นิยามบริการสาธารณสุขในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ


ความสับสนของคำนิยามบริการสาธารณสุข ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ ว่าควรจะกินความถึงแค่ไหน ก่อนอื่นควรต้องเข้าใจเสียก่อนว่าการดำเนินงานด้านสาธารณสุขนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มุ่งเป็นรายบุคคล (Individual Based Program) และ กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มุ่งเน้นไปที่ ชุมชน กลุ่มบุคคล หรือประชาชน มักเรียกว่าเป็น  Community Based Program 

 

ความแตกต่างที่สำคัญของสองกลุ่มนี้ก็คือ แผนงานโครงการในกลุ่มแรกจะเน้นการเข้าแทรกแซง (Intervention) ในแต่ละบุคคลที่เป็นประชากรที่รับผิดชอบ การดำเนินงานส่วนใหญ่ต้องอาศัยข้อมูลจากประวัติและการตรวจของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ งานในกลุ่มนี้มักเรียกว่าเป็นงานบริการสาธารณสุข เช่นงานการรักษา งานส่งเสริมและป้องกันโรค  ทั้งในสถานบริการและนอกสถานบริการ ทั้งเชิงรุกและรับ รวมตลอดถึง งานคัดกรอง งานให้ความรู้หรือคำปรึกษาระดับบุคคล งานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพหรืองานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในระดับบุคคลหรือครอบครัว งานการส่งต่อผู้ป่วย งานการให้วัคซีน งานออกเยี่ยมบ้าน ล้วนถือเป็นงานในกลุ่มนี้ตราบใดที่มีการใช้ข้อมูลเป็นรายบุคคลเพื่อการดำเนินงาน นอกจากนี้งานในกลุ่มนี้ยังดูแลบุคคลไม่เฉพาะในช่วงที่เจ็บป่วย แต่ยังดูแลรวมถึงในช่วงที่ไม่ได้เจ็บป่วยด้วย (Inter-episode & Intra-episode) งานในกลุ่มนี้มักเป็นงานบริการที่มีการซื้อขายกันในตลาด และมีภาคเอกชนแสวงหากำไรเข้ามาร่วมให้บริการ เพราะเป็นบริการที่ประชาชนทั่วไปต้องการ

 

ในขณะที่กลุ่มที่สอง แผนงานโครงการในกลุ่มนี้จะเน้นการเข้าแทรกแซงในระดับของชุมชน กลุ่มประชาชน กลุ่มบุคคล กลุ่มเสี่ยงต่างๆ องค์กร หน่วยงาน หรือเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัย  แต่จะไม่ลงลึกใช้ข้อมูลระดับบุคคลเหมือนงานในกลุ่มแรก งานในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดจะเป็นงานเพื่อการส่งเสริมและป้องกันโรค เช่น งานให้สุขศึกษาผ่านสื่อสารมวลชน งานรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มเสี่ยง  งานควบควบแหล่งแพร่โรค   งานควบคุมสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ งานควบคุมสินค้าและบริการที่ส่งผลต่อสุขภาพ งานควบคุมและป้องกันโรคระบาด งานกฎหมายสาธารณสุข งานป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัย งานควบคุมความปลอดภัยด้านสุขภาพในสถานประกอบการ งานในกลุ่มที่สองนี้มักจะถูกเรียกว่าเป็นบริการสาธารณะ และมักดำเนินงานโดยรัฐ โดยที่ภาคเอกชนมักไม่เข้ามาดำเนินการ ยกเว้นองค์กรซึ่งไม่แสวงหากำไร

 

แม้ว่างานในทั้งสองกลุ่มจะมีความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน แต่งานประเภทใดที่ สปสช ในฐานะผู้ซื้อบริการแทนประชาชนควรจะเข้าไปซื้อบริการ? งานที่ควรจะเข้าไปซื้อนั้นควรเป็นงานที่เป็นความต้องการของผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไป นั่นคืองานที่เป็นความต้องการของตลาด และมีโอกาสที่จะมีการแข่งขันทั้งจากภาครัฐและเอกชน หรือ เอกชนกับเอกชน ดังนั้นคำตอบจึงน่าจะอยู่ที่งานในกลุ่มที่หนึ่ง ส่วนงานในกลุ่มที่สองนั้น รัฐควรจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ไม่จำเป็นต้องใช้การจัดซื้อโดย สปสช เพราะไม่ใช่ความต้องการของผู้บริโภคทั่วไปและไม่มีโอกาสที่ภาคเอกชนจะเข้ามาแข่งขัน

 

ดังนั้น นิยามบริการสาธารณสุขในกฎหมายหลักประกันฯ ที่ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้บริการสาธารณสุขเป็นบริการซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคล จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่เดิมแล้ว ความพยายามที่จะขยายขอบเขตของคำนิยามเพื่อให้รวมงานในกลุ่มที่สองด้วย จึงไม่น่าจะถูกต้อง


หมายเลขบันทึก: 631033เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2017 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท