(152) คุณอำนวยผู้เชื่อมงานเชื่อมใจ


(15)

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน

ภารกิจและกิจกรรมที่ทำในวันนี้;

ภารกิจการงานวันนี้ยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ร่วมเป็นวิทยากรในการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร R2R Facilitator รุ่นที่ 4 หัวข้อที่ได้รับผิดชอบ คือ บทบาทของคุณอำนวยผู้เชื่อมงานเชื่อมคน ในรุ่นที่ 3 เมื่อปีก่อนมาแชร์ประสบการณ์การเป็นคุณอำนวยว่าผ่านปัญหาอุปสรรคอย่างไร และเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง สำหรับปีนี้เป้าหมายก็คงไม่แตกต่างกัน คือ สื่อความหมายถึงบทบาทของคุณอำนวยจากทั่วๆไปจนถึงในระดับมิติที่ลึกซึ้ง

มีนัดทานข้าวเช้ากับพี่กุ้ง ได้เจอทีมคุณอำนวยจากยโสธร พี่สุ พี่ปุ๋ม โจ๋ และน้องมด มีโอกาสได้ทำบุญแต่เช้ารับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงข้าวพี่ปิ๊กกับพี่ยุ้ย เป็นโอกาสที่ดีต่อใจมากๆ ของการได้ทำบุญสร้างทานบารมี หลังรับข้าวเสร็จได้รับการติดต่อสลับชั่วโมงในการบรรยาย

การเรียนรู้ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการบรรยาย หากแต่เปิดหนังสั้นให้ทุกคนได้ดู แล้วช่วยกันสะท้อนคิด มีทั้งหมดสามเรื่องระดับความลึกซึ้งแตกต่างกัน เป็นการสะท้อนให้เห็นบทบาททั้งเป็นผู้เฝ้ามอง ลงมือช่วยเหลือ และช่วยทำเรียนรู้ไปพร้อมกัน หัวใจที่สำคัญของการเป็นคุณอำนวย R2R คือ การนำพาผู้คนก้าวผ่านหลุมดำของความรู้สึกกลัวกังวลต่อการทำวิจัย การเรียนรู้จบลงภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงทุกครั้งที่ทำกระบวนการเช่นนี้ในฐานะของผู้เป็นวิทยากรกระบวนการมักจะได้รับและซึมซับพลังของการตื่นรู้ในการเรียนไปด้วย

ประมาณบ่ายสองโมงกว่าเดินทางกลับโชคดีที่ได้แท็กซี่ที่ขับรถสุภาพมาก เมื่อถึงสนามบินนั่งรอไม่นานก็ถึงเวลาออกเดินทาง

ข้อปฏิบัติในชีวิต;

- สวดมนต์ทำวัตรเช้า

- เตรียมอาหารถวายพระ

- นั่งสมาธิภาวนา เดินจงกลม

- เขียนถอดบทเรียนใคร่ครวญในตนเอง

- ศึกษาธรรมะจากการฟังเทศน์

- ทำวัตรเย็น

สำหรับวันนี้ข้อปฏิบัติแทบจะไม่ได้ทำเลย ทุกครั้งของชีวิตที่พัวพันกับการเดินทางมักจะมีผลลัพธ์ออกมาเช่นนี้ แต่โชคดีว่ายังได้ศึกษาธรรมะจากการฟังเทศน์ระหว่างขับรถจากสนามบินกลับมาบ้าน เวลาที่ฟังธรรมก็ศึกษาใคร่ครวญและน้อมกลับเข้ามาพิจารณาตนเองตามไปด้วย

ไม่ได้ทำอาหารถวายพระด้วยตัวเองแต่ก็มีแม่ออกที่วัดช่วยทำอาหารทุกวันโดยรับเป็นเจ้าภาพกองทุน อีกทั้งวันนี้ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพเลี้ยงข้าวพี่ๆ ก็ปิติอิ่มใจ

ทุกๆ ครั้งของการเดิน แม้จะเป็นการเดินทั่วๆ ไปก็มักจะกำหนดรู้จากการเดิน ก้าวขาขวา-พุทธ ก้าวขาซ้าย-โธ เป็นการฝึกกำกับและเจริญสติอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ได้เรียนรู้และคุณค่าที่เกิดขึ้นในชีวิต;

ทุกครั้งของการเดินทางมาร่วมทำภารกิจดีๆ กับอาจารย์หลายๆท่านในเครือข่าย R2R ประเทศไทยมักนำมาสู่การเรียนรู้ในตนเองเสมอ ได้เห็นวิธีคิดและเกิดการสะท้อนคิดในตนเอง ดั่งเช่นรอบนี้ การช่วยกันค้นหาความงดงามของงานวิจัยแต่ละเรื่อง ซึ่งงดงามทางความคิดอย่างเดียวไม่พอวิธีการต้องถูกต้องตามหลักการ(นั่นหมายถึงไม่บิดเบือนจริยธรรมทางการวิจัย) ความดีความงานผ่านผลงานสะท้อนให้เห็นถึงการได้รับการรับรองการันตีจากกรรมการว่าผลงานนี้สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้

การสอนบางอย่างอาจไม่จำเป็นต้องบรรยายการใช้สถานการณ์จริง และกระตุ้นให้เกิดการสะท้อนคิด สุดท้ายผู้สอนอาจทำหน้าที่เพียงสรุปเนื้อหาอย่างสั้นๆ การเรียนรู้แบบนี้มักทำให้เกิดเป็นพลังทั้งผู้เรียนและผู้สอน

ทุกๆ ครั้งของการทำภารกิจต่างๆ ถ้าเรามีจิตจดจ่อที่ดี พลังบวกมักจะเกิดขึ้นกับเราเสมอ การมีจิตจดจ่อนั่นหมายถึงการมีสติ สมาธิ สิ่งลบๆ หรือเรื่องราวลบๆ ก็จะไม่สามารถมารบกวนจิตใจเราได้

บทธรรมที่ได้ศึกษา;

“จิตใจเป็นของละเอียดอ่อน จะน้อมไปเป็นอะไรมันก็เป็นได้ จะน้อมไปทางไหนมันก็ไปทางนั้น มันสัมปยุตด้วยกับเรื่องใด เรื่องนั้นก็เป็นขึ้นมา จิตน้อมไปในทางบ้า มันก็เป็นบ้าขึ้นมา จิตน้อมไปในทางดี ก็เป็นคนดี ไปเป็นสัตว์ก็จิตอันนี้ ไปเป็นเปรต อสุรกาย ภูตผีปีศาจ ก็ไป จากจิตอันนี้ จิตนั้นพาให้เป็น ไม่ใช่สิ่งอื่นพาให้เป็นไป เป็นเทวบุตร เทพธิดา เป็นพระอินทร์ พระพรหม พญายม พญายักษ์ ก็จิตนี่แลเป็น ตลอดถึงคนมั่งมี คฤหบดี เศรษฐี พระราชามหากษัตริย์ หรือจะไปเป็นพระพุทธเจ้า ปัจเจกพุทธเจ้า อริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ก็จิตนี้เองเป็น ถ้าจิตไม่เป็นก็ไม่มีอะไรเป็น ธรรมทั้งหลายสำเร็จมาจากใจ...”

โอวาทธรรม

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ. สกลนคร

(พ.ศ. ๒๔๔๒ - ๒๕๒๐)

#Noteเตือนตนเอง

เมื่อนำบทธรรมนี้มาพิจารณาใคร่ครวญน้อมเข้าไปในใจตนเอง ตั้งคำถามกับตนเองว่า "เราต้องการอยากให้จิตเราเป็นอย่างไร" คำตอบที่ไม่ต้องลังเลสงสัยเลย ก็คงเป็น "จิตที่ดี" คงไม่มีใครอยากเป็นผู้มีจิตที่ชั่ว แต่บางครั้งที่ทำชั่วลงไปนั้นมาจากความไม่รู้ ความหลงผิดคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกต้อง ความน่ากลัวของจิตที่หลอกตนเองคือ "กูไม่ผิด" ตัวกูของกู ที่แสดงออกมาด้วยความหลงผิด แยกไม่ออกว่าสิ่งที่ตนเองกำลังกระทำ พูด และคิดนั้นเป็น "ธรรม" หรือเป็น "กิเลส"

การที่จะรู้เรื่องเหล่านี้ได้ จะต้องอาศับการฝึกฝนและมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ตลอดจนกัลยาณมิตรคอยชี้แนะตักเตือน เวลาที่มีคนมาตักเตือนหรือมาบอกมาเล่าอะไรให้ฟัง สิ่งแรกเลยที่ต้องทำคือ พิจารณาใคร่ครวญเป็นอย่างเรื่องเล่านั้นๆ ไหม ถ้าเป็นเรื่องที่ดีก็ให้ดีใจอย่างไม่หลง ถ้าไม่เป็นเรื่องที่ดีก็อย่าใจเสียจนเป็นประสาท ประคองใจตนทำความรู้และความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ นั้นด้วยสติ

01-06-2560


คำสำคัญ (Tags): #self reflection#mind#spiritual#r2r
หมายเลขบันทึก: 629284เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2017 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2017 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท