สิทธิในสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ประกันตน


สิทธิในสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ประกันตน

โดย ร้อยตำรวจตรี สัณฐิติ ธรรมใจ

ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารเทศาภิบาล ปีที่ ๑๑๒ ฉบับที่ ๗ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ (หน้า ๕๔ - ๕๗)

                เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้งเวียนให้ส่วนราชการประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการตรวจสอบสิทธิข้อมูลของข้าราชการและบุคคลในครอบครัวให้เป็นปัจจุบันผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง เพื่อจะนำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงระบบการเบิกจ่ายตรงและพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้แก่ข้าราชการและบุคคลในครอบครัว ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดีของระบบราชการไทยในการเข้าสู่ Thailand 4.0 แต่ในทางปฏิบัติอาจพบว่ามีข้อจำกัดอยู่บ้างในการเข้าถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัวข้าราชการที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งคงจะต้องมีการแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป กล่าวคือ เมื่อบุคคลในครอบครัวที่เป็นผู้ประกันตน เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลที่มีระบบเบิกจ่ายตรงแต่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ปรากฏในบัตรรับรองสิทธิประกันสังคมของบุคคลในครอบครัว ทางโรงพยาบาลมักจะไม่รับบริการในระบบเบิกจ่ายตรง จะให้บุคคลในครอบครัวสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดด้วยตนเองก่อน แล้วจึงค่อยไปทำเรื่องเบิกกับหน่วยงานต้นสังกัด กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่การเงินของหลายหน่วยงานเข้าใจในสิทธินี้เป็นอย่างดี จึงอนุมัติให้ข้าราชการเบิกค่ารักษาพยาบาลให้คนในครอบครัวได้ แต่ยังคงมีเจ้าหน้าที่การเงินบางหน่วยงานไม่ค่อยเข้าใจสิทธิดังกล่าว ได้วินิจฉัยไม่ให้ข้าราชการมีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของบุคคลในครอบครัวดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ข้าราชการที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ประกันตน ทั้งที่ ข้าราชการผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับบุคคลในครอบครัวได้ตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๕๓

                สิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในชีวิต (Right to Life) และสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด (Right to Survival) อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๘ วรรคแรก และมาตรา ๔๗ วรรคแรก รับรองหรือคุ้มครอง บุคคลคนหนึ่งย่อมมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่และหวงแหนชีวิตตน เมื่อเจ็บป่วยย่อมมีสิทธิที่จะเลือกเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายแห่งใดก็ได้ที่เห็นว่าดีและสามารถจะรักษาชีวิตตนให้อยู่รอดได้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายใดห้ามหรือจำกัดให้บุคคลใดต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลใดโดยเฉพาะ แต่เมื่อบุคคลใดเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใดแล้ว การจะได้รับสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลใดก็ต้องพิจารณา ณ ขณะที่บุคคลนั้นเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งหมายความว่า “สิทธิในการเลือกเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใด ๆ” กับ “สิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาล” นั้น เป็นคนละเรื่อง แยกจากกัน ไม่นำมาพิจารณาปะปนกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้าราชการเมื่อเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน ไปเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนประเภทผู้ป่วยนอก ต้องพิจารณาสิทธิของบุคคลดังกล่าว ณ ขณะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน กล่าวคือ ข้าราชการรายดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ แต่ข้าราชการรายนั้นอาจมีสิทธิเบิกจากประกันสุขภาพที่ตนเองทำไว้กับบริษัทประกันก็ได้ หรือถ้าเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ปรากฏในบัตรรับรองสิทธิประกันสังคมก็ต้องพิจารณาสิทธิขณะที่ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาล ณ ตอนนั้น กล่าวคือ ย่อมมีสิทธิในค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคม แต่หากผู้ประกันตนเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินไปเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐที่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ปรากฏในบัตรรับรองสิทธิประกันสังคม ก็ต้องพิจารณาสิทธิของผู้ประกันตน ณ ตอนที่อยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐขณะนั้น กล่าวคือ ผู้ประกันตนคนดังกล่าวก็อาจไม่ได้รับสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลอันเป็นเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์หรือได้รับสิทธิบริการทางการแพทย์ตามกฎหมายประกันสังคม

                ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น หากบุคคลในครอบครัวข้าราชการไม่มีสิทธิอื่นใดเลย จะไม่มีปัญหาตีความการใช้สิทธิของข้าราชการในการเบิกเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับบุคคลในครอบครัว แต่หากบุคคลในครอบครัวข้าราชการมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานอื่นด้วย เช่น คู่สมรสข้าราชการเป็นพนักงานบริษัท จึงเป็นผู้ประกันตนและมีสิทธิประกันสังคมด้วย เป็นต้น กรณีนี้ถือว่าเป็นความซ้ำซ้อนแห่งสิทธิ กล่าวคือ บุคคลคนเดียวมีสิทธิในค่ารักษาพยาบาลจากหลายแห่ง หากใช้สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายที่ตนจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปจากหน่วยงานหลายแห่งซ้ำซ้อนกัน จะเป็นการทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายเกินกว่าที่เสียหายจริง จะสร้างความเสียหายต่อราชการได้ ดังนั้น พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๕๓ จึงได้บัญญัติป้องกันการซ้ำซ้อนแห่งสิทธินี้ไว้ในมาตรา ๑๐ วรรคสอง ไว้ว่า “ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิของตนเองจากหน่วยงานอื่น ผู้มีสิทธิไม่มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับบุคคลในครอบครัวตามพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับนั้นต่ำกว่าเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับบุคคลในครอบครัวเฉพาะส่วนที่ขาดอยู่” บทบัญญัติข้างต้นได้บัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการซ้ำซ้อนแห่งสิทธิค่ารักษาพยาบาลไว้อย่างดีแล้ว แต่มีเจ้าหน้าที่การเงินบางหน่วยงานอาศัยบทบัญญัตินี้ ตีความจำกัดสิทธิปฏิเสธคำขอไม่ให้ข้าราชการมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลให้แก่บุคคลในครอบครัวที่เป็นผู้ประกันตนที่ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐที่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ปรากฏในบัตรรับรองสิทธิประกันสังคม โดยให้เหตุผลว่าบุคคลในครอบครัวมีสิทธิประกันสังคม ข้าราชการจึงไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลให้กับบุคคลในครอบครัว ซึ่งผู้เขียนกลับมีความเห็นว่าน่าจะเป็นเหตุผลที่คาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แท้จริงแล้ว ไม่มีกฎหมายใดห้ามไม่ให้ผู้ประกันตนที่อาศัยสิทธิของข้าราชการได้ด้วย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนอกเหนือจากที่ปรากฏในบัตรรับรองสิทธิประกันสังคมแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองหรือคุ้มครองไว้ เมื่อบุคคลในครอบครัวข้าราชการไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลที่ปรากฏในบัตรรับรองสิทธิประกันสังคม ต้องพิจารณาสิทธิในขณะนั้นว่าบุคคลในครอบครัวมีสิทธิใดบ้าง เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วจะเห็นว่าบุคคลในครอบครัวข้าราชการเป็นผู้ประกันตนเข้าโรงพยาบาลที่ไม่ได้ปรากฏในบัตรรับรองสิทธิประกันสังคม จึงถือว่าบุคคลดังกล่าวในขณะที่รักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นผู้ไม่มีสิทธิประกันสังคม ในเมื่อบุคคลในครอบครัวข้าราชการผู้นั้นในเวลานั้นไม่มีสิทธิประกันสังคม ข้าราชการรายนั้นย่อมมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับบุคคลในครอบครัวเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ ทั้งนี้ตามมาตรา ๔ มาตรา ๕ วรรคแรก และมาตรา ๘ (๑) ของพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งบัญญัติไว้ ดังนี้

 มาตรา ๔ นิยามความหมายของคำว่าบุคคลในครอบครัวไว้ว่า

  “บุคคลในครอบครัว” หมายความว่า

   (๑) บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีสิทธิ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

   (๒) คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ

   (๓) บิดาหรือมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสิทธิ

มาตรา ๕ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “ให้ผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองและบุคคลในครอบครัวของตนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้”

มาตรา ๘ บัญญัติไว้ว่า “ผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองหรือบุคคลในครอบครัวของตน ในกรณีดังต่อไปนี้

  • การเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ ทั้งประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน

(๒) การเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ประเภทผู้ป่วยใน”

                จากปัญหาการตีความที่ไม่ตรงกันข้างต้น ทำให้ข้าราชการผู้เดือดร้อนเสียหายบางราย ได้อุทธรณ์คำสั่งปฏิเสธคำขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลของบุคคลในครอบครัวข้าราชการที่เป็นผู้ประกันตนแต่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลที่ปรากฏในบัตรรับรองสิทธิประกันสังคม เจ้าหน้าที่การเงินที่ปฏิเสธคำขอได้ยกข้อต่อสู้โดยอ้างคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า การที่กฎหมายอื่นกำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิไว้อย่างไรแล้ว และผู้มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิตามเงื่อนไขดังกล่าว ไม่เป็นเหตุทำให้ผู้นั้นจะสามารถใช้สิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้ แต่คดีนี้ศาลปกครองกลางได้พิจารณาและมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดแล้ว ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๘๔/๒๕๕๖ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๓๗๙/๒๕๕๙ โดยศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คู่สมรสซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ แม้เป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิประกันสังคม แต่ไม่ไปใช้สิทธิทางประกันสังคม ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับบุคคลในครอบครัวตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๕๓ นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิทธิในการได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากหน่วยงานใดก็ตาม เป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้บุคคลได้รับตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายนั้นกำหนด บุคคลที่มีสิทธิจะใช้สิทธิที่ตนได้รับหรือไม่ก็ได้ เมื่อคู่สมรสของผู้ฟ้องคดีเลือกที่จะไม่เข้ารับการรักษาพยาบาล ณ สถานบริการทางการแพทย์ที่กำหนดให้ได้รับสิทธิประกันสังคม คู่สมรสของผู้ฟ้องคดีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่จะได้รับการรับรองและคุ้มครองให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงเป็นบุคคลที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิให้ได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับคู่สมรสที่เข้ารับการรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลของทางราชการ ตามมาตรา ๔ ประกอบมาตรา ๘ (๑) ของพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. ๒๕๕๓

               ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยต่อว่า เมื่อคู่สมรสของผู้ฟ้องคดีเข้ารับการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลของทางราชการ และ “คู่สมรสของผู้ฟ้องคดียังเป็นบุคคลในครอบครัวที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลทดแทน ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ จากสถานพยาบาลดังกล่าว” ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลคู่สมรสที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐดังกล่าวได้ คำสั่งปฏิเสธคำขอเบิกค่ารักษาพยาบาลให้แก่คู่สมรสของผู้ฟ้องคดี เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ปฏิเสธคำขอเบิกค่ารักษาพยาบาลให้แก่คู่สมรสของผู้ฟ้องคดี และเพิกถอนคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี แล้วให้ผู้มีอำนาจอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลคู่สมรสให้แก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ของต้นเงิน

               คำพิพากษาคดีปกครองที่ผู้เขียนตั้งใจนำมาเสนอนี้จะเป็นประโยชน์แก่หลายฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่การเงินที่สามารถใช้แนวคำพิพากษานี้บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนข้าราชการ ด้วยการกล้าที่จะเสนอผู้มีอำนาจให้อนุมัติเบิกค่ารักษาพยาบาลของคู่สมรสข้าราชการที่เป็นผู้ประกันตนให้แก่ข้าราชการที่มายื่นคำขอเบิกได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการเบิกจ่ายมิชอบหรือไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหน่วยตรวจสอบเรียกให้คืนเงินแต่อย่างใด ส่วนข้าราชการที่มีคู่สมรสเป็นผู้ประกันตนก็สามารถค้นหาคำพิพากษาศาลปกครองกลางฉบับนี้ตามหมายเลขคดีข้างต้นมาศึกษาและนำไปอธิบายให้แก่เจ้าหน้าที่การเงินเพื่อประกอบการขอเบิกค่ารักษาพยาบาลให้แก่คู่สมรสได้ เพื่อจะได้ใช้สิทธิในความเป็นข้าราชการอำนวยประโยชน์ที่ควรจะได้โดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลในครอบครัวได้อย่างเต็มภาคภูมิ


หมายเหตุ  บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ผูกพันผู้ใดหรือองค์กรใดแต่อย่างใด

   



ความเห็น (2)

เคยเบิกไม่ได้เหมือนกันค่ะ ข้อมูลนี้ดีมากๆค่ะสรุปว่าถ้าเราไม่ใช้สิทธิประกันสังคม แต่เราไปรักษาที่ รพ.ของรัฐแทน จะเอามาเบิกภายหลังได้ใช่มั๊ยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท