จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 10 : สรุปรวบยอดท้องถิ่น


จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 10 : สรุปรวบยอดท้องถิ่น

19 ตุลาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

 

สองเรื่องใหญ่ของท้องถิ่น

          ร่ายยาวจั่วหัว “จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย” มาแต่เดือนสิงหาคม 2560 ร่วมสองเดือนเศษ ด้วยหวังว่าจะได้กระแสข่าวดีเกี่ยวกับท้องถิ่น แต่เอาเข้าจริงผิดหวัง เพราะยังไม่ได้ข่าวใดที่เป็นชิ้นเป็นอัน ที่สำคัญมิได้มีเบาะแสในประเด็นคำตอบที่คนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) “อยากรู้กันมาก” เรื่อง(1) ความคืบหน้ากฎหมายการควบรวมการยุบรวม อปท. และ (2) กำหนดวันเลือกตั้ง อปท. ซึ่งหมายรวมถึง การหยุดให้นักการเมือง อปท.รักษาการเมื่อใดด้วย วันนี้จึงขอปิดหัวจั่วนี้ลงให้ได้เป็นตอนสุดท้าย

สรุปปิดท้ายตอนที่แล้ว ความฝันการปฏิรูปท้องถิ่นอันเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน อปท. ให้ก้าวเดินหน้าต่อไปใน 2 เรื่อง ได้แก่ (1) เรื่องการกระจายอำนาจทางการจัดเก็บรายได้ ที่ต้องเพิ่มฐานรายได้ให้มากขึ้น ซึ่งกฎหมาย “รายได้ท้องถิ่น” ได้อยู่ในร่าง “ประมวลกฎหมายท้องถิ่น” แล้ว และ (2) เรื่องการพัฒนาการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ถือว่าสอดคล้องกับ “ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจ รวม 4 ยุทธศาสตร์” ได้แก่  (1) การส่งเสริมให้ อปท. มีอิสระและเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ  (2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินการคลังของ อปท. (3) การพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคลของ อปท. เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ (4) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ อปท. และระหว่าง อปท. ด้วยกันเอง

 

ข่าวลือยังไงก็คือ “ข่าวลือ”

เอาเป็นว่าเริ่มต้นข่าวลือ “การควบรวม อปท.” ราว 25 สิงหาคม 2560 เป็นข่าวฮือของท้องถิ่นพักใหญ่ ข่าวนี้ถูกสร้างความน่าเชื่อถือโดยการตีข่าว 12 กันยายน 2560 [2] โดย “สิริอัญญา” [3] (นามปากกาไพศาล พืชมงคล) นักเขียนบทความรางวัลดีเด่นปี 2552 เป็นที่สงสัยว่า “สิริอัญญา” มีข้อมูลและไปเอาข้อมูลมาจากที่ใด บ้างก็ว่าเพราะ “สิริอัญญา” ใกล้ชิดกับคนวงในของรัฐบาล จึงมาพูดเรื่องการควบรวม อปท. นอกจากนี้ช่วงราว 20 กันยายน 2560 มีข่าวสัญญาณเสมือนรับลูกกันมาเป็นชุดๆ รวม 3 ชุดตามมาติด ๆ ได้แก่ (1) ข่าวกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ออกมาทำประชาพิจารณ์กฎหมายการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (2) สถาบันพระปกเกล้าระดมความเห็นกลุ่มนายก อปท. จำนวน 80 คนและ (3) ข่าวการออกมาบอกชี้แจงกฎหมายการกระจายอำนาจของ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ [4] ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ตามประกาศแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญจากสำนักนายกรัฐมนตรี เวลามันช่างประจวบเหมาะพอดี เสมือนว่าจะบอกนัยสำคัญบางอย่างของท้องถิ่น แม้ว่าการทำงานในลักษณะดังกล่าวมิใช่การทำงานตามปกติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

ครั้นกลับมาไล่เรียงดูลำดับเหตุการณ์ข้อความจริงแล้ว กลับกลายเป็นของเก่าหรือข่าวเก่า เริ่มจากเมื่อ 22 สิงหาคม 2559 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีมติเห็นชอบ รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น ในเรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป และร่าง พรบ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสาระสำคัญก็คือ การยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาลตำบล และ การควบรวม อปท. ที่มีขนาดเล็กเข้าด้วยกัน[5]

ขณะเดียวกันช่วงนี้มีข้อสังเกตว่า การปล่อยข่าวดังกล่าวอาจมีเลศนัย ชวนให้ขบคิดกัน เมื่อ 18 กรกฎาคม 2560 แกนนำปลัด อปท. ท่านหนึ่งได้แนะนำให้ คสช.โละผู้บริหารท้องถิ่นที่รักษาการก่อนที่นายก อปท.จะหมดวาระทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2561 [6] ทั้งนี้ เพื่อความเท่าเทียมกันก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะว่าก่อนที่ คสช.จะจัดให้มี การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ต้องมีความชัดเจน ในเรื่องรูปแบบโครงสร้าง อปท. รวมถึงการควบรวมท้องถิ่นหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้หน่วยงานใดจะเป็นผู้กำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่น ระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือหน่วยงานอื่นใด หากมีความชัดเจนดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นก็อาจเกิดขึ้นได้ภายในปี 2561 แต่พลันข่าวนี้ออกมาแกนนำนายก อบต. ท่านหนึ่งก็ออกมาต่อว่า ทำนองไม่เห็นด้วยในการยกเลิกการรักษาการนายก อปท.คนเดิม [7]

ช่างประจวบพอดีกันเมื่อ 20 กันยายน 2560 ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม นักวิชาการด้านท้องถิ่นนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ อปท. มาโยนเป็นคำถามปริศนาไว้ 2 คำถามว่า [8](1) การเลือกตั้ง สส.และ สว. กับเลือกตั้ง อปท. อันไหนจะเลือกตั้งก่อนแต่ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2560 จะต้องเลือกตั้ง สส.และ สว. ก่อน เลือกตั้ง อปท. เว้นแต่ว่า หน.คสช. จะใช้มาตรา 44 ให้ อปท.เลือกตั้งก่อน (2) การควบรวม อปท.จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ถือเป็นคำถามน่าฉงนมากในช่วงนั้น

สุดท้ายแกนนำปลัด อปท. อีกท่านหนึ่งได้ออกมาคัดค้านว่าเป็น “ข่าวลวง โกหก” คนปล่อยข่าวมีเจตนาแอบแฝง [9] ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า การยุบ อบต. และการควบรวม อปท. เป็นไปไม่ได้ เพราะ สนช. ยังไม่ได้รับร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่นแต่อย่างใด นี่คือสถานการณ์ของข่าวลือที่จบข่าวลงว่า กฎหมายท้องถิ่นยังเหมือนเดิมยังไม่มีอะไรในกอไผ่

 

การสืบทอดอำนาจต้องไม่แตะฝ่ายปกครองและท้องถิ่น

ท่านผู้รู้ให้ข้อสังเกตว่าการสืบทอดอำนาจต่อของ คสช.นั้น คงไม่กล้าแตะอยู่ 2 ฝ่าย คือฝ่ายปกครอง และฝ่ายท้องถิ่น เพราะนั่นมันหมายถึงคะแนนเสียง  ที่ดีไม่ดีอาจทำให้ฐานเสียงหรือคะแนนความนิยมทางการเมืองหดหายไปในพริบตาได้ และก็น่าแปลกว่า 2 ฝ่ายนี้ โดยธรรมชาติในตัวของมันเองแล้ว “ต่างเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นคู่ขนานกัน” กันและกันอย่างสิ้นเชิง ก็เป็นนัยยะว่า ใน 2 ฝ่ายนี้ คสช. คงต้องปล่อยไปตามกระแสที่จะพาไป หรือปล่อยเวลาให้ลากยาวไปเรื่อย ๆ นานที่สุด จนกว่ากระแสจะสงบลงตัวหรือหยุดนิ่งไปเอง เพราะการสร้างเงื่อนไขหรือการชวนทะเลาะ หรือมาแตะยุ่งเกี่ยวมากไปอาจไม่ดี ทำให้เปลืองตัว  อย่างไรก็ตามผู้เขียนมองมุมกลับว่า ความเชื่อดังกล่าวอาจผิดพลาด และส่งผลร้ายสู่ภาวะวิกกฤตของการปฏิรูปประเทศก็เป็นได้ เพราะท่านผู้รู้คนเดิมให้ทัศนะว่า ในการปฏิรูปท้องถิ่นที่ผ่านมาในช่วงตลอด 3 ปีถึงปัจจุบัน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) คือ “คนเดียวกัน”

 

ย้อนไปต้นเหตุข่าวลือก่อนปี 2560

ในเนื้อหาข่าวลือนี้ หากจะย้อนไปหาความจริงจากปีก่อนก็คือ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาเมื่อ 5 ตุลาคม 2557 มติคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.กลาง) ให้ยกเลิกเทศบาลขนาดเล็ก ขนาดกลาง [10] เหลือเป็น “เทศบาลขนาดสามัญ กับเทศบาลขนาดใหญ่” ที่มีปลัดเทศบาลระดับ 7-8 และ ระดับ 9-10 ทั่วประเทศ เหมือนว่าเป็นการปูทางว่ารูปแบบ อปท.ระดับล่างก็คือ “เทศบาล” ด้วยฝ่ายที่เห็นด้วยเห็นว่าที่จะนำไปสู่การควบรวม อปท. ให้มีขนาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้ต่อไป

ข่าวมายุติลงเมื่อ 22 สิงหาคม 2559 โดย สปท. ได้มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่น ในเรื่องโครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป [11]

ข่าวหน้าหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ 25 ตุลาคม 2559 หัวข่าว “รอลุ้นปฏิรูปท้องถิ่น” โดยลอย ลมบน [12] และข่าวหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ลงข่าวว่า [13] จะมีการยกเลิกรูปแบบ อบต. ในเดือนมกราคม 2561 พร้อมวางไทม์ไลน์เลือกตั้งเทศบาลหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่า สนช.จะพิจารณากฎหมายเสร็จในสิงหาคม 2560 (ใช้เวลา 3 เดือน) แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายในตุลาคม 2560 นี่คือสาระสำคัญของต้นข่าวลือปี 2559 หลังจากที่ สปท. ได้หมดวาระลง

 

ร่างกฎหมายท้องถิ่นถูกดองด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ. 2560

ในที่สุดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ได้ลงนามพระปรมาภิไธยประกาศ ณ วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นการปิดฉากบางสิ่ง และเริ่มต้นบางสิ่ง ที่ถือเป็นโชคร้ายของท้องถิ่นก็คือ “เป็นการปิดฉากบางสิ่ง” ของร่างกฎหมายท้องถิ่นทั้งหมด เพราะร่างกฎหมายท้องถิ่นทุกฉบับ ไม่สามารถเข้าสู่วาระการพิจารณาของ สนช. และทันประกาศใช้ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งเท่ากับว่ากฎหมายท้องถิ่นทุกฉบับต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่และต้องอยู่ในบังคับและขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้นั่นเอง [14] หากมองในความล่าช้า ถือเป็นความล่าช้าแน่นอน แต่หากมองเรื่องการพิจารณาและการจัดทำร่างกฎหมายแล้ว ถือว่ากฎหมายท้องถิ่นเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและจัดทำร่างบทบัญญัติกันมาพอสมควรแล้ว แต่ปรากฏว่า สนช. ไม่สามารถนำบทบัญญัติที่ได้จัดทำร่างไว้ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญมาดำเนินการต่อได้

 

ร่างกฎหมายท้องถิ่นที่ตกค้างมีกฎหมายใดบ้าง

ร่างกฎหมายท้องถิ่นเหล่านี้น่าจะได้แก่ (1) ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นการรวมกฎหมายจัดตั้ง อปท. กฎหมายว่าด้วยรายได้ กฎหมายว่าด้วยกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ไว้ด้วยกัน (2) ร่าง พรบ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... (3) ร่าง พรบ. การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... [15] (4) ร่าง พรบ. ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.) (ฉบับที่... ) พ.ศ. ....(5) ร่าง พรบ. การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ.... (6) ร่าง พรบ. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่น พ.ศ.... (7) ร่าง พรบ. การรวมตัวเป็นสหภาพของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... หรือ ร่าง พรบ. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ….[16] (8) ร่าง พรบ. จังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ... (9) ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ....) พ.ศ. .... (10) ร่าง พรบ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบว่ามีกฎหมายฉบับใดตามที่กล่าวข้างต้นได้เข้าสู่การพิจารณา หรือแม้แต่การเสนอต่อ สนช. แต่อย่างใด กล่าวโดยสรุป สนช.  ยังไม่มีวาระพิจารณากฎหมายท้องถิ่นในสารบบ

 

หลังรัฐประหาร 2557 ครม.เสนอกฎหมายมากที่สุด

ข้อมูล ณ 18 กันยายน 2560 จากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช.พบว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อ สนช.เพื่อพิจารณา 314 ฉบับ มีร่างพระราชบัญญัติที่ สนช.มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว 277 ฉบับ มีร่างพระราชบัญญัติที่ สนช.ยังไม่ได้พิจารณารับหลักการในวาระที่หนึ่ง 7 ฉบับ (ชะลอการบรรจุระเบียบวาระ - ฉบับ, พิจารณาศึกษาก่อนรับหลักการ - ฉบับ, ครม.รับไปพิจารณา 1 ฉบับ, รอบรรจุระเบียบวาระ 4 ฉบับ,บรรจุระเบียบวาระ 2 ฉบับ)  มีร่างพระราชบัญญัติที่รอคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ พิจารณา 4 ฉบับ และมีร่างพระราชบัญญัติที่ตกไป 26 ฉบับ [17]

ข้อมูล ณ 2 ตุลาคม 2560 ร่างพระราชบัญญัติที่ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระที่สามแล้ว 262 ฉบับ และได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว 251 ฉบับ  มีผลใช้บังคับแล้ว 245 ฉบับ [18]

 

เคาะเลือกตั้ง สส. แล้ว

ในที่สุดเมื่อ 10 ตุลาคม 2560 สัญญาณเลือกตั้ง หรือโรดแมปการเลือกตั้งใหญ่คืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้ลงตัว หลังจากถูกกระแสกดดันทั้งจากต่างประเทศและพลังเงียบในประเทศมาพอสมควร [19]นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. บอกว่า [20] จะประกาศวันเลือกตั้งได้ในเดือนมิถุนายน 2561 ได้เลือกตั้งแน่ในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่ขอให้นักการเมืองพรรคการเมืองอยู่ในความสงบ รอพ้นเดือนตุลาคมเวลาโศกเศร้าอาลัยเสียก่อน จากนั้นจะพิจารณาปลดล็อกพรรคการเมือง อ้าวแล้วการเลือกตั้งท้องถิ่นหละ [21] ไม่เห็นบอก

 

[1]PhachernThammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23572 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ

[2]ตายก็หนีไม่พ้นเวรกรรมยังตกลูกหลาน-“ไพศาล”ซัดคนโกงชาติ, 17 ตุลาคม 2560, http://m.tnews.co.th/contents/...

นายไพศาล พืชมงคล อดีต สนช. และนักเขียนชื่อดัง โพสต์เนื้อหาผ่านเพจเฟซบุ๊ค Paisal Puechmongkol โดยวิจารณ์ กรณีการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจของนายทุนเจ้าสัวว่า เวรกรรมตายหนีก็ไม่พ้นเพราะจะตามไปถึงลูกหลาน

[3]“สิริอัญญา” นักเขียน “ผู้จัดการ” ได้รางวัลนักเขียนบทความดีเด่นแห่งปี!!, โดย MGR Online, 3 กุมภาพันธ์ 2553, http://www.manager.co.th/Home/...

[4]กรธ.ลั่นปฏิรูปอปท. หลังติดขัดมา 16 ปี ชงคกก.กระจายอำนาจ 21 ก.ย.-ยันกม.ลูกเสร็จทัน, 17 กันยายน2560, https://mgronline.com/politics...&แจงร่างกฎหมายปฏิรูป 'อปท.' คืบหน้า, กรุงเทพธุรกิจ, 18 กันยายน 2560, http://www.bangkokbiznews.com/...

[5]สปท. โหวตเห็นชอบยุบ อบต. ควบรวมเป็นเทศบาลตำบลรองรับการถ่ายโอนภารกิจในอนาคต, 25 สิงหาคม  2559, https://hilight.kapook.com/vie...&จับตา! ยุบ อบต.-ควบรวมเทศบาลเล็ก จุดเปลี่ยนใหญ่ท้องถิ่นไทย, ประชาชาติธุรกิจ, 29 สิงหาคม 2559, https://www.prachachat.net/new...

[6]ปลัดแนะคสช.โละผู้บริหารรักษาการ ก่อนหมดวาระทั่วปท.เม.ย , มติชน, 18 กรกฎาคม 2560, http://kontb.blogspot.com/2017...

[7]บิ๊กอบต.ปทุม ท้าปลัด'ศักดิพงศ์'ลงสนาม ฉุนแนะ'คสช. ยกเลิก'อปท.'รักษาการ, 19 กรกฎาคม 2560, https://www.matichon.co.th/new...

[8]ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม, 20 กันยายน 2560, อ้างจากเฟซบุ๊ค   

&  ข้อดี/ข้อเสีย การปกครองส่วนท้องถิ่นใน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่, YouTube วิดีโอ 34:41 mins, อัปโหลดโดย Freedom Thailand, หมวดหมู่ ข่าวและการเมือง, TV24 สถานีประชาชน, ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม และ ธเนศ ศรีวิรัญ (ผู้ดำเนินรายการ), 28 กรกฎาคม 2560, https://www.youtube.com/watch?v=bWNhRJ8e10U&list=PL4I7ls1uILBAC9nh1qIPo7F9_sgvZg6FS

[9]นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง, 20 กันยายน 2560, อ้างจากเฟซบุ๊ค

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งรับฟังความเห็นกฎหมายบุคคลท้องถิ่นก่อนเสนอ ครม.และสนช.ตราเป็นกฎหมาย

[10]โครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นhttp://www.surat-local.go.th/n...

[11]บันทึกการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศครั้งที่ 42/2559, รัฐสภา, วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2559,http://library2.parliament.go....

[12]รอลุ้นปฏิรูปท้องถิ่น โดยลอย ลมบน, ในโลกวันนี้, 24 ตุลาคม 2559,  www.lokwannee.com/web2013/?p=2...

[13]ดีเดย์ม.ค.61‘ยุบอบต.’ วางไทม์ไลน์เลือกตั้งเทศบาลหลังได้ส.ส., หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3208 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2559, 11 พฤศจิกายน 2559, http://www.thansettakij.com/co...

[14]ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 และมาตรา 249

[15]ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับสำคัญ ทาง http://www.dla.go.th/pub/surve...

(1) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคล พ.ศ. .... , http://www.dla.go.th/pub/surve...

(2) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... , http://www.dla.go.th/pub/surve...

(3) ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่) พ.ศ. .... , http://www.dla.go.th/pub/surve...

[16]ร่าง พรบ. การรวมตัวเป็นสหภาพของข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... หรือ ร่าง พรบ. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. , http://www.parliament.go.th/ew...

[17]ระบบประมวลผลข้อมูลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวม 291 ฉบับ

http://www.senate.go.th/w3c/se...

[18]สารบบสถานะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, นายพิสิฐ์ นิธิสิริวรธรรม วิทยากรชำนาญการ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, 

http://www.senate.go.th/w3c/se...

[19]สัญญาณเลือกตั้ง ข่าวมติชน บทบรรณาธิการ 14 ตุลาคม 2560&ผลึก”ความคิด” อำนาจ ทางการเมือง หลัง”รัฐประหาร”, คอลัมน์หน้า 3 มติชน, 17 ตุลาคม 2560, https://www.matichon.co.th/new...

[20]ข่าวเช้า 11 ตุลาคม 2560 ลงล็อกตามโรดแมป "บิ๊กตู่" ประกาศเลือกตั้งพฤศจิกายน 2561&ประกาศ เลือกตั้ง พฤศจิกา 61 และปฏิกิริยาตลาดหุ้น, คอลัมน์หน้า 3 มติชน, 12 ตุลาคม 2560, https://www.matichon.co.th/new... & นายกฯ ประกาศแล้ว เลือกตั้ง พ.ย.61, 10 ตุลาคม 2560, http://news.thaipbs.or.th/cont...

[21]เลือกตั้งท้องถิ่น โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข, คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 มติชนรายวัน, 30 มีนาคม 2560, https://www.matichon.co.th/news/513046

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 แย้มว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองของ ป.ย.ป.บอกว่า อยากให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน

หมายเลขบันทึก: 639482เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2017 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท