วิจารณ์หนังสือพลังแห่งคุณธรรม จริยธรรม




ชื่อเรื่องของหนังสือมีความสำคัญต่อสังคมอย่างไร

หนังสือถูกตีพิมพ์ในปี 2558  ประมาณ 1 ปี หลังการรัฐประหารในวันที่ 16 มิถุนายน 2557  สาเหตุเกิดจากวิกฤตนักการเมืองขาดคุณธรรมและจริยธรรม ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อหนังสือ ซึ่งมีความชัดเจน และ คงเป็นที่สนใจสำหรับ กลุ่มผู้ใหญ่  วิกฤตครั้งนี้ต่างจาก ปี 2540 ที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตก ครั้งนั้นปัญหาเกิดจากนักธุรกิจ มีความโลภ ขาดคุณธรรมและจริยธรรม  สังคมไทยจึงควรเรียนรู้จากความล้มเหลวในอดีต และ กลับมาพัฒนาทุนพื้นฐานของมนุษย์  ใช้พลังแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี สร้างความสงบสุข และยั่งยืน


บทเรียนหรือความรู้ที่ได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้

" คุณธรรม" หมายถึง สิ่งที่ดีงามที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ ประสบการณ์ และการอบรม จนทำให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ดี

" จริยธรรม" หมายถึง แนวทางในการประพฤติปฎิบัติตนให้เป็นคนดี ซึ่งนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคม

หลักการของหนังสือ คือ การสอน ปลูกฝัง และ พัฒนา คุณธรรมและจริยธรรม เริ่มตั้งแต่ ระดับตัวเอง ครอบครัว สถาบันการศึกษา องค์กร และ สังคม โดยการที่คนรุ่นหนึ่งจะชี้นำคนอีกรุ่นหนึ่ง และ สอนให้เชื่อว่า ประสบการณ์ ความดี ของบุคคลเหล่านั้น จะเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างความเข้าใจเรื่อง การเป็นคนดี มีคุณธรรม และ  จริยธรรม ซึ่งสำคัญกว่าและต้องมาก่อนการเป็นคนเก่ง เมื่อมีจิตใจที่ยึดมั่นในหลัก คุณธรรม และ จริยธรรม จะทำให้เกิดทุนแห่งความสุขได้

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานะการณ์ในขณะนั้น หนังสือจึงยกตัวอย่าง Role Model ของอาชีพ นักการเมือง ข้าราชการ และ นักวิชาการ เพื่อเป็นแบบอย่าง คุณธรรมและจริยธรรมระดับบุคคล ที่มีต่อสังคมประชาธิปไตย สำหรับผู้นำที่ยกตัวอย่าง นอกจากจะมี คุณธรรม และ จริยธรรม แล้ว ต่างก็มีคุณสมบัติที่เหมือนกันคือ เป็นผู้นำที่กล้าหาญ เสียสละ และ ยึดถือ ยึดมั่น ในหลัก คุณธรรมและจริยธรรม ที่เรียกว่ามี Integrity ด้วย

อาจารย์จีระ ให้ความสำคัญกับทุนทางจริยธรรม ( Ethical Capital )  รองจาก Human Capital ซึ่งเป็นทุนมนุษย์ตัวหลัก  ต่างจาก Gary Becker ที่ให้ความสำคัญกับ input ของ Human Capital คือ การศึกษา ทักษะ สุขภาพ อนามัย โภชนาการ  อาจารย์เห็นว่า  ทุนทางจริยธรรม มีความสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของทุนมนุษย์ทั้งหมด กล่าวคือ ต้องประพฤติตนให้มี  คุณธรรม และ จริยธรรม ก่อน จึงจะไปพัฒนาทุนตัวอื่นๆได้ เราจึงต้องช่วยกัน ปลูกฝัง คุณธรรม และ จริยธรรม เพื่อช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันตามแต่ละบทบาท ในทุกระดับของสังคม 

มีการพูดถึง คุณธรรม และ จริยธรรม ของนักการเมืองไทย มานานมากกว่า 10 ปี มีบทความให้หาอ่านมากมาย หากอ่านย้อนหลังไปหลายๆปีจะพบว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นของนักการเมืองมีมานานแล้ว และ เป็นสาเหตุของการยึดอำนาจทุกครั้ง การคอร์รัปชั่น มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทั้งในแง่จำนวนเงิน และ กำลังขยายตัวไปในทุกภาคส่วนอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะเพราะ การเข้าสู่อาชีพนักการเมืองไทย ทำได้ง่ายเกินไป ต่างจากอาชีพอื่นที่ต้องอาศัยเวลาในการบ่มเพาะความรู้ ประสบการณ์ ต้องอยู่ในกฏระเบียบ บางอาชีพมีกรอบคุณธรรมจริยธรรมกำกับ และ มีบทลงโทษ เช่น หมอ ทนายความ วิศวกร สื่อ  

คุณธรรมของนักการเมืองที่ดี คือ  มีธรรมาภิบาล ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ยอมรับการตรวจสอบ แต่การเป็นนักการเมืองไทยเป็นเรื่องง่าย หากมีเงินก็สามารถเป็นได้ จึงมีการถอนทุน การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมืองคงทำได้ยาก ในระยะสั้นกับนักการเมืองปัจจุบัน คงต้องอาศัยระบบตรวจสอบ และ การบังคับใช้กฏหมาย และ กระบวนการยุติธรรมที่รวดเร็ว ให้เห็นผลเป็นตัวอย่างให้เกิดความเกรงกลัว เหมือนอย่างประเทศอื่น เช่น เกาหลี เป็นต้น


การสร้างทุนทางจริยธรรม ( Ethical Capital ) ตามแนวทางในหนังสือ บางส่วนน่าจะสอดคล้องกับสิ่งที่ผมได้ทำอยู่ ขอนำเสนอข้อสังเกตจากประสบการณ์จริงที่ได้ปรับใช้ และ เพื่อต่อยอด ดังนี้:

ครอบครัว  

ผมเห็นว่าเราต้องปลูกฝังเรื่อง คุณธรรม และ จริยธรรม ตั้งแต่เด็ก จึงเน้นปลูกฝังเรื่อง ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ไม่โกง ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ไม่ไปสาย  หลักสูตรการศึกษายุคใหม่ ไม่มีวิชาหน้าที่พลเมือง หรือ ศีลธรรม การปลูกฝังเรื่องนี้ จึงเป็นหน้าที่ของพ่อ แม่ ต้องเสียสละเวลาส่วนตัว และ หาเวลาใกล้ชิดเด็กให้มากที่สุด ใช้วิธีพูดอบรม สั่งสอน ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี และทำซ้ำๆให้เห็น หลีกเลี่ยงที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นการบ่นที่น่ารำคาญ ไม่สนใจฟัง ควรคุยเรื่องบุคคลอื่นใกล้ตัวเป็นตัวอย่าง เช่น จากที่ทำงาน โรงเรียน หรือ บุคคลที่กำลังเป็นข่าว พร้อมสอดแทรกคุณธรรม ทำอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อหรือเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ทุกเวลา ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องสูงส่งเกินกว่าจะทำได้ 

สื่อ 

ปี 2553-2554 ศูนย์คุณธรรม ได้ทำการวิจัยเชิงคุณภาพจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 667 คน พบว่า หากสื่อมวลชนนำเสนอด้านคุณธรรมน้อย จะส่งผลกระทบให้สังคมขาดความดีงาม ไม่สงบสุูข เกิดความแตกแยกวุ่นวาย ที่สำคัญทำให้กลุ่มเยาวชนได้รับการปลูกฝังที่ไม่ดี กระทบต่อการพัฒนาประเทศ กลุ่มเด็กและเยาวชนตั้งแต่ 10-24 ปี เห็นว่าสื่อไม่นำเสนอข้อมูลด้านคุณธรรม จะทำให้ตนเองไม่รู้จักคุณธรรม ระยะยาวจะทำให้เยาวชนขาดสติ ประพฤติสิ่งไม่ดี ขาดความซื่อสัตย์ไม่เกรงกลัวต่อบาป ขาดคนดีในสังคม องค์กรสื่อส่วนใหญ่เน้นการทำงานเพื่ออยู่รอด หวังผลเชิงธุรกิจ ไม่เน้นเรื่องคุณธรรม 

สื่อโทรทัศน์น่าจะเป็นปัญหามากที่สุดสำหรับเด็ก ที่บ้านจึงดูละคร และ เกมโชว์น้อยมาก เนื่องจากเห็นว่า เนื้อหามักสร้างค่านิยมที่ผิด ขัดแย้งกับคำสอนของเรา จึงเน้นการดูสารคดี ข่าว และ กีฬา เพื่อให้เด็กหัดคิด มีวิจารณญาณ

ศาสนา

ตามความเห็นของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี การเรียนจริยธรรม ต้องเรียนแบบประพฤติปฏิบัติจริงตั้งแต่เด็ก ผู้นำที่ดีควรรักษาศีล 5 ท่านได้วิเคราะห์ปัญหาการคอร์รัปชั่นโดยใช้ อริยสัจสี่ คือ 

ทุกข์ คือ เกิดปัญหาวิกฤตกับสังคมไทย ประเทศไม่ก้าวหน้า

สมุทัย คือ สาเหตุของปัญหา คือ ระบบศีลธรรมอ่อนแอ การเมืองเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น กฏหมาย การศึกษาอ่อนแอ ไม่สอนให้คนคิด

นิโรธ คือ เป้าหมายของสังคมไทยในอนาคต การเมืองมีธรรมาภิบาล เศรษฐกิจ และสังคมเข้มแข็ง มีการพัฒนาที่ยั่งยืน คนไทยมีความสุข

มรรค คือ หนทางในการแก้ปํญหา คือ  เปลี่ยนวิธีคิดของคนไทย ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา 

คำสอนของศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ วัด ซึ่งทำหน้าที่เป็น สื่อคำสอน ยังไม่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นความเชื่อทางวัตถุมากกว่าคำสอน โดยเฉพาะในเขตเมือง  ยกเว้น สายวัดป่า ที่ยังคงเน้นคำสอน และ ความเรียบง่าย  คนไทยยุคใหม่จึงเริ่มสนใจสถานปฏิบัติธรรมมากกว่าวัด สำหรับเด็กผมเคยให้เข้าร่วมกิจกรรมของยุวพุทธิกสมาคม เมื่อเด็กกลับมาบ้านหลังเข้าร่วมกิจกรรม 2 อาทิตย์ เห็นผลดี เกิดการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นมาก 

โรงเรียนคุณธรรม และ องค์กรคุณธรรม

ปี 2555 กระทรวงศึกษาธิการได้ริเริ่ม โครงการ โรงเรียนคุณธรรม เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า ' ให้โรงเรียนสร้างคนดีให้บ้านเมือง '  ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว ประมาณ 3,300 โรงเรียน จากโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.) ทั่วประเทศจากทุกศาสนา จำนวน 30,000 กว่าแห่ง เพื่อปลูกฝัง คุณธรรม และ จริยธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย และ วิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นักเรียนสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน บริษัทที่ผมทำงานได้ให้การสนับสนุนโรงเรียนใน กทม. แล้วจำนวนทั้งสิ้น 11 แห่ง โดยการจัดให้มี การอบรม เรื่อง คุณธรรมและจริยธรรม ให้ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง  และ ชุมชน ให้นักเรียนระดมความคิดเห็น สร้างค่านิยม และ คุณธรรม ของนักเรียน เช่น มีน้ำใจ มีวินัย โตไปไม่โกง ซื่อสัตย์ จิตอาสา เป็นต้น โดยใช้ ตัววัดผลต่างๆ เช่น การทำผิดระเบียบลดลง การมาสายลดลง ของหายลดลง เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 4 ปี ได้เห็นผลเชิงประจักษ์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นการสนับสนุนความเชื่อที่ว่า  คุณธรรมต้องปลูกฝังตั้งแต่ เด็ก ผลแห่งความสำเร็จนี้ ทำให้ได้รับความสนใจ  มีโรงเรียนอื่นๆต้องการร่วมโครงการ อีกจำนวนมาก จนปัจจุบัน กทม. ได้กำหนดให้ โรงเรียนในสังกัด 438 แห่ง ต้องเป็นโรงเรียนคุณธรรมทั้งหมดแล้ว

สืบเนื่องจากความสำเร็จดังกล่าว ฝ่ายบริหารบริษัทฯ จึงนำแนวทางดังกล่าวมาใช้กับพนักงาน มุ่งเน้นสร้างค่านิยม คุณธรรมและจริยธรรม ของพนักงาน อาศัยจุดแข็งเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของพนักงาน สร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าเพื่อการเติบโตในระยะยาว โดยการจัดทำโครงการ  ' องค์กรคุณธรรม ' ระยะเวลาโครงการ 18 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2560 โดยกำหนดให้ พนักงานทุกคน จากทุกระดับ ต้องเข้าอบรม ดูงาน 100% เพื่อระดมความคิดเห็น เราได้ค่านิยม หรือ คุณธรรมเป้าหมายของพนักงาน คือ ซื่อสัตย์ มีวินัย รับผิดชอบ หลังจากนี้จะต้องจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมความดี และ พฤติกรรมที่ดี ตั้งแต่ระดับ พนักงาน ฝ่าย บริษัท และ ขยายถึงชุมชน ต่อไป ผมเชื่อว่าสิ่งที่บริษัทฯทำนี้ เป็นการพัฒนา คุณธรรมและจริยธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจ จะสร้างจุดแข็ง ทำให้บริษัทฯได้รับความเชื่อถือมากขึ้น สร้างความยั่งยืนระยะยาวให้บริษัทฯ ( Sustainable Capital )

โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ( Thailand's Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption : CAC)

ปีนี้  บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วม กับ CAC ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนันสนุนจากรัฐบาล และ ปปช. จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ อาทิ สภาอุตสาหกรรมไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย หอการค้าไทย เพื่อมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชน เพื่อสร้างกระแสการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชั่น ด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ ในการที่จะปฏิเสธการจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริต คอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ มีผู้มีชื่อเสียงหลายท่านเป็นกรรมการของ CAC  เช่น  คุณประมนต์ สุธีวงศ์ และ คุณพารณ อิศรเสนา

บริษัทที่ได้รับการรับรองจาก CAC จะต้องมีมาตรฐานระบบป้องกันการทุจริต และ จะถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขในการคัดเลือกเป็นคู่สัญญากับรัฐในการจัดซื้อจัดจ้าง และ การเลือกลงทุนสำหรับนักลงทุนสถาบัน เป็นต้น  


จุดอ่อนของหนังสือ

Role Model ในหนังสืออาจไม่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ และ สร้างแรงจูงใจ

 

 

  หมายเหตุ 

ในหน้า 29 และ 30 มีการกล่าวถึงโลกยุคที่ 4 และ ใช้คำว่า Forth Wave ไม่แน่ใจว่า หมายถึง Forthcoming Wave หรือ Fourth Wave ซึ่งหมายถึง คลื่นลูกที่ 4 ตามหนังสือ The Third Wave ของ Alvin Toffler 













คำสำคัญ (Tags): #คุณธรรม
หมายเลขบันทึก: 636175เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2017 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2017 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท