โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ตามรอยพ่อหลวง


โสภณ เปียสนิท

...............................................

                ข่าวพายุโหมกระหน่ำประเทศไทยอย่างหนักสองข่าว ข่าวแรกคือข่าวในหลวงเสด็จสวรรคต เปรียบเสมือนพายุฝนอันหนาวเหน็บทับถมชาวไทยทั้งประเทศให้จ่อมจมอยู่ในทะเลน้ำตาอันกว้างใหญ่ไม่มีประมาณ พ่อหลวงทรงกรำงานเพื่อชาวไทยและชาวต่างชาติมาเนิ่นนานจนคนไทยทั้งประเทศหลงคิดไปว่า พระองค์ทรงดำรงธาตุขันธ์อยู่เป็นพ่อหลวงได้ตลอดกาล ถึงวันนี้พ่อหลวงจากไปครบรอบหนึ่งปีแล้ว ขอน้อมบังคมก้มกราบพระบาทส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

                ข่าวพายุฝนโหมกระหน่ำภาคเหนือบ้าง ภาคใต้บ้าง ภาคกลางบ้าง ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ตั้งแต่พฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปลายฤดูฝน ชาวบ้านเรียกปลายฝนต้นหนาว ข่าวสายฝนหลั่งท่วมทับยังมีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กล่าวกันว่า ปีนี้น้ำท่าบริบูรณ์ อาจมากเกินในบางถิ่น แต่ก็อาจน้อยไปในบางถิ่นได้เช่นกัน แม้กระนั้น ผมยังคิดถึงภาษิตไทยที่ว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” อยู่ดี เพราะบางแห่งยังแห้งแล้งอย่างต่อเนื่อง

                ปีพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบ ต้นปีผมปรารภเรื่องการปลูกบ้านหลังเล็กลงบนพื้นดินที่แม่ให้ไว้ที่ริมถนนเอราวัณ-กาญจนบุรี หมู่บ้านท่ามะนาว เมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ ผมปรึกษาเรื่องการสร้างบ้านกับพี่เขย พี่สาวที่เรือนรับรองดุเหว่าแว่ว ริมฝั่งน้ำแควใหญ่ อีกสี่เดือนต่อมา บ้านเล็กในป่าใหญ่ของผมเสร็จพร้อมเข้าอยู่อาศัยได้อย่างง่ายดาย

                แรกๆ ตั้งใจว่า นานๆ จะกลับบ้านสักครั้ง แต่พอมีบ้านของตนเองเข้า ความคิดอยากกลับบ้านเริ่มรุนแรงขึ้นตามลำดับ คำว่า “บ้าน” เป็นแรงผลักดันให้ผมกลับบ้านที่เมืองกาญทุกวันหยุดปลายสัปดาห์ หลายคนถามว่า “กลับไปทำอะไรทุกอาทิตย์” ผมเข้าใจความรู้สึกของเขาเหล่านั้น ใช่ ไม่จำเป็นต้องกลับไปทุกสัปดาห์ แต่ผมคิดถึงบ้าน เมื่อได้หลับนอนในบ้านแล้วรู้สึกว่ามีความสุข เหมือนได้กลับคืนสู่รากฐานของชีวิต

                ผมเกิดที่หมู่บ้านแห่งนี้ ในสังคมเกษตรกรรม พ่อทำไร่หลายอย่าง แต่มาเน้นหนักที่ไร่อ้อย เพราะอ้อยทำให้พ่อมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความมุ่งมั่นของพ่อจึงอยู่ที่ไร่อ้อย จนวันสุดท้ายของชีวิต แม่ชอบปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะกินผลไม้อะไร แม่จะเก็บเม็ดมาลองปลูกดู ฝนตกทุกครั้งแม่จะปลูกต้นอะไรต่ออะไรเรื่อย แม้ชรามากแล้วก็ยังไม่ยอมเลิก เพราะวิญญาณของเกษตรกรอยู่ในเส้นเลือดของแม่นานชั่วชีวิตของท่าน

                หลังเรียนจบประถม 4 กระแสแห่งชีวิตพัดพาผมจากบ้านเกิดหลังเก่าริมฝั่งแควใหญ่ สู่ฝั่งแควน้อยแถวบ้านถ้ำเขาปูน ผมห่างจากแปลงเกษตร แต่ยังรับรู้เรื่องราวของเกษตรกรรมจากสภาพแวดล้อมแห่งสังคมเมืองกาญอยู่เสมอ เพราะผมอยู่วัด “บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ เรียนหนังสือไม่ต้องเสียเงิน” หลวงพ่อเจ้าอาวาสพูดสั่งสอนไว้ว่า ให้ตั้งใจเรียนให้ดี แต่ญาติโยมที่มาทำบุญ คือเกษตรกร เรื่องราวที่นำมาเล่ากันในวัดคือเรื่องราวของการทำเกษตร

                ปีหนึ่งกลับบ้านครั้งหนึ่งบ้าง สองครั้งบ้าง เพื่อรับรู้ความเป็นไปของครอบครัว และสังคมเกษตรกรรมรอบบ้าน คำสั่งสอนของพ่อแม่และญาติพี่น้องยังอยู่ในความทรงจำ “เรียนให้ดี จะได้เป็นเจ้าคนนายคน” ความยากลำบากของการเป็นเกษตรกรทำให้สังคมเห็นว่า การเรียนทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง มองย้อนกลับไปจึงพอจะเข้าใจได้ว่า การทำเกษตรของชาวบ้านที่นี่ ขาดหลักการ หรือว่ามีหลักการง่ายๆ แค่ว่า “ปลูกพืชที่ราคาดีเพื่อให้ได้เงินเยอะๆ” โดยสังเกตจากราคาในแต่ละปี เช่นปีนี้อ้อยราคาดี ปีถัดไปต่างก็พากันปลูกอ้อย จนราคาอ้อยตกลง เพราะมีความต้องการขายมาก ปีต่อมามันสัมปะหลัง ราคาดี ปีถัดมาชาวบ้านต่างพากันปลูกมันสำปะหลัง จนราคามันตกลงอีกเช่นเคย ชาวบ้านวิ่งตามราคาสินค้าทางการเกษตรแบบนี้ เหมือนคนวิ่งจับเงา เหมือนมดไต่ขอบโอ่ง วนไปวนมาตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหมดเงินหมดทรัพย์สินขายที่ดินหนี้สินรุงรัง

                ระหว่างการศึกษา ระหว่างการทำงานผมค่อยๆ ศึกษาหาความรู้เรื่องการเกษตร โดยติดนิสัยความรักในการเกษตรมาจากสายเลือดของครอบครัว และสังคมในหมู่บ้านท่ามะนาว พบว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตามราคาตลาด ปราชญ์เกษตรเรียกการปลูกพืชแบบนี้ว่า “เสาเดียวค้ำฟ้า” หมายถึงว่า มีรายรับเพียงด้านเดียว ขณะที่รายจ่ายในครอบครัวมีมากมายหลายด้าน บางปราชญ์ก็เรียกว่า การปลูกพืชตามตัณหานิยม คือปลูกพืชเพื่อนำไปขายมุ่งหาเงินเป็นหลัก ผิดหลักการ ปราชญกลับเห็นว่า “รายรับไม่พอกับรายจ่าย”

                จากการศึกษาพบทางออกของเกษตรกรตามมุมมองของปราชญ์เกษตร ชี้ช่องไว้ว่า เมื่อรายจ่าย ซึ่งเปรียบเหมือนข้าศึกมาโจมตีหลายทาง เราชาวเกษตรกรต้องเตรียมไว้รับมือหลายด้านด้วย เหมือนการเตรียมทหารไว้หลายระดับ พลทหารเช่น เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู ปลูกพืชผักสวนครัว ขิง ข่า ตะไคร้ใบมะกรูด มะนาว พริก พริกไทย มะละกอ มะเขือ แค ผักบุ้ง ผักกระเฉด ฟักทอง ฟัก แตงกว่า มะระ เป็นต้น พืชหัวใต้ดินเผือก มัน กลอย นานาชนิด สมุนไพร หลากหลายสายพันธุ์ ไม้ใหญ่ยืนต้นถาวร ทั้งที่กินได้ และไว้ใช้สอย และไม้ประดับ

                แนวคิดที่ต้องนำมาใช้ในเบื้องแรกตามแนวพ่อหลวงคือ “เศรษฐกิจพอเพียง” พอเพียงกับฐานะของตน เช่นคำปราชญที่กล่าวไว้ว่า “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ค่อยเป็นค่อยไป ตามแรงทรัพย์ แรงกาย ที่เรามี ไม่เป็นหนี้เป็นสิน แนวคิดประกอบแบบง่ายๆ ตามคำกล่าวของคุณ โจน จันได คือ “ชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้ามันยากแสดงว่ามันผิดแล้ว” คุณโจนแนะนำให้สร้างบ้านดิน เพราะบ้านดินทำได้ง่าย และมีความเย็นมากกว่าอุณหภูมิปกติ คุณโจนปลูกพืชผักสมุนไพรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้แจกจ่ายกันไป แนวคิดนี้ทำให้คุณโจน มีคุณค่าต่อชาวบ้านมากกว่ารัฐบาล หากรัฐยังขืนออกกฏหมายมิให้ชาวบ้านเก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักไว้แจกจ่ายกันเอง

                แนวคิดง่ายๆ อีกอย่าง คือ “กินอะไรปลูกอันนั้น” เรียบง่ายได้ใจความ เพราะไม่ต้องคิดอะไรมากให้ไกลตัว ก็จะกินอะไร ชอบกินอะไร ปลูกสิ่งนั้น กินพริกปลูกพริก กินมะเขือปลูกมะเขือ กินปลาเลี้ยงปลา กินกบเลี้ยงกบ สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ไม่ต้องใช้เงินไปซื้อหามาจากร้านสะดวกซื้อหรือตลาดทั่วไป เพราะของกินทั้งหลายหาได้จากหลังบ้าน ข้างบ้านเราเอง เรียกว่า ทำซุปเปอร์มาร์เก็ตไว้ข้างบ้าน

                แนวคิดประกอบอีกอย่าง สำหรับชาวบ้านคือ ทุกอย่างที่ทำนั้นเพื่อ “กิน แจก แลก ขาย” ตามลำดับความสำคัญของชีวิต คือชีวิตต้องกิน ดังนั้น กินอะไรก็ปลูกเพาะเลี้ยงสิ่งนั้น เหลือแล้วค่อยแจก แจกแล้วค่อยแลก แลกแล้วค่อยขาย ถือว่าเป็นกำไรล้วนๆ เพราะมีไปถึงขายเป็นกำไรแน่นอน

                พินิจดูก็เห็นจริง ปัจจุบันชาวเกษตรกรจำนวนมากยังไม่เข้าใจถึงแนวคิดเหล่านี้จึงเกิดความเดือดร้อน ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะเห็นว่าปีที่ผ่านมามีราคาแพง ปลูกไปแล้ว ปีนี้ราคาตก เพราะแย่งกันปลูกมีผลผลิตมาก เป็นอย่างนี้อยู่ต่อเนื่อง ไม่กี่ปีทุนรอนหร่อยหรอ บางรายเป็นหนี้เป็นสินต้องขายที่ดินไปก็หลายราย แต่ถ้าแก้ปัญหาเรื่องปากท้องไปก่อน คือมีทุกอย่างที่กินได้ก็ไม่ต้องซื้อ

                การปลูกก็ปลูกแต่พอดี ปลูกเชิงทดลองก่อน เช่นการปลูกกล้วยทีละต้นสองต้น หลุมสองหลุม แล้วค่อยขยายไปเรื่อยๆ แบบเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ การปลูกก็ปลูกแบบประณีต เมื่อขุดหลุมปลูกกล้วยแล้ว ก็ลองเลือกปลูกพืชอย่างอื่นๆ ไว้ในหลุมเดียวกัน แต่เลือกที่ให้ผลผลิตในช่วงเวลาที่ต่างกัน เช่น ในหลุมกล้วยนั้น เราก็ปลูกแตงกว่ามะระถั่ว พริกมะเขือ และไม้ยืนต้นเช่นสัก ยางนา หรือ ตะเคียน อีกสักต้น เวลารดน้ำก็รดครั้งเดียว พืชเถาใช้เวลาราวหนึ่งเดือนให้ผล พริกมะเขือราวสามเดือนให้ผล กล้วยแปดเดือนถึงหนึ่งปีให้ผล ไม้ยืนต้นห้าปีขึ้นไปให้ผล น่าคิดนะครับ

                ผมลองปลูกดูที่บ้านเล็กในป่าใหญ่ ได้ผลจริงตามที่ปราชญเกษตรเขียนไว้ให้ความรู้ไว้ ตรงหน้าบ้านผมเห็นว่าควรมีต้นไม้บังแดดยามเช้าบ้าง จึงปลูกกล้วยเล็บมือนางหนึ่งต้น กระเจี๊ยบหนึ่งต้น มะรุมหนึ่งต้น และขนุนอีกหนึ่งต้น เพื่อนบ้านเดินมาเห็นเข้าถามว่า “ขนุนเขาปลูกหลังบ้านนี่หน่า” ผมตอบว่า “ใช่ครับ ของผมหนุนหน้าหนุนหลัง” ว่าแล้วชวนกันหัวเราะ “อ้าวแล้วปลูกต้นอะไรอีกครับนั่น” เพื่อนถามพร้อมชะโงกเข้าไปดูใกล้ๆ เมื่อผมบอกไปตามเป็นจริง เพื่อนหัวเราะอีก “โห มันจะได้ผลหรือหลุมเดียวหลายอย่างเหลือเกิน “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ลองดูก่อน ได้ผลหรือไม่แล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป” เพื่อนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่แล้วกลับบ้านไป 


หมายเลขบันทึก: 639758เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2017 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2017 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)


ถวายแด่พ่อหลวง ด้วยแรงกาย  แรงใจ เท่าที่จะมีอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท