พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เกี่ยวกับการศึกษา


“...ต้องพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอาชีพไม่ใช่เพียงแต่ปลูกผัก ถั่ว งาให้หลานเฝ้า แต่เป็นเรื่องของความอยู่ดีกินดี ความรู้การศึกษาที่กล่าวว่า ต้องช่วยให้การศึกษาดีขึ้น เพราะถ้าการศึกษาไม่ดี คนไม่สามารถทำงาน การศึกษาต้องได้ทุกระดับ ถ้าพูดถึงระดับสูง หมายความว่า นักวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ถ้าไม่มีการเรียนขั้นประถม อนุบาล ไม่มีทางที่จะให้คนไทยขึ้นไปเรียนขั้นสูง หรือเรียนขั้นสูงไม่ดี ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ดี เพราะขั้นสูงนั้นต้องมีรากฐานจากขั้นต่ำ ถ้าไม่มีก็เรียนขั้นสูงไม่รู้เรื่อง...”

ความตอนหนึ่ง ในพระราชดำรัส

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๖

 

“...การศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาภายหลังสำเร็จจากมหาวิทยาลัย จึงมีความสำคัญยิ่งยวด ในการสร้างเสริมผู้ผ่านการศึกษาในระบบมาแล้ว ให้มีปัญญาและความสามารถที่จะปรับตนให้เข้ากับสภาวะแท้จริงของชีวิต พร้อมทั้งดำรงตนให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุขและเจริญมั่นคงได้...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๖


“...ความรู้ที่จะศึกษามีอยู่สามส่วน คือ ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความคิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริงซึ่งแต่ละคนควรเรียนรู้ให้ครบ เพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบกิจการงาน และแก้ปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล

วันพฤหัสบดีที่  ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕

 

 

“...การศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยคือการศึกษาค้นคว้า เพื่อสร้างเสริมและสะสมความรู้ ความจัดเจน ในด้านวิชาการอย่างสูง และด้านการใช้ความคิดวิจารณญาณตามเหตุผลหลักวิชาความถูกต้อง ผู้มีปัญญาซึ่งได้ผ่านการศึกษาระดับนี้ จัดว่าเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า ผู้จะเป็นกำลังสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงทุกด้านของประเทศอย่างสำคัญต่อไป เหตุนี้ บัณฑิตทั้งหลายจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเกิดขึ้น ที่จะต้องนำความรู้ ความคิด และความสามารถจัดเจนของตนออกปฏิบัติงาน เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมและบ้านเมือง...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล

วันพฤหัสบดีที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๓


“...การศึกษาค้นคว้าที่สำคัญและจำเป็นอย่างแรก คือการศึกษาทางแนวลึก อันได้แก่การฝึกฝนค้นคว้าวิชาเฉพาะของแต่ละคน ให้เชี่ยวชาญชำนาญแตกฉานลึกซึ้ง และพัฒนาก้าวหน้าพร้อมกันนั้น ในฐานะนักปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำงานและแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกับผู้อื่นฝ่ายอื่นอยู่เป็นปรกติ ทุกคนจำเป็นต้องศึกษาทางแนวกว้างควบคู่กันไปด้วย การศึกษาตามแนวกว้างนี้ หมายถึง การศึกษาให้รู้ให้ทราบ ถึงวิทยาการสาขาอื่นๆ ตลอดจน ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับสภาวะและวิวัฒนาการของบ้านเมืองและสังคมในทุกแง่มุม เพื่อช่วยให้มองเห็น ให้เข้าใจปัญหาต่างๆ อย่างชัดเจนถูกถ้วน และสามารถนำวิชาการด้านของตน ประสานเข้ากับวิชาด้านอื่นๆ ได้โดยสอดคล้องถูกต้อง และเหมาะสม...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓

 

“...การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด ความฉลาดรู้ คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่ายึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดให้รู้จริง ควรจะให้ศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณา ศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจ ตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชังมิฉะนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

วันจันทร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔


“...ลักษณะของการศึกษาหรือการเรียนรู้นั้น มีอยู่สามลักษณะ ได้แก่ เรียนรู้ตามความรู้ ความคิด ของผู้อื่นอย่างหนึ่งเรียนรู้ด้วยการขบคิดพิจารณาของตนเองให้เห็นเหตุผลอย่างหนึ่ง กับเรียนรู้จากการปฏิบัติฝึกฝนจนประจักษ์ผล และเกิดความคล่องแคล่วชำนาญอีกอย่างหนึ่ง...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๔

 

 

“...นักเรียนแต่ละคนให้ครบถ้วน คือให้มีวิชาการที่แน่นหนา มีความรู้รอบตัวและประสบการณ์ที่กว้างขวางทั่วถึง สำคัญที่สุด จะต้องให้ทุกคนมีวิชาและความสามารถจัดเจน ทั้งในด้านยุทธการและในด้านการสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนควบคู่กัน เพราะทหารมีภารกิจหลักอยู่ที่การป้องกันประเทศและการรักษาความสงบสุขมั่นคงของประชาชนทั้งสองประการ...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีสวนสนามของนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

เนื่องในโอกาสที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ครบ ๑๐๐ ปี

วันจันทร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔


“...ผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาทุกๆ คนจึงต้องถือว่า ตัวของท่านมีความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองอยู่อย่างเต็มที่ ในอันที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เที่ยงตรง ถูกต้อง สมบูรณ์โตเต็มกำลังจะประมาทหรือละเลยมิได้ เพราะถ้าปฏิบัติให้ผิดพลาดบกพร่องไปด้วยประการใดๆ ผลร้ายอาจเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมและประเทศชาติได้มากมาย...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล

วันจันทร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔

 

“...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคลสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล

วันจันทร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔


 “...บัณฑิต” ตามที่เข้าใจกัน หมายถึงผู้มีคุณความรู้สูงและกว้างขวางเพราะมีการศึกษาหรือได้เรียนรู้มามาก ที่จริง “บัณฑิต” ควรมุ่งถึงคนที่มีปัญญายิ่งกว่าอื่น และ “ปัญญา” หรือ “ความมีปัญญา” นั้นอธิบายได้มาก แต่ก็มีความหมายสำคัญรวบยอดอยู่ประการหนึ่ง คือหมายถึงความสามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ถ่องแท้ และตรงจุด ไม่มีความลังเลสับสนหรือยึดติดอยู่กับสิ่งที่มิใช่สาระ เมื่อจะพิจารณาหรือเรียนรู้เรื่องใดสิ่งใด ก็มุ่งเข้าถึงสาระของเรื่องนั้นสิ่งนั้นได้ทันทีโดยกระจ่างชัดด้วยเหตุที่ได้ฝึกหัดกระบวนการคิดพิจารณาไว้ดีแล้วจนเที่ยงตรงเป็นระเบียบ..."

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วันพฤหัสบดีที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๔

 


“...วัตถุประสงค์ของการตั้งโรงเรียน หรือการให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติ คือการให้นักเรียนมีความสมบูรณ์ไม่บกพร่องพิการ ทั้งทางร่างกาย ทั้งทางความคิดจิตใจและคุณธรรม ให้นักเรียนมีวิชาความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ พร้อมทั้งมีความสามารถที่จะนำความรู้ความคิดไปปฏิบัติ ใช้งานได้ด้วยตนเองได้จริงด้วย...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

พระราชทานคณะอาจารย์ ครู และนักเรียน โรงเรียนวังไกลกังวล

 วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๓


“...วัตถุประสงค์ของการศึกษานั้นคืออย่างไร กล่าวโดยรวบยอด ก็คือการทำให้บุคคลมีปัจจัยหรืออุปกรณ์สำหรับชีวิตอย่างครบถ้วนเพียงพอ ทั้งส่วนวิชาความรู้ ความคิดวินิจฉัย ส่วนจิตใจและคุณธรรมความประพฤติ ส่วนความขยันอดทน และความสามารถ ในอันที่จะนำความรู้ความคิดไปใช้ปฏิบัติงานด้วยตนเองให้ได้จริงๆ เพื่อสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสุขความเจริญมั่นคง และสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและบ้านเมืองได้ตามควรแก่ฐานะด้วย...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

วันพุธที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๓



“...การหาโอกาสนำความรู้ภาคทฤษฎีมาลงมือปฏิบัติก็ดี การฝึกหัดปฏิบัติงานเพื่อใช้แรง ใช้ฝีมือ ใช้ความละเอียดถี่ถ้วนก็ดี เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องกระทำมิให้น้อยไปกว่าภาคทฤษฎี เพราะการศึกษาภาคนี้เป็นประโยชน์สร้างเสริมปัจจัยสำคัญของชีวิต ในด้านความขยันขันแข็ง ความเข้มแข็ง ความอดทนพยายาม ความละเอียดรอบคอบของบุคคลได้อย่างมากที่สุด ผู้ที่ปรกติทำอะไรด้วยตนเอง จะเป็นผู้มีอิสระ ไม่ต้องพึ่งไม่ต้องอาศัยผู้ใด จะไม่ต้องรอคอย ไม่ต้องผิดหวัง และจะได้รับผลสำเร็จสมใจนึกเสมอไป ท่านทั้งหลายจึงควรตั้งใจแสวงประโยชน์จากการปฏิบัตินี้ให้ได้...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

วันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๓


“...การศึกษาในระบบ ส่วนใหญ่ ผู้ศึกษาได้รับความรู้ถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์ และจากการศึกษาค้นคว้าเป็นสำคัญแต่มิได้เรียนรู้จากการกระทำหรือการพบเห็นด้วยตนเองโดยตรง การศึกษานอกระบบภายหลังที่สำเร็จการศึกษา หรือการศึกษาในมหาวิทยาลัยชีวิตจึงมีความสำคัญมาก ในการที่จะสร้างเสริมให้ผู้ผ่านการศึกษาในระบบมาแล้ว เกิดความรู้ ความเฉลียวฉลาด สามารถปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และสามารถดำรงตนให้อยู่ในสังคมอย่างมั่นคงเป็นสุข...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๒

 

“...การให้การศึกษานั้น กล่าวสั้นๆ โดยความหมายรวบยอด คือการช่วยให้บุคคลค้นพบวิธีดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสม ไปสู่ความเจริญและความสุขตามอัตภาพ ตามนัยนี้ผู้สอนมีหน้าที่ต้องหาความรู้และวิธีการดำเนินชีวิต มาให้ศิษย์ได้รู้ได้ทราบ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ต่อไป และดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยดีจนบรรลุจุดหมาย...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๒๒


“...การศึกษามิได้มาจากการฟังโอวาท หรือแม้จะฟังบรรยายสั่งสอนของครูบาอาจารย์ การศึกษานั้นมาจากการสังเกต การดู การฟัง ของแต่ละคน หมายความว่าดูแล้วฟังแล้วมาพิจารณาให้เป็นประโยชน์แก่ตน ก็นับว่าเป็นการศึกษาแล้วและเป็นการศึกษาที่ดีที่สุด...”

 ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา

วันจันทร์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๑

 

“...งานสำคัญของมหาวิทยาลัย กล่าวอย่างสั้นที่สุด มีอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งคือการให้การศึกษา คือถ่ายทอดวิชาการแก่นักศึกษาและฝึกหัดอบรมให้นักศึกษาทั้งนั้นให้มีความรู้ความสามารถดี พร้อมที่จะนำเอาวิชาการออกไปปฏิบัติงานตามสายวิชาที่เรียนมาอย่างมีประสิทธิภาพ อีกส่วนหนึ่งคือค้นคว้าวิจัยในวิชาการทุกๆ สาขาให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ ทั้งเพื่อความเจริญงอกงามของวิชาการนั้นๆ เพื่อที่จะนำไปใช้การให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือแม้แก่ชาวโลก...”

ความตอนหนึ่ง ในพระบรมราโชวาท

ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

 วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๑

หมายเลขบันทึก: 638982เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2017 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2017 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท