัย หัตถา. (2551). ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์.  (2548). ประชาธิปไตยอำนาจนิยม: ผลของการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทย.ใน ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรณีวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้ อุทัย ดุลยเกษม และเลิศชาย ศิริชัย (บรรณาธิการ). เอดิสันเพรสโปรดักส์

ชิดชนก ราฮิมมูลา.(2548). วิกฤติการณ์ชายแดนใต้. ในความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรณีวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้ อุทัย ดุลยเกษม และเลิศชาย ศิริชัย (บรรณาธิการ). เอดิสัน เพรสโปรดักส์

ชลาธิป อ้างอิง. (2554). บทบาทของผู้นำชุมชนกับการประนอมข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น กรณีศึกษา

         ตำบลบ้านค่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง. การค้นคว้าอิสระรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ และ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ( 2555) สถานการณ์ความไม่สงบและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้: http://www.deepsouthwatch.org/...3653

ธเนศวร์ เจริญเมือง. (2547). รัฐศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ แนวคิดประชาธิปไตย, การเมืองไทย และแผ่นดินแม่. ยูโรปา เพรส บริษัท จำกัด

ธงชัย  วินิจจะกูล.(2548). “บทนำเกียรติยศ  เรื่องเล่าจากชายแดน”,  ในประวัติศาสตร์ “ปกปิด” ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐปัตตานีใน “ศรีวิชัย” เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์   หน้า 2-30. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน.

ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย: ยุคกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. ISBN 974-276-111-6.

ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร. (2548). ปอเนาะกับความมั่นคงของชาติ.สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 จากhttp://www.kurusampan.com/post...21

เพ็ญศรี ดุ๊ก. (2542). การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด

ภูวดล ทรงประเสริฐ. (2548). ความขัดแย้งเรื้อรังใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้. ใน ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรณีวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้ อุทัย ดุลยเกษม และเลิศชาย ศิริชัย (บรรณาธิการ). เอดิสันเพรสโปรดักส์.

มูลนิธิหะญีสุหลง.  (2536).  มูลนิธิหะญีสุหลงอับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา.  ปัตตานี: มูลนิธิหะญีสุหลง.

รอมฎอน ปันจอ (2556) กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน  โครงการจัดพิมฑ์ดีพบุคส์

รัตติยา  สาและ.(2548). “ปตานี  ดารุสสะลาม (มลายู- อิสลาม  ปตานี)สู่ความเป็น “จังหวัดปัตตานี  ยะลา และนราธิวาส”, ในประวัติศาสตร์ “ปกปิด” ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐปัตตานีใน “ศรีวิชัย” เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์   หน้า 236-282. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน.

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ | ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, 2017: http://www.deepsouthwatch.org/...5775

ลิขิต ธีรเวคิน. (2542). วิวัฒนาการเมือง การปกครองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 7,กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี.( 2548).  หนึ่งปีหนึ่งทศวรรษความรุนแรงชายแดนใต้: ปริศนาของปัญหาและ

         ทางออก เอกสารอัดสำเนาแจกจ่ายในการประชุมเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เพื่อการเยียวยา

ครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ศิริลักษณ์  มโนรมย์. (2547).การจัดการศึกษาตามวิถีชีวิตของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้.สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน  2550 จาก http://www.charuaypontorranin....

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2560).  คนไทยมาจากไหน?. สำนักพิมพ์มติชน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

สารอัลวาดะห์.  (2537).  ความพยายามที่จะมีธนาคารอิสลาม.  กรุงเทพฯ: ธรรมสาร   

สงคราม ชื่นภิบาล. 2518. การกลืนชาติชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้. วิทยานิพนธ์

มหาบัณฑิต. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อับดุลสุโก ดินอะ. (2550). การพัฒนาปอเนาะชายแดนใต้ ท่ามกลางกระแสการก่อการร้ายภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน  2550 จาก  http://www.midnightuniv.org/mi...

Adam Burke et al. (2013). The Contested Corners of Asia: Subnational Conflict and International Development Assistance, The Case of Southern Thailand, The Asia Foundation, p. 3.

Anderson, Mary B. and Olson, Lara. (2003). Confronting War: Critical Lessons for Peace Practitioners. Cambridge, MA: CDA Collaborative Learning Projects. [http://www.cdainc.com/cdawww/pdf/book/confrontingwar_Pdf1.pdf]

Aristotle. (1943). On Man In Univers. edited with Translation by Louis Popes Loomis. New York : Walter J. Black.

Ayoob, Mohammad (ed.).  (1981).  The Politics of Islamic Reassertion.  London: Croom Helm.

Anderson, Benedict.  1991.  Imagined communities: reflectionns on the origin and

speed of nationalism.  London: Verso.

Baker, Christopher; Phongpaichit, Pasuk (2005). A History of Thailand. United

Kingdom: Cambridge University Press. ISBN 0521816157.

Bowring, Sir John.  1969.  The kingdom and people of Siam.  Kuala Lumpur: Oxford

University Press.

Che Man, W.K.  1990.  Muslim Separatism: The Moros of Southern Philippines and the Malays of Southern Thailand.  Singapore: Oxford University Press.

Conference of Patani Freedom-Fighters .(1989). A nine-point declaration made jointly by BIPP, BRN-Congress, GMP, and PULO, Kuala Lumpur.

Connor, Walker .(1972). "Nation-Building or Nation-Destroying?", World Politics, vol. 24, no.3: 319-355.

Dahl, Robert A. (1975). Political Analysis. New Delhi : Prentice Hall of India.

Deep South Watch between January 2004- February 2012 :

www.deepsouthwatch.org.

Dulyakasem, Uthai.  (1981).  Education and ethnic nationalism: a study of the

Muslim-Malays in Southern Siam.  Doctoral dissertation.  Stanford University.

Duncan,  McCargo. (2008). Tearing Apart the Land: Islam and Legitimacy in Southern Thailand, Ithaca, New York: Cornell University Press.; ดันแคน แมคคาร์โก, ฉีกแผ่นดิน: อิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ ประเทศไทย, กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2555.

Fukuyama, F.  (1992).  The End of History and the Last Man.  London: Hamish

Hechter, M. and Levi’s, M.  (1979).  The Comparative Analysis of Ethnoregional Movements.  Ethnic and Racial Studies 2: 260-74.

Hall, D.G.E. A .( 1981). History of Southeast Asia. 4th ed. Hong Kong : McMillan Education LTD.

Human Right Watch. (August 2007). “No One Is Safe”: Insurgent Attacks on Civilians in Thailand’s Southern Border Provinces, vol. 19, no. 13(C)

Huntington, Samuel P.  (1991).  The Third Wave: Democratization in the Late Twentieth Century.  Norman: University of Oklahoma Press.

Gagnepain, Jean. 1991. Du Vouloir Dire II, Bruxelles, De Boeck.

Gurr, Ted Robert.  1971.  Why men rebel.  USA: Princeton University Press.

Huntington, Samuel P.  1991.  The third wave: democratization in the late twentieth

century. Norman: University of Oklahoma Press.

Islam, Syed Serajul.  2005.  The politics of Islamic identity in Southeast Asia

Singapore: Thomson Learning.

Jones. (2000). Review of International Studies. 647-662

Körppen, Daniela, Ropers, Norbert, and Geissmann, Hans J. (eds). (2011). The Non-Linearity of Peace Processes: Theory and Practice of Systemic Conflict Transformation.Opladen & Farmington Hills: Barbara Budrich Publishers. [http://www.berghof-peacesupport.org/resources/books/]

Krieger, Joel (ed.).  (1993/2001).  The Oxford Companion to Politics of the World.  United Kingdom: Oxford University Press.

Lasswell, Harold D. et, all. (1963).  Power and Society. New Haven : Yale University Press.

Marx, Karl.  1964.  Pre-capitalist economic formations.  Jack Cohen (trans.).  New

York: International Publisher.

Max Weber. (1964).  Politics as a Vocation. edited by H. W. Gert and C. Wright Mills,New York : Oxford University Press.

McClosky, Herbert. (1968).  “Political Participation,” International Encyclopedia of the Social Science 12.

Pye, Lucian (ed.).  (1963).  Communications and political development.  New Jersey:          Princeton University Press.

Shama, M.P. (1973). Public Administration in theory and practice. Allahabad : Eagle Offset Printers.

Smith, Anthony D.  (1981).  The Ethnic Revival.  Cambridge: Cambridge University Press.

Said, Abdul A. and Simmons, Luiz R. (eds.).  1976.  Ethnicity in an international

Context.   New Jersey: Transaction Books.

Simeon, Richard and Luc Turgeon .(2007). Constitution Design and the Construction

of Democracy. pp.79-102 in The Construction of Democracy: Lessons from Practice and Research edited by Jorge I. Dominguez and Anthony Jones, Baltimore: The Johns Hopkins University Press.

Wan Mahmood, S.S. (1999). De-radicallization of Minority Dissent: A Case Study

of the Malay-Muslim Movement in Southern Thailand, 1989-1994. In Miriam

Coronel Ferrer (ed.), Sama-Sama: Facets of Ethnic Relations in South East Asia, Manila: Third World Studies Center, University of the Philippines Diliman.

Weber, Max.  1947.  The theory of social and economic organization.  New York: the

Free Press.

Wilson , Woodro. (1962). The study of Administration in Ideas and Issues in Public Administration. New York : the Macmillan.

หมายเลขบันทึก: 641094เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2017 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2017 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท