บทความเรื่อง "วาระสุดท้าย" ส่งเข้าประกวดเรื่องเล่าจากใจ งาน Siriraj Palliative Care Day 2017


"คุณลุงขา… นั่นแหละค่ะทางเลือกของคุณลุง”

form_story_telling_2560_(1).docx

ชื่อเรื่อง วาระสุดท้าย
เจ้าของผลงาน นางกุลนิษฐ์  ดำรงค์สกุล  
หน่วยงาน หน่วยสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
เบอร์ติดต่อ - 

เนื้อเรื่อง


ดิฉันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ สังกัดหน่วยสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์  นอกจากภาระงานที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสังคมแล้ว งานที่ได้รับมอบหมายอีกประการหนึ่งคือ เป็นนักสังคมสงเคราะห์ในทีมชีวิตาภิบาล ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และ สหวิชาชีอื่นๆ รวมตัวกันเป็นทีมดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างเป็นองค์รวม เติมเต็มวาระสุดท้ายของผู้ป่วยให้ครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณ ซึ่งดิฉันอยู่ในส่วนของเติมเต็มทางสังคม ตามชื่อตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ


เรื่องเล่าจากใจของดิฉันเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559  พยาบาลประจำคลินิกการแพทย์ผสมผสาน ได้ส่งผู้ป่วยเข้ารับคำปรึกษา 1 ราย เรื่องหาผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เนื่องจากทางทีมรักษาสังเกตว่าผู้ป่วยมีท่าทีปกปิดประวัติ ทีมไม่สามารถประเมินได้ว่าผู้ใดจะเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เนื่องจากผู้ป่วยมาโรงพยาบาลคนเดียว หลายครั้งที่ admit พบว่ามีแฟนมาเฝ้า แต่ก็เปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ ไม่มีใครแสดงตนว่าเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยตัวจริง


เมื่อทำการรวบรวมข้อมูลทั้งจากการสัมภาษณ์ และเยี่ยมบ้านแล้วพบว่าผู้ป่วยมีประวัติมีภรรยาหลายคน มีบุตรแต่ไม่เคยดูแล ปัจจุบันย้ายจากบ้านตนเองกลับมาอยู่บ้านมารดา ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ผู้ดูแลปัจจุบันเป็นหลาน ซึ่งทำหน้าที่เพียงชงนม (Esure) ให้ แถมยังต้องจ้างโดยใช้เงินสะสมของผู้ป่วยที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้คนไข้มีภาวะทุพโภชนาการ และภรรยาปัจจุบันที่มีอยู่ 2 คน ก็ไม่สมัครใจให้การดูแล อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเยี่ยมบ้าน ทีมก็ได้พบลูกชายคนหนึ่งของคนไข้ที่มาเยี่ยมพอดี เราจึงได้พูดคุยกันถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่ามี  2 ทางเลือก คือ จ้างผู้ดูแลที่บ้าน หรือ ส่งคนไข้ไป hospice  โดยทีมได้ทิ้งทางเลือกไว้ให้คนไข้และลูกชายช่วยกันพิจารณาหาข้อสรุป


ก่อนกลับ ทีมงานพากันเดินไปขึ้นรถ เหลือเพียงดิฉันที่คนไข้เรียกไว้ แล้วถามว่า


คนไข้ :  “หนู.. หนูคิดว่าลุงควรจะไปอยู่ nursery หรือ จ้างคนมาดูแลดี” 


ดิฉันจ้องลงไปในดวงตาของคนไข้ เห็นทั้งความกังวล และความอ้างว้าง ปรากฏอยู่ในแววตาที่สะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง  ความรู้สึกที่คนไข้ไม่เคยพูดออกมาให้พวกเราได้ยิน แม้จะรู้สึกเห็นใจเพียงใด แต่ระเบียบวิธีปฏิบัติงานต้องมาก่อน ดิฉันจึงตอบว่า


ดิฉัน : “คุณลุงขา หนูตัดสินใจแทนคุณลุงไม่ได้หรอกค่ะ หนูทำได้แค่เสนอ ทางเลือกให้คุณลุง สุดท้ายคุณลุงต้องเลือกเองนะคะ” 
คนไข้ : “ลุงเลือกไม่ถูกหรอก”  
ดิฉัน : “คุณลุงอยากไปอยู่ nursery ไหมล่ะคะ” 
คนไข้ : ก้มหน้า…อุบอิบตอบว่า …“ลุงไม่อยาก” 
ดิฉัน : “คุณลุงขา… นั่นแหละค่ะทางเลือกของคุณลุง”
คนไข้ : เงยหน้าขึ้น และ คว้ามือของดิฉันขึ้นไปกุม ก้มหน้าลงมาจนเกือบจะ ชิดมือ ทำท่าเหมือนจะร้องไห้ พึมพำว่า “ขอบใจหนู ขอบใจมาก”


ก่อนขึ้นรถ ดิฉันได้สนทนาสั้นๆกับลูกชายของคนไข้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น               ลูกชายกล่าวขอบคุณที่ทำให้เขาไม่ต้องลำบากใจในการส่งคุณพ่อไปอยู่ hospice 


ทีมเรายังคงติดต่อกับ case นี้ อยู่ตลอดการรักษา ลูกชายคนไข้บอกกับดิฉันว่าถึงพ่อจะไม่เคยดูดำดูดี แต่เขาก็รู้สึกผิดที่ไม่ได้มาดูแลพ่อด้วยตนเอง เนื่องจากต้องทำงานอยู่ภาคใต้ ที่ซึ่งแม่พาตนเองมาอยู่ด้วยตั้งแต่เกิด หลังจากหย่ากับพ่อ เขารู้สึกว่าตนเองยังทำได้ไม่ดีพอ ดิฉันจึงได้ตั้งคำถามสั้นๆ ว่าตั้งแต่พ่อป่วย เขาได้ทำอะไรบ้าง เขาตอบว่า วิ่งขอสิทธิ์(เรียกว่าบากหน้าไปหาน้องคนละแม่เพื่อขอใช้สิทธิ์การเบิกจ่ายจะถูกกว่า), พาพ่อมารักษา,   วิ่งขึ้นล่องกรุงเทพ-ใต้ มาดูแลพ่อทุกสัปดาห์, หาคนดูแลให้, มาเฝ้าทุกครั้งที่ admit และอื่นๆ อีกมากมาย ดิฉันฟังแล้วจึงตั้งคำถามกลับไปสั้นๆ ว่า “นี่ยังไม่ดีพออีกหรือคะ”  สิ้นคำถาม เขามองหน้าดิฉันด้วยสีหน้าพิศวง แล้วค่อยๆ คลี่ยิ้มเหมือนเพิ่งคิดออก พึมพำว่า “พี่ว่านี่ดีแล้วใช่ไหม?” ดิฉันตอบว่า “คุณทำดีที่สุดแล้วค่ะ อย่ากังวลไปเลย”  ต่อมา เมื่อเราเจอกัน เขาไม่เคยเอ่ยถึงความรู้สึกผิดนี้อีกเลย 


สิ่งนี้คือความประทับใจของดิฉันที่มีต่อการดูแลคนไข้ประคับประคองที่ไม่ใช่การดูแลคนไข้อย่างเดียว หากแต่ประทับใจในการดูแลองค์ประกอบความเป็นคนและการดูแลมิตินั้นควบคู่กันไปกับการดูแลมิติทางร่างกายและองค์ประกอบในมิติอื่นๆ


ในที่สุด  วาระสุดท้ายของคนไข้รายนี้ก็มาถึง เป็นวาระสุดท้ายในฝันของใครหลายคน คือ คนไข้จากไปอย่างสงบ ไม่ต้องทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือต่างๆ คนไข้ไม่ได้ทิ้งอะไรไว้เลยแม้กระทั่งความเจ็บแค้นเคืองโกรธในอดีต  ในทางกลับกัน คนไข้ได้เติมเต็มชีวิตของคนอีกหลายคน โดยเฉพาะลูกชายที่คิดเสมอว่าพ่อไม่รักไม่ใยดี แต่ตนเองกลับมีส่วนสำคัญที่สุดในการเติมเต็มวาระสุดท้ายของพ่ออย่างเต็มความสามารถ เป็นวาระสุดท้ายของการเป็นพ่อลูกที่สมบูรณ์ที่สุดในสายตาของดิฉันเลยก็ว่าได้ 



หมายเลขบันทึก: 639273เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2017 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2017 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท