ฝายมีชีวิต


ฝายมีชีวิตคืออะไร?

ฝายมีชีวิตคือ ฝายยกระดับน้ำในลำธาร ห้วย หรือ ลำคลอง ที่ปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิชาการท้องถิ่นร่วมกันประยุกต์และปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเก็บกัก และจัดสรรน้ำที่มีอยู่แต่ละท้องถิ่น เช่น ฝายแม้ว นบ เล่ห์ มาเป็นเครื่องมือในการกักเก็บน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจัดปรับให้สอดคล้องกับระบบนิเวศเกื้อกูลวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นเพื่อ ให้ชุมชนสร้างและบำรุงรักษาได้เองและยั่งยืน

ทำไมจึงเป็นฝายมีชีวิต?

การทำฝายมีชีวิตก่อให้เกิด ชีวิต ขึ้นกับพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ โดยสามารถจำแนกได้อย่างน้อย 4 ประการดังนี้

ประการที่1คือ เกิดความมีชีวิตชีวาของผู้คนในท้องถิ่น เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นให้แน่นแฟ้นมากขึ้น จากการที่ผู้คนในชุมชนได้มาร่วมปรึกษาหารือกัน ร่วมรับรู้ ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจในการทำฝายว่าจะส่งผลต่อพวกใครอย่างไรบ้าง ทั้งในด้านที่เป็นผลดี และด้านที่เป็นผลกระทบ ผ่านกระบวนการประชาเข้าใจ และกำหนดข้อตกลงในการใช้ประโยชน์ และบำรุงรักษาฝายนี้ร่วมกัน อันเป็นการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยคนในท้องถิ่นเอง เมื่อสามารถสร้างฝายเสร็จ จุดสร้างฝายคือศูนย์รวมจิตใจของชุมชนนั้นๆ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจมาเล่นน้ำ มีน้ำตกในหมู่บ้าน เป็นโรงเรียนหัดว่ายน้ำ เป็นแหล่งเศรษฐกิจสร้างรายได้ และฝายมีชีวิตเป็นของคนในชุมชนทุกคน

ประการที่2 มีการก่อสร้างที่เกื้อกูลชีวิต คือ ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ย่อยสลายได้ง่าย มีการปลูกต้นไม้ที่โตเร็ว ชอบน้ำ สร้างน้ำได้ด้วยตนเอง เช่นต้นไทร ต้นโพธิ์ มะเดื่อ มะเดื่อปล้อง ฯหรือ ฟื้นฟูต้นไม้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ราก

ไม้งอกแผ่ขยาย ชอนไชไปเป็นโครงสร้างของฝายในระยะยาว

ประการที่ 3 ฟื้นฟูชีวิตในระบบนิเวศท้องถิ่น เพราะระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดความชุ่มชื้นของพื้นดิน และช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินให้กับพื้นที่ดิน 2 ฝั่งน้ำที่ตั้งสายนั้น ทำให้พืชพันธุ์ดั้งเดิมงอก และเติบโตขึ้น สัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ต้นไม้ที่ถูกนำมาปลูกที่หูช้าง เมื่อได้รับอาหารจากกระสอบทราย จะเริ่มมีรากงอกชอนไชไปตามแหล่งอาหารในกระสอบต่างๆ ชนประสานยึดเข้าด้วยกัน เวลาผ่านไปชีวิตบนสายน้ำเจริญงอกงาม ชีวิตในน้ำได้อาศัยรากไม้เป็นที่หลบภัยและเป็นแหล่งอาหาร ชีวิตริมฝายได้อาศัยร่มเงา และความอุดมสมบูรณ์ที่กลับคืนมา เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ฝ่ายต่างๆสามารถชะลอความแรง ของกระแสน้ำได้ดี ความกว้างของตัวฝาย สามารถกักน้ำไว้เพื่อช่วยเติมน้ำในดิน ให้กับพื้นที่กลางน้ำได้ ส่วนในฤดูแล้ง น้ำที่ถูกเก็บไว้ในดิน จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นคืนให้ชีวิตในธรรมชาติและลำคลอง วังน้ำหน้าฝาย ยังประโยชน์ในด้านการรักษาระดับน้ำในดิน ไว้ให้พื้นที่ทางการเกษตรรอบๆตัวฝาย ในรัศมี 2 กิโลเมตร ระยะเวลาเติมน้ำในฝาย เมื่อถึงฤดูฝนอีกครั้ง เป็นวัฏจักรของระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์

ประการที่ 4 เพิ่มศักยภาพการทำมาหากินของคนในท้องถิ่น เพราะการมีน้ำทำให้คนในชุมชน ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง และสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นได้อย่างมาก ทั้งการปลูกพืชผัก ผลไม้ และการเลี้ยงสัตว์ พืชผักอุดมสมบูรณ์ขึ้นจากการมีน้ำรด ทั้งจากน้ำในฝาย และน้ำจากบ่อน้ำตื้น ที่มีระดับน้ำสูงขึ้น ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น เป็น 2 เท่า ฝายหลายแห่งที่เป็นแหล่งพักผ่อนของคนในชุมชน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว รวมถึงทรัพยากรที่ได้รับการฟื้นฟูทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เป็นแหล่งรายได้ให้กับหลายครอบครัว นอกจากนี้ ฝายมีชีวิตยังลดความเสี่ยงหรือความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดจากน้ำท่วมเมืองได้

หลักการสำคัญ

การทำฝายมีชีวิต ต้องยึดหลักสำคัญ 3 ประการคือ

1 ต้องผ่านเวทีประชาเข้าใจ

2 ชาวบ้านต้องจัดการตนเองเป็นหลัก

3 ห้ามใช้สิ่งแปลกแปลกปลอมทางธรรมชาติ เช่นปูนซีเมนต์ เหล็ก 

การสร้างฝายมีชีวิต ในชุมชน แบบมีส่วนร่วม ดังนั้นในชุมชนเอง จำเป็นต้องมี กติกา หรือ ธรรมนูญฝายมีชีวิต ฝายมีชีวิต ถือได้ว่า เป็นเครื่องมือปฏิรูปประเทศ อีก ช่องทางหนึ่ง

การสร้างฝายมีชีวิตวัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญคือ ไม้ไผ่ เชือกกระสอบ และ ทราย

เริ่มต้นจากการกำหนดแนวระดับของเส้นฝายให้เป็นล่างและบนของต้นไทรหรือหินธรรมชาติที่มีอยู่แล้วหรือกระสอบทรายเมื่อกำหนดแนวได้แล้วจึงใช้ไม้ไผ่ หรือไม้สนประดิพันธ์ในกรณีที่ต้องการความรวดเร็วและทำลายนิเวศน้อยที่สุดเพราะเป็นไม้เศรษฐกิจที่สามารถปลูกทดแทนได้หรืออาจใช้ไม้ที่"ปักติด"เช่นสตอเบา กฐินบ้าน อินทนิล ตะแบก จิก หน้าคล้าย ปักเป็นเสาไม้ค้ำยันด้วยไม้ ขวางด้วยไม้ผูกคาดด้วยเชือก แล้วนำปุ๋ยคอกเศษใบไม้ ขุยมะพร้าวรองก้นฝายวางทับด้วยทรายใส่กระสอบสลับชั้นกันดิน หิน ทราย ขุยมะพร้าวที่สำคัญจะต้องเจาะหรือผ่าให้น้ำเข้าได้เพื่อไม่ให้เกิดอากาศในถุงกระสอบที่เหลือให้ใส่ปุ๋ยคอก น้ำหมักชีวภาพจนเต็มวางชั้นบนสุดด้วยหินหรือทรายใส่กระสอบปิดทับด้วยหน้าไม้ไผ่ถักด้วยเชือก แนวหน้าด้านและด้านหลังของแนวฝ่ายนี้จะทำเป็นขั้นบันไดหรือบรรไดนิเวศน์ มีลักษณะเป็นขั้นบันได 5 ขั้นนั่นเอง



หมายเลขบันทึก: 630347เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2017 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2017 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การสร้างฝายไม่ใช้ทั้งการฟื้นฟูและอนุรักษ์ และแท้จริงแล้วมันมีผลกระทบอะไรบ้าง รายละเอียดดังต่อไปนี้ มีผู้วิเคราะห์แล้วครับhttps://www.facebook.com/payom.boontun/posts/1895578107343156

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท