ทำการค้าแบบ "ผูกขาด" สมัยอยุธยา


การค้าผูกขาดสมัยอยุทธยา

เศรษฐกิจการค้าแบบผูกขาด

ผูกขาด

เศรษฐกิจสมัยอยุธยา

ความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างการมีแหล่งน้ำจำนวนมากดินมีความอุดมสมบูรณ์เพราะเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำซึ่งเหมาะสำหรับการทำนาทำให้อาณาจักรอยุธยาเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญนอกจากนี้การมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับการค้าขายกับเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายในตามเส้นทางแม่น้ำและการค้าขายกับภายนอกทางเรือสำเภาทำให้เศรษฐกิจอยุธยามีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่การเกษตรและการค้ากับต่างประเทศ ต่อมาได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

1.  เศรษฐกิจในสมัยอยุธยาเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพที่ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมเช่นเดียวกับสุโขทัย

 พื้นฐานทางเศรษฐกิจของอยุธยาคือการเกษตร มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อบริโภคภายในอาณาจักรตามลักษณะเศรษฐกิจแบบพอยังชีพแต่อาณาจักรอยุธยาได้เปรียบกว่าอาณาจักรสุโขทัยในด้านภูมิศาสตร์เพราะอาณาจักรอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอันกว้างใหญ่  แม่น้ำสำคัญคือ  แม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำป่าสัก  แม่น้ำลพบุรีซึ่งมีน้ำตลอดปีสำหรับการเพาะปลูกพืชที่สำคัญคือ  ข้าว  รองลงมาได้แก่  พริกไทย  หมาก  มะพร้าว  อ้อย  ฝ้าย  ไม้ผลและพืชไร่อื่น ๆ ลักษณะการผลิตยังใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์เป็นหลักด้วยเหตุดังกล่าวอาณาจักรอยุธยาจึงได้ทำสงครามกับรัฐใกล้เคียงเพื่อครอบครองแหล่งทรัพยากรและกวาดต้อนผู้คนเพื่อนำมาเป็นแรงงานสำคัญของบ้านเมือง

ราชอาณาจักรอยุธยาได้ทำนุบำรุงการเกษตรด้วยการจัดพระราชพิธีต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญชาวนาให้มีกำลังใจเช่นพระราชพิธีพิรุณศาสตร์เป็นพิธีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีการสร้างสิริมงคลให้กับชาวนาและแจกพันธุ์ข้าวเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีลงมือจรดคันไถเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นการเตือนว่าถึงเวลาทำนาแล้ว

อาณาจักรอยุธยาไม่ได้สร้างระบบการชลประทานเพื่อส่งเสริมการเกษตรเนื่องจากมีแหล่งน้ำเพียงพอส่วนการขุดคลองทำขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางการคมนาคมเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และการระบายน้ำตอนหน้าน้ำเท่านั้น

แม้ว่าอาณาจักรอยุธยาการเพาะปลูกยังเป็นแบบดั้งเดิมต้องพึ่งพาแรงงานคนและธรรมชาติเป็นหลักแต่สภาพภูมิศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีเหลือเป็นจำนวนมากผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าที่นำไปขายให้ชาวต่างประเทศนำรายได้มาสู่อาณาจักรดังปรากฏหลักฐานว่าอยุธยาเคยขายหมากให้จีน  อินเดีย  และโปรตุเกส  ฝ้ายและมะพร้าวให้ญี่ปุ่นและมะละกาในสมัยอยุธยาตอนปลายได้ขายข้าวให้ฮอลันดาฝรั่งเศส  มลายู  มะละกา  ชวา  ปัตตาเวีย  ลังกา  จีน  ญี่ปุ่น การเกษตรจึงเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของอยุธยาและมีส่วนในการเสริมสร้างราชอาณาจักรอยุธยาให้เจริญรุ่งเรืองมาตลอดเวลา 417 ปี

2.  อาณาจักรอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เนื่องจากทำเลที่ตั้งของอาณาจักรอยุธยาเอื้ออำนวยต่อการค้ากล่าวคือศูนย์กลางอาณาจักรตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมกับการค้าทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรกล่าวคือกรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน  คือ  แม่น้ำลพบุรี  แม่น้ำป่าสัก  และแม่น้ำเจ้าพระยา  ทำให้อยุธยาใช้เส้นทางทางน้ำติดต่อกับแว่นแคว้นที่อยู่ภายในได้สะดวกเช่น  สุโขทัย ล้านนา ล้านช้าง นอกจากนี้ที่ตั้งของราชธานีที่อยู่ไม่ห่างไกลปากน้ำหรือทะเลทำให้อยุธยาติดต่อค้าขายทางเรือกับต่างประเทศที่อยู่ห่างไกลได้สะดวกและเมื่ออาณาจักรมีความเข้มแข็งสามารถควบคุมการค้ารอบชายฝั่งทะเลอันดามันและโดยรอบอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งที่พ่อค้าต่างชาติเดินทางมาค้าขายได้ทำให้อยุธยาสามารถทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการติดต่อค้าขายระหว่างจีนญี่ปุ่นกับพ่อค้าต่างชาติอื่น ๆ กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทบาทสำคัญของอยุธยาทางการค้ามี 2 ประการคือเป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทของป่าที่ต่างชาติต้องการและเป็นศูนย์กลางการค้าส่งผ่านคือกระจายสินค้าจากจีนและอินเดียสู่ดินแดนตอนในของภูมิภาค  เช่น  ล้านนา  ล้านช้างและส่งสินค้าจีนไปยังดินแดนต่าง ๆ ในมหาสมุทรอินเดียและรวบรวมสินค้าจากดินแดนตอนในและจากดินแดนต่าง ๆ ในอินเดียไปขายต่อให้จีน

สินค้าประเภทของป่า ได้แก่  สัตว์ป่าและผลผลิตจากสัตว์ป่า  ไม้  เช่น  ไม้ฝาง  ไม้กฤษณา  ไม้จันทร์หอม  และพืชสมุนไพร  เช่น  ลูกกระวาน  ผลเร่ว  กำยาน  การบูร  เป็นต้น  สินค้าเหล่านี้ได้จากดินแดนภายในอาณาจักรอยุธยาและดินแดนใกล้เคียงผ่านทางระบบมูลนายโดยแรงงานไพร่จะเป็นผู้หาแล้วส่งมาเป็น  "ส่วย"  แทนแรงงานที่จะต้องมาทำงานให้รัฐบางส่วนได้มาด้วยการซื้อหาแลกเปลี่ยนกับราษฎรและอาณาจักรเพื่อนบ้านแต่ส่วนใหญ่มาจากการเกณฑ์ส่วยจากหัวเมืองภายในอาณาจักรโดยเฉพาะในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถที่ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง  ทำให้การเกณฑ์ส่วยรัดกุมมากกว่าเดิม  และส่วนหนึ่งมาจากเมืองประเทศราชของอยุธยานอกจากของป่าแล้วสินค้าออกยังได้แก่พริกไทย  ดีบุก  ตะกั่ว  ผ้าฝ้าย  และข้าวส่วนสินค้าเข้าได้แก่  ผ้าแพร  ผ้าลายทอง  เครื่องกระเบื้อง  ดาบ  หอก  เกราะ  ฯลฯ

การค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่เป็นการส่งเรือสำเภาไปค้าขายกับดินแดนต่าง ๆ  ที่สำคัญคือการค้ากับจีนภายใต้การค้าในระบบบรรณาการ  ที่จีนถือว่าไทยเป็นเมืองขึ้นของจีนแต่อยุธยาเห็นว่าเป็นประโยชน์ทางการค้า  เพราะทุกครั้งที่เรือของอยุธยาเดินทางไปค้าขายกับจีนจะนำ "ของขวัญ"  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากป่า  เช่น  นกยูง  งาช้าง  สัตว์แปลกๆ  กฤษณา  กำยาน  เป็นต้น  เป็นเครื่องราชบรรณาการไปถวายให้จักรพรรรดิจีนซึ่งจีนจะมอบของตอบแทนเช่น  ผ้าไหม  เครื่องลายครามชซึ่งเป็นสินค้าราคาแพงเป็นการตอบแทนเรือสินค้าที่นำสินค้าไปค้าขายก็จะถูกละเว้นภาษีและได้รับการอนุญาตให้ค้าขายกับหัวเมืองต่างๆ ของจีนได้ 

นอกจากนี้อยุธยายังค้าขายกับหัวเมืองมลายู  ชวา  อินเดีย  ฟิลิปปินส์  เปอร์เซีย  และลังกา  การค้าส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์เจ้านาย และขุนนางมีการค้าเอกชนบ้างโดยพวกพ่อค้าชาวจีนดำเนินการลักษณะการค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาตอนต้นยังเป็นการค้าแบบเสรีพ่อค้าต่างชาติยังสามารถค้าขายกับราษฎรได้โดยตรงไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐบาลแต่ก็มีลักษณะการผูกขาดโดยทางอ้อมในระบบมูลนาย

หลังรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072)  การค้ากับต่างประเทศได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพราะอยุธยาเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตก  เริ่มตั้งแต่ชาติโปรตุเกสในพ.ศ. 2054  ต่อมาใน พ.ศ. 2059  อยุธยาได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีทางการค้ากับโปรตุเกสเป็นฉบับแรกที่อยุธยาทำกับประเทศตะวันตกจากนั้นก็มีชาติฮอลันดา (พ.ศ. 2142)  สเปน (พ.ศ. 2141)  อังกฤษในรูปบริษัทอินเดียตะวันออกบริษัทการค้าของฮอลันดาเรียกว่า  V.O.C.  ส่วนบริษัทการค้าของอังกฤษ  เรียกว่า  E.J.C.  และฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231)

การค้ากับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111)  มีการตรากฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการค้าและจัดระบบผูกขาดทางการค้าให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้นคือมีการกำหนดสินค้าต้องห้ามซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐบาลโดยพระคลังสินค้าเท่านั้นที่จะผูกขาดซื้อขายสินค้าขาเข้า  ได้แก่  ปืนไฟ  กระสุนดินดำและกำมะถัน  ส่วนสินค้าขาออก  ได้แก่  นอระมาด  งาช้าง  ไม้กฤษณา  ไม้จันทร์  ไม้หอม  และไม้ฝาง  ซึ่งต่อมาการค้าผูกขาดของรัฐได้เข้มข้นมากขึ้นสินค้าบางประเภท  เช่น  ถ้วยชาม  ผ้าแดง  ซึ่งเป็นสินค้าในชีวิตประจำวันก็เป็นสินค้าผูกขาดด้วยและมีการจัดตั้ง "พระคลังสินค้า" ให้รับผิดชอบดูแลการค้าผูกขาดของรัฐบาลพระคลังสินค้าจึงเป็นหน่วยงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทยในสมัยอยุธยาสืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปลายสมัยอยุธยา "ข้าว" ได้กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญแทนที่สินค้าจากป่า เนื่องจากเกิดทุพภิกขภัยอย่างรุนแรงในประเทศจีนชาวจีนจึงขอให้พ่อค้าอยุธยานำข้าวไปขายให้จีนโดยลดภาษีให้นอกจากนี้อยุธยายังขายข้าวให้ฮอลันดา  ฝรั่งเศส  หัวเมืองมลายู  มะละกา  ชวา  ปัตตาเวีย  ญวน  เขมร  มะละกา  ลังกา และญี่ปุ่น การค้ากับต่างประเทศจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจอยุธยาซึ่งนำความมั่งคั่งให้กลุ่มผู้ปกครองได้แก่  พระมหากษัตริย์  เจ้านาย และขุนนางอย่างมหาศาล 

3.  รายได้ของอยุธยามาจาก

1) รายได้ในระบบมูลนาย  แรงงานจากไพร่ถือเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญรัฐบาลได้เกณฑ์แรงงานจากไพร่ในระบบเข้าเดือนออกเดือนหรือปีละ 6 เดือนมาทำงานให้รัฐเช่น  การสร้างกำแพงเมือง  ขุดคลอง สร้างวัด สร้างถนนเป็นต้นไพร่ที่ไม่ต้องการทำงานให้รัฐก็สามารถจ่ายสิ่งของที่รัฐต้องการ  เช่น  มูลค้างคาว  สินค้าป่า  เรียกว่า  "ส่วย"  แทนการเกณฑ์แรงงานได้ส่วยเหล่านี้รัฐจะนำไปเป็นสินค้าขายยังต่างประเทศต่อไป

2) รายได้จากภาษีอากร  ภาษีอากรในสมัยอยุธยามีดังนี้

ส่วยคือ  สิ่งของหรือเงินที่ไพร่หลวงจ่ายให้รัฐทดแทนการถูกเกณฑ์มาทำงานโดยรัฐจะเป็นผู้กำหนดว่าท้องถิ่นใดจะส่งส่วยประเภทใดเช่นส่วยดีบุกส่วยรังนก  ส่วยไม้ฝาง  ส่วยนอแรด  ส่วยมูลค้างคาว  เป็นต้น 

อากรคือ  เงินที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรประกอบอาชีพได้เช่น  การทำนา  จะเสียอากรค่านา เรียกว่า  "หางข้าว"  ให้แก่รัฐ  เพื่อรัฐจะได้เก็บไว้เป็นเสบียงอาหารสำหรับกองทัพผู้ที่ทำสวนเสียอากรค่าสวนซึ่งคิดตามประเภทและจำนวนต้นไม้แต่ละชนิดนอกจากนี้ยังรวมถึงการได้รับสิทธิจากรัฐบาลในการประกอบอาชีพ  เช่น การอนุญาตให้ขุดแร่  การอนุญาตให้เก็บของป่า  การอนุญาตให้จับปลาในน้ำการอนุญาตให้ต้มกลั่นสุราเป็นต้น

จังกอบคือ  ค่าผ่านด่านขนอนทั้งทางบกและทางน้ำโดยเรียกเก็บตามยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าเช่น  เรือสินค้าจะเก็บตามความกว้างของปากเรือตามอัตราที่กำหนด  จึงเรียกว่า  ภาษีปากเรือ  ส่วนพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นมักเก็บในอัตราสิบชักหนึ่ง

ฤชาคือ  เงินที่รัฐเรียกเก็บจากการให้บริการจากราษฎรเช่น  การออกโฉนด  หรือเงินปรับไหมที่ผู้แพ้คดีต้องจ่ายให้ผู้ชนะ  เงินค่าธรรมเนียมนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  "เงินพินัยหลวง"

หมายเลขบันทึก: 633315เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2017 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2017 18:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท