การเปลี่ยนแปลง...ที่น่าติดตาม


ผ่านการคุมสอบไป 2 วัน ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปของยุคสมัย ที่เขากล่าวว่าเราอาจล้าหลังที่สุดในอาเซียน หากเราไม่สามารถชี้ชัดให้เห็นถึงจุดที่ควรพัฒนาอย่างเร่งด่วนให้กับลูกศิษย์ของเรา และตัวของผมเอง โดยขอรวบรวมเฉพาะเหตุการณ์ที่ประสบใน 2 วันนี้ คือ 

1. นักศึกษาไม่สามารถคำนวณความเสี่ยงเนื่องมาจากการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น การจดโพยใบเล็ก ๆ เพื่อจะเขียนเล่าเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งมีคะแนนเพียง 5 คะแนน จาก 100 เข้ามาในห้องสอบ และหากนักศึกษารายนี้โดนจับทุจริต จะตกวิชานี้ ซื่งเท่ากับเสียค่าใช้จ่ายในการมาเรียนแต่ละวัน เสียเวลาในการมาเรียน เสียโอกาสในการนำเวลาไปทำอย่างอื่น เสียค่าลงทะเบียนไป 3600 บาท ซึ่งหากเราสอนให้นักศึกษาได้คิดถึงโอกาสที่ไม่คุ้มเสียแล้ว นักศึกษาน่าจะคิดได้ว่าไม่ควรทำ เพราะถึงอย่างไรถ้าทำไม่ได้ ก็อาจได้อย่างต่ำ D  

2. การทุจริตในการสอบคือความท้าทาย ได้ยินนักศึกษาพูดกันภายในห้องสมุดว่า น่าตลกมาก เอาโพยเข้าไปในห้องแล้วอาจารย์ตรวจไม่เจอ ลอกสบายเลย ท้าทายดีว่ะ เดี๋ยวลองเอาเข้าไปใหม่ จะเห็นได้ว่า ตรรกะทางความคิดนี้เป็นความเสี่ยงต่อแนวคิดที่จะทุจริตเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง หากกฎกติกาไม่สามารถเอาผิดได้ อยากจะบอกกับนักศึกษาทุกคนว่า อาจารย์ผู้คุมสอบแต่ละท่าน พยายามเต็มที่ที่จะให้คุณไม่ทุจริตโดยการป้องกันการนำเอกสารเข้าห้องสอบทุกชนิด หากแต่คุณมีความสามารถในการนำเข้าไป ก็ทำให้คุณรู้ได้ว่า เวลา 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณยังไม่สามารถมั่นใจในตนเองได้เลยว่าจะทำได้ นั่นแสดงว่าชีวิตคุณมีการลงทุนที่ยังไม่คุ้มค่าเช่นกัน 

3. ตัวผมเองยังไม่สามารถป้อน Output ที่ทรงคุณค่าสู่ตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง จากทั้งในและต่างประเทศ ผมยังให้เด็กท่องจำสไลด์ จำหัวข้อ และการมีการเรียนรู้ของนักศึกษาที่ไม่สอดคล้องถึงความต้องการของนายจ้าง ทำให้เกิดต้นทุนการอบรมบุคลากรเข้าทำงาน โดยไม่สามารถเริ่มงานแต่ละด้านได้ในทันที  

4. ตัวผมเองยังเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่ยังไม่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลวัตในโลก ยังคงเรียนรู้ตามทฤษฎีในอดีต ทำให้ขาดการประยุกต์การเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ทำให้นักศึกษาไม่สามารถมองเห็นปลายทางของอาชีพที่เขาไฝ่ฝัน และความกระสันอยากต่อความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

5. นักศึกษาไม่ใส่ใจเรื่องความมีจำกัดของเวลา (Time limited) สมัยก่อนตอนผมเรียน หรือจะเป็นปัจจุบันในสถานศึกษาบางแห่ง การสอบเวลา 9.00 น. หมายความถึงนักศึกษาต้องมารอที่หน้าห้องสอบเพื่อเตรียมตัวเข้าห้องสอบ กลัวเวลาในการทำข้อสอบไม่พอ เมื่อปีที่ผ่านมาผมเคยไปสอบสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ผม ไปถึง 9.08 น. อันเนื่องมาจากเป็นสถานที่ที่ไม่เคยไปสอบ ไกลจากที่อาศัย 35 กม. พอไปถึง กรรมการคุมสอบไม่ให้เข้าสอบ เพราะหมดเวลาเข้าห้องสอบ ที่ 9.00 น. แต่เขาก็ยังอนุโลมจากสาเหตุดังกล่าว จากนั้นผมไม่เคยไปสายอีกเลย แต่สองสามปีที่ผ่านมาจากการคุมสอบ ผมเจอห้องสอบบางวิชาว่างตั้งแต่่เริ่มสอบ จนกระทั่งผ่านไป 15 นาที เร่ิมทยอยมาแบบช้า ๆ จนมาวันนี้ ผมนั่งในห้องสมุด เวลาสอบ 15.00 น. แต่ ขณะนั้น 15.19 น. ยังเพิ่งจะติวกันออกไปสอบ ก็น่าสนใจว่า เป็นการใช้เวลาอย่างเกิดประโยชน์ หรือเป็นการดำเนินชีวิตแบบไม่จัดการความเสี่ยง

ทั้งหมดนี้เป็นการบันทึกความรู้สึกจากอดีต สู่การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน กับบทความที่สะท้อนว่า เราจะเป็นอันดับสุดท้ายของการพัฒนาในอาเซียนได้จริงหรือ เราคงต้องลองมาติดตามดูกัน

หมายเลขบันทึก: 638874เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2017 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2017 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ในเรื่องการใช้ตรรกะ มากเลยครับ T^T

T^T

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท