จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 7 : การปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายของ อปท.


จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 7 : การปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายของ อปท.

21 กันยายน 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

          มีวาทะว่า “อำนาจตามกฎหมาย[2]สิทธิตามกฎหมายนั้น เป็นเพียงอำนาจและสิทธิสมมุติ ที่คอยรับใช้คนที่สร้างมันมาหรือคนที่ให้เงินบำรุงมันเท่านั้น ฉะนั้น หากคุณไม่ใฝ่ใจเรียนรู้และต่อสู้ที่จะใช้มัน มันก็จะไม่เข้าข้างและรับใช้คุณเลย”

ในบริบทของบรรดาผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นอกจาก อำเภอ จังหวัด กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทยแล้ว ในที่นี้ ผู้เขียนเห็นว่า ในบริบทของการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายนั้น อปท. ยังมีหน่วยงานตรวจสอบอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทมากต่อ อปท. คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ค.ต.ง.) โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ และ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พระราชบัญญัติ)แม้ว่า ณ ห้วงเวลานี้ มีกระแสความสับสนร้อนรนใฝ่รู้ใฝ่ถามมากมายจากชาว อปท. ในหลายเรื่อง

 

การบังคับใช้กฎหมาย

ในบริบทของ อปท. ที่มีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมายมากมาย หรือที่ตามรัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ. 2560 เรียกว่า “หน้าที่และอำนาจ” จึงขอยกเรื่อง “การบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติตามกฎหมาย” มาประกอบ ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement)[3]จะควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามกฎหมาย (Law Compliance)การเชื่อฟังและปฏิบัติตามกฎ (obedience and legal compliance of the people)[4]เพื่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม(ชอบธรรม) เพราะว่ารัฐเป็นผู้ใช้มาตรการทางกฎหมายรัฐเป็นผู้ได้รับอาณัติมอบหมายในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความผาสุกของชุมชน และ รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายแก่สมาชิกในสังคมโดยเสมอภาคภายใต้หลักนิติธรรม (Justice Under Law) โดยปราศจากความลำเอียง ตามต้นทุนของประชาชนและผู้ประกอบการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย(Standard Cost Model)[5]ใน 2 ประเภทคือ (1) Financial Cost ได้แก่ ภาระทางการเงินประเภทภาษี อากร ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ฯลฯ (2) Compliance Cost ได้แก่ บรรดาค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการที่ประชาชนหรือผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำตามกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐมักประสบกับปัญหาต่างๆ สรุปได้แก่ (1) การไม่ดำเนินการตามกฎหมายของประชาชนหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำเสียเอง เช่น โรงงานปล่อยน้ำเสีย การติดต่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบการติดตั้งสายไฟระเกะระกะเป็นต้น (2) การเลือกปฏิบัติรวมทั้งการให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ตอบสนองรัฐหรือผู้มีอำนาจหรือตามนโยบายในห้วงเวลานั้นๆ จึงทำให้ ไม่มีการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ เท่าเทียม หรือหากแต่มีการเลือกปฏิบัติฉะนั้นจึงเกิดคำถามว่า จะมีกลไกทางกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างไรบ้างการวินิจฉัยของศาลจะมีส่วนในการทำให้เกิดการไม่เลือกปฏิบัติได้หรือไม่(3) ดำเนินการของฝ่ายรัฐโดยไม่ใช้หลักวิชาและความรู้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการ และไม่ใช้หลักวิชาในการปฏิบัติหน้าที่แต่ปล่อยให้ประชาชนไปเผชิญชะตากรรมกับกระบวนการอื่นเอาเอง

นอกจากนี้ฝ่ายรัฐยังมีปัจจัยสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายที่บกพร่องขาดแคลน อาทิเช่น (1) มีข้อจำกัดของหน่วยงาน (2) มีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ (3) ความขลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ และ (4) ปัญหาแนวนโยบายของรัฐที่ไม่ต่อเนื่องเด็ดขาด ฉะนั้น คำถามสุดท้ายที่ตามมาก็คือ เราควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เสมอหน้า และมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น

 

ชีวิตคนท้องถิ่นคือมดงานทำมากผิดมากทำน้อยผิดน้อย

ในงานเขียนวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับกรณีต่างๆ ที่ สตง. ทักท้วง เป็นองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายมาก มีไม่ตำรามาตรฐาน แม้แต่การตอบข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือกระทรวงมหาดไทย หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็ตาม ที่ไม่มีคู่มือตำราในการทำงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติต้องขวนขวายสอบถาม ศึกษาเอาเอง ชนิด “ลองผิดลองถูก” แบบเสี่ยงดวงว่า “ทำไปแล้วจะถูกหรือไม่ถูก หรือถูกต้องเพียงใด”เพราะว่า ในบรรดาการปฏิบัติทั้งหมดมักเกี่ยวด้วยข้อกฎหมายที่อาจซับซ้อนซ่อนเงื่อนกันหลาย ๆ ฉบับ ในบางกรณีอาจมีการตอบข้อหารือที่ตีความผิดได้

ตามวาทะที่มีผู้ยกว่า “ชีวิตคนท้องถิ่นเปรียบเสมือนมด ที่เกาะอยู่บนใบไม้ที่ไหลไปตามลำธาร” ด้วยความรู้สึกที่ว่า เป้าหมายในชีวิตขาดความแน่นอน รู้สึกไม่เชื่อมั่น และไม่มั่นคงในชีวิตราชการ “ท้องถิ่น” ในหลาย ๆ ประการ รอให้สามารถรับราชการได้จนถึงวันเกษียณอายุราชการก็พอใจแล้วด้วยจิตหวั่นไหวกลัวไปไม่ถึงฝั่งเท่านั้น ส่วนหนึ่งรู้สึกว่างานส่วนท้องถิ่นไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันที่จะได้หน้าตา ยามได้ดีกลับเป็นส่วนภูมิภาคที่ได้หน้า ส่วนกลางก็มัวแต่สั่ง นอกจากนี้ภาพลักษณ์การประณามคนท้องถิ่นว่าโกงกิน เห็นคนท้องถิ่นเป็นข้าราชการชั้นสองเพราะมีตำแหน่งที่ถูกควบคุมกำกับอีกชั้นหนึ่งอบต. มักถูกเรียกใช้งานจากอำเภอ จังหวัด เหมือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ การรายงานสำรวจตรวจสอบด้วยข้อสั่งราชการจากส่วนกลาง ก็สั่งวันนี้แล้วให้รายงานด่วนภายในสามวันเจ็ดวัน สมาชิกท้องถิ่นท่านหนึ่งกระซิบฝากมาว่า “ก็เพราะคนท้องถิ่นถูกออกแบบให้มาเป็นแพะรับบาป” นั่นไง มันสะเทือนใจ ที่คนท้องถิ่นต้องทำใจ ผลที่ไม่พึงปรารถนาอาจเกิดได้ตลอดเวลา ฉะนั้น ความรู้หดหาย ขาดขวัญแรงจูงใจ ทำมากผิดมาก ทำน้อยผิดน้อย ทำพอตัว ผิดบ้างก็แล้วไปเป็นความรู้สึกลึก ๆ ของคนท้องถิ่น

 

การปฏิบัติตามกฎหมายที่คลาดเคลื่อนของ อปท.

ขอยกตัวอย่างที่ว่า ชาว อปท. ค่อนข้างมีความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายที่คลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องเกิดความสับสน ขาดความเชื่อมั่นในการทำงานในหลายประการ ปัญหาอย่างสำคัญในการปฏิบัติราชการประการหนึ่งคือ “ข้อกฎหมายและความเข้าใจในวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ผู้ปฏิบัตินำมาใช้ปฏิบัติ” ที่ชาวท้องถิ่นอาจเข้าคุกโดยไม่เจตนา ขอยกตัวย่างในเรื่องใหญ่ คือ เรื่อง “ถนน”ที่ อปท. รับผิดชอบแม้ไม่ได้เป็นป่าในสภาพความเป็นจริง ไม่ได้ติดเขตป่าสงวน เขตอุทยานหรือเขตป่าอนุรักษ์ใด การดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมถนน ก็จะต้องขออนุญาตแผ้วถางป่า ตามพรบ. ป่าไม้  พ.ศ. 2484[6]เพราะ “ถนน”กลายเป็น “ป่า” ตามกฎหมาย จึงทำให้ปัจจุบันเกิดปัญหาอุปสรรคกับหน่วยงานอปท. ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยต้องขออนุญาตตามกฎหมายป่าไม้ฯ เสียก่อน นี่ยังมิต้องไปพูดกฎหมายป่าไม้อีกฉบับคือ พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ที่มีการประกาศแผนที่เขตป่าสงวนฯ แนบท้ายกฎกระทรวงด้วย

 

การพัสดุจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกฎหมายใหม่

ณ เพลานี้มีคำถามข้อสงสัยว่า สถานการศึกษา ฯ จะจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ไม่ว่า การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ จ้างเหมาทำอาหาร ที่เดิมถือปฏิบัติตามระเบียบมหาดไทยค่าใช้จ่ายในสถานศึกษาฯ พ.ศ. 2551 ข้อ 11[7]โดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบพัสดุฯ ปี 2535 และ 2553 นั้นเมื่อ พรบ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้บังคับแล้ว อปท.ต้องถือปฏิบัติ ตามพรบ.ฉบับใหม่อย่างไร คำตอบก็คือ ด้วย อปท.เป็นหน่วยงาน ที่มี สถานการศึกษา ได้แก่ โรงเรียน รวมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2560 ระเบียบพัสดุฯ 2535 ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงต้องเป็นไปตามพรบ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560[8]

          แต่ในการดำเนินการตามระเบียบพัสดุใหม่ น่าจะมิใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว อาทิเช่น กรณีเงินยืม ค่าอาหาร ค่าที่พัก เพื่อจัดฝึกอบรม ตามระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมของ อปท.ฯ ให้ยกเว้นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุฯ[9]แต่ปัจจุบันไม่มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุแล้ว เช่นนี้ จึงเท่ากับว่า อปท. ต้องทำการจัดซื้อ จัดจ้าง อย่างเดียวเท่านั้น การยืมเงินตามแบบวิธีการเดิมย่อมเป็น “ปัญหาทางปฏิบัติ” เป็นต้น ทำนองว่าระเบียบพัสดุใหม่เป็นเช่นนี้เพราะ “คนทำไม่ได้ใช้คนใช้ไม่ได้ทำ” ย่อมก่อให้เกิดปัญหาเป็นธรรมดา

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ใจ (หลักสุจริต-good faith) อันถือเป็นการกระทำทางปกครอง เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างหนึ่ง ย่อมได้รับการคุ้มครอง

หรือในกรณี “หัวหน้าเจ้าหน้าที่” และ “เจ้าหน้าที่” (พัสดุ)ตามระเบียบใหม่ก็เช่นกัน การรอสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยช่างล่าช้า ไม่ทันใจ มีประเด็นคำถามว่า กรณี หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุใหม่ “ไม่น่าออกคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทน” หรือ เจ้าหน้าที่พัสดุใหม่ “สามารถแต่งตั้งเพิ่มได้หลายคน”

เพราะว่า “ในบริบทของท้องถิ่น” นั้นแตกต่างจาก “ราชการส่วนอื่น ๆ เช่น ราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือ รัฐวิสาหกิจฯ เป็นต้น” ฉะนั้น การปรับใช้ระเบียบ ข้อกฎหมายบางอย่าง ของท้องถิ่น (อปท.) จึง “ไม่น่าจะเหมือนกันกับราชการส่วนกลางฯ” เพราะ นายก อปท. มาจาก “สายการเมือง” ในราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคฯ นั้น “รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี” ไม่ได้มามายุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด อำนาจพัสดุในนามหัวหน้าหน่วยงานฯ

ตาม พรบ.ระเบียบราชการบริหารแผ่นดินฯ หัวหน้าส่วนราชการ (ปลัดกระทรวง อธิบดี รวมถึง ผวจ.) มีอำนาจในพัสดุเต็ม 2 ประการคือ (1) การมอบอำนาจ แต่ตาม ระเบียบพัสดุใหม่ ได้ตัดอำนาจ “ปลัดกระทรวง” ออกคงมีตั้งแต่ “อธิบดี” ซึ่งอธิบดีสามารถ“มอบอำนาจ” (เรียกว่า “ปฏิบัติราชการแทน”) [10]ให้แก่ ผอ.สำนัก ผอ.กอง ผอ.ส่วน ได้ หรือ อธิบดี มอบอำนาจให้ ผวจ. ได้ (2) นอกจากการมอบอำนาจตาม (1) แล้ว “หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ”[11](เรียกตามระเบียบพัสดุ) มีอำนาจแต่งตั้งบุคคล ตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้ ตามข้อ 6[12]แห่งระเบียบพัสดุ (ตามพรบ.การจัดซื้อฯใหม่) แต่ การมอบอำนาจของ “นายก อปท.” ไม่สามารถมอบอำนาจให้แก่ฝ่ายราชการประจำได้โดยตรง “นายก อปท. มอบอำนาจให้ รองนายกฯ หรือปลัด อปท.”[13]เท่านั้น และ หาก นายกฯ จะมอบอำนาจให้ หน.ส่วนราชการ (ปลัดฯ หรือรองปลัด อปท.) นายก อปท. ต้องประกาศให้ประชาชนทราบด้วย

 

ภาพรวมหน่วยกำกับ ตรวจสอบ สตง. ปปช.

ภาพท้องถิ่นรวมหัวกันทุจริตยังคงเป็นภาพลักษณ์ของท้องถิ่นที่อาจถือเป็นเอกลักษณ์ก็ได้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงอาจมิใช่ก็ตาม การตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบ “สตง.” ชนิดเอาเป็นเอาตาย กับการตรวจแล้วฟังบริบทข้อเท็จจริงมันแตกต่างอาทิเช่น การจัดงานแข่งขันกีฬา จัดงานส่งเสริมประเพณี ที่มีข้อห้ามจุกจิกจากฝ่ายตรวจสอบ จนถึงขนาด อปท.ไม่สามารถจัดงานได้เลย อาจมองว่าไม่ใช่การส่งเสริม แต่เป็นอคติส่วนตัวก็ได้นอกจากนี้ดุลยพินิจการเรียกเงินคืนที่ สตง.มักวินิจฉัยให้ อปท.ส่งเงินคืนคลังอาทิ เรียกคืนค่าลูกโป่งลอยฟ้าป้ายงานกีฬา ค่าพลุงานลอยกระทง ค่าปัจจัยพระงานเข้าพรรษา เป็นต้น สำหรับ ป.ป.ช. ก็เช่นกัน การตรวจสอบหน่วยงานอื่นก็เพื่อหามูลความผิดอาญา การทุจริต รวมถึงมูลวินัยด้วย

 

และไม่น่าเชื่อว่า การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 เงินอุดหนุนทั่วไปสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นเงินเดือนข้าราชการพนักงานครู ฯ[14]นั้นแค่ปัญหาการยกเว้นระเบียบกระทรวงมหาดไทย ฯ หรือไม่อย่างไรนั้น ได้เกิดเป็นประเด็นปัญหาให้คนท้องถิ่นต้องสะดุด เพราะ ในแต่ละจังหวัดมีความเห็นที่แตกต่างกัน ตีความไปคนละทาง สองทางนี่คือปัญหาของท้องถิ่น?

[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 2วันศุกร์ที่ 22 - วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2560, หน้า 66 & หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2560 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23530 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ

[2]อำนาจ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/อำนาจ    

นักสังคมวิทยานิยาม อำนาจ ว่าเป็นความสามารถในการกำหนดให้ผู้อื่นเป็นหรือกระทำตามความต้องการของตนเอง แม้ว่าผู้อื่นจะขัดขืนก็ตาม

คำว่า “อำนาจ” (Power) จะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “อิทธิพล” (influence)

&พอใจ พุกกะคุปต์, ว่าด้วยเรื่องอำนาจ”อำนาจ” คืออะไร, 2 มิถุนายน 2557, http://www.bangkokbiznews.com/...

Ken Blanchard ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการและการสร้างผู้นำ นิยามอำนาจว่า “ความสามารถในการโน้มนำผู้อื่น” “Ability to influence others” “Position Power อำนาจที่มาจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ” เป็น "อำนาจตามกฎหมาย" อำนาจที่เกิดจากข้อกำหนดระเบียบขององค์กร ตามโตรงสร้างสายการบังคับบัญชาตามลำดับในการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่นผู้จัดการ ผู้อำนวยการ

พระเอกสไปเดอร์แมน กล่าวไว้ว่า “With great power comes great responsibilities”“อำนาจอันยิ่งใหญ่ มากับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่”

[3]การบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554, www.law.cmu.ac.th/law2011/jour...

&  คนไทยรู้ยัง: หลังรัฐประหาร 2557 ‘ครม.’ เสนอ ‘กฎหมาย’ มากที่สุด, ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง กองบรรณาธิการ TCIJ - Thai Civil Rights and Investigative Journalism, 19 กันยายน 2560, 

http://www.tcijthai.com/news/2...
ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รวบรวมข้อมูล สารบบสถานะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ณ 18 กันยายน 2560)  พบว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณา 314 ฉบับ 

[4]ร้อยตำรวจโท กิตติเมธ สาคุณ, ปัจจัยที่มีผลต่อการเชื่อฟังและปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน : ศึกษาเฉพาะกรณี กองบังคับการตำรวจนครบาล 1, สารนิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554, http://digi.library.tu.ac.th/t...

[5]ปกรณ์ นิลประพันธ์, ต้นทุนของประชาชนและผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามกฎหมาย, กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 16 มิถุนายน 2556, http://public-law.net/publaw/v...1857

[6]บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 921/2558 มิถุนายน 2558เรื่อง การขออนุญาตแผ้วถางป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484

[7]ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการนำเงินรายไดของสถานศึกษาไปจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2551,ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 112 ง วันที่ 4 กรกฎาคม 2551, http://www.ratchakitcha.soc.go...2551/E/112/1.PDF

ข้อ 11 วรรคสอง "ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินรายได้ของสถานศึกษาให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยอนุโลม"

[8]ดู หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 356 ลงวันที่ 13 กันยายน 2560 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560, http://www.gprocurement.go.th/...

[9]ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557, https://docs.google.com/file/d...

แจ้งตามหนังสือ กระทรวงมหาดไทย ที่ มท 8080.2/ว 4122 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557, ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 219 ง วันที่ 31 ตุลาคม 2557 หน้า 1-10, http://www.tessaban.com/2014/l...  &  http://www.dla.go.th/upload/do...

[10]พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 156 ฉบับพิเศษ หน้า 1 วันที่ 4 กันยายน 2534, http://regu.tu.ac.th/quesdata/...

มาตรา 38 อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันหรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดให้มีการมอบอำนาจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตลอดจนการมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมสัญญา ฟ้องคดีและดำเนินคดี หรือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขในการมอบอำนาจหรือที่ผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติก็ได้

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับอำนาจในการอนุญาตตามกฎหมายที่บัญญัติให้ต้องออกใบอนุญาตหรือที่บัญญัติผู้มีอำนาจอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ ในกรณีเช่นนั้นให้ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวมีอำนาจมอบอำนาจให้ข้าราชการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตามที่เห็นสมควร หรือตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดในกรณีมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจมอบอำนาจได้ต่อไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้มอบอำนาจกำหนด

ในกรณีตามวรรคสาม เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดรายชื่อกฎหมายที่ผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวอาจมอบอำนาจตามวรรคหนึ่งตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ได้

การมอบอำนาจให้ทำเป็นหนังสือ

[11]ดู ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560,

http://www.gprocurement.go.th/...37112804258dd1fafe0af88c3c52c79/reg.pdf?MOD=AJPERES

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ ดังต่อไปนี้

(1) ราชการส่วนกลาง หมายถึง อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นนิติบุคคล

(2) ราชการส่วนภูมิภาค หมายถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด

(3) ราชการส่วนท้องถิ่น หมายถึง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า

(4) รัฐวิสาหกิจ หมายถึง ผู้ว่าการ ผู้อำนวยการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า

(5) องค์การมหาชน หมายถึง ผู้อำนวยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า

(6) องค์กรอิสระ หมายถึง เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

(7) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมายถึง อัยการสูงสุด

(8) หน่วยธุรการของศาล หมายถึง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

(9) มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หมายถึง อธิการบดี

(10) หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หมายถึง เลขาธิการวุฒิสภา เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง

(11) หน่วยงานอิสระของรัฐ หมายถึง เลขาธิการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า

(12) หน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หมายถึง ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานตามกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานนั้น

[12]ดู “ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560”ผู้มีอำนาจและการมอบอำนาจ

ข้อ 6 ผู้มีอำนาจดำเนินการตามระเบียบนี้ ได้แก่ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่กระทรวงกลาโหมหรือหน่วยงานของรัฐอื่นที่ผู้รักษาการตามระเบียบประกาศกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนั้นสามารถกำหนดหน่วยงานระดับใด ผู้บังคับบัญชาชั้นใด ตำแหน่งใด มีอำนาจดำเนินการตามระเบียบนี้ก็ให้กระทำได้ และเมื่อได้กำหนดเป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งผู้รักษาการตามระเบียบและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบด้วย

ข้อ 7 ผู้มีอำนาจดำเนินการตามข้อ 6 หรือผู้มีอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างตามระเบียบนี้จะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งใดก็ได้ซึ่งสังกัดหน่วยงานของรัฐเดียวกัน โดยให้คำนึงถึงระดับตำแหน่ง หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเป็นสำคัญ

เมื่อมีการมอบอำนาจตามวรรคหนึ่ง ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจนั้นและจะมอบอำนาจนั้นให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นต่อไปไม่ได้ เว้นแต่

(1) การมอบอำนาจให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบอำนาจนั้นต่อไปได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(ก) กรณีมอบอำนาจให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดหรือหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้ผู้มอบอำนาจชั้นต้นทราบด้วย

(ข) กรณีมอบอำนาจให้แก่บุคคลอื่น นอกจากที่กล่าวใน (ก) จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้มอบอำนาจชั้นต้นแล้ว

(2) การมอบอำนาจและการมอบอำนาจต่อตามระเบียบหรือคำสั่งของกระทรวงกลาโหมหรือของหน่วยงานของรัฐอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อ 6

ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดเรื่องการมอบอำนาจและการมอบอำนาจต่อไว้เป็นการเฉพาะก็ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

เพื่อความคล่องตัวในการจัดซื้อจัดจ้าง ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมอบอำนาจในการสั่งการและดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งรองลงไปเป็นลำดับ

ให้ผู้มอบอำนาจส่งสำเนาหลักฐานการมอบอำนาจให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบทุกครั้ง

[13]พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496,

มาตรา 48 วีสติ วรรคสาม "อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการที่นายกเทศมนตรีจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ หรือคำสั่งใดหรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ หรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นไม่ได้กำหนดในเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่นนายกเทศมนตรีอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองนายกเทศมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีก็ได้ แต่ถ้ามอบให้ปลัดเทศบาลหรือรองปลัดเทศบาลปฏิบัติราชการแทน ให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศให้ประชาชนทราบ"

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537,

มาตรา 60 วรรคห้า "อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติหรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติหรือคำสั่งนั้น หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้น ไม่ได้กำหนดในเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้ แต่ถ้ามอบให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหรือรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลปฏิบัติราชการแทน ให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศให้ประชาชนทราบ"

[14]กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 เงินอุดหนุนทั่วไปสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นเงินเดือนข้าราชการ/พนักงานครู ค่าตอบแทนฯ เงินเพิ่มค่าครองชีพฯ ที่มีการปรับบัญชีเงินเดือน /ปรับเงินเพิ่ม ตั้งแต่ ปี 2557 2558 2559 และ อปท. ยังไม่ได้รับจัดสรรจากกรม ไปเมื่อเดือน กรกฎาคม 2560



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท