ความคิดเห็นของผู้นำศาสนาต่อธรรมาภิบาลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้


ความคิดเห็นของผู้นำศาสนาต่อธรรมาภิบาลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

Perceptions of Religious Leaders Towards Good Governance of Southern Border Provinces Administrative Center

ดร. สุริยะ สะนิวา และดร. วันฮารงค์ บินอิสริส

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีความมุ่งหมายหลักเพื่อตรวจสอบโจทย์ปัญหา “ผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคิดเห็นอย่างไรต่อธรรมาภิบาลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจ มีทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยสัมภาษณ์ผู้นำศาสนาอิสลามเชิงลึกและจัดทำแบบสอบถามเพื่อหาคำตอบจากคำถามหลักดังกล่าว ตามทฤษฎียุทธศาสตร์ธรรมาภิบาลของ Jessop (2012)  การศึกษาเรื่องนี้ มีการกำหนดตัวแปรอิสระ 6 ตัวแปรคือ “การบริการด้วยการสร้างค่านิยมร่วม” “การมุ่งให้บริการแก่ประชาชน” “การคิดอย่างมีกลยุทธ์แต่ปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย” “การให้คุณค่าแก่ประชาชนในฐานะเป็นพลเมือง” “การตระหนักในความสำนึกรับผิดชอบ” และ “การสำรวจความสนใจและความต้องการของสาธารณชน” เป็นตัวแปรอิสระ และ “การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นตัวแปรตาม ความเกี่ยวข้องกันหรือความสำคัญของตัวแปรต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทดสอบโดยใช้ตัวกลางของคำถามต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อสัมภาษณ์และสอบถามผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 100 คน (แบ่งออกเป็น จังหวัดปัตตานี 30 คน จังหวัดนราธิวาส 30 คน และจังหวัดยะลา 40 คน) เป็นสนามในการลงพื้นที่สำรวจเพื่อหาความคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งคำถามดังกล่าวจะเป็นฐานในการวิเคราะห์ตัวแปรทั้งหกตัวแปรและความสัมพันธ์ระหว่างชุดเงื่อนไขที่กำหนด (preconditions) กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (occurrence) คือ การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการสัมภาษณ์นั้น มีการปรับให้เป็นภาษาที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความสะดวก และมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจของผู้ทำการสัมภาษณ์

งานวิจัยนี้พบว่า ตัวแปรอิสระทั้ง 6 ตัวแปรคือ “การบริการด้วยการสร้างค่านิยมร่วม” “การมุ่งให้บริการแก่ประชาชน” “การคิดอย่างมีกลยุทธ์แต่ปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย” “การให้คุณค่าแก่ประชาชนในฐานะเป็นพลเมือง” “การตระหนักในความสำนึกรับผิดชอบ” และ “การสำรวจความสนใจและความต้องการของสาธารณชน” ส่งผลด้านบวกอยู่ในพิสัยระหว่างร้อยละ 80-100 ต่อการบริหารตามหลักธรรมาภิบาลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

คำสำคัญ        ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้        ผู้นำศาสนา       ธรรมาภิบาล    

 

Abstract

This research was aimed to examine a research question “how religious leaders in southern border provinces of Thailand perceive towards the good governance of Southern Border Provinces Administrative Center (SBPAC)?” It’s a kind of survey researches and contained both qualitative and quantitative methods. This work has interviewed and questioned in depth the Islamic leaders following a set of questionnaires prepared and to follow a strategic theory of good governance that submitted by Jessop (2012). This study provided six independent variables: “service with value”, “target for people’s service”, “strategy within democracy” “priority to citizens” “responsibility” and “survey of public interests”. The dependent variable is “the good governance of SBPAC”. The relationship of these variables were tested with the means of questions prepared for interviewing and questioning the Islamic leaders in the local areas totaling 100 people (30 Pattani, 30 Narathiwat, and 40 Yala). Pattani, Narathiwat, and Yala was the survey-field for collecting the perceptions and the base for analyzing the 6 independent variables: the relationship between a set of preconditions (6 independent variables) and a set of occurrence (dependent variable). The interview was adjusted to the language of respondents and the decision was priority to the respondents.

It has found that all independent variables such as “service with value”, “target for people’s service”, “strategy within democracy” “priority to citizens” “responsibility” and “survey of public interests” are positive to the good governance of SBPAC in the range of 80-100%.

Keywords:     Southern Border Provinces Administrative Center, Religious Leaders,

Good Governance     

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

  • เพื่อศึกษาวิธีการบริหารงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักธรรมาภิบาล ฃ

2.       เพื่อศึกษากระบวนการในการนำหลักธรรมาภิบาลและมาใช้ในการบริหารงานของศูนย์อำนวยการ

บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขอบเขตของการวิจัย

เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยวิจัย ผู้วิจัยได้นำการวิจัยในประเด็นต่าง ๆ คือ 1. ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีของการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล 2. ศึกษาผลของการนำการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. ศึกษาปัญหาอุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการดำเนินตามหลักธรรมาภิบาลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4. เสนอแนวทางในการดำเนินการบริหารที่ดีและส่วนที่ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลต่อไปและส่วนที่ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล

 

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย

1. เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูล ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ประกอบการพิจารณาหาแนวทางให้การบริหารจัดการที่ดีใช้ประกอบการพิจารณาบรรลุผลในทุกด้านและเป็นที่พึงพอใจของประชาชนในเขตศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. เป็นแนวทางบริหารให้กับท้องถิ่นอื่นที่สนใจการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลได้นำไปพิจารณาประยุกต์ใช้ต่อไปเพื่อให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด หรือแม้แต่การตรวจสอบข้อบกพร่องจากการใช้หลักธรรมาภิบาลดังกล่าวและสามารถทราบถึงข้อแก้ไขการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล

 

การทบทวนวรรณกรรม

ในการวิจัยความหมายของการบริหารและการบริหารจัดการองค์กร ควรทำความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารเป็นเบื้องต้นก่อน กล่าวคือ สืบเนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ซึ่งหมายถึง มนุษย์โดยธรรมชาติย่อมอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ไม่อยู่อย่างโดยเดี่ยว แต่อาจมีข้อยกเว้นน้อยมากที่มนุษย์อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง เช่น ฤษี การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของมนุษย์อาจมีได้หลายลักษณะและเรียกต่างกัน เป็นต้นว่า ครอบครัว (family) เผ่าพันธุ์ (tribe) ชุมชน (community) สังคม (society) และประเทศ (country) เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มย่อมเป็นธรรมชาติอีกที่ในแต่ละกลุ่มจะต้องมี “ผู้นำกลุ่ม” รวมทั้งมี “แนวทางหรือวิธีการควบคุมดูแลกันภายในกลุ่ม” เพื่อให้เกิดความสุขและความสงบเรียบร้อย สภาพเช่นนี้ได้มีวิวัฒนาการตลอดมา โดยผู้นำกลุ่มขนาดใหญ่ เช่น ในระดับประเทศของภาครัฐ ในปัจจุบันอาจเรียกว่า “ผู้บริหาร” ขณะที่การควบคุมดูแลกันภายในกลุ่มนั้น เรียกว่า การบริหาร (administration) หรือการบริหารราชการ (public administration) ด้วยเหตุผลเช่นนี้ มนุษย์จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการบริหารหรือการบริหารราชการได้ง่าย และทำให้กล่าวได้อย่างมั่นใจว่า “ที่ใดมีประเทศ ที่นั่นย่อมมีการบริหาร”

สมพงศ์ เกษมสิน (2541,หน้า 13-14) ในปี พ.ศ. 2514 มีความเห็นว่า การบริหารนั้น เป็นการใช้ศาสตร์และศิลป์นำเอาทรัพยากรบริหาร (administrative resource) เช่น คน เงิน วัสดุสิ่งของ และการจัดการ มาประกอบการตามกระบวนการบริหาร (process of administration) เช่น POSDCoRB Model ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2523 ท่านกล่าวไว้ว่า คำว่า การบริหารนิยมใช้กับการบริหารราชการ หรือการจัดการเกี่ยวกับนโยบาย ซึ่งมีศัพท์บัญญัติ ว่า รัฐประศาสนศาสตร์ (public administration) และคำว่า การจัดการ (management) นิยมใช้กับการบริหารธุรกิจเอกชน หรือการดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้

สยุมพร ปุญญาคม(2541) ศึกษาเรื่อง ‘การบริหารการจัดการจัดการที่ดี (good governance) กับลักษณะพระพุทธศาสนา’ สรุปได้ว่า ประเทศไทยในปัจจุบันประสบปัญหาสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่ทำให้เกิดสภาวะครั้งนี้ เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนเนื่องจากมีปัจจัยและเงื่อนไขภายนอกและภายในหลายประการที่เข้ามาเกี่ยวข้อง จนในที่สุดประเทศไทยจำเป็นต้องหาทางออกโดยการเจรจาขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก (International Monetary Fund--IMF) เพื่อนำเงินมากู้วิกฤตทางเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขหนึ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีคือ ธรรมาภิบาลนั้นเอง  ซึ่งสรุปคำนี้ออกมาเป็น 1. ความซื่อสัตย์สุจริต 2. ความโปร่งใส 3. ความพร้อมที่จะชี้แจงหรือได้รับการตรวจสอบจากบุคคลหรือสถาบันอื่น 4. การมีส่วนร่วมของสาธารณชน 5. การพยากรณ์ได้ 6. การปกครองแบบประชาธิปไตย 7. การปกครองโดยกฎหมาย 8. สิทธิมนุษยชน 9. ความเสมอภาค 10. สังคมประชา 11. เศรษฐกิจพอเพียง 12. ประสิทธิภาพ 13. ประสิทธิผล 14. ประหยัด 15. คุณธรรม และจริยธรรม และนำหลักทางพุทธศาสนาที่เป็นหลักธรรมคำสอน นำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารการจัดการที่ดี และสอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทย ในการปกครอง เพื่อให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

          วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (2545, หน้า 36-38) ในปี พ.ศ. 2545 แบ่งการบริหาร ตามวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งหน่วยงานไว้เป็นส่วนๆ คือ ส่วนการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ (public administration) โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การให้บริการสาธารณะ (public services) ครอบคลุมถึงการอำนวยความสะดวก การรักษาความการสงบเรียบร้อย ตลอดจนการพัฒนาประชาชนและประเทศชาติ เป็นต้น

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (2545, หน้า 39) ในปี พ.ศ. 2545 มีความเห็นว่า การบริหารในฐานะที่เป็นกระบวนการ หรือกระบวนการบริหาร เกิดได้จากหลายแนวคิด เช่น โพสคอร์บ (POSDCoRB) เกิดจากแนวคิดของ ลูเทอร์ กูลิค (Luther Gulick) และ ลินดอล เออร์วิค (Lyndall Urwick) ประกอบด้วยขั้นตอนการบริหาร 7 ประการ ได้แก่ การวางแผน (planning) การจัดองค์การ (organizing) การบริหารงานบุคคล (staffing) การอำนวยการ (directing) การประสานงาน (coordinating) การรายงาน (reporting) และการงบประมาณ (budgeting) ขณะที่กระบวนการบริหารตามแนวคิดของ เฮ็นรี ฟาโยล (Henry Fayol) ประกอบด้วย 5 ประการ ได้แก่ การวางแผน (planning) การจัดองค์การ (organizing) การบังคับการ (commanding) การประสานงาน (coordinating) และการควบคุมงาน (controlling) หรือรวมเรียกว่า พอคค์ (POCCC)

ธงชัย สันติวงษ์ (2543 หน้า 21-22) ในปี พ.ศ. 2543 กล่าวถึงลักษณะของงานบริหารจัดการไว้ 3 ด้าน คือ 1. ในด้านที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้างาน งานบริหารจัดการ หมายถึง ภาระหน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ปฏิบัติตนเป็นผู้นำภายในองค์การ  2. ในด้านของภารกิจหรือสิ่งที่ต้องทำ งานบริหารจัดการ หมายถึง การจัดระเบียบทรัพยากรต่าง ๆ ในองค์การ และการประสานกิจกรรมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และ 3. ในด้านของความรับผิดชอบ งานบริหารจัดการ หมายถึง การต้องทำให้งาน     ต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีด้วยการอาศัยบุคคลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

กิตติพงศ์ อุรพีพัฒศ์ (2545) ศึกษาเรื่อง ‘หลักธรรมาภิบาลกับการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ: กรณีศึกษาบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ ทำการวิจัยเปรียบเทียบระเบียบสานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่อง การสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 หลักเกณฑ์และแนวทางการกากับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2544 ของกระทรวงการคลัง พบว่าหลักเกณฑ์ไม่ได้มีความแตกต่างในสาระสำคัญนัก โดยเฉพาะเรื่องหลักความโปร่งใส หลักความซื่อสัตย์สุจริต หลักความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ และหลักความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีความแตกต่างบ้างเล็กน้อย เช่น บริษัทจดทะเบียนต๎องดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือผู้ลงทุนเป็นหลักสำคัญ แต่บริษัทจดทะเบียนจะต้องมีความรับผิดชอบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย โดยคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ และบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีความโปร่งใส เพื่อให้คณะกรรมการนาหลักธรรมาภิบาลไปบริหารจัดการองค์กรนั้น เพื่อปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันเป็นการสร้างมูลคำเพิ่มให้แก่ธุรกิจหรือกิจกรรมนั้น ๆ รวมทั้งการมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ควรมีการประเมินผลงานฝ่ายจัดการและคณะกรรมการเองและจัดทำจรรยาบรรณของกรรมการผู้บริหาร และพนักงานด้วยกระบวนการสรรหาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการพิจารณา ควรเลือกจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และมีความเป็นอิสระเพื่อจะกำกับดูแลการดำเนินงานของฝ่ายบริหารรัฐวิสาหกิจ ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจและดูแลผู้ถือหุ้น ต้องมีหลักธรรมาภิบาลทุกหน่วยและปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด

ณรงค์ แสงแก้ว ว่าที่ ร.ต. (2550) ศึกษาเรื่อง ‘ประสิทธิผลการปฏิบัติงานในฝ่ายโยธา สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ตามหลักธรรมาภิบาล’ ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิผลการปฏิบัติงานในฝ่ายโยธา สานักงานเขตกรุงเทพมหานคร ในภาพรวมทั้งสามด้าน ได้แก่ ประโยชน์สุขของประชาชน อยู่ในระดับปานกลาง มีค่ามัชฌิมเลขคณิต รวม 3.21 ทางด้านประสิทธิผลและความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ อยู่ในระดับปานกลาง มีมัชฌิมเลขคณิต รวม 3.11 และด้านการลดขั้นตอนการปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง มีค่ามัชฌิมคณิต รวม 3.18 เมื่อทำการทดสอบสมมติฐานพบว่า ปัจจัยอายุ อาชีพ และระดับการวิจัย เป็นปัจจัยตัวแปรที่มีความแตกต่างกันอย่างนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการวิเคราะห์ ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Anova) ที่ระดับ 0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิผลการปฏิบัติงาน ในฝ่ายโยธา สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร ส่วนปัจจัยด้านสถานภาพการสมรส และ รายได้ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิผลในการปฏิบัติงานของฝ่ายโยธา สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร

ธินิตา ฐิติภากร (2546) ศึกษาเรื่อง ‘การศึกษาเปรียบเทียบความโปร่งใสการบริหารงานของเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดนครปฐม’ พบว่า ความโปร่งใสของเทศบาลตำบลอยู่ในระดับปานกลาง และองค์การบริหารส่วนตำบลอยู่ในระดับมาก และเมื่อเปรียบเทียบความโปร่งใสในการบริหารงานเทศบาล คือ 1. การเปิดเผยข้อมูล 2. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของรัฐ  3. ความรับผิดชอบในการบริหารงานอยู่ในระดับมาก และ 4. การให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบการบริหารงานมีความแตกต่างกันคือ เทศบาลได้ให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบการบริหารน้อยกว่าองค์การบริหารส่วนตำบล

เตือนใจ ฤทธิจักร (2550) ศึกษาเรื่อง ‘ธรรมาภิบาลในการบริหารสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตามทัศนะของบุคลากรสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม’ ผลการวิจัยพบว่า บุคลากรสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่แตกต่างกัน มีทัศนะต่อธรรมาภิบาลในการบริหารสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยภาพรวมแตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานการวิจัย กลุ่มที่ปฏิบัติงานในสายงานสนับสนุนมีคำเฉลี่ยความคิดเห็นสูงกว่ากลุ่มที่ปฏิบัติงานในสายงานหลัก อาจเป็นเพราะกลุ่มสายงานหลักและกลุ่มสายงานสนับสนุนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่องานแตกต่างกัน แต่ทั้งสองสายงานต้องประสานการทำงานร่วมกัน

สรุปแล้ว การบริหารและการบริหารจัดการองค์กร มีแนวคิดมาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมซึ่งจะต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยจะต้องมีผู้นำกลุ่มและมีแนวทางหรือวิธีการควบคุมดูแลกันภายในกลุ่มเพื่อให้เกิดความสุขและความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจเรียกว่าผู้บริหารและการบริหาร ตามลำดับ ดังนั้น ที่ใดมีกลุ่มที่นั่นย่อมมีการบริหาร

อย่างไรก็ตาม การบริหารและการบริหารจัดการ รวมทั้งคำอื่น ๆ อีก เป็นต้นว่า การปกครอง (government) การบริหารการพัฒนา การจัดการ และการพัฒนา (development) หรือแม้กระทั่งคำว่า การบริหารการบริการ (service administration) การบริหารจิตสำนึกหรือการบริหารความรู้ผิดรู้ชอบ (consciousness administration) การบริหารคุณธรรม (morality administration) และการบริหารการเมือง (politics administration) ที่เป็นคำในอนาคตที่อาจถูกนำมาใช้ได้ คำเหล่านี้ล้วนมีความหมายใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัยจะนำคำใดมาใช้โดยอาจมีจุดเน้นแตกต่างกันไปบ้าง

 

การเก็บรวบรวมข้อมูล

          ภูมิหลังของข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนี้ได้รับมาจากห้องสมุดต่าง ๆ อย่างเช่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และห้องสมุดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ส่วนข่าวสารเพิ่มเติมนั้นจะได้รับมาจากออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ท

การได้รับข้อมูลปฐมภูมินั้น ผู้วิจัยได้มีการออกแบบสอบถามเพื่อสอบถามคำถามหลักคือ “ผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคิดเห็นอย่างไรต่อธรรมาภิบาลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” จากความเห็นของบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 100 คน เป็นสนามในการลงพื้นที่สำรวจเพื่อหาความเห็นผู้นำศาสนาอิสลามต่อหลักธรรมาภิบาลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว จุดประสงค์หลักของคำถามคือ เพื่อค้นหารูปแบบธรรมาภิบาลที่ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความพึงพอใจมากน้อยเพียงใด ซึ่งคำถามดังกล่าวจะเป็นฐานในการวิเคราะห์ปัจจัยทั้งหกตัวแปรอิสระดังกล่าวข้างต้น และความสัมพันธ์ระหว่างชุดเงื่อนไขที่กำหนด (preconditions) กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (occurrence) คือ การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของศูนย์อำนวยการบริหารจงหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการสัมภาษณ์นั้น จะมีการปรับให้เป็นภาษาที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความสะดวก และมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจของผู้ทำการสัมภาษณ์

 

 

 

 

การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์

การหาค่าความเป็นไปได้ (probability) นั้นจะได้จากผลลัพธ์ (output) ที่ได้จากจากการวัดระดับความสัมพันธ์ระหว่างชุดเงื่อนไขที่กำหนด (preconditions) (“การบริการด้วยการสร้างค่านิยมร่วม” “การมุ่งให้บริการแก่ประชาชน” “การคิดอย่างมีกลยุทธ์แต่ปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย” “การให้คุณค่าแก่ประชาชนในฐานะเป็นพลเมือง” “การตระหนักในความสำนึกรับผิดชอบ” และ “การสำรวจความสนใจและความต้องการของสาธารณชน” ) กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (occurrence) คือ “การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลของศูนย์อำนวยการบริหารจงหวัดชายแดนภาคใต้”

สถิติที่ใช้คือ การแจกแจงความถี่ (frequency) ที่เป็นผลลัพธ์จากการวัดระดับความสัมพันธ์ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม ระหว่างตัวแปรอิสระแต่ละตัวในชุดเงื่อนไขที่กำหนด (preconditions) กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (occurrence)  ผลลัพธ์ (output) ที่ได้จากระดับความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละตัวบ่งชี้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นผลลัพธ์ที่แสดงออกเป็น ความถี่ (frequency) ซึ่งจะแปลงค่าออกเป็นร้อยละ และผลลัพธ์ที่อ่านค่าออกเป็นร้อยละที่มีความสัมพันธ์ในระดับที่สูงสุดจะถือเป็นค่าความเป็นไปได้ของโครงการวิจัยนี้

 

ผลการวิจัย

การดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักการธรรมาภิบาลมีดังต่อไปนี้คือ ก) การบริการด้วยการสร้างค่านิยมร่วม ข) การมุ่งให้บริการแก่ประชาชน ค) การคิดอย่างมีกลยุทธ์แต่ปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย ง) การให้คุณค่าแก่ประชาชนในฐานะเป็นพลเมือง จ) การตระหนักในความสำนึกรับผิดชอบ และ ฉ) การสำรวจความสนใจและความต้องการของสาธารณชน

          มีผู้ที่เห็นด้วยหรือสนับสนุนสูงมากต่อการบริการด้วยการสร้างค่านิยมร่วมถึงร้อยละ 86.2 และได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรที่ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับและไว้วางใจมากโดยได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจ มุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการให้ความสำคัญกับศาสนาทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางการวิจัย ภาษา และวัฒนธรรม รวมถึงการอำนวยความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ธรรมาภิบาลของ Jessop (2012) ที่ว่า ยุทธศาสตร์ของธรรมาภิบาลนั้นคือ “การหลีกเลี่ยงความสับสน... (ฉะนั้น)...ความคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลจะไม่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์...แต่จะเกี่ยวข้องกับการสังเกตเชิงประจักษ์ด้านการบริหารทางการเมืองที่มีการสร้างนโยบาย มีการปฏิรูป และมีการจัดองค์กร”

นอกจากนี้ การมุ่งให้บริการแก่ประชาชน เช่น การฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นนำร่องให้แก่บัณฑิตอาสาสมัครพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืนและแก้ไขปัญหาการว่างงาน เพื่อส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ทาง ศอ.บต. ดำเนินการสำรวจความต้องการเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นในหลักสูตรต่าง ๆ ของบัณฑิตอาสาฯ ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น

การคิดอย่างมีกลยุทธ์แต่ปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย เช่น นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 กำหนดวิสัยทัศน์“มุ่งให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง มีสภาวะแวดล้อมที่พร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ ไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ นับเป็นมิติใหม่ที่ส่งเสริมการแก้ปัญหาตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การให้คุณค่าแก่ประชาชนในฐานะเป็นพลเมือง ได้มีการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในปี พ.ศ. 2556 เป็นปีที่มีการเปิดกว้างของภาครัฐในการให้ประชาชนในพื้นที่ และทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดย ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินภารกิจตามยุทธศาสตร์การสร้างพื้นที่ และสภาพแวดล้อมเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธีนับว่า เป็นการแก้ไขที่เป็นผลบวกต่อประเทศอย่างยิ่ง

การตระหนักในความสำนึกรับผิดชอบ อย่างเช่น มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การอำนวยความเป็นธรรมและเยียวยาโดยการสนับสนุนส่งเสริมปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก เน้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกกลุ่ม โดยใช้วิธีการพิสูจน์หลักฐานและนิติวิทยาศาสตร์ อีกทั้งมีการใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกในการพิจารณาคดีกับคู่กรณีที่เป็นมุสลิม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอิหม่าม และผู้นำศาสนาในการสร้างงานยุติธรรมชุมชน มีการให้นักกฎหมายอิสลามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีหน้าที่ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาทางกฎหมายให้กับประชาชนในพื้นที่นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงกับความปรารถนาของประชาชนในพื้นที่

การสำรวจความสนใจและความต้องการของสาธารณชน อย่างเช่น มีการส่งเสริมด้านการวิจัย ภาษา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของพื้นที่และสร้างการเรียนรู้ ส่งเสริมความเข้าใจและสร้างทัศนคติทางบวกต่อการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และทาง OIC ได้ยอมรับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปัจจุบันของรัฐบาล รวมถึงการดำเนินการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง นับว่าเป็นผลลัพธ์ด้านบวกของประเทศเป็นอย่างมาก

 

อภิปรายผล

          วิธีการบริหารงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามหลักธรรมาภิบาลนั้น นอกจากจะใช้หลักการประเด็นสำคัญ 6 ประการ (การบริการด้วยการสร้างค่านิยมร่วม การมุ่งให้บริการแก่ประชาชน การคิดอย่างมีกลยุทธ์แต่ปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย การให้คุณค่าแก่ประชาชนในฐานะเป็นพลเมือง การตระหนักในความสำนึกรับผิดชอบ และการสำรวจความสนใจและความต้องการของสาธารณชน) ในการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังได้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 8 การประเมินผลการปฏิบัติราชการ กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการเกี่ยวกบผลสัมฤทธิ์ของภารกิจ คุณภาพการให้บริการ ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการ และความคุ้มค่าในภารกิจ

          ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินการเจรจาข้อตกลง และประเมินผลการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 เป็นปีแรก โดยได้ดำเนินการตามกรอบการประเมินผลที่สำนัก ก.พ.ร. เสนอผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และเลขาธิการ ศอ.บต. (พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง) ได้ลงนามในคำรับรองการปฏิบัติราชการ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีรายละเอียดของคำรับรองการปฏิบัติราชการ อย่างเช่น ประกอบด้วย 1. แผนปฏิบัติราชการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 และ 2. ตัวชี้วัดและเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการ ปีงบประมาณ 2555 ของ ศอ.บต. ใน 2 มิติ ได้แก่ มิติภายนอก (น้ำหนักร้อยละ 70) และมิติภายใน (น้ำหนักร้อยละ 30)

          ตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ศอ.บต. ได้ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินขับเคลื่อนการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามคำรับรองการปฏิบัติราชการส่งผลให้เกิดประสิทธิผลตามภารกิจ มีคุณภาพในการให้บริการประชาชนมีความพึงพอใจ และเกิดประสิทธิภาพตามภารกิจภาครัฐ โดยมีผลการประเมินตนเองตามคำรับรองการปฏิบัติราชการรอบ 12 เดือน ได้คะแนนเฉลี่ย 4.1456 (ศอ.บต., 2555, หน้า 118)           และกระบวนการในการนำหลักธรรมาภิบาลและมาใช้ในการบริหารงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่าง ๆ นอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้นยังได้ดำเนินงานที่สำคัญคือ 1. ความร่วมมือทางการวิจัยกับต่างประเทศ ศอ.บต. ได้จัดให้มีการเตรียมความพร้อม โดยจัดการสอนภาษาอินโดนีเซียให้กับนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกได้รับทุนจำนวน 45 ท่าน เป็นเวลา 25 วัน ระหว่างวันที่ 2-31 กรกฎาคม 2555 ณ อาคารชั่วคราว ศอ.บต. โดยเชิญ วิทยากรจากสมาคมศิษย์เก่าอินโดนีเซีย มาสอนภาษาอินโดนีเซีย  โดยมีการทำบันทึกความร่วมมือว่าด้วยทุนการวิจัยระหว่าง ศอ.บต. กับองค์กร Muhammadiah เข้าสู่การหารือ ในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  2. การสัมมนาเรื่อง “ศาสนากับกระบวนการสร้างสันติภาพในอาเซียน” มีดร. อับดุลเลาะห์ อัลตุรกี เลขาธิการโลกมุสลิม ผู้นำองค์กรศาสนาเพื่อสันติภาพนานาชาติ และผู้นำศาสนาอาเซียน 10 ประเทศ จำนวน 60 คน ได้เข้าร่วมการสัมมนาที่โรงแรมเดอะ สุโกศล ในวันที่ 17 และ 18 กันยายน 2555 และคณะทั้งหมดได้เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเข้าร่วมสัมมนา ที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยพร้อมเยี่ยมชมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี และวัดนรตานีสโมสร รวมถึงเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะสงฆ์ที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี และจากการสัมมนามีข้อสรุปว่า ศาสนาไม่ใช่สาเหตุของความขัดแย้ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หลักการทุกศาสนาสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสันติภาพและการเคารพซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ที่กลมเกลียวระหว่างผู้นำศาสนา ประชาชน และชุมชนต่างศาสนิกเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งต่อไป 3. การประสานงานตามยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย โดยเลขาธิการ ศอ.บต. นำคณะเยือนซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2555 เพื่อประสานงานตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย โดย 1. ได้ปรึกษาหารือและรายงานข้อเท็จจริงและความคืบหน้าของคดีฆาตกรรมนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย และคดีอื่น ๆ และ  2. การเข้าเยี่ยมคารวะ H.E. Amb. Abdullah Alim รองเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม ณ ที่ทำการใหญ่ OIC และ 3. การเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะผู้แทนระดับองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) จากการเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะคณะผู้แทนระดับองค์กรความร่วมมืออิสลาม มีผลในด้านที่ดีต่อภาครัฐคือ 1. เป็นการเยือนหลังจากที่ได้มาเยือนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีพัฒนาการต่าง ๆ ดีขึ้น จำนวนเหตุการณ์ลดลง เป็นประโยชน์ที่จะทำให้มีการพูดถึงประเทศไทยในเวทีการประชุม OIC ในทิศทางที่ดีขึ้น  2. จากการแถลงสารนิเทศร่วม จะเห็นได้ว่า เนื้อหาของแถลงข่าวเป็นไปตามที่ฝ่ายไทยต้องการและอยู่ในผลประโยชน์ของไทยทุกประการ 3. ข้อเรียกร้อง OIC สรุปได้ 2 เรื่อง ได้แก่ ด้านยุติธรรม (ยุทธศาสตร์ข้อที่ 5 ของศอ.บต.) และการส่งเสริมการวิจัย ศาสนา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ (ยุทธศาสตร์ข้อที่ 4 ของศอ.บต.) ซึ่งกลั่นกรองมาจากการหารือกับผู้นำศาสนา ซึ่งเชื่อว่า ปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องแก้ไขด้วยมิติศาสนา ซึ่งล้วนเป็นภารกิจของ ศอ.บต. ที่ต้องนำไปปฏิบัติให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 4. ที่ปรึกษา OIC ได้อุปไมยสิ่งที่ได้พบเห็นจากการเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกการได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ เป็นอย่างดี และ 5. ในมุมกลับกัน ระหว่างการเยือน มีกลุ่มเยาวชน ผู้นำนักศึกษายื่นหนังสือกับคณะผู้แทน OIC เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกประเทศที่มีการก่อความไม่สงบ แสดงให้เห็นว่า ไม่มีการจัดฉาก แต่ให้เห็นสภาพแท้จริง โดยรวมจึงถือว่า การมาเยือนของคณะผู้แทน OIC ครั้งนี้ มีภาพบวกต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          จะเห็นว่า ภาพพจน์ที่ทาง ศอ.บต. นั้นจะตรงกับยุทธศาสตร์ธรรมาภิบาลของ Jessop (2012) ที่ว่า ยุทธศาสตร์ของธรรมาภิบาลนั้นคือ “การหลีกเลี่ยงความสับสน... (ฉะนั้น)...ความคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลจะไม่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์...แต่จะเกี่ยวข้องกับการสังเกตเชิงประจักษ์ด้านการบริหารทางการเมืองที่มีการสร้างนโยบาย มีการปฏิรูป และมีการจัดองค์กร”

 

ข้อเสนอแนะ

          หลักธรรมาภิบาลโดยแท้จริงแล้วเป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเพื่อสร้างเสริมและทำให้เกิดประโยชน์ต่อการตัดสินใจ หลักธรรมาภิบาลไม่ใช่เป็นการสร้างการตัดสินที่ถูกต้อง แต่เป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เป็นไปได้ที่ดีที่สุด

          สำหรับการตัดสินใจต่อหลักธรมมาภิบาลต่าง ๆ นั้น ล้วนแต่เป็นกระบวนการตัดสินใจที่ดี และมีการรับฟังการแบ่งปันความคิดเห็นจากหลาย ๆ ความคิดและหลาย ๆ พฤติกรรม ซึ่งทั้งหมดนั้นจะเป็นผลด้านบวกต่อแง่คิดต่าง ๆ อย่างหลากหลายต่อการบริหารการปกครองท้องถิ่น ทั้งนี้จะรวมถึงนโยบายจากการประชุมที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีการนำมาปฏิบัติ มีขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดจนระเบียบการต่าง ๆ ที่เป็นคุณภาพของการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นพฤติการณ์ของสมาชิกสภาและเจ้าพนักงาน การประกาศบทบาท ล้วนแต่จะเกิดความสมพันธ์ที่ดีด้านการงานทั้งสิ้น

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน ตำแหน่งผู้บริหารงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นตำแหน่งของเลขาธิการ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากนโยบายที่เป็นผลบวกต่อประเทศชาติต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วไม่มีการต่อเนื่อง ก็อาจเป็นการเสียโอกาสของพลเมืองในพื้นที่ ฉะนั้น โครงการวิจัยนี้ จึงนำเสนอในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดต่อหลักการบริหารการปกครองในพื้นที่คือ การบริการด้วยการสร้างค่านิยมร่วม การมุ่งให้บริการแก่ประชาชน การคิดอย่างมีกลยุทธ์แต่ปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย การให้คุณค่าแก่ประชาชนในฐานะเป็นพลเมือง การตระหนักในความสำนึกรับผิดชอบ และการสำรวจความสนใจและความต้องการของสาธารณชน

          อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ไม่อาจจะสมบูรณ์ได้ถ้าไม่มีการต่อยอด จึงขอเชิญชวนนักวิจัยทั้งหลาย มาร่วมกันค้นหาคำตอบ เพื่อให้ได้มาหลักการบริหารที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดสันติสุขในบ้านเมืองของเราอย่างถาวร

 

บรรณานุกรม

กิตติพงศ์ อุรพีพัฒศ์. (2545). หลักธรรมาภิบาลกับการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ: กรณีศึกษาบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตร-มหาบัณฑิต, สถาบันพระปกเกล้า.

เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. (2550.) การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลด้านการบริการจัดหางาน. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงแรงงาน, กรมการจัดหางาน,           กองแผนงานและสารสนเทศ.

คะนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม และคณะ. (2545). แนวทางการเสริมสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540: ปัญหา อุปสรรค และทางออก. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ธรรมดาเพลส.

เจมส์ แอล. เครย์ตัน. (2551). คู่มือการมีส่วนร่วมของประชาชน การตัดสินใจที่ดีกว่าโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม. แปลโดย วันชัย วัฒนศัพท์, ถวิลวดี บุรีกุล, เมธิศา พงษ์ศักดิ์ศรี. ขอนแก่น:       โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ ออฟเซ็ท.

ณรงค์ แสงแก้ว ว่าที่ ร.ต. (2550). ประสิทธิผลการปกิบัติงานในฝ่ายโยธา สานักงานเขตกรุงเทพมหานคร ตามหลักธรรมาภิบาล. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.

เดโช สวนานนท์. (2512). ปทานุกรมจิตวิทยา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์โอเดียนส์.

เตือนใจ ฤทธิจักร. (2550). ธรรมาภิบาลในการบริหารสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตามทัศนะของบุคลากรสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.

ติน ปรัชญพฤทธิ์. (2535). ศัพท์รัฐประศาสนศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ถวิลวดี บุรีกุล. (2547). การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี. ใน เอกสารประกอบการสัมมนาโครงการยกระดับการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น People’s Audit. กรุงเทพมหานคร: สานักงานพัฒนาระบบราชการ.

ธงชัย สันติวงษ์. (2543). องค์การและการบริหาร (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์-     ไทยวัฒนาพานิช.

ธินิตา ฐิติภากร. (2546). การศึกษาเปรียบเทียบความโปร่งใสการบริหารงานของเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหิดล.

ไพบูลย์ ช่างเรียน. (2532). วัฒนธรรมการบริหาร. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. (2545). การบริหารเมืองหลวงแลการบริหารท้องถิ่น สหรัฐเอมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โฟร์เพช.

วิรัช ธีรประยูร. (2531). ความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับทักษะทางการบริหารที่พึงประสงค์ของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติการศึกษาที่ 1. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิษณุ เครืองาม. (2555). “การใช้หลักนิติธรรมในประเทศไทย”. วารสารสหวิทยาการวิจัย, 1(1),                                              1-12.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2542). การสร้างธรรมาภิบาล (good governance) ในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. (2545). การสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์-วิญญูชน.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล. (2548). ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy). กรุงเทพมหานคร: สถาบันพระปกเกล้า.

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะ. (2554). การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: เอ.พี.กราฟฟิค ดีไซน์และการพิมพ์.

บุญทัน ดอกไธสง. (2537). การจัดองค์การ (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์-                       มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

ศอ.บต. (2555). รายงานประจำปี 2555. ยะลา: ศอ.บต.

ศอ.บต. (2556ก). ผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายของรัฐบาลและตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ: ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม 2555 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2556. ยะลา: ศอ.บต.

ศอ.บต. (2556ข). สรุปสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้. ยะลา: ศอ.บต.

ศิรินันท์ ทิพย์เจริญ. (2555). “ธรรมาภิบาลกับการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย”. วารสารสหวิทยาการวิจัย, 1(2), 97-103.

ศักดิ์ สุนทรเสณี. (2531). เจตคติ. กรุงเทพมหานคร: รุ่งวัฒนา.

สมพงศ์ เกษมสิน. (2541). การบริหาร. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไพบูลย์สำราญภูติ.

สุจิตรา บุณยรัตพันธุ์. (2549). รายงานวิจัยเรื่องประชาชนและธรรมาภิบาล: การสำรวจทัศนคติ ของคนไทยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิต-   พัฒนบริหารศาสตร์.

สุรพงษ์ โสธนะเสถียร. (2533). การสื่อสารกับสังคม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สยุมพร ปุญญาคม. (2541). การบริหารการจัดการจัดการที่ดี (good governance) กับลักษณะพระพุทธศาสนา. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อนันต์ เกตุวงศ์. (2523). การบริหารการพัฒนา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Carter, V. Good. (1959). Attitude. Retrieved October 25, 2009, from URL: http: //www.novabizz.Ace/Attitude.htm

Denhardt, J. V., & Denhardt, R. B. (2003). The new public service: Serving, not steer. New York: M.E. Sharpe.

Howard, H., Kendler. (1963). Attitude. Retrieved October 13, 2006, from URL: http”//sarawud. Wordpress.com.

Jessop, B. (1998). The Rise of governance and the risk of failure. International Social Science Journal, 50(15), 29-45.

Jessop, B. (2002). The Future of the Capitalist State. Oxford: Polity Press.

Jessop, B. (2012). Governance and meta-governance: on reflexivity, requisite variety and requisite irony. In H. Bang, (Ed.). Governance as social and political communication (101-117). Manchester: Manchester University Press.

Munn, Norman L. (1971). The evolution of the human mind. Orlando, FL: Houghton Mifflin.

Murphy, G. Murphy, L., & Newcomb, T. (1973). Experiment a social psychology. New York: Harper.

Newcomb, T. (1854). Attitude. Retrieved October 25, 2009, from URL: http: //www.novabizz.Ace/Attitude.htm

Rosenberg, R. J., & Hovland, C. I. (1960). Attitude organization and change: And analysis of consistency among attitude components. Wesport: Greenwood Press.

 

หมายเลขบันทึก: 640007เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2017 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2017 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท