ระบอบการปกครองในโลกปัจจุบัน


ระบอบการปกครองในโลกปัจจุบัน

ระบบการเมืองการปกครอง เป็นแบบแผนที่ก่อให้เกิดข้อตกลงเพื่อให้มีผลบังคับใช้กับสมาชิกในสังคม เพื่อความสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั่วโลกมีรูปแบบการปกครองอยู่ 2 แบบ คือ การปกครองระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการ ทั้งสองระบอบนี้จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สำหรับประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจผ่าน 3 องค์กร อันได้แก่ นิติบัญญัติผ่านรัฐสภา บริหารผ่านรัฐบาล และตุลาการผ่านศาล ซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

รูปแบบการเมืองการปกครอง
ระบบการเมืองการปกครอง หมายถึง แบบแผนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ก่อให้เกิดข้อตกลงใจ รวมทั้งมีอำนาจบังคับสมาชิกในสังคมให้ต้องปฏิบัติ ในปัจจุบันรูปแบบของระบบการเมืองการปกครองที่รัฐหรือประเทศต่างๆ ในโลกที่เด่นชัดมี 2 ระบอบ คือ ระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย และระบอบการเมืองการปกครองแบบเผด็จการ

การปกครองระบอบประชาธิปไตย
การปกครองระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่อำนาจมาจากประชาชนเป็นการปกครองที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

หลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
หลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยยึดหลักการต่อไปนี้ คือ
1. หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน กล่าวคือ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจในกิจการต่างๆ ร่วมกัน
2. หลักอำนาจอธิปไตยโดยปวงชน กล่าวคือ ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา
3. หลักอำนาจอธิปไตยเพื่อปวงชน กล่าวคือ ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศต้องปกครอง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่มิใช่เพื่อหมู่คณะของตนเอง
4. หลักเหตุผล ระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง
5. หลักเสียงข้างมาก เมื่อมีการอภิปรายแสดงข้อคิดเห็นกันแล้ว การหาข้อยุติต้องเกิดจากการออกเสียงลงคะแนนเสียง มติของที่ประชุมเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ
6. หลักความยินยอม เป็นการได้รับฉันทานุมัติจากปวงชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยให้เข้ามาเป็นตัวแทนใช้อำนาจของประชาชนภายในระยะเวลาที่กำหนด
7. หลักประนีประนอม เมื่อเกิดข้อขัดแย้งไม่มากนัก ก็อาจมีการประนีประนอมโดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นเกณฑ์ โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเพื่อหาข้อยุติ
8. หลักความเสมอภาค ประชาธิปไตยให้ความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถือว่า มนุษย์ที่เกิดมามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเสมอภาค
9. หลักเสรีภาพ ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องให้เสรีภาพแก่ปวงชนภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย เช่น เสรีภาพในการพูด การเขียน การชุมนุม การศึกษาอบรม การรวมตัวกันเป็นสมาคม
10. หลักการปกครองตนเอง เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลในชุมชนหรือท้องถิ่นได้มีโอกาสปกครองตนเอง เพราะประชาชนในท้องถิ่นย่อมสามารถรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ดีกว่าบุคคลอื่น

คำว่า ประชาธิปไตย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Democracy” มาจากรากศัพท์ภาษากรีกสองคำ คือ Demo ซึ่งหมายถึง ประชาชน กับ Knatos ซึ่งหมายถึง อำนาจอธิปไตย เมื่อรวมคำทั้งสองคำ จึงได้ความหมายว่า “การปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ หรือำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน” ระบอบประชาธิปไตยตามความหมายและความเข้าใจร่วมกันของทุกคน จึงเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนทั้งหมดมีส่วนร่วมในการปกครอง หรือเป็นระบอบการปกครองตามนัยที่ประธานาธิบดีลินคอล์นแห่งสหรัฐอเมริกาได้เคยกล่าวไว้ว่า “เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้แบ่งรูปแบบการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตย แบ่งออกได้เป็น 2 หลักเกณฑ์ ดังนี้
1. หลักประมุขของประเทศ แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ
– มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่าน 3 องค์กร คือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยผ่านรัฐสภา อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล
– มีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยประธานาธิบดีจะต้องเป็นบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เพื่อทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐ ในบางประเทศประธานาธิบดีจะทำหน้าที่เป็นประมุขของฝ่ายบริหารด้วย
2. หลักการรวมและการแยกอำนาจ แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
1) แบบรัฐสภา โดยรัฐสภามีอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมาย ซึ่งอาจมีสภาเดียวหรือสองสภา
สภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร มาจากการเลือกตั้ง
สองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) มาจากการเลือกตั้ง วุฒิสภา (สภาสูง) มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งโดยฝ่ายบริหาร
รัฐสภามีหน้าที่เลือกบุคคลเข้าเป็นคณะรัฐมนตรี ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล กล่าวคือ รัฐบาลต้องบริหารงานภายใต้ความไว้วางใจของรัฐสภา ดังนั้น รัฐบาลจะมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ จึงต้องได้รับเสียงสนับสนุนพอควรจากรัฐสภา
การปกครองระบอบรัฐสภานี้ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารออกจากกันอย่างเด็ดขาดทั้งสองฝ่ายต่างคานอำนาจกันและกัน (Checks and Balances) กล่าวคือ คณะรัฐบาลจะเข้าบริหารประเทศต้องได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา และรัฐสภามีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล อันส่งผลให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็สามารถใช้มาตรการควบคุมรัฐสภาได้โดยการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนทำการเลือกผู้แทนเข้ามาใหม่ ถ้าหากรัฐสภาไม่ยอมผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น
การปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาปัจจุบันมีใช้อยู่ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่น เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และไทย เป็นต้น
2) แบบประธานาธิบดี ซึ่งมีการแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอย่างชัดเจน และมีอิสระในการทำงาน
โดยผู้นำประเทศที่ใช้การปกครองรูปแบบนี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ประธานาธิบดีจึงเป็นทั้งประมุขของประเทศและของฝ่ายบริหารในคนเดียวกัน ซึ่งทั้งสามสถาบันจะคอยยับยั้ง ถ่วงดุลอำนาจกันและกัน เพื่อมิให้ฝ่ายใดใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภาได้ รวมทั้ง 3 สถาบันไม่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีได้ ประเทศที่ยังใช้การปกครองรูปแบบนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา อุรุกวัย บราซิล
3) แบบกึ่งประธานาธิบดี เป็นระบบที่เป็นการผสมผสานระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา และแบบประธานาธิบดี คือ จะมีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของประเทศและฝ่ายบริหารโดยจะมาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีระบบรัฐสภา สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และสามารถยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ได้ ประเทศที่ใช้การปกครองแบบนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ ศรีลังกา เป็นต้น

ข้อดีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
1. เป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ประชาชนเกิดความรักในชาติบ้านเมือง และคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นเจ้าของประเทศ
2. ได้มีการกลั่นกรองความคิดเห็น แต่ละฝ่าย แต่ละคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี แนวคิดที่ตรงข้ามกัน จะได้รับการตัดสินโดยใช้มติเสียงข้างมากเป็นหลัก ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องยอมรับมติดังกล่าว
3. เป็นระบอบที่มีการแยกอำนาจออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ แต่ก็มีการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจของแต่ละฝ่าย รวมทั้งมีการคานอำนาจซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ
4. เป็นระบอบป้องการผูกขาด หรือสืบทอดอำนาจ คือ การกำหนดระยะเวลาในการอยู่ในตำแหน่งหรือการบริหารตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
5. ให้มีระบอบการประกันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแก่ประชาชน โดยรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ช่วยป้องกันมิให้ฝ่ายบริหารหรือผู้ปกครองประเทศ ออกกฎหมายมาขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคขั้นพื้นฐานเอาไว้

ข้อจำกัดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
1. ประชาชนที่ขาดความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย จะตกเป็นเครื่องมือของนายทุนได้ง่าย เช่น การซื้อสิทธิขายเสียง
2. นักการเมืองและพรรคการเมืองอาจใช้วิธีการหาเสียงโดยไม่สุจริต เช่น เมื่อตอนเป็นรัฐบาลหรือมีอำนาจ อาจใช้เงินงบประมาณไปในทางมิชอบ อย่างเช่น การโฆษณา การสร้างภาพพจน์ เพื่อสร้างคะแนนให้แก่พรรคหรือพวกพ้องของตน
3. สูญเสียงบประมาณของรัฐอย่างมากในการจัดการเลือกตั้งในทุกระดับ
4. มีการใช้อุบายกลโกงทุกรูปแบบในการหาเสียง และโจมตีนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ต่อต้านฝ่ายตรงข้ามโดยการใช้พลังมหาชน

การปกครองแบบเผด็จการ
ระบอบเผด็จการ เป็นระบบการปกครองที่ตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย ผู้ปกครองจะมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง โดยไม่สนใจสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การได้มาของการเป็นผู้นำในระบอบเผด็จการ มักจะเกิดจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร

หลักการสำคัญของการปกครองแบบเผด็จการ
หลักการสำคัญของระบอบเผด็จการเป็นไปในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
1. อำนาจรัฐอยู่เหนือประชาชน ไม่ยินยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ แต่ต้องปฏิบัติตามที่รัฐกำหนด ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือโต้แย้ง
2. เป็นการแก้ปัญหาโดยการใช้อำนาจ แก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรง เด็ดขาด ใช้อำนาจทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งต่อรัฐ
3. ปกครองประเทศโดยมุ่งเน้นประโยชน์ของภาครัฐมากกว่าสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
4. เน้นการเชื่อผู้นำพาชาติก้าวหน้า เพื่อสร้างศรัทธาและบารมีของผู้นำ
5. มีการรวมอำนาจปกครองไว้ในที่แห่งเดียว ศูนย์กลางในการสั่งการ คือ ตัวผู้นำซึ่งจะรวมทั้ง 3 สถาบันอยู่ในการปกครองของตนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว

รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ
ระบอบเผด็จการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1. เผด็จการแบบอำนาจนิยม ผู้นำของรัฐมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครอง มีการควบคุมสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน โดยมักอ้างลัทธิชาตินิยมในการสร้างความชอบธรรม ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชนยังมีสิทธิ เสรีภาพอยู่บ้าง การปกครองระบอบนี้ในปัจจุบัน เช่น ประเทศนิการากัว คิวบา กานา ไนจีเรีย ลิเบีย ซีเรีย จอร์แดน เกาหลีเหนือ อิหร่าน สหภาพพม่า
2. เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ผู้นำของรัฐมีอำนาจเด็ดขาดในด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สื่อมวลชน ได้แก่
1) เผด็จการฟาสซิสต์ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอิตาลี โดยเบนิโต มุสโสลินี ในช่วงประเทศเปลี่ยนแปลงทางสังคมสู่ระบบอุตสาหกรรม มุสโสลินีนำนโยบายการโฆษณา ชวนเชื่อ และสร้างภาพพจน์ให้ยึดมั่นในตัวผู้นำที่จะนำประเทศไปรอดได้ โดยถือว่า “ถ้าเชื่อผู้นำชาติไม่แตกสลาย” เน้นรักชาติหรือชาตินิยมที่รุนแรง ส่งเสริมกลุ่มนายทุน มีความเชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งที่ชอบธรรม
2) เผด็จการนาซี เป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนี โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นผู้นำ ได้รับอิทธิพลมาจากเผด็จการฟาสซิสต์ ที่เน้นความเป็นชาตินิยมและเชื้อชาตินิยม และเน้นให้ประชาชนมีความศรัทธา เคารพ เชื่อฟังผู้นำ และปลูกฝังในเรื่องความภูมิใจในชาติ
3) เผด็จการคอมมิวนิสต์ เป็นแนวความคิดของ คาร์ล มากซ์ (Karl Marx) มุ่งประเด็นการขัดแย้งระหว่างชนชั้น โดยถือว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นพลังสำคัญที่จะสร้างสังคมให้มีความชอบธรรม ผู้คนอยู่ดีกินดี มุ่งทำลายล้างระบบทุนนิยม ผ่านทางพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือว่าเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่เป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพ ให้ทำหน้าที่ปกครองบริหารประเทศ และขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมให้หมดสิ้นไป

ข้อดีของการปกครองแบบเผด็จการ
1. รัฐบาลสามารถดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกประเทศได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ โดยผู้นำมีอำนาจ ไม่ต้องฟังเสียงสนับสนุน หรือคัดค้านจากประชาชน
2. รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งภัยในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากได้ดี เพราะรัฐเป็นผู้ดำเนินการ
3. ทำให้ประชากรในประเทศเกิดวินัยในสังคมมากขึ้น

ข้อจำกัดของการปกครองแบบเผด็จการ
1. อาจเกิดความผิดพลาดจากการบริหารประเทศชาติ เพราะประชาชนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น โต้แย้งหรือคัดค้าน ดังนั้น หากผู้นำบริหารผิดพลาดย่อมส่งผลเสียหายต่อประเทศและประชาชนอย่างร้ายแรง
2. ประชาชนไม่มีสิทธิ เสรีภาพ ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว เพราะหากฝ่าฝืนจะต้องมีความผิดและรับโทษ
3. การดำเนินกิจกรรมต่างๆ จะเป็นไปตามนโยบายของพรรคการเมืองที่คุมอำนาจการบริหารประเทศเพียงพรรคเดียว ประชาชนส่วนรวมไม่มีอำนาจโต้แย้ง คัดค้าน หรือได้ร่วมกำหนดนโยบาย รัฐจึงต้องคอยสอดส่องติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คัดค้าน ไม่เห็นด้วยรวมทั้งลงโทษบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลา

หมายเลขบันทึก: 629587เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2017 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2017 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท