เรื่องเล่าของอ่องโซเล : บุตรของชายสัญชาติไทยที่เกิดนอกราชอาณาจักร


“มาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๓๕ ระบุว่า บุคคลใดก็ตามที่มีบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ย่อมเป็นผู้สัญชาติไทยตั้งแต่เกิด”

ถ้าเด็กชายวัยแปดขวบอย่าง อ่องโซเล รู้และเข้าใจกฎหมายข้างต้น เขาคงรู้สึกน้อยอกน้อยใจเป็นกำลังเพราะ ทราบดีอยู่แก่ใจว่า พ่อแท้ ๆ ของตัวเองเป็นคนสัญชาติไทย แล้วทำไมลูกชายอย่างเขาจึงตกเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติโดยสิ้นเชิง

พ่อของอ่องโซเล คือ นายสุรชัยหรือกบิล พรมมาเตียม เป็นบุตรชายคนเดียวของนายเล็ก และนางสายพิณหรือประทิน ส่วนบุญ  สุรชัยหรือกบิลเกิดที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิด มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๑ หลังมีบุตรด้วยกัน พ่อและแม่ของสุรชัยหรือกบิลแยกทางกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ ๑๒ ปีที่แล้ว หนุ่มน้อยวัย 19 ปี ชาวไทย ชื่อ นายสุรชัยหรือกบิล พรมมาเตียม ผู้กำลังอยู่ในวัยแห่งความคึกคะนอง ออกจากบ้านท่องไปทำมาหากิน รับจ้างไปทั่ว จนกระทั่งหนุ่มน้อยสุรชัยหรือกบิล ข้ามแดนไปรับจ้างที่บ้านก้อเชอ ประเทศเมียนม่าร์ และพบรักกับสาวน้อยชาวกะเหรี่ยง ชื่อ นางสาวหน่อปิ๊ติ จึงได้ชักชวนสาวน้อยมาข้ามกลับมาใช้ชีวิตยังฝั่งประเทศไทย

หลังอยู่กินกันราวสี่ปี หน่อปิ๊ติตั้งท้อง สุรชัยหรือกบิล พาภรรยาไปฝากท้องที่โรงพยาบาลอุ้มผางครั้งแรกเมื่อ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ และมาโรงพยาบาลตามนัดหมายเพื่อดูแลการตั้งครรภ์อีก ๕ ครั้ง คือ วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๗๙ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๙ และ ๘ มกราคม ๒๕๔๙ ครั้งสุดท้ายที่ไปโรงพยาบาล อายุครรภ์ของหน่อปิ๊ติ คือ ๓๔ สัปดาห์

สุรชัยหรือกบิล เล่าว่า ตอนที่ใกล้ครบกำหนดคลอด เขาและหน่อปิ๊ติ เกิดทะเลาะมีปากเสียงกัน หน่อปิ๊ติจึงหอบท้องแก่กลับบ้านที่ก้อเชอ และ ให้กำเนิด อ่องโซเล ที่บ้านก้อเชอ ประเทศเมียนม่าร์ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ นางประทิน ผู้เป็นย่า จึงเรียกชื่อหลานคนนี้ว่า “ก้อเชอ”

ประมาณหกวันหลังจากคลอด สุรชัยหรือกบิล ได้ตามไปง้อขอคืนดีกับหน่อปิ๊ติ และรับทั้งหน่อปิ๊ติและอ่องโซเลลูกชายกลับมาอยู่ฝั่งไทยอีกครั้ง เมื่อมาถึงบ้าน อ่องโซเลมีอาการท้องเสียและเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลอุ้มผางเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

หลังจากกลับมาอยู่กินกันอีก ๑ ปี สุรชัยหรือกบิลกับหน่อปิ๊ติ แยกทางกันอีกครั้ง หน่อปิ๊ติมีสามีใหม่เป็นชายสัญชาติไทย และมีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน น้องชายต่างบิดาของอ่องโซเลเกิดเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง เป็นบุคคลสัญชาติไทยตามบิดา

นายเล็ก พรมมาเตียม ผู้เป็นปู่ เคยติดต่อขอแจ้งเกิดให้อ่องโซเล กับสำนักทะเบียนอำเภออุ้มผาง เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบว่า อ่องโซเลเกิดที่บ้านก้อเชอ จึงให้นายเล็กทำการรวบรวมพยานเอกสาร พยานบุคคลมายืนยัน หลังรวบรวมหลักฐานแล้วนายเล็กกลับไปที่สำนักทะเบียนอำเภออุ้มผาง กลับได้รับคำตอบว่า อ่องโซเล เป็นบุคคลที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทย ไม่สามารถแจ้งเกิดเกินกำหนดได้

ชีวิตของอ่องโซเล ระหกระเหิน ไม่เพียงด้วยเหตุแห่งความแตกแยกของพ่อและแม่ เขาอาศัยอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงเป็นหลัก แต่บางเวลาที่แม่ต้องออกไปทำงานต่างพื้นที่เป็นเวลานาน ๆ นางหน่อปิ๊ติจะนำอ่องโซเลไปฝากไว้กับตาบ้าง ย่าบ้าง

เดชะบุญที่แม้จะไม่อยู่เป็นที่เป็นทาง อ่องโซเลยังได้รับการศึกษาตามสมควร และได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2555 ทำให้อ่องโซเลถูกบันทึกในทะเบียนประวัติและมีบัตรประจำตัวแสดงตนไม่ตกเป็นบุคคลไร้รัฐ แต่ยังคงไร้สัญชาติ

ปลายปี 2557 สุรชัยหรือกบิล พรมมาเตียม ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อให้กับเด็กชายอ่องโซเล แต่เนื่องจากอ่องโซเลเป็นเด็กที่คลอดนอกราชอาณาจักร ประกอบกับย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง สำนักทะเบียนอำเภออุ้มผางจึงแนะนำให้สุรชัยหรือกบิล ทำการตรวจ DNA เพื่อพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันความสัมพันธ์ว่าเป็นพ่อลูกกับอ่องโซเล ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นจำนวนที่สูงจนไม่สามารถดำเนินการได้

23-24 สิงหาคม 2558 ภายใต้ “โครงการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทยในบุคคลไร้สัญชาติ เฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา องค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และ 4 โรงพยาบาลชายแดนตาก (แม่ระมาด/อุ้มผาง/ท่าสองยาง/พบพระ) และกรมการปกครอง จะเดินทางเข้าพื้นที่อำเภออุ้มผางเพื่อตรวจดีเอ็นเอ คลินิกกฎหมายอุ้มผางและสำนักทะเบียนอำเภออุ้มผางจึงนำรายการของนายสุรชัยหรือกบิลกับเด็กชายอ่องโซเลเข้าโครงการฯดังกล่าว

ผลการตรวจดีเอ็นเอชี้ชัดว่าอ่องโซเลเป็นบุตรของนายสุรชัยหรือกบิล พรมมาเตียม อ่องโซเลจึงเป็นบุคคลสัญชาติไทยตั้งแต่เกิดโดยหลักสืบสายโลหิต

เรื่องราวเล็ก ๆ ของอ่องโซเล สะท้อนวิถีชีวิตของคนชายแดนทั้งที่มีและไม่มีสัญชาติไทย การข้ามพรมแดนไปมา ความสัมพันธ์ถึงขั้นก่อร่างสร้างครอบครัวของชายหญิงคนละฝั่งประเทศ ที่อาจดูแปลกสำหรับคนในพื้นที่ชั้นใน แต่เป็นเรื่องสามัญเสียเหลือเกินสำหรับผู้คนแถวนี้


: หนึ่งในกรณีศึกษาโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาสิทธิในสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคลโดยกระบวนการมีส่วนร่วม : พื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

หมายเลขบันทึก: 632754เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2017 12:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2017 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท