(คุยกับตนเอง ตอนที่8) ยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยง


(คุยกับตนเอง ตอนที่8) ยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยง

จำได้ช่วงที่ review แนวคิดเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพใหม่ ๆ ได้มองเห็นพัฒนาการและความเชื่อมโยงของความเป็นเหตุผลว่าเพราะอะไรจึงได้ทำสิ่งนี้ สิ่งนี้ที่ทำไปส่งผลให้เกิดอะไร

ก่อนหน้าที่จะเกิดการปฏิรูประบบสุขภาพ ประชาชนคนไทยต้องประสบกับความทุกข์ยากจากภาวะการเจ็บป่วย การเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพคนจนปิดกั้นตนเอง ขอยอมตายที่บ้านหรือไม่ก็ซื้อยามาทานเอง แม้ก่อนจะมีโครงการ 30 บาท ได้มีการทดลองนำร่องในการใช้ บัตรประกันสุขภาพ 500 บาท แต่ก็ยังพบช่องว่าง จึงได้เป็นที่มาของ 30 บาท

"สมัยนั้นไม่ใช่พรรคการเมืองเป็นคนคิดนะ เราน่ะนำแนวคิดนี้ไปเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ แต่ไม่มีใครสนใจ จนมามีพรรคหนึ่งเขาสนใจเขาก็รับแนวคิดของเราไปผลักดัน มันก็เลยกลายเป็นที่มาว่าเรื่องนี้ไปมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่ ก็พรรคอื่นเขาไม่สนใจเรื่องนี้"

"ในส่วนของแนวคิด มีความตั้งใจอยากให้เกิดการปฏิรูประบบสุขภาพและประชาชนได้รับความเป็นธรรมเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน"

เป็นความในใจของอาจารย์แพทย์ผู้อยู่ร่วมในยุคสมัยนั้น (Chalor Santiwarangkana)
ขณะที่ฟังก็ครุ่นคิดตาม ขมวดความคิดกับตนเองว่า
"พรบ.หลักประกันสุขภาพ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ"
"ปกป้องประชาชนจากความยากลำบากจากการเผชิญสภาวะการเจ็บป่วย" ใครบ้างที่เวลาป่วยไม่ทุกข์ใจ ถ้าสิ่งใดที่เราสามารถช่วยกันคลี่คลายและบรรเทาทุกข์ให้เบาบางได้จะดีเยี่ยมมากๆ

นอกจากนี้ในแนวคิดและหลักการยังมีหลักของการบริการจัดการกำกับให้คนทำงานได้ปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การกระจายสถานบริการให้เกิดความเข้าถึงระบบบริการ รพ.สต. รพช. รพท./รพศ. โยงใยเกี่ยวพันกันกับลักษณะความมุ่งเน้นของงานและความรุนแรงของภาวะการเจ็บป่วย

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมาสิ่งที่สะท้อนชัดเจนมากๆ เลยคือ เรื่องการบริหารจัดการระบบบริการ บทบาทหน้าที่ไม่เป็นไปตามในสิ่งที่ควรเป็นและขาดการมองเชิงระบบและความเชื่อมโยง รวมไปถึงทั้งเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ ประหยัดไม่เป็น ไปใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่เหมาะสมหลายอย่าง เมื่อรายจ่ายเกินมากกว่ารายรับ สภาพที่คนนิยมเรียกว่า ขาดทุนก็เกิดขึ้น 

รพ.สต.ขาดโอกาสของการทำงานเชิงรุก และเชิงป้องกัน ชีวิตการทำงานหมดไปกับการประชุมและประกวด กับการใช้เงินไปอย่างมากกับกิจกรรมที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องและถ้าสามารถตัดออกได้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อนอะไร รพช.ส่งต่อไป รพท.เยอะมาก จำได้เคยได้ยินเสียงสะท้อนของน้องแพทย์เล่าให้ฟังว่า "เพื่อนหนูน่ะดิ้นรนหาที่เรียนต่อเพราะไม่อยากอยู่ รพช.หลายคนด้วย" ซึ่งค่อนข้างเป็นภาพจริงในปัจจุบันมีสักกี่เปอร์เซนต์ที่แพทย์ทุ่มเทกับงานเชิงส่งเสริมป้องกันและลุยไปกับชุมชน

เมื่อลำบากจากการทำงาน บริหารจัดการไม่ได้ ความทุกข์ยากจึงเกิดขึ้นในองค์กร ในส่วนตัวตอนนี้มองว่า เมื่อความทุกข์เกิดความเบียดเบียนสรรพสิ่งต่างๆ ก็เริ่มดำเนิน เพราะมีความคิดความเชื่อว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้แล้วสิ่งนี้จะดีขึ้น แต่เมื่อมามองหลักการที่มุ่งแก้ไข ยังไม่เห็นความเชื่อมโยงที่เป็นเหตุเป็นผลชัดเจนเลย "การร่วมจ่ายทำให้โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร" ถ้าคิดเช่นนี้ก็จบเพียงแค่นี้ แต่ถ้าคิดลึกซึ้งเพิ่มขึ้น "คนที่จะมาจ่ายร่วมมีใครบ้าง กลุ่มไหนบ้าง" และ "เขาเหล่านั้นจะหาเงินมากจากไหน ระบบการกู้หนี้ยืมสินจะเกิดขึ้นแน่นอนหรือว่าอย่างไร" และ "โรงพยาบาลจะได้กำไรเพิ่มขึ้นจากการแก้ไขสิ่งนี้จริงเหรอ" "ใครได้ใครเสีย" "แก้แล้วได้อะไรขึ้นมาและเสียอะไรไปบ้าง" มันเป็นคำถามที่เป็นพื้นฐานที่ดังก้องอยู่ในใจ

เมื่อวานไปอ่านเจอมีคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ถ้าผลักดันเรื่อง Medical Hub แล้วเงินที่ได้มาจะมาช่วยเหลือคนลำบากอีกกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย ฟังแล้วก็ไม่อยากจะรู้สึกขบขันมากนัก แต่สงสัยว่าคิดได้อย่างไร มีกลุ่มหัวการค้าทางด้านสุขภาพสักกี่คนที่มีอุดมการณ์และเมตตาธรรมมากขนาดนั้น ถ้ามีเงินที่ได้จากโรงพยาบาลเอกชนคงจะได้มาช่วยพัฒนาสังคมประเทศได้เจริญรุ่งเรืองแน่ๆ แต่ตั้งแต่เกิดมายังไม่เห็นภาพนี้เลย หรือมีแต่ตัวเองไม่ทราบ ก็เฝ้าตั้งคำถามและสะท้อนคิดเช่นนี้ไป

#KMUC
22-07-60


หมายเลขบันทึก: 631412เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2017 05:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2017 05:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วิถีพุทธ..ดำเนินมา..หลายพันปี..ยังวนกันอยู่ใน วัฏร สงสาร..กัน  นะเจ้าคะ..สักวันหนึ่ง..คง..มา..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท