การแต่งสมดุลร่างกายด้วยธาตุ ๔(2) โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ


มันก็เหมือนกับการที่เราบรรจงเลี้ยงลูกด้วยความรัก ด้วยความทะนุ-ถนอม เราก็จะคอยเฝ้าสังเกต ระวังรักษา กิริยาอาการของลูกเราว่าเขาร้อนไปไหม หนาวไปไหม หิวหรือไม่ แล้วเป็นสุขหรือเปล่า ถ้าร้อนไปก็ลดความร้อน เติมเย็น หนาวไปก็เติมความอุ่น หิวก็เติมอาหาร ถ้ายังเป็นทุกข์ก็หาวิธีผ่อนคลาย
       
       
การสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า หลวงปู่พูดเมื่อครู่นี้ว่า ผู้ที่สามารถจะเอาธาตุภายในกายไปควบคุมสัมพันธภาพต่อธาตุภายนอกน่ะ ตรงนี้สำคัญ ตรงนี้ค่อนข้างจะหาได้ยาก หาได้ลำบาก แต่ก็ไม่ใช่ไม่มี ที่มันยากลำบาก ก็เพราะไม่มีใครคิดจะทำมัน เพราะมันทำยาก ลำบาก แต่จริงๆแล้วมันไม่ยาก ไม่ลำบาก ถ้าเราเป็นคนจริง ทำมันจริงๆ ศึกษามันจริงๆ ค้นคว้ามันจริงๆ แจ่มแจ้งมันจริงๆ
       
       
สมัยก่อนหลวงปู่อยู่ธิเบต เคยรู้จักพระลามะผู้เฒ่าหลายท่าน เขาฝึกโกลัมปะ คือสมาธิขั้นสูง ในถ้ำที่มีน้ำแข็ง วิธีของเขาคือ การเอาผ้าที่ทอด้วยขนจามรี ชุบน้ำให้เปียกแล้วใช้หุ้มห่อตัวแทนการใส่เสื้อผ้า เสร็จแล้วก็จุดธูปไว้ ๑ ก้าน ทำอย่างไรให้ภายใน ๑ ชั่วธูป ต้องทำให้ผ้านั้นแห้ง คนที่ทำได้ ก็ถือว่าสำเร็จวิชา
       
       
นี่เรียกว่าธรรมชาติในกายคุมสัมพันธภาพต่อธรรมชาตินอกกาย ทำให้เกิดกระบวนการที่เขากับมันอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข นั่นคือกระบวนการความมีสัมพันธภาพระหว่างธรรมชาติของธาตุภายในและภายนอก
       
       
อาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม ที่ที่เราอยู่ ยาที่เรากิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เราใช้ ที่นอนที่เรานอน สถานที่ที่เราไป บุคคลที่เราไปพบปะ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราจะรู้ว่าอะไรมันเหมาะกับเรา แล้วอะไรไม่เหมาะกับเรา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันจะบอกเรา และเราก็จะบอกมันได้ว่า มันควรจะอยู่กับเราหรือไม่ควรจะอยู่กับเรา มันควรจะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูต่อเรา
       
       
แม้แต่กระบวนการของอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง อยาก โง่ ขี้เกียจ ขยัน ฉลาด สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติภายในกาย ซึ่งเราต้องควบคุมและรักษาสมดุลของมันให้ได้ อย่าให้มันเป็นนายเรา แล้วเมื่อนั้นเราก็สามารถจะไปมีสัมพันธภาพหรือสร้างสัมพันธภาพกับธรรมชาติรอบกายหรือภายนอกกายเราได้
       
       
การมีชีวิตที่จะเรียนรู้จักธรรมชาติภายในและภายนอกกาย มันก็คือการรักษาสมดุลของธรรมชาติแห่งธาตุทั้งสี่ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต้องเป็นสมดุลอยู่ดี เพราะถ้าเรารู้จักว่า เออ..อันนี้น้ำน้อยไปนะ เติมน้ำให้เต็ม ไฟเยอะไปนะ หรี่ไฟลงหน่อย อันนี้ลมมากไปนะ ลดลมลงนิด อันนี้ดินหนาไป ทำให้บางลงหน่อย อะไรอย่างนี้ ชีวิตเราจะดูดี
       
       
หลวงปู่พูดแค่ว่าดูดี เอาแค่ดูดีในสายตาของเราพอแล้ว อย่าไปทำดีเพื่อให้คนอื่นเขาดู แต่จงทำดีเพื่อให้ตัวเราดู และเราดูว่ามันดี เมื่อเราดูว่ามันดีแล้ว มันใช้ได้ต่อกระบวนการ คนอื่นเขาหัวเราะ เราหัวเราะด้วย คนอื่นร้องไห้ เรายิ้ม คนอื่นเศร้าโศกเสียใจ เรามีเสรีภาพอิสระ คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน เรามีความสุขสมบูรณ์ คนอื่นขัดสนอดอยาก อนาถา เราพอดี พอมี พอกิน
       
       
ธรรมชาติสองสิ่งนี้จึงถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพุทธบริษัทหรือผู้คนทั้งหลายที่เกิดและอุบัติในโลกนี้ ที่ต้องรู้ ต้องเข้าใจ สิ่งเหล่านี้มันเป็นกระบวนการบริหารและการจัดการที่เราปฏิเสธมัน ไม่ใส่ใจมัน หนีห่างจากมัน แล้วเราก็ไปหาสิ่งอื่นๆ เรื่องอื่น และก็สรรพสิ่งอื่น สรรพวิญญาณอื่น สรรพวัตถุอื่นที่จะเรียนรู้มัน จะเข้าใจมัน แล้วก็ไปบริหารมัน แต่เราละทิ้งหลีกหนีการบริหารธรรมชาติทั้งในและก็นอกกายตน และคิดว่ามันไม่สำคัญ ดังนั้น ถ้าเราจะมานั่งรอคิดหาฤกษ์ยาม ที่จะมาจัดการกับธรรมชาติภายในกาย เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพกับธรรมชาตินอกกายอย่างนี้ละก็ หลวงปู่คิดว่าที่ผ่านมาชีวิตเราขาดทุน
       
       
ฉะนั้นการมีชีวิตเพื่อมาบริหารธาตุสี่ของเราให้มีศักยภาพ ให้มีคุณ-ภาพ และรักษาประสิทธิภาพ ทำให้เกิดประสิทธิผลในการได้ใช้มัน ศักยภาพ คุณภาพ ประสิทธิภาพ และก็ประสิทธิผลเหล่านี้นั้น เกิดขึ้นได้ก็ต้องมีกระบวนการรู้จริง รู้แจ้ง ไม่ใช่รู้จำ รู้จริงรู้แจ้งคือต้องรู้จักตัวเราเอง ที่หลวงปู่บอกว่าขอเพียงเรารู้จักตัวเองแท้ๆเถอะ ครูผู้ใจอารีที่หลับนิ่ง นอนเนื่องอยู่ในกมลสัน-ดานและจิตวิญญาณ ก็จะตื่นขึ้นมาและถ่ายทอดสรรพวิทยาทั้งปวงให้แก่เราได้รับรู้ บอกให้เรารู้ว่าเวลานี้เป็นเวลากลางวัน ธาตุอะไรมันจะนำหน้า เราต้องใช้ธาตุอะไรดับธาตุนี้ เพื่อความอยู่สบาย เวลานี้เป็นเวลาเช้าธาตุอะไรจะนำหน้า เราจะไม่สบาย ก็ต้องใช้ธาตุนี้ดับธาตุนี้สำหรับความอยู่สบาย
       
       
อย่างวิชาแพทย์แผนโบราณ เวลาเขาจะวางยา เขาจะต้องทำการตรวจสอบว่า ป่วยเป็นอะไร สมุฏฐานของโรคเกิดจากอะไร โดยเฉพาะแพย์จีนนี่ เขามีอยู่ ๔ ประการเท่านั้น มาวิเคราะห์ว่า ธาตุนี้มันหาย ธาตุนั้นมันบกพร่อง ธาตุนั้นมันหลุดไป ก็ต้องหาอาหาร หายา หรือหาเครื่องที่จะทำให้เกิดธาตุนี้ทดแทนขึ้นมา
       
       
ดังนั้น กระบวนการรักษาและการให้ยาของหมอโบราณส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเสริมสร้างสมดุลของธาตุภายในกาย ยาทั้งหลายที่หมอโบราณคิดค้น หรือทดลอง ทดสอบ พิสูจน์ สัมผัสทราบ เพื่อนำมาใช้ ไม่ได้ถือว่าเป็นทฤษฎี เพราะบางครั้งยาชนิดนี้ใช้กับคนคนนี้หาย อีกคนหนึ่งเป็นโรคเดียวกันก็ใช้ยาชนิดนี้หาย แต่อีกคนหนึ่งก็เป็นโรคนี้เหมือนกันแต่ใช้ยาชนิดนี้ไม่ได้ หรืออีกคนหนึ่งใช้ยาชนิดนี้แล้วตายก็มี หตุผลก็เพราะว่า หมอที่วางยาไม่รู้จริง แล้วก็รู้ไม่แจ่มแจ้ง ไม่เข้าใจลึกซึ้งว่า กระบวนการปรับสมดุลของธาตุในแต่ละคนนั้นมันไม่เท่ากัน
       
       
มีคนสงสัยว่า มหาประธานอิทธิบาทสี่ ยังให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายมีอายุยืนยาวอยู่ได้เป็นร้อยเป็นพันปีใช่ไหม ในมหาประธานอิทธิบาทสี่นั้นใจความสำคัญก็คือว่า มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา คือ พอใจ รักใคร่ เอาใจจดจ่อ ความขยันหมั่นเพียร และใช้ปัญญาใคร่ครวญในการที่จะรักษาสมดุลแห่งธาตุทั้งสี่นี้ให้คงรูป คงลักษณ์ อยู่ถาวร ถึงมันจะไม่ตลอดกาล ตลอดสมัย แต่ก็ให้มันใช้สมรรถนะ สมรรถภาพ ของมันจนครบอายุขัยแห่งเซลล์ทั้งหลายในกายนี้ ตามสภาพ สภาวะ ในภาษาธรรมะเรียกว่าสภาวะธรรม แค่นี้แหละ อายุขัยเราก็จะยืนยาวได้ ชีวิตเรา จิตวิญญาณเรา ร่างกายเรา ผิวหนังก็จะสด-ใส แช่มชื่นได้ สดชื่นได้
       
       
จึงสรุปได้ว่า การที่ท่านทั้งหลายจะเพียรพยายามรักษาสมดุลของธาตุสี่ หรือรักษาสัมพันธภาพระหว่างธาตุภายในกายและภายนอกกายให้ได้นั้น ก็ต้องเริ่มต้นมาจากการเป็นคนรู้จริง ไม่ใช่รู้จำ และก็จริงจัง ตั้งใจ จดจ่อ และจับจ้องในการที่จะเรียนรู้ ทำความรู้จักตัวเอง ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราทำ คำที่เราพูด สูตรที่เราคิด เรื่องทั้งหลายในชีวิตต้องผ่านการใคร่ครวญ กลั่นกรอง พินิจ พิจารณา ที่เราเรียกกันว่าต้องมีสติ
       
       
เมื่อเรามีสติในการใคร่ครวญ พิจารณา กลั่นกรอง และวิเคราะห์ พินิจ พิจารณา เราก็จะรู้ได้ว่า เวลานี้ร่างกายเราขาดธาตุอะไร เราต้องการเสริมธาตุอะไร เพื่อให้ร่างกายต้องการครบสมบูรณ์องค์ประกอบ เวลานี้ร่างกายเรามากไปด้วยธาตุอะไร เกินไปด้วยธาตุอะไร เราต้องใช้ธาตุอะไรมาทำลายมัน เพื่อให้คงไว้ซึ่งสมดุลของมัน การมีชีวิตอย่างนี้หลวงปู่เรียกมันว่าศิลปะ ถือว่ามันเป็นศิลปะในการดำรงชีวิต
       
       
มันไม่มีคัมภีร์เล่มใด ตำราเล่มใด หรือครูบาอาจารย์ เรื่องห้องเรียนห้องไหนเขาสอนกัน นอกจากการที่เราต้องไปสำเหนียก พิสูจน์ทราบ และสร้างสำนึกต่อความรับผิดชอบในการมีชีวิตของเราว่า เราเกิดมาแล้ว เราต้องรับผิดชอบมัน บริหารมัน จัดการมัน พัฒนามัน แล้วก็ให้ประโยชน์ต่อมัน ได้ประโยชน์กับมัน และท้ายที่สุด อย่ายึดติดในมัน
       
       
ที่หลวงปู่เขียนบทโศลกสอนลูกหลานไว้ว่า
       
       "
ลูกรัก...ใช้สมมติ ให้เกียรติในสมมติ ยอมรับสมมติ ได้ประโยชน์จากสมมติ ให้ประโยชน์กับสมมติ และสุดท้ายอย่ายึดติดในสิ่งที่เป็นสมมติ เพราะเราก็เป็นเพียงแค่ธาตุทั้งสี่ เมื่อเป็นอย่างนั้น ความเมาทั้งหลาย ความตะกละทั้งหลาย ความตะกรามทั้งหลาย ความขาดตกบกพร่อง ความตกหลุมตกร่อง ความไม่ถูกต้องทั้งปวง มันจะลดน้อย ถดถอย และหดหายลงไป
       
       
กระบวนการทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ถ้าเราเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เราจะรู้ซึ้งถึงการมีชีวิตว่า ชีวิตนี้ช่างเป็นทุกข์เดือดร้อน การบริหารกายนี้ช่างเป็นภาระอย่างยิ่ง การมีชีวิตอยู่ในกายนี้ช่างมีความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง แล้วเราก็จะไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่งมงาย ไม่ตกเป็นทาสของสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ หรือสรรพ-วัตถุ สรรพรูป สรรพรส สรรพเสียง สรรพกลิ่นใดๆ ทุกอย่างมันก็จะกลายเป็นความพอดี ความสมดุล
       
       
สิ่งที่พูดคุยให้ฟังนี้ มันเป็นการจัดการกับชีวิตที่ต้องมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดประสิทธิผล ชีวิตที่แท้จริงไม่ได้มาจากการขวนขวาย ไขว่คว้า ทะเยอทะยาน และต้องการตะกละแต่กับสิ่งนอกกาย ชีวิตที่แท้จริงมันก็คือการเรียนรู้ การศึกษา การสะสม การส่งเสริม และการสร้างสรรค์
       
       
หลวงปู่อยากบอกไว้ท้ายนี้ว่า เมื่อสิ่งต่างๆ เอื้ออาทรและเกื้อกูลกันดั่งนี้ เราเป็นผู้อาศัยสิ่งต่างๆ แต่กลับมาจ้องทำร้าย ทำลายล้างสิ่งต่างๆ ด้วยความคิดด้วยความเข้าใจ ด้วยวิถีคิด วิถีเข้าใจ แบบวิถีซาตาน คือเข้าข้างตัวเอง แล้วปฏิเสธคนอื่น เข้าข้างสิ่งที่ถูกแล้วปฏิเสธสิ่งที่ผิด
       
       
หลวงปู่เคยเขียนบทโศลกสอนลูกหลานไว้บทหนึ่งว่า
       
       
ลูกรัก... สำหรับคนฉลาด และมีปัญญา น้ำครำหนึ่งแก้ว ก็เอามากลั่นเป็นน้ำดีได้ตั้งหลายหยด
       
       
นั่นคือคนฉลาด คนมีปัญญา คนที่มีวิถีคิดอย่างนี้ คนที่มีวิถีชีวิตอย่างนี้ต่างหาก จึงควรจะเป็นคนที่เห็นวิถีนิพพาน วิถีนิพพาน คือความดับและเย็น คนดีก็ตาย คนชั่วก็ตาย ต่างคนต่างตาย และวิถีนิพพานมันเป็นเครื่องแสดงออก บอกให้เรารู้ว่า สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะโง่ก็ตาม ฉลาดก็ตาม จะดีก็ตาม จะชั่วก็ตาม จะได้ก็ตาม จะเสียก็ตาม จะอยู่ก็ตาม จะตายก็ตาม ทุกอย่างเป็นไปตามกฎของกรรม กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ ดี ชั่ว เลว หยาบ เขาเข้าใจถูกก็ตาม เข้าใจผิดก็ตาม มันเป็นอำนาจแห่งกรรม
       
       
วิถีของคนที่รู้เห็นพระนิพพาน เขาจะมองว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม เขาจะบอกว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกระบวนการแห่งการกระทำ และพฤติกรรม ที่ตัวเองนำเสนอออกมา และก็จะมองสัตว์โลกด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย ให้อภัย เห็นอกเห็นใจ ใครที่ทำผิดก็ให้อภัย เมตตา การุณย์ และช่วยเหลือเจือจุน ให้มีวิถีคิด วิถีชีวิต วิถีงาน วิถีจิต ที่เป็นวิถีของความแก้ไขได้ ก็คิดจะต้องช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ไข เหล่านี้ต่างหากคือคนที่เห็นหนทางแห่งพระนิพพาน เหล่านี้ต่างหากคือวิถีของคนที่เห็นนิพพาน
       
       
หมายเหตุ*** ถอดความจากเทปชุด "การแต่งสมดุลธาตุ ๔ ในร่างกาย"
หมายเลขบันทึก: 62881เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2006 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท