การหมดความอยาก คือความสุขสูงสุด


16. การหมดความอยาก คือความสุขสูงสุด

ถาม  ผมได้พบผู้ตื่นรู้หลายท่าน แต่ไม่เคยพบบุคคลผู้เป็นอิสระ

ท่านเคยพบผู้เป็นอิสระหรือไม่? และผู้เป็นอิสระนี้สามารถละทิ้งร่างกายได้ใช่หรือไม่?

ตอบ  คำว่าการตื่นรู้ กับคำว่าเป็นอิสระ เธอหมายถึงอะไร?

 

ถาม  การตื่นรู้หมายถึงประสบการณ์แสนวิเศษของความสันติ ความดีและความงาม เมื่อรู้ความหมายของโลก และมีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวระหว่างสสารและแก่นแท้

แม้ประสบการณ์เช่นว่านี้ไม่เสถียร แต่ก็ไม่สามารถลืมได้

มันเปล่งแสงสว่างอยู่ในใจ ในลักษณะของความทรงจำและความโหยหา

ผมรู้ว่าผมกำลังพูดถึงอะไร เพราะผมเคยมีประสบการณ์นั้น

สำหรับการเป็นอิสระ ผมหมายถึงการดำรงอยู่ในสภาวะอันแสนวิเศษนั้นอย่างถาวร

สิ่งที่ผมถามก็คือ การเป็นอิสระ เข้ากันได้กับการอยู่รอดของร่างกายหรือไม่

ตอบ  แล้วร่างกายมันมีมีอะไรผิดหรือ?

 

ถาม  ร่างกายนั้นช่างอ่อนแอและอายุสั้น

มันทำให้เกิดความต้องการและความอยาก

มันสร้างขีดจำกัดให้แก่คนอย่างมหันต์

ตอบ  แล้วไง? ปล่อยให้ร่างกายมีขีดจำกัดไปสิ

แต่ความเป็นอิสระเป็นเรื่องของตัวเราที่เป็นอิสระจากความเห็นผิดและอัตตาตัวตน มันไม่ได้มีอยู่ในประสบการณ์แบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเจิดจ้าเพียงใด

 

ถาม  แล้วมันคงอยู่ตลอดไปหรือไม่?

ตอบ  ประสบการณ์ทั้งหมดล้วนเนื่องกับเวลา

สิ่งที่มีการเกิดขึ้นต้องมีการดับไป

 

ถาม  ดังนั้น การเป็นอิสระในความหมายของผม ไม่มีอยู่ใช่ไหม?

ตอบ  ในทางตรงข้าม บุคคลเป็นอิสระอยู่เสมอ

เธอเป็นความรู้ตัว และเป็นอิสระที่จะรู้ตัว

ไม่มีใครจะเอาสิ่งนี้ไปจากเธอได้

เธอรู้ไหมว่า เธอนั้นไม่มีอยู่จริง หรือไม่รู้ตัว?

 

ถาม  ผมอาจจำไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หักล้างข้อเท็จจริงว่า บางครั้งผมก็ไม่รู้ตัว

ตอบ  ทำไมเธอไม่หันหลังจากประสบการณ์ ไปสู่ผู้มีประสบการณ์ และตระหนักถึงความสำคัญของประโยคแห่งความจริงเพียงหนึ่งเดียวที่เธอสามารถพูดได้ คือคำว่า “ฉันเป็น”

 

ถาม  แล้วผมจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?

ตอบ  ไม่มีคำว่า “อย่างไร”

แค่ระลึกไว้ในใจถึงความรู้สึกว่า “ฉันเป็น” หลอมรวมเข้ากับมัน จนกระทั่งใจและความรู้สึกของเธอกลายเป็นหนึ่งเดียว

ทำซ้ำๆ เธอจะเข้าถึงสมดุลที่เหมาะสมระหว่างความสนใจและความชื่นชอบโดยบังเอิญ และใจของเธอจะมั่นคงอยู่ในความคิด-ความรู้สึก “ฉันเป็น”

ทุกสิ่งที่เธอจะคิด พูด หรือทำ สัมผัสของการมีอยู่ที่ไม่เปลี่ยนรูปและเป็นที่รักใคร่นี้จะคงอยู่ในลักษณะของพื้นหลังของใจ

 

ถาม  และท่านเรียกมันว่าการปลดปล่อยหรือ?

ตอบ  ฉันเรียกมันว่า ความปกติ

มันผิดตรงไหนที่จะมีอยู่ รู้อยู่ และกรัทำสิ่งต่างๆโดยไม่ต้องใช้ความพยายามและมีความสุข?

ทำไมจึงคิดว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติมากที่จะคาดหวังถึงการทำลายโดยทันทีของกาย?

มีอะไรผิดเกี่ยวกับร่างกายที่จะต้องตายอยู่แล้ว?

จงปรับทัศนคติที่เธอมีต่อร่างกายให้ถูกต้อง และปล่อยให้มันเป็นตามเรื่องของมัน

อย่าปรนเปรอมัน อย่าทรมานมัน

แค่รักษาให้มันดำเนินไป ภายใต้ขีดจำกัดแห่งความสนใจอย่างรู้ตัว

 

ถาม  ความทรงจำของประสบการณ์ดีๆหลอกหลอนผม

ผมอยากให้มันกลับมาอีก

ตอบ  เพราะเธออยากให้มันกลับมา เธอจึงไม่สามารถได้มัน

สภาวะของความกระหายอยากสิ่งใดๆจะปิดกั้นประสบการณ์ที่อยู่ลึกลงไปกว่านั้น

ไม่มีอะไรที่มีคุณค่าจะสามารถเกิดขึ้นแก่ใจที่รู้แน่นอนว่ามันต้องการอะไร

เพราะสิ่งที่ใจจินตนาการและต้องการล้วนไม่มีคุณค่ามากนัก

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้น อะไรล่ะที่มีคุณค่าและควรต้องการ?

ตอบ  ต้องการสิ่งที่ดีที่สุด

ความสุขสูงสุด อิสรภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

การหมดความอยากคือความสุขสูงสุด

 

ถาม  อิสระจากความอยากไม่ใช่อิสรภาพที่ผมต้องการ

ผมต้องการอิสรภาพเพื่อเติมเต็มความโหยหาของผม

ตอบ  เธอเป็นอิระที่จะเติมเต็มความโหยหา

อันที่จริง เธอไม่ได้ทำอะไรนอกไปจากนั้น

 

ถาม  ผมพยายาม แต่มันมีอุปสรรคซึ่งทำให้ผมผิดหวัง

ตอบ  เอาชนะมันสิ

 

ถาม  ผมทำไม่ได้ ผมอ่อนแอเกินไป

ตอบ  อะไรทำให้เธออ่อนแอ?  ความอ่อนแอแบบไหน?

คนอื่นเติมเต็มความต้องการของเขาได้ ทำไมเธอทำไม่ได้?

 

ถาม  ผมน่าจะขาดพลัง

ตอบ  เกิดอะไรขึ้นกับพลังของเธอ? มันหายไปไหน?

เธอเองทำให้พลังของเธอกระจัดกระจายไประหว่างความพยายามและความต้องการมากมายที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง มิใช่หรือ?

เธอไม่มีแหล่งกำเนิดพลังงานทีเป็นอนันต์

 

ถาม  ทำไมจึงไม่มีล่ะครับ?

ตอบ  เป้าหมายของเธอเล็กและตื้นเขินเกินไป

มันไม่เรียกร้องพลังงานที่มากกว่านี้

มีเพียงพลังงานของพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นอนันต์ – เพราะพระองค์ไม่ได้ต้องการสิ่งดเพื่อตนเอง

จงเป็นเหมือนพระองค์ แล้วความต้องการทั้งหมดของเธอจะได้รับการเติมเต็ม

ยิ่งเป้าหมายของเธอสูงเพียงใดและความต้องการของเธอเป็นสัจธรรมเพียงใด เธอจะมีพลังงานมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย

จงต้องการที่สุดแห่งความดี และจักรวาลจะทำงานร่วมกับเธอ

แต่ถ้าเธอต้องการตอบสนองความเพลิดเพลินส่วนตัว เธอจะได้มันมาด้วยความยากลำบาก

ก่อนที่เธอจะต้องการสิ่งใด จงทำตัวให้มีค่าควรแก่ความต้องการเสียก่อน

 

ถาม  ผมศึกษาปรัชญา มนุษยวิทยา และการศึกษา ผมคิดว่าผมต้องพัฒนาด้านจิตใจมากกว่านี้ ก่อนที่ผมจะฝันถึงการตื่นรู้ด้วยตัวเอง

ผมคิดอย่างนี้ถูกหรือเปล่า?

ตอบ  การทำมาหากิน ต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง

แน่นอนว่าความรู้ทั่วไปจะช่วยพัฒนาจิตใจ

แต่ถ้าเธอต้องการใช้ชีวิตไปเพื่อรวบรวมความรู้ เธอกำลังสร้างกำแพงล้อมตัวเอง

ในการไปเหนือใจ เธอไม่จำเป็นต้องใช้ใจที่ได้รับการตกแต่งอย่างดี

 

ถาม  แล้วผมต้องใช้อะไร?

ตอบ  เลิกเชื่อใจของเธอ แล้วไปให้เหนือกว่านั้น

 

ถาม  ถ้าไปเหนือใจ ผมจะพบอะไร?

ตอบ  ประสบการณ์ตรงของการมีอยู่ การรู้ และการรัก

 

ถาม  เราจะไปเหนือใจได้อย่างไร?

ตอบ  มีจุดตั้งต้นได้หลายแบบ – ทั้งหมดล้วนนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

เธออาจเริ่มจากการทำงานที่ไม่เห็นแก่ตัว ปล่อยวางการหวังผล และเธออาจปล่อยวางการคิดและจบลงที่ปล่อยวางความอยากทั้งปวง

ในที่นี้ การปล่อยวาง (tyaga) คือปัจจัยขับเคลื่อน

หรือเธออาจแค่ไม่ใส่ใจต่อสิ่งที่เธอต้องการหรือที่เธอคิดหรือทำ เพียงแค่นิ่งอยู่ เงียบอยู่ กับความคิดและความรู้สึก “ฉันเป็น” โฟกัส “ฉันเป็น” อย่างมั่นคงในใจเธอ

ประสบการณ์ชนิดต่างๆ อาจเกิดขึ้นกับเธอ – ให้นิ่งอยู่ในความรู้ว่าทุกสิ่งที่ถูกรู้ล้วนเป็นสิ่งชั่วคราว มีเพียง “ฉันเป็น” เท่านั้นที่คงอยู่ตลอดไป

 

ถาม  ผมไม่สามารถสละเวลาทั้งชีวิตให้กับการฝึกแบบนั้นได้

ผมมีหน้าที่การงานต้องทำ

ตอบ  เธอก็ทำงานของเธอไปสิ

การกระทำ ซึ่งเธอไม่เข้าไปมีอารมณ์ร่วมกับมัน และมีประโยชน์ และไม่ทำให้เกิดความทุกข์ จะไม่ผูกมัดเธอ

เธออาจมีส่วนร่วมในหลายวีถีทางและทำงานด้วยความสนุกอย่างยิ่ง แต่ภายในของเธอยังคงเป็นอิสระและเงียบสงบ โดยมีใจที่เหมือนกระจก สะท้อนทุกอย่าง โดยไม่มีอะไรส่งผลต่อตัวมันเอง

 

ถาม  สภาวะแบบนั้นสามารถเข้าถึงได้จริงหรือครับ?

ตอบ  ถ้าไม่สามารถเข้าถึงได้ ฉันจะพูดถึงมันทำไม

ทำไมฉันต้องเข้าไปวุ่นวายกับสิ่งเพ้อฝันด้วยเล่า?

 

ถาม  ทุกคนอ้างอิงถึงพระคัมภีร์

ตอบ  ผู้ที่รู้แต่พระคัมภีร์จะไม่รู้อะไรเลย

การรู้คือการเป็น

สิ่งที่ฉันพูดถึง ไม่ได้มาจากการอ่าน หรือการได้ยินคนอื่นบอก

 

ถาม  ผมกำลังศึกษาสันสกฤตกับศาสตราจารย์ แต่จริงๆแล้ว ผมได้แค่อ่านพระคัมภีร์

ผมกำลังค้นหาการรู้แจ้งด้วยตัวเอง และผมมาพบท่านเพื่อขอการนำทางที่ผมต้องมี

ได้โปรดบอกผมว่าต้องทำอะไร?

ตอบ  เธอก็อ่านพระคัมภีร์มาแล้ว ทำไมต้องมาถามฉันด้วยเล่า?

 

ถาม  พระคัมภีร์แสดงทิศทางทั่วไปไว้มากมาย แต่ปัจเจกบุคคลจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมเฉพาะตน

ตอบ  ตัวเธอเองคือครูสูงสุดของเธอ (sadguru)

ครูภายนอก (Guru) เป็นเพียงหลักบอกระยะทาง

มีเพียงครูภายในของเธอเท่านั้นที่จะเดินไปกับเธอจนถึงเป้าหมาย เพราะเขาเองคือเป้าหมาย

 

ถาม  ครูภายในเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก

ตอบ  ก็เขาอยู่ภายในเธอและอยู่กับธอ ความยากคงไม่ร้ายแรงนัก

มองเข้าไปภายใน และเธอจะพบเขา

 

ถาม  เมื่อผมมองเข้าไปภายใน ผมพบความรู้สึกและการรับรู้ ความคิด และอารมณ์ ความต้องการและความกลัว ความทรงจำและการคาดหวัง

ผมชุ่มแช่อยู่ในเมฆหมอกเหล่านี้ และไม่เห็นอย่างอื่นเลย

ตอบ  มีสิ่งหนึ่งซึ่งเห็นทุกอย่างที่เธอกล่าวมา และเห็นความไม่มีอะไรเลยด้วยเช่นกัน นั่นคือครูภายในของเธอ

เขาเท่านั้นที่เป็นครูภายใน สิ่งอื่นทั้งหมดเพียงแค่ดูเหมือนว่าจะเป็นเขา

เขาคือตัวเธอที่แท้จริง (swarupa) คือความหวังของเธอ และคือสิ่งประกันการพบอิสรภาพ หาเขาให้พบ และยึดอยู่กับเขา และเธอจะได้รับการช่วยเหลือและปลอดภัย

 

ถาม  ผมเชื่อท่าน แต่เมื่อต้องทำการค้นพบตัวตนภายในนี้จริงๆ ผมพบว่ามันหนีผมไป

ตอบ  ความคิดที่ว่า “มันหนีผมไป” มันเกิดขึ้นที่ไหน?

 

ถาม  ในใจ

ตอบ  และใครที่รู้ใจ

 

ถาม  ผู้เฝ้ามองใจ

ตอบ  มีใครเดินมาหาเธอแล้วบอกว่า “ฉันคือผู้เฝ้ามองใจของเธอ” หรือเปล่า?

 

ถาม  ไม่มีครับ

เขาก็เป็นแค่อีกความคิดหนึ่งในใจ

ตอบ  ถ้าอย่างนั้น ใครคือผู้เฝ้ามองใจ?

 

ถาม  ผมเอง

ตอบ  ดังนั้น เธอรู้จักผู้เฝ้ามองเพราะเธอคือผู้เฝ้ามอง

เธอไม่จำเป็นต้องเห็นผู้เฝ้ามองปรากฏอยู่ตรงหน้าเธอ

ดังนั้น การเป็น คือการรู้

 

ถาม  ใช่ครับ ผมเข้าใจแล้วว่าผมคือผู้เฝ้ามอง ผมคือการตระหนักนั่นเอง

แต่นั่นมันมีประโยชน์กับผมอย่างไร?

ตอบ  ถามอะไรอย่างนั้น!

เธอจะคาดหวังประโยชน์อะไรอีกเล่า?

การรู้ว่าเธอคืออะไร นั่นไม่ดีพอหรอกหรือ?

 

ถาม  การรู้ตัวเองมีประโยชน์อะไร?

ตอบ  มันช่วยให้เธอเข้าใจสิ่งที่ไม่ใช่เธอ และทำให้เธอเป็นอิสระจากความคิด ความต้องการ และการกระทำผิดๆ

 

ถาม  ถ้าผมเป็นแค่ผู้เฝ้าดู แล้วความผิดถูกจะสำคัญยังไง?

ตอบ  สิ่งที่ช่วยให้เธอรู้จักตัวเองเป็นสิ่งถูก สิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เธอรู้จักตัวเองเป็นสิ่งผิด

การรู้จักตัวตนที่แท้จริง เป็นความสุขอย่างยิ่ง การหลงลืมว่าตนคืออะไร เป็นความเศร้า

 

ถาม  การรู้ตัวแบบแค่เฝ้าดูคือตังตนที่แท้จริงหรือเปล่า?

ตอบ  มันคือภาพสะท้อนของความจริงแท้ในใจ (buddhi)

ความจริงแท้อยู่เหนือไปจากนั้น

การเฝ้าดูคือประตูที่เธอจะผ่านไปสู่สภาวะที่เหนือขึ้นไป

 

ถาม  วัตถุประสงค์ของการทำสมาธิคืออะไร?

ตอบ  เพื่อเห็นสิ่งผิดว่าเป็นสิ่งผิด นั่นคือการทำสมาธิ

การทำสิ่งนี้ต้องดำเนินไปตลอดเวลา

 

ถาม  มีคนบอกเราให้ทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ

ตอบ  การตั้งเจตนาฝึกฝนทุกวันคือการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่จริงและสิ่งที่ไม่จริง และการสละสิ่งที่ไม่จริงคือการทำสมาธิ

ตอนเริ่มแรก อาจมีการทำสมาธิหลายวิธี แต่ท้ายที่สุดทุกวิธีจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

 

ถาม  โปรดบอกผมถึงเส้นทางสู่การตื่นรู้ที่สั้นที่สุด

ตอบ  ไม่มีเส้นทางที่สั้นหรือยาว แต่บางคนเอาจริงมากกว่า บางคนเอาจริงน้อยกว่า

ฉันจะเล่าเรื่องของฉันให้เธอฟัง

ฉันเป็นคนธรรมดา แต่ฉันเชื่อถือในครูของฉัน 

ไม่ว่าท่านบอกให้ฉันทำอะไร ฉันทำ

ท่านบอกให้ฉันมุ่งความสนใจไปที่ “ฉันเป็น” – ฉันทำ

ท่านบอกฉันว่า ฉันอยู่เหนือสิ่งที่ถูกรู้ทั้งปวง และสิ่งที่ปรากฏในความรู้สึก – ฉันเชื่อท่าน

ฉันให้ท่านทั้งหัวใจและจิตวิญญาณ ให้ความสนใจทั้งหมด และเวลาว่างทั้งหมด (ฉันต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวไปด้วย) 

ผลจากความเชื่อและการนำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ฉันเข้าถึงธรรมชาติเดิมแท้ (swarupa) ภายในสามปี

เธออาจเลือกทำแบบใดก็ได้ที่เหมาะกับเธอ ความเอาจริงของเธอจะเป็นสิ่งกำหนดอัตราเร็วของความก้าวหน้า

 

ถาม  ไม่มีการบอกใบ้เลยหรือครับ?

ตอบ  ตั้งมั่นในความตระหนักของ “ฉันป็น”

นี้เป็นการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของทุกความพยายาม

 

ศรี นิสาร์กะทัตตะ มหาราช

“I AM THAT”

 

 

หมายเลขบันทึก: 631700เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2017 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2017 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท