นายหัว
นาย เจ้าชาย ณ เมืองห้วยแร่

ทำไมการขยายตัวของชานเมืองเทศบาลเมืองคอหงส์จึงเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง?


ทำไมการขยายตัวของชานเมืองเทศบาลเมืองคอหงส์จึงเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง?

by นายหัว

การขยายตัวของชุมชนเมืองแผ่ขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง(Urban Sprawl) เป็นไปอย่างไร้รูปแบบ ไม่สอดคล้องรองรับกับศักยภาพการใช้งานของพื้นที่ เมื่อขาดความเหมาะสมและขาดซึ่งความสัมพันธ์กันและกันแล้วของการจัดการพื้นที่หรือการใช้ประโยชน์ที่ดิน ก็ย่อมนำไปสู่นานาปัญหาความเสื่อมโทรมในด้านต่างๆทั้งด้านสิ่งแวดล้อมก็ดี สังคมก็ดี รวมไปถึงด้านคุณภาพชีวิตที่เราต้องคิดหนัก จึงเกิดคำถาม ว่าเราจะควบคุมการขยายตัวของชานเมืองได้อย่างไร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปแบบรวดเร็วยิ่ง เพื่อรองรับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้สังคมเมือง สังคมชนบทสามารถปรับตัวได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วต่อมาเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง(Urban Sprawl) เป็นอย่างไร

            การจำกัดความการแผ่ขยายตัวอย่างไร้ทิศทางของเมือง สามารถสร้างความเข้าใจแก่เราได้ว่าบริเวณพื้นที่ใด ที่ไหนขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง ลักษณะโดยทั่วไปของเนื้อเมืองที่มีการแผ่ขยายตัวอย่างไร้ทิศทางประกอบด้วย (1.)เหล่าผู้คนที่อยู่อาศัยอยู่ในเนื้อเมืองที่มีการขยับขยายอย่างไร้ทิศทางมักจะอาศัยอยู่ในชานเมืองที่มีความหนาแน่นน้อย (2.)มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยแบบบ้านเดี่ยวบนแปลงที่ดินขนาดใหญ่ รวมกันเป็นกลุ่มก้อนในลักษณะโครงการหมู่บ้านจัดสรร (3.) จำเป็นต้องพึ่งพาการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเพราะว่าไม่มีทางเลือกอื่นในการเดินทาง (4.)ไปจับจ่ายใช้สอยที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนสายหลักที่แยกตัวออกออกจากที่อยู่อาศัย (ธนิชา นิยมวัน, 2551,หน้า 84)

            เมืองในประเทศไทยมีรูปแบบการพัฒนาที่เรียกได้ว่า เกิดการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด (Leapfrog Development) ซึ่งปัญหานี้มันยิ่งไร้ประสิทธิภาพมากกว่าการแผ่ขยายตัวแบบไร้ทิศทาง (Urban Sprawl) กล่าวคือ โครงการหมู่บ้านจัดสรรมีการก่อตั้งขึ้นเป็นหย่อมๆในเขตพื้นที่ต่างๆแทรกซึมไปในเขตพื้นที่เกษตรกรรมและโครงการต่างๆก็อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตามมาเป็นเงาตามตัว

ลักษณะและรูปแบบของปัญหา การขยายตัวของเมืองแบบกระจัดกระจาย ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆตามมา ผลกระทบของการเติบโตแบบกระจัดกระจายก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านกายภาพและด้านคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ซึ่งสามารถสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้ (1.)การรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมเขตชานเมือง ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมพื้นที่สีเขียวขาดหายไป (2.) การพัฒนาแบบก้าวกระโดดขาดความต่อเนื่อง เมืองไม่มีศูนย์กลางที่ชัดเจน เป็นปัญหาต่อการให้บริการด้านสาธารณูปการและสาธารณูปโภค (3.)การพัฒนาตามแนวถนนและการกระจัดกระจาย ก่อให้เกิดการเพิ่มปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น เกิดปัญหาจราจรและมลพิษตามมา (4.) การขาดแคลนด้านสาธารณูปการ สาธารณูปโภค และศูนย์บริการกล่าวคือ พื้นที่เหล่านี้ไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุนของภาครัฐ (5.) การขาดทางเลือกในการเดินทาง ผู้ที่พักอาศัยจำเป็นต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก เนื่องจากการลงทุนของระบบขนส่งมวลชนของรัฐไม่มีความคุ้มค่า [1]

            เทศบาลเมืองคอหงส์ เป็นชานเมืองที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องตามลำดับ จากอบต.คอหงส์ ในปี พ.ศ. 2538 ต่อมาเป็นเทศบาลตำบลคอหงส์ ในปี พ.ศ. 2546 และเป็นเทศบาลเมืองคอหงส์ ในปี พ.ศ. 2550 เทศบาลเมืองคอหงส์ ตั้งอยู่ในทางทิศตะวันออกของเทศบาลนครหาดใหญ่ มีขนาดพื้นที่ 34.57 ตารางกิโลเมตร หรือ 21,606.3 ไร่ พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขาคอหงส์ ลาดลงไปสู่คลองอู่ตะเภา สภาพดินเป็นดินลูกรัง และพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย

การขยายตัวของชุมชนเมืองเทศบาลเมืองคอหงส์ เนื่องจากพื้นที่เทศบาลเมืองคอหงส์เป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการปกครอง ประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของเมืองหาดใหญ่ส่งผลกระทบตามมา เช่น ปริมาณความต้องการพื้นที่บริการด้านขนส่งมวลชน โกดังเก็บสินค้า ปัญหาขยะ น้ำเสีย มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันเทศบาลเมืองคอหงส์ ยังไม่มีพื้นที่บ่อกำจัดขยะและบ่อบำบัดน้ำเสียของตนเอง เมื่อพิจารณาถึงจำนวนประชากรของเทศบาลเมืองคอหงส์ พบว่า มีจำนวนประชากร 45,198 คน และ 22,318 ครัวเรือน ยังไม่นับรวมประชากรแฝงที่เป็นนักศึกษาและคนทำงานที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งคนเหล่านี้มีความต้องการและใช้สอยในด้านสาธารณูปการและสาธารณูปโภค สภาพการใช้ที่ดิน (พ.ศ. 2547) ของพื้นที่เทศบาล พื้นที่ที่มีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนมากเป็นพื้นที่พักที่อยู่อาศัย พื้นที่สถาบันการศึกษา และพื้นที่ราชการ เนื่องจากปัจจัยด้านที่ตั้งของสถาบันการศึกษา ส่งผลให้เกิดกิจกรรมประเภทหอพักนักศึกษาขยายตัวมากขึ้น

ในด้านประเด็นปัญหาการจัดระบบผังเมือง พบว่า มีการจัดระบบผังเมืองยังไม่ดี เช่นการก่อสร้างบ้านจัดสรร ยังมีการเอื้อประโยชน์ส่วนตัวที่มาก มีการรุกล้ำพื้นที่ถนนโดยประชาชน ประเด็นด้านการพัฒนาปรังปรุงโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า มีปัญหาการก่อสร้างถนนที่มีระดับไม่เสมอกัน ทำให้น้ำไหลไม่สะดวกและค้างบนผิวถนน ถนนหนทางไม่ได้รับการปรับปรุงในบางจุด ถนนบางพื้นที่ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ การจัดตกแต่งต้นไม้ข้างทางไม่ดีพอ บางพื้นที่ไม่มีคูระบายน้ำ เช่น ถนนทวีรัตน์ ประปาและไฟฟ้ายังไม่ถึงบางพื้นที เช่น ชุมชนทุ่งรี4 (ริมทางรถไฟ) และประเด็นด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการสิ่งแวดล้อม พบว่า ปัญหาเกี่ยวกับขยะ ยังขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง ในการจัดเก็บของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ขาดความร่วมมือของประชาชนในชุมชนหรือประชาชนหรือประชาชนในชุมชนต่างๆไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการดำเนินการ

จากการพิจารณาถึงสภาพปัญหาและรูปแบบของปัญหาต่างๆที่ถูกค้นพบและกล่าวถึงจึงเข้าใจกันได้ว่าทำไมการขยายตัวของชานเมืองเทศบาลเมืองคอหงส์จึงเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง การเดินหน้าขยับขยายตัวของชานเมืองแถบนี้จะเป็นไปอย่างไรต่อไป หากเราวิเคราะห์ถึงกรอบวิสัยทัศน์(Vision)ของ ผู้บริหารเทศบาลเมืองคอหงส์ที่มุ่งหมายให้ ”คอหงส์เป็นนครแห่งปัญญา สีเขียว น่าอยู่” เราจะมองสาเหตุและประเด็นการพัฒนาในมุมมองที่กว้างขึ้นได้อีก เราสามารถค้นหาถึงเหตุผลและผลกระทบที่ตามมาในหลากหลายมิติได้ต่อไป เมื่อกล่าวต่อถึงเป้าหมายที่เราต้องการ เราต้องการที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลง การพร้อมรับมือกระแสการพัฒนาและเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อไป การวางแผนและจัดทำผังเมือง จึงเป็นแนวทางที่เราควรหันมาพูดคุยและพิจารณากันให้มากขึ้น มันเป็นแนวทางเลือกที่สำคัญทางหนึ่งที่มีความจำเป็นในการตอบสนองต่อการจัดการพื้นที่ และวางกรอบการพัฒนาพื้นที่

กรอบวิสัยทัศน์ที่เทศบาลวางไว้ “คอหงส์เป็นนครแห่งปัญญา สีเขียว น่าอยู่” เทศบาลจะมีแนวทางไหนบ้างในการพัฒนาเมืองและจัดการกับการเจริญเติบโตของชานเมืองที่ขยับขยายมากขึ้น จนเข้าสู่รูปแบบการขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง เทศบาลเมืองคอหงส์ได้กำหนดบทบาท วิสัยทัศน์และแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ จากการพิจารณาศึกษาสภาพพื้นที่ทางกายภาพ ลักษณะการขยายตัวของชุมชนรวมทั้งกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ สภาพสังคมและเศรษฐกิจ จึงสามารถกำหนดบทบาทการพัฒนาพื้นที่ชุมชนในเบื้องต้นได้ เทศบาลเมืองคอหงส์ได้กำหนดกรอบแนวคิดการวางผังเมืองแม่บทพัฒนาพื้นที่โครงการมีแนวทางหลักในการวางผังชุมชนเมือง คือ (1.) แนวทางการวางผังพื้นที่เมืองและพื้นที่รอบข้างที่ส่งผลต่อการพัฒนา

             (1.1)แนวคิดการพัฒนาวางผังพื้นที่เขตเมือง เป็นแนวคิดการวางผังเมืองแนวใหม่โดยคำนึงถึงระบบนิเวศมีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาแบบใช้ที่ดินผสมผสาน(Mixed Use) นอกจากนั้นแผนผังแสดงตำแหน่งแผนงาน และโครงการที่รัฐพึงลงทุน (Capital Improvement Program)ไว้ชัดเจน แนวคิดนี้สะท้อนถึงพื้นที่ที่ควรควบคุมคือพื้นที่สีเขียว (Green Zones) ส่งเสริมให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และกำหนดการพัฒนาขนาดชุมชนเมืองที่กระชับ(Urban Complex Plan) แบ่งได้ 6 ด้านดังนี้ (1.)ด้านที่อยู่อาศัย ส่งเสริมให้จัดวางผังละแวกเดียวกัน(Neighborhoods)โดยปราศจากการใช้ที่ดินใดๆที่ส่งผลด้านลบต่อละแวกบ้านได้ (2.)ด้านอุตสาหกรรม กำหนดที่ตั้งให้เหมาะสมกับความต้องการ ต้องคำนึงถึงสภาวะแวดล้อม ประเภทใช้ที่ดิน ทั้งทางด้านธรรมชาติ และภูมิทัศน์ตามมาตรฐานทางด้านเทคนิค (3.) ด้านย่านพื้นที่ราชการ ใช้แนวคิด Beautiful City โดยปรับปรุงถนนหน้าสถาบันราชการให้ดูโอ่อ่า มีความเป็นเอกลักษณ์แบบไทย สง่างาม ปลูกต้นไม้ริมสองข้างทาง มุมมองให้เกิดความสง่างาม(4.)ด้านย่านเกษตรกรรม ใช้แนวคิดConservation Concept และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียว ไม่ให้มีการรุกล้ำและทำลายทรัพยากรจากการขยายตัวเมือง(5.)ด้านย่านนันทนาการ ใช้แนวคิดCommunity Park และ Neighborhood Park โดยลักษณะชุมชนมีสวนสาธารณะเพื่อเป็นพื้นที่นันทนาการ (6.)ด้านระบบคมนาคมขนส่ง ใช้ระบบOne Single System พัฒนาให้เกิดระบบเชื่อมถึงกันทั่งทั้งจังหวัด พัฒนาทางเดินเท้าภายในชุมชนเกิดเป็น Super Block เน้นการสัญจรในชุมชนเป็นทางเดินเท้าและทางจักรยานเชื่อมต่อกันในชุมชน

            (1.2)แนวคิดการวางผังพื้นที่นอกเขตเมือง ในการการวางแผนชุมชนนอกเขตเมืองและชุมชนชนบท จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Rural Environmental Planning for Sustainable Community) ในการวางผังจะใช้หลักการดังนี้คือ เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนากำหนดขึ้นจากชุมชน ทรัพยากรของชุมชนจะถูกเตรียมขึ้นโดยความร่วมมือของชุมชน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และนักผังเมือง แผนผังต้องคำนึงถึงการป้องกันทรัพยากร การแบ่งกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ (Diversification of Economic Opportunities) และผสานค่านิยมทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้

            (1.3)แนวคิดการปรับปรุงและพัฒนาการวางผังชุมชนเมือง สามารถสรุปได้ดังนี้ ส่งเสริมให้มีการจัดองค์ประกอบของเมือง สร้างจุดหมายตาและแกนนำสายตาบริเวณเข้าเมือง การพัฒนาย่านใจกลางนครหาดใหญ่ การสร้างสีสันและเสน่ห์ของเมือง เชื่อมโยงโครงข่ายพื้นที่สาธารณะ ทำการออกแบบชุมชนเมืองที่สามารถปฏิบัติได้จริง

            (1.4)แนวคิดการออกแบบพื้นที่องค์ประกอบชุมชน สามารถสรุปแนวคิดได้ 5 ด้านดังนี้(1.)ด้านกายภาพ การจัดที่อยู่อาศัย การจัดแหล่งงาน การจัดแหล่งพานิชยกรรม การจัดระบบสาธารณูปการและสาธารณูปโภค การจัดระบบคมนาคมขนส่งและการสัญจรภายในชุมชน(2.) ด้านสังคม การศึกษา การสาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การดูแลเด็กเล็ก คนชราและคนพิการ การสร้างความเข็มแข้งในชุมชน (3.)ด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าชุมชน สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆในชุมชน สนับสนุนอุตสาหกรรมครัวเรือน(4.) ด้านสิ่งแวดล้อม ควบคุมมลภาวะทางน้ำ อากาศ เสียง บริหารจัดการขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ รณรงค์การลดใช้รถยนต์ในชุมชน จัดให้มีพื้นที่ว่างโล่งสีเขียว(5.)ด้านการวางผังเมือง หลีกเลี่ยงปัญหาการขยายตัวของชุมชนอย่างไร้ขอบเขต ไร้ทิศทางจนเป็นศูนย์กลางเดี่ยวที่สร้างปัญหาแบบเมืองเก่า จะเน้นการกระจายศูนย์ชุมชนอย่างสม่ำเสมอเสมอด้วยแนวคิดวางผังระบบชุมชนละแวกบ้าน (Neighborhood Concept) เป็นชุมชนที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์แบบขนาดพื้นที่ถูกกำกับกันชนด้วยพื้นที่สีเขียว (Green Belt)

จากการที่กล่าวมาถึงสภาพปัญหาที่พบเจอและแนวทางในอนาคตที่เทศบาลเมืองคอหงส์กำหนดแนวทางการพัฒนาเอาไว้ ในมุมมองหนึ่งเราสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมการขยายตัวของชานเมืองคอหงส์จึงเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง และอีกมุมมองหนึ่งเราก็ทราบว่าเทศบาลคอหงส์มีแนวทาง มีแผนการพัฒนาเมืองในการกำหนดการพัฒนาว่าต่อไปในอนาคตเทศบาลเมืองคอหงส์จะดำเนินไปในรูปแบบและทิศทางใด ประเด็นเรื่องการขยายตัวของเมืองเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการพัฒนา เพราะเมื่อเมืองมีการขยายตัวไปอย่างไร้ทิศทาง ปัญหาต่างๆก็จะตามมา แนวคิดการเจริญเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) จึงเป็นแนวคิดที่ที่ควรนำมาพิจารณาด้วยควบคู่กับแนวคิดชุมชนน่าอยู่และแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Community Livability and Sustainable Development) ภาพรวมแนวคิดเหล่านี้คือแนวคิดการวางผังเมืองโครงสร้างความเจริญและสุขภาวะที่ดีภายในเมืองเพื่อป้องกันปัญหาการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง โดยองค์ประกอบของการเจริญเติบโตอย่างชาญฉลาด จะเกี่ยวข้องและบูรณการในทุกๆด้าน ไม่ว่าด้านคุณภาพชีวิตของชุมชน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านคมนาคมขนส่ง และการมีส่วนร่วมออกแบบเมืองจากชุมชน

ดังนั้นเมื่อกล่าวกันอย่างถึงที่สุด แนวคิด ทฤษฏีต่างๆที่นำเสนอเพื่อวางแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต การดำรงอยู่และบรรลุเป้าหมายของวิสัยทัศน์ “คอหงส์นครแห่งปัญญา สีเขียว น่าอยู่” จะเป็นไปในรูปแบบใดหรือทิศทางใดนั้น ปัจจัยสำคัญก็ย่อมขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของผู้บริหารและคณะทำงานของเทศบาล การวางแผน การลงมือปฏิบัติ และที่ขาดไม่ได้คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนเทศบาลเมืองคอหงส์ เทศบาลเมืองคอหงส์ในวันนี้และต่อไปในอนาคตจะเป็น“คอหงส์นครแห่งปัญญา สีเขียว น่าอยู่”หรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามและพูดคุยกันต่อไป….

เอกสารอ้างอิง

หนังสือ :

งานวิเคราะห์นโยบายและแผน ฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กองวิชาการและแผนงาน สำนักงานเทศบาลเมืองคอหงส์.(2555).แผนพัฒนาสามปี พ.ศ.2556-2558 เทศบาลเมืองคอหงส์,.สงขลา : _______

บริษัท คอนซัลแทนซ์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ฝ่ายผังเมือง.(2549).โครงการระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อจัดทำผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่เฉพาะและแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน เทศบาลตำลบคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา,(พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพมหานคร:บริษัท คอนซัลแทนซ์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด.

 

เอกสาร :  

          ก้องภพ สุขกิจบำรุง.(2542).ทฤษฏีและความรู้ทางด้านผังเมือง.ข่าวสารกรมการผังเมือง,__(72/2542),28-36

 

เว็ปไซด์:

มูลนิธิโลกสีเขียว.(ม.ป.ป.).แนวคิดของการเติบโตอย่างชาญฉลาด” (Smart Growth).(ออนไลน์)แหล่งที่มา:http://www.greenworld.or.th/li... (วันที่ค้นข้อมูล:  13 ธันวาคม 2555)

ฐาปนา บุณยประวิตร และ ดร.ธนภณ พันธเสน.(2549).การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 เพื่อหยุดยั้งการกระจัดกระจายของเมือง.(ออนไลน์)แหล่งที่มา: http://kucon.lib.ku.ac.th/Full... (วันที่ค้นข้อมูล:  13 ธันวาคม 2555)

ธนิชา นิยมวัน.(2551).การแผ่ขยายตัวอย่างไร้ทิศทางของเมืองกับการขยายสาขาห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่.(ออนไลน์)แหล่งที่มา:http://www.cuurp.org/B_resourc... (วันที่ค้นข้อมูล:  13 ธันวาคม 2555)

[1] (ฐาปนา บุณยประวิตร และ ดร.ธนภณ พันธเสน, 2549, หน้า 3-4)


หมายเลขบันทึก: 633590เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2017 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2017 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท