สภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น


สภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น

The current state of PHAYA literature in WIWEKDHAMMAPHRASITWITTHAYA School,

KHON KEAN Province.

ผู้วิจัย : เฉลิมพล แสงแก้ว1

Researcher : Chalermpol Saengkaew1

ที่ปรึกษาวิจัย : ผศ.ดร.บัญชา เกียรติจรุงพันธ์2

Advisory Research : Asst. Prof. Dr. Buncha Kiatjarungphan2

บทคัดย่อ

               การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในโรงเรียนวิเวกธรรม

ประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสำรวจภาคสนาม ใช้เครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสังเกตที่ไม่มีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์ จากกลุ่มผู้รู้ ผู้ปฏิบัติ และผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยทฤษฎีคติชนวิทยาและทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม

               ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น ที่ปรากฏอยู่ แยกได้เป็น 2 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเนื้อหาของวรรณกรรมผญา ปรากฏในวารสารของโรงเรียนชื่อ หนังสือวิเวกสาร ในหนังสือหลักสูตรท้องถิ่น และในรายงานวิชาภาษาไทย เป็นผญาคำสอนหรือผญาภาษิต ผญาปริศนาและผญาปรัชญา 2) ด้านการดำเนินการนำวรรณกรรมผญามาใช้ พบว่าใช้ผญาในการเทศน์ การไหว้ครู และการพูดนำเสนอหน้าชั้นเรียน .................................................................................................................................................................

คำสำคัญ: วรรณกรรมผญา, สภาพปัจจุบัน

Abstract

               The research aims to study The current state of PHAYA literature in WIWEKDHAMMAPHRASITWITTHAYA School, KHON KEAN Province.  used to collect data. The field survey observations. Who is not involved And interviews The group recognized practitioners and stakeholders. Folklore theory and the theory of functions in the data analysis.

               The findings appear The current state of PHAYA literature in WIWEKDHAMMAPHRASITWITTHAYA School, KHON KEAN Province. listed as two separate areas: 1) the content of the literature Phaya. Vivek appear on substance Books to local programs And Report Language Thailand A doctrine Phaya or Phasit Phaya. puzzles Phaya and philosophical Phaya . 2) the conduct Phaya used. This is the Phaya in preaching and speaking to Victory Lane to present to the class.

Keyword : Phaya literature, The current state

___________________________

1 สำนักงานการกีฬา สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40002 ประเทศไทย

Sports Office, Office of the President , Khon Kaen University Nai Muang Sub-District, Muang District, Khon Kaen Province 40002, Thailand

2 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40002 ประเทศไทย

Faculty of Education, Khon Kaen University Nai Muang Sub-District, Muang District, Khon Kaen Province 40002, Thailand

คำนำ

               ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกขานกัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ประกอบด้วยแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ 2 แอ่ง คือ “แอ่งสกลนคร” เป็นที่ราบตอนบน และ “แอ่งโคราช” เป็นที่ราบตอนล่าง ค้นพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาแต่สมัยโบราณและหลักฐานการดำรงชีพ เช่น ภาพเขียนผนังถ้ำและเครื่องมือหินกะเทาะ รวมทั้งชุมชนโบราณที่กระจายอยู่ตามเขตลุ่มน้ำ ในพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 วัฒนธรรมจากภายนอกได้หลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนแถบนี้(สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2549) ซึ่งจะเห็นได้จากวัฒนธรรมภายนอกที่แพร่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมรโบราณ วัฒนธรรมเขมรสมัยพระนคร และวัฒนธรรมไท-ลาวหรือวัฒนธรรม ล้านช้างตามลำดับ ทำให้ภูมิภาคนี้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรม ประเพณี ดนตรี ความเชื่อ เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ขึ้นจากธรรมชาติ มีการฝึกหัดและพัฒนาถ่ายทอดจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของตน ซึ่งวัฒนธรรมทุกด้านดังกล่าว ย่อมมีเครื่องมือสำหรับถ่ายทอดซึ่งได้แก่ “ภาษา”  

               “ภาษา” จึงเป็นวัฒนธรรมแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่ง ที่เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นชาติ ความเป็นกลุ่มเผ่าพันธุ์เดียวกัน คนที่พูดภาษาและเขียนหนังสือชนิดเดียวกัน จึงมีความรู้สึกว่า “เป็นพวก เป็นชาติ เป็นกลุ่มเผ่าพันธุ์เดียวกัน” ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภาคอีสานของประเทศไทยเคยมีตัวอักษรใช้มาก่อน เรียกว่า “อักษรโบราณอีสาน” ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลงเหลือให้เห็นอยู่ ทั้งที่เป็นอักษรศิลาเลข ศิลาจารึก และอักษรจารไว้ในใบลาน ซึ่งตัวอักษรที่ปรากฏในดินแดนภาคอีสานในอดีต จะพบตัวอักษรปัลลวะ อักษรขอมโบราณ อักษรธรรม และอักษรไทน้อย แต่ที่ชาวไทอีสานในอดีตใช้เขียนและจดบันทึก มีเพียงตัวอักษรธรรมและอักษรไทน้อย โดยในอดีตผู้บวชเป็นพระต้องเรียนรู้และฝึกหัดทั้งเขียนและอ่าน อักษรธรรมและอักษรไทน้อย ซึ่งอักษรธรรมนิยมใช้เขียนบันทึกเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา พระธรรมคัมภีร์ ชาดก หนังสือเทศน์ ส่วนตัวอักษรไทน้อยนิยมเขียนบันทึกเรื่องราวทางโลก ตำราต่างๆ และวรรณกรรม (พระครูสุเทพสารคุณและคณะ, 2544)   

                วรรณกรรมอีสานนั้นจัดเป็นวรรณกรรมชาวบ้าน มีวัดในหมู่บ้านเป็นแหล่งเก็บรวบรวมรักษาอนุรักษ์และเผยแพร่ ซึ่งอาจารย์ธวัช บุญโณทก ได้จำแนกวรรณกรรมอีสานไว้ดังนี้ คือ วรรณกรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เป็นนิทานคติธรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งที่เป็นชาดกและตำนาน เช่น ลำมหาซาติ ท้าวสีทน ท้าวคัธนาม เสียวสวาสดิ์ อุรังคนิทาน พุทธทำนาย มาลัยเลียบโลก เป็นต้น วรรณกรรมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เป็นประวัตินักรบ ตำนานการสร้างบ้านแปลงเมือง เช่น ท้าวฮุ่งท้าวเจือง พื้นเวียงจันทน์ ขุนบลม ตำนานพระพุทธรูป เป็นต้น วรรณกรรมเกี่ยวกับคติธรรม เช่น ธรรมดาสอนโลก พระยาคำกองสอนไพร่ ท้าวคำสอน ปู่สอนหลาน ลึบบ่สูญ ย่าสอนหลาน  อินทิญาณสอนลูก เป็นต้น วรรณกรรมเกี่ยวกับนิทาน เช่น ไก่แก้ว กำพ่าผีน้อย นางผมหอม จำปาสี่ต้น สินไซ นางแตงอ่อน ขุนลูนางอั้ว ผาแดงนางไอ่ เป็นต้น และวรรณกรรมปลีกย่อยอื่น ๆ  เช่น บทสูด คำเทศน์พิธีขอฝน คำสอย โตงโตย ยาบส่วง เพลงกล่อมลูก คำเซิ้ง และคำผะหยา เป็นต้น (พระครูสุเทพสารคุณและคณะ, 2544)  

                “ผญา” หมายถึง คำพูด สำนวนพูด ภาษิตภาษาอีสาน มีลักษณะลึกซึ้ง ทางความหมาย ไพเราะงดงามและกินใจ แสดงเชาว์ปัญญาอันหลักแหลมของผู้พูด ซึ่งตรงกับภาษาไทยกลางว่า ปัญญา (ในภาษาบาลี) หรือ ปรัชญา (ในภาษาสันสกฤต) ผญาจึงเป็นวรรณกรรมอีสานแขนงหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะในการใช้ภาษาของคนอีสานในอดีต ที่ต้องใช้ไหวพริบ มีความคมคาย พูดสั้นแต่กินใจมาก เป็นบทร้อยกรองแบบอีสานที่ใช้พูดโต้ตอบกัน มีจังหวะทำนองเฉพาะตัว วรรณกรรมผญาจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวอีสาน ซึ่งความเป็นมาและบ่อเกิดของวรรณกรรมผญานั้นสามารถรวบรวมได้ว่า เป็นมุขปาฐะที่พูดสืบต่อกันมา เกิดขึ้นเมื่อใดไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่สามารถบอกได้ว่า วรรณกรรมผญามาจากคำสั่งสอนและศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี การเกี่ยวพาราสีของหนุ่มสาว การละเล่นของเด็กหรือการละเล่นรื่นเริง สภาพแวดล้อมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว และที่แทรกอยู่ในวรรณกรรมเรื่อต่างๆ วรรณกรรม ผญาจึงมีลักษณะเป็นคำพูดหลักแหลมมีความหมายล้ำลึก โดยใช้ภาษาอย่างมีวรรณศิลป์ คล้องจองกัน มีฉันทลักษณ์ เป็นกลอนชาวบ้านของหมู่คำหรือถ้อยคำที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและค่านิยม เมื่อแบ่งตามเนื้อหาและการใช้งานมีหลายประเภท คือ ผญาภาษิต ผญาเกี้ยวหรือผญาเครือ ผญาอวยพร ผญาย่อย ผญาปริศนารัก ผญาปรัชญา และผญาเบ็ดเตล็ด จะเห็นได้ว่าวรรณกรรมผญานั้นแทรกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอีสานในทุกด้านทุกบริบท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของวรรณกรรมผญาที่มีต่อวิถีชีวิตของคนอีสานได้อย่างชัดเจน

                วรรณกรรมผญาจากที่เคยได้รับความนิยม มีการพูดและการใช้ที่แพร่หลายในอดีต ความนิยมเริ่มลดลงตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยใหม่ของชาวอีสาน ดังที่ ทรงวิทย์  พิมพกรรณ์ บรรณาธิการ ( 2557) ได้กล่าวไว้ในหนังสือฟื้นฟูภูมิปัญญาผญาพาม่วนว่าในปัจจุบันมรดกภูมิปัญญาทางวรรณกรรมผญา กำลังจะสูญหายไปจากภาคอีสานของไทยและในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะโลกาภิวัฒน์ทางวัฒนธรรมภายนอกที่คุกคามเข้ามาและการรับเอาวัฒนธรรมใหม่ของผู้คนภายในเป็นปัจจัยสำคัญ  ซึ่งสอดคล้องกับ ประยูร ลาแสง (2557) ที่กล่าวไว้ในหนังสือฟื้นฟูภูมิปัญญาผญาพาม่วนเช่นกันว่า เยาวชนคนไทยอีสานรุ่นใหม่ก็เหินห่างจากผญาไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม การเรียนรู้ในระบบการศึกษาถูกกำหนดโดยส่วนกลาง ความสำคัญและบทบาทของวรรณกรรมผญาจึงถูกมองข้ามไปไม่ได้หยิบยกเข้ามาในระบบการศึกษา ไม่ได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรระดับชาติ ถึงแม้ปัจจุบันจะเริ่มคลี่คลายเปิดโอกาสให้โรงเรียนสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาจัดการเรียนการสอนเอง แต่ก็ยังขาดผู้รู้ผู้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทำให้การสืบสานอนุรักษ์วรรณกรรมผญาอยู่ในวงจำกัด

               การดำรงอยู่และการสืบทอดของวรรณกรรมผญามีทั้งส่วนที่คงอยู่และค่อยๆ สูญหายไปทั้งนี้มาจากการศึกษาวิจัยของ พรสวรรค์  สุวรรณศรี (2547) เรื่องการวิเคราะห์คุณค่า การดำรงอยู่ และการสืบทอดผญาอีสาน พบว่า สถานภาพการดำรงอยู่ของผญาอีสาน  มีทั้งแบบที่ไม่มีการใช้แล้ว แบบที่มีการใช้อยู่ และผญาที่มีการเปลี่ยนแปลง ลักษณะการดำรงอยู่ ได้แก่ การจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ การเขียนตำรา การเทศน์ การพูดคุยกันบางโอกาส              งานเลี้ยงต้อนรับ การบายศรีสู่ขวัญ การเป็นวิทยากรบรรยาย การใช้ผญาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตและการเขียนกลอนลำ ส่วนแนวทางการสืบทอดผญาอีสานนั้น สถาบันการศึกษาทุกระดับจัดทำเป็นหลักสูตร ให้มีการเรียนการสอนกันอย่างจริงจัง องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้า สำรวจข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาจัดทำเป็นข้อมูลที่สะดวกในการศึกษาและทำความเข้าใจ ตลอดจนช่วยกันเผยแพร่โดยใช้สื่อที่น่าสนใจ จัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยจัดทำเป็นศูนย์ข้อมูลจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมเผยแพร่ผญาให้ครอบครัวและคนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของผญา จัดฝึกอบรมวิทยากร จัดทำสื่อการเรียนรู้ และควรชี้แจงอธิบายรูปแบบของผญาอีสานให้ชัดเจนและสอนให้คนรุ่นใหม่เขียนผญาได้          

               โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น สังกัดกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ 7 ตั้งอยู่ภายในวัดธาตุ พระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 เป็นโรงเรียนที่นำเอาวรรณกรรมผญามาสั่งสอนผู้เรียน และประยุกต์ใช้ในกิจกรรมและการเรียนการสอน โดยมีพระครูศรีวิสุทธิวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งเมื่อท่านมาอบรมสั่งสอนหรือพบปะนักเรียนท่าจะใช้ผญาในการอบรมสั่งสอน อีกทั้งพระอาจารย์ที่สอนเป็นผู้มีความสามารถในการแต่งบทผญา และให้นักเรียนในรายวิชาที่สอนไปเสาะแสวงหาบทผญามาพูดและอธิบายหน้าชั้นเรียนในทุกวันจันทร์ ซึ่งเป็นการสืบทอดและนำวรรณกรรมผญาเข้าสู่ชั้นเรียนอีกวิธีหนึ่ง

              จากการศึกษาเบื้องต้นตามที่ได้กล่าวมา จะเห็นว่าวรรณกรรมผญาเป็นวรรณกรรมอีสานประเภทหนึ่ง ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญา เป็นการสร้างสรรค์ทางภาษาที่ล้ำค่า แฝงด้วยคติคิด ภาษิต คำสอน ความบันเทิง ในเนื้อหาบทกลอนของวรรณกรรมผญา แสดงวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม การทำมาหากิน เป็นภาพชีวิตที่งดงามของคนอีสานในอดีตไว้อย่างชัดเจน มีบทบาทที่สำคัญในการใช้อบรมสั่งสอนลูกหลานของคนอีสาน แต่ในสภาพสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมในยุคโลกปัจจุบันที่การเชื่อมต่อไร้พรมแดน ทำให้วิถีชีวิตและสภาพสังคมอีสานเปลี่ยนแปลงไปด้วย วรรณกรรมผญา ในอดีตที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ใช้สอน ใช้เกี้ยวพาราสี ใช้ในการแสดงต่างๆ ได้ถูกค่อยๆ                       ลดความนิยมลง เด็กรุ่นใหม่แทบไม่มีใครรู้จักและมีการใช้วรรณกรรมผญาน้อยมากในปัจจุบัน ที่มีปรากฏบ้างก็ในสถานศึกษา โดยการนำมาสอน มาสอดแทรกในกิจกรรมหรือในการเรียนการสอนบ้างมากน้อยแตกต่างกันไป ทำให้เกิดประเด็นในการศึกษาว่า สภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญา ในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น เป็นอย่างไร ปรากฏอยู่ในด้านใดบ้าง ด้วยความสำคัญและปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาสภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญา ในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าสภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยาเป็นอย่างไร ช่วยให้ทราบสภาพการมีอยู่ในปัจจุบันของวรรณกรรมผญาเพื่อจะได้ อนุรักษ์ สืบทอด ส่งต่อวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าให้คงอยู่ตลอดไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

               เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น

ระเบียบวิธีวิจัย

               1) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย กลุ่มบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 

                               1.1) ผู้รู้ (Key Informants) ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่ให้ข้อมูลในเชิงลึกและสำคัญ ให้ข้อมูลได้ครบถ้วนและเที่ยงตรง จำนวน 1 คน คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน                          

                               1.2) ผู้ปฏิบัติ (Casual Informant) ได้แก่ ผู้สอนและผู้เรียน ในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา

                               1.3) ผู้เกี่ยวข้อง (General Informants) ได้แก่ กลุ่มผู้รับรู้และรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผญาใน

โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา

               2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล

                              ประกอบด้วย แบบสำรวจภาคสนาม  แบบสังเกตที่ไม่มีส่วนร่วม (Non-participation Observation) แบบสัมภาษณ์ (Interview) ใช้แบบสัมภาษณ์ทั้ง 2 แบบ คือ แบบสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้าง (Structured Interview) และแบบสัมภาษณ์ที่ไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Interview) การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion)   

               3) การเก็บรวบรวมข้อมูล

                              ใช้วิธีการเก็บข้อมูล 2 ลักษณะ คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ  และการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม โดยใช้เครื่องมือในข้อที่ 2)    

               4) การจัดทำข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล

                              โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปจัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อหาคำตอบตามวัตถุประสงค์ ทบทวนความสมบูรณ์ของข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation) ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ วิเคราะห์ข้อมูล

โดยวิเคราะห์ข้อมูลภาคเอกสาร และการวิเคราะห์ข้อมูลภาคสนาม                

               5) การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล

                              ใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ อธิบายและทำความเข้า สภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

แล้วจึงนำเสนอข้อมูลที่ได้มาอภิปรายผล ด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์  

ผลการศึกษา

               เมื่อได้ศึกษาวรรณกรรมผญาแล้วพบว่า ผญาเป็นำพูดหรือสำนวนพูดของชาวอีสานที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจ มีบทบาทที่สำคัญในการใช้อบรมสั่งสอนของคนอีสาน ในอดีตได้รับความนิยมและมีการใช้อย่างแพร่หลาย เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยทำให้ความนิยมนั้นค่อยๆลดลง การดำรงอยู่และการสืบทอดวรรณกรรมผญามีทั้งแบบที่ไม่มีการใช้แล้ว แบบที่มีการใช้อยู่ และผญาที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งลักษณะของการนำผญามาใช้อยู่เป็นการจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ การเขียนตำรา การเทศน์ งานเลี้ยงต้อนรับ การบายศรีสู่ขวัญ การเป็นวิทยากร การเขียนกลอนลำ และการใช้ผญาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต ส่วนการสืบทอดวรรณกรรมผญานั้น สถาบันการศึกษาทุกระดับต้องจัดทำเป็นหลักสูตรและให้มีการเรียนการสอนกันอย่างจริงจัง ซึ่งการจะนำวรรณกรรมผญาเข้ามาสู่สถาบันการศึกษา ได้นั้น ต้องทราบสภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในสถานศึกษาก่อน จึงจะสามารถวางแผนได้ว่าควรดำเนินการอย่างไร

               จากการศึกษาสภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น              ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พบว่าเป็นโรงเรียนที่มีการนำเอาวรรณกรรมผญาเข้ามาใช้ในโรงเรียน ทั้งแบบมุขปาฐะที่พระผู้ใหญ่นำมาเทศน์อบรมสั่งสอนพระเณรในโรงเรียน พระเณรนำไปเทศน์อบรมสั่งสอนญาติโยม นำไปพูดเป็นคติสอนใจ และยังมีการนำวรรณกรรมผญามาพูดนำเสนอหน้าชั้นเรียน และแบบลายลักษณ์อักษรที่เป็นตัวบทผญาที่มีแทรกอยู่ในหนังสือเรียนและรายงาน วรรณกรรมผญาที่แต่งขึ้นใหม่และตีพิมพ์ลงในวารสาร ลงในหนังสือแบบเรียน 

สรุปผลการศึกษา

               จากการศึกษาสภาพปัจจุบันของวรรณกรรมผญาในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่นแล้วพบว่าวรรณกรรมผญาที่ปรากฏอยู่ แยกได้เป็น 2 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเนื้อหาของวรรณกรรมผญา ปรากฏในวารสารของโรงเรียนชื่อ หนังสือวิเวกสาร ในหนังสือหลักสูตรท้องถิ่น และในรายงานวิชาภาษาไทย เป็นผญาคำสอนหรือผญาภาษิต ผญาปริศนาและผญาปรัชญา 2) ด้านการดำเนินการนำวรรณกรรมผญามาใช้ พบว่าใช้ผญาในการเทศน์ การไหว้ครู และการพูดนำเสนอหน้าชั้นเรียน

               หากพิจารณาความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของข้อมูลวรรณกรรมผญาที่ปรากฏ จะพบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ที่พบว่าเป็นวรรณกรรมผญาประเภทคำสอนประเภทผญาซ่อนความหมาย และประเภทผญาเบ็ดเตล็ด เนื่องจากเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม นักเรียนเป็นสามเณร ที่มีหน้าที่ศึกษาพระธรรมคำสอนและนำไปอบรมสั่งสอนญาติโยม                จึงเป็นผญาประเภทคำสอนและประเภทซ่อนความหมายเป็นส่วนมาก พบอยู่ในหนังสือและรายงานวิชาภาษาไทย                ซึ่งรูปแบบการสืบทอดเป็นแบบลายลักษณ์อักษร แบบมุขปาฐะ และแบบแต่งขึ้นใหม่  ในส่วนการดำเนินการนำผญามาใช้นั้น จะเห็นว่าพระเทพกิตติรังสี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสและเป็นผู้จัดการโรงเรียน ท่านเป็นผู้ที่ใช้ผญาตามวิถีอีสานแบบดั้งเดิม จึงนำผญาที่เป็นคติสอนใจมาสอนพระเณรเป็นประจำ ทำให้พระเณรชื่นชอบและเห็นคุณค่าของผญานำไปถ่ายทอดต่อผ่านการเทศน์ของสามเณรตามโครงการเปรียญธรรมสัญจร และมหาอธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นอีกผู้หนึ่งที่ชื่นชอบและเห็นคุณค่าความสำคัญและนำผญามาใช้ในโรงเรียน โดยการนำผญามาใช้อบรมสั่งสอนสามเณรนักเรียนในต้นชั่วโมงเรียน และใช้สามเณรสืบหาผญามาพูดและอธิบายหน้าชั้นเรียนในทุกวันจันทร์                        ซึ่งสอดคล้องกับที่วีณา วีสเพ็ญ (2557) ได้กล่าวไว้ในบทความว่า ผู้นำระดับนโยบายต้องเข้าใจและเห็นคุณค่า                       ผู้มีบทบาทในชุมชน สถาบันการศึกษา ครูผู้สอน องค์กรในชุมชนทุกองค์กรต้องลงมือร่วมใจกันปฏิบัติ ตระหนักถึงความสำคัญ ที่ต้องสืบทอด เพื่อรักษารากแก้วอันงดงามทางวัฒนธรรมภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยระบบการศึกษา

เอกสารอ้างอิง

ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์, บรรณาธิการ. (2557). ฟื้นฟูภูมิปัญญาผญาพาม่วน. พิมพ์ครั้งที่ 1.            

               ขอนแก่น: ขอนแก่นการพิมพ์.

ธวัช ปุณโณทก. (2544). การวิจัยเรื่องไทยศึกษาและวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน. ธรรมทรรศน์ 2,1

               (มีนาคม-มิถุนายน): 43-46.

ประยูร ลาแสง. (2557). ความสำคัญ/บทบาทในงานเขียนและวิถีชีวิตคนอีสาน.

               ใน ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ (บรรณาธิการ). ฟื้นฟูภูมิปัญญาผญาพาม่วน. (หน้า 79-94). พิมพ์ครั้งที่ 1.

               ขอนแก่น: ขอนแก่นการพิมพ์.

พระครูศรีวิสุทธิวัฒน์, บรรณาธิการ. (2558). วิเวกสาร. ขอนแก่น: คลังนานาธรรมวิทยา

พระครูศรีวิสุทธิวัฒน์ และคณะ. (ม.ป.ป.). หนังสืออ่านเพิ่มเติมหลักสูตรท้องถิ่น ขอนแก่นบ้านเฮากับการนันทนาการ.

               ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา

พระครูสุเทพสารคุณ และคณะ. (2544). มรดกไทอีสาน. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา

พระมหานฤทธิ์  นริสสโร. ข้อมูลทั่วไปและการเรียนการสอนโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา [สัมภาษณ์].

               ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น; 16 ธันวาคม 2558.

พระมหาอธิวัฒน์ ภัทรกวี.  ผญาในโรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา [สัมภาษณ์]. ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  

               ฝ่ายธรรมบาลี โรงเรียนวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา จังหวัดขอนแก่น; 16 ธันวาคม 2558.

พรสวรรค์ สุวรรณศรี. (2547). การวิเคราะห์ การดำรงอยู่และการสืบทอดผญาอีสาน.

               [วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต] กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วีณา วีสเพ็ญ. (2557). ผญากับการเรียนการสอน.ใน ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ (บรรณาธิการ).

               ฟื้นฟูภูมิปัญญาผญาพาม่วน. (หน้า 118-134). พิมพ์ครั้งที่ 1. ขอนแก่น: ขอนแก่นการพิมพ์.

สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2549). เอกสารประกอบนิทรรศการถาวร “อีสานนิทัศน์”

               สังคมและวัฒนธรรมอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

หมายเลขบันทึก: 630252เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2017 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2017 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท