วิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามแนวทาง KM


การจัดการความรู้เป็นวิธีการใช้ศักยภาพของความเป็นมนุษย์ และศักยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เพื่อบรรลุผลในระดับที่ไม่คาดคิดว่าจะทำได้ นี่คือคุณค่าที่แท้จริงของการจัดการความรู้

พลังที่ซ่อนเร้นคือเป้าหมายของการจัดการความรู้ การจัดการความรู้ช่วยเอาพลังแฝง หรือพลังซ่อนเร้นออกมาใช้ประโยชน์ พลังซ่อนเร้นของมนุษย์เรามีมากมายหลายด้านนะครับ บางเรื่องก็ลี้ลับดำมืด หรือ เป็น "มนตร์ดำ" เป็นเรื่องที่คนบางคนเท่านั้นที่มีโอกาสใช้ และใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่พลังซ่อนเร้นของการจัดการความรู้เป็นเรื่องที่คนทุกคนสามารถเอามาใช้ได้ เป็น "มนตร์ขาว" ที่ใช้สร้างความสำเร็จร่วมกันของหมู่คณะ

แต่เราไม่คุ้นเคยกับการใช้พลังนี้ เพราะเราเล่าเรียนและดำรงชีวิตอยู่กับ "ความรู้ด้านเดียว" คือความรู้ที่ผูกพันอยู่กับ การคิด (reasoning) เราไม่คุ้นเคยกับ ความรู้ที่ผูกพันอยู่กับการปฏิบัติ เวลาเราประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เราก็ใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้ที่ผ่านการคิดหรือการตีความมาแล้ว เป็นการเอาความรู้ที่ผ่านแว่นความคิดมาเสนอ เราไม่คุ้นเคยกับการนำเสนอ ความรู้ที่ผูกพันอยู่กับการปฏิบัติ (action) เราไม่มีทักษะในการเอา "ความรู้ดิบ" หรือความรู้ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวของการปฏิบัติมาเสนอ ด้วยความจำกัดด้านความคุ้นเคย ที่มาจากระบบการศึกษา ระบบการคิด และวิธีการอภิปรายแลกเปลี่ยน เวลาเราประชุมระดมความคิด เราจะเข้าสู่ reasoning mode โดยอัตโนมัติและไม่รู้ตัว ทุกสิ่งที่เราพูดจะเป็นสิ่งที่เรากรองผ่านเหตุผล และกรอบความคิด เป็น "ความรู้ปรุงแต่ง" ไม่เป็น "ความรู้ดิบ" ไม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน action mode

นักวิชาการไม่มีวิธีการเสนอ "ความรู้ดิบ" ทำให้ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใดๆ ก็ตาม ความหลากหลายของความคิด หลายมุมมอง เกิดขึ้นยากมาก เนื่องจากความคิดที่ไม่ตรงกับกระแสหลัก ไม่ตรงกับ ความคิดของ ผู้อาวุโส ปราชญ์ หรือผู้รู้ ถูกปิดกั้นโดยไม่รู้ตัว

วงการ KM จึงต้องหาเครื่องมือนำเสนอ ความรู้ดิบ ที่เป็นความรู้ที่ผูกพันกับการปฏิบัติ หรือมาจากการปฏิบัติ และพบว่าหนึ่งในเครื่องมือนั้นคือ เรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) คือใช้วิธีการเล่าเรื่องเป็นเครื่องมือส่งผ่าน ข้อมูลดิบ หรือความรู้ดิบ ออกมาสู่ผู้ฟัง หรือผู้เข้าร่วมประชุม

เราได้ลองใช้การเล่าเรื่องในการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อเอาผลงานเลิศ วิธีเลิศ หรือ best practice มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในหลากหลายครั้ง หลากหลายกลุ่มคน เราพบว่านักวิชาการไทยเล่าเรื่องแบบ storytelling ไม่เป็นครับ เล่าทีไร ออกมาเป็น "เรื่องเล่าเคล้าการตีความ" ทุกที ความรู้ที่นำเสนอเป็นความรู้ปรุงแต่ง ไม่ใช่ความรู้ดิบ

ดังนั้นในการจัดประชุมระดมความคิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ KM จึงต้องมีการเตรียมการณ์ให้ดี ให้ group facilitator ได้เข้าใจประเด็นนี้ และหาทาง facilitate การประชุมกลุ่ม ให้เล่าเรื่องแบบ ไม่ตีความออกมาให้ได้

การเล่าเรื่องความสำเร็จ (success story) แบบไม่ตีความนี้สำคัญมาก เพราะจะเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมผลัดกันตีความทีละคน เพื่อหาว่ามีความรู้อะไรบ้าง ที่อยู่ในความสำเร็จนั้น และอยู่ในวิธีการทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้น ถ้ามีสมาชิกกลุ่ม 10 คน ก็จะมีผลการตีความ 9 ชิ้น (จากผู้ฟัง 9 คน เพราะเป็นผู้เล่าเรื่องเสีย 1 คน) เมื่อเอาผลการตีความทั้ง 9 ชิ้นมาเปรียบเทียบกัน ก็จะพบว่ามีส่วนหนึ่งตรงกันทั้ง 9 คน แสดงว่าส่วนนี้เป็นความรู้ที่เห็นพ้องหรือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และอีกส่วนหนึ่งสมาชิกตีความต่างกัน นี่คือส่วนสำคัญ เมื่อเอาส่วนนี้มาอภิปรายทำความชัดเจน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีคิด วิธีตีความ ในที่สุดจะเกิดการยกระดับความรู้ขึ้นไป โดยที่ความรู้นั้นเป็นความรู้ที่มาจากงานหรือการปฏิบัติ นี่คือการสร้างความรู้จากการปฏิบัติ เป็นวิธีสกัดความรู้ที่ซ่อนอยู่ในการกระทำออกมา โดยการนำเสนอแบบข้อมูลดิบ ที่ไม่ใช่ข้อมูลเชิงปริมาณ แต่เป็นข้อมูลเชิงพฤติกรรมหรือการกระทำหรือกิจกรรม แล้วให้ข้อมูลนั้นได้รับการตีความโดยอิสระจากคนที่เป็นกัลยาณมิตร แต่มีมุมมองที่แตกต่างกัน ให้ได้ผลการตีความที่หลากหลาย แล้วเอาความหลากหลายนั้นมาสร้างคุณค่าต่อเนื่องหรือยกระดับความรู้ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อ

ท่านที่สนใจวิธีปฏิบัติจัดการความรู้โปรดลองนำไปทดลองปฏิบัติดู ผลเป็นอย่างไร โปรดเล่าสู่กันฟังบ้าง

วิจารณ์ พานิช
1 เม.ย. 48

หมายเลขบันทึก: 63716เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท