“ตัวอักษร” ที่ปรากฏในสิมอีสาน : ขนบการใช้งานผ่านฮูปแต้ม


“ตัวอักษร” ที่ปรากฏในสิมอีสาน : ขนบการใช้งานผ่านฮูปแต้ม

เฉลิมพล แสงแก้ว

สิม เป็นภาษาที่คนโบราณอีสานเรียกพระอุโบสถ ในภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งคำว่า สิม มาจากคำว่า “สีมา” หรือ “เสมา” หมายถึง หลักเขตการทำสังฆกรรมหรือสถานที่ใช้ประชุมทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ เช่น สวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท เป็นต้น
สีมาที่ปักเขตพระอุโบสถสำหรับทำพิธีสงฆ์เรียกว่า พัทธสีมา ส่วนสีมาที่สงฆ์ไม่ได้ปักเขตและมิได้กระทำพิธีกรรม เรียกว่า อพัทธสีมา พระอุโบสถมีใบเสมาเป็นสิ่งแสดงที่หมายนิมิตล้อมรอบตัวอาคาร 8 จุด เพื่อกำหนดเขตวิสุงคามสีมา เขตสังฆกรรมภายในองค์พัทธ์สีมาถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานสมมุติแห่งความดีงามโดยเฉพาะสิมอีสาน แต่อดีตจะถือกันเคร่งครัดมากว่า สตรีจะล่วงล้ำเข้าไปในเขตนั้นมิได้ เป็น “ขะลำ” เป็นสิ่งมิบังควร แม้ในเวลาบวชภิกษุสามเณรที่กระทำกันในสิม ตอนจะถวายบาตร จีวร จะต้องกระทำกันตรงบริเวณมุขที่ยื่นออกมาอันเป็นบริเวณภายนอกที่ปักใบเสมา (ไพโรจน์ สโมสร, 2532)
วิโรฒ ศรีสุโร (2536) ได้แบ่ง สิมอีสาน เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ตามการใช้สอย คือ สิมน้ำ (อุทกกเขปสีมา) และสิมบก ซึ่งสิมบก สามารถแบ่งออกได้อีก 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
1. ชนิดสิมโปร่งหรือสิมโถง ซึ่งแยกออกได้อีก 2 ประเภทดังนี้
1.1 สิมโปร่งพื้นบ้านบริสุทธิ์ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1.1.1 แบบไม่มีเสารับปีกนก
1.1.2 แบบมีเสารับปีกนก
1.2 สิมโปร่งพื้นบ้านประยุกต์โดยช่างพื้นบ้าน (รุ่นหลัง)
2. ชนิดสิมทึบ แยกออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
2.1 สิมทึบพื้นบ้านบริสุทธิ์ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
2.1.1 สร้างด้วยไม้
2.1.2 สร้างด้วยอิฐถือปูน แบ่งเป็น 2 แบบคือ แบบไม่มีเสารับปีกนก และแบบมีเสารับปีกนก
2.2 สิมทึบพื้นบ้านประยุกต์โดยช่างพื้นบ้าน(รุ่นหลัง) ซึ่งแบ่งตามช่างที่ทำ ได้ 2 แบบ คือ
2.2.1 ใช้ช่างพื้นบ้านไท-อีสาน
2.2.2 ใช้ช่างญวน หรือรับอิทธิพลช่างญวน แบ่งเป็น 4 แบบ คือ แบบไม่มีมุขหน้า
แบบมีมุขหน้า แบบมีมุขหน้าและมุขหลัง และแบบมีระเบียงรอบ
2.3 สิมทึบพื้นบ้านผสมเมืองหลวง(กรุงเทพฯ)
2.4 สิมทึบที่ลอกเลียนเมืองหลวง(กรุงเทพฯ)
จากการแบ่งประเภทของสิม ออกเป็นประเภทต่างๆของอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร นั้น จะเห็นได้ว่า เป็นการแบ่งตามโครงสร้างตัวสิม แบ่งตามวัสดุที่ใช้สร้าง แบ่งตามช่างที่ทำ และแบ่งตามศิลปะที่ปรากฏในตัวสิม ซึ่งในตัวสิมแบบที่เป็นสิมทึบมีการก่อผนังนี้เอง ได้ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งในพื้นถิ่นภาคอีสาน เรียกว่า “ฮูปแต้ม” ซึ่งอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงของสิมและฮูปแต้มไว้ว่า สิมก่อผนังเป็นสิมที่ปรากฏฮูปแต้ม เพราะเป็นสิมแบบเดียวที่มีเนื้อที่ของผนังเหมาะสมสำหรับการเขียนภาพมากที่สุด ช่างแต้มอีสานนิยมเขียนภาพบนผนังทั้งภายในและภายนอกทั้งสี่ด้าน โดยเฉพาะผนังด้านนอกถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน
ภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูปแต้ม เป็นงานศิลปกรรมที่มีคุณค่า บอกความเป็นมาของชาติและชุมชน ผ่านการเขียนเป็นรูป จารึกเป็นตัวอักษร ดังที่พบในถ้ำหรือหน้าผา เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง การแต้มฮูปจึงปรากฏบนผนังโบสถ์( สิม) ศาลาการเปรียญ(หอแจก) ทุง(ธง) เป็นต้น ทั้งที่เขียนบนฝนังภายในและภายนอกสิม ซึ่งเรื่องราวที่พบมีสามส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่หนึ่งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา เรื่องที่นิยมมากที่สุดคือเวสสันดรชาดก ส่วนที่สอง คือ นิทานและวรรณกรรมท้องถิ่น เช่น พระลัก-พระลาม ปาจิตต์-อรพิน กาละเกด สินไซ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในบางตอนของนิทาน โดยจารึกเป็นอักษรธรรมอีสานและอักษรไทยน้อย อธิบายกำกับอยู่เป็นบางตอน ด้านในของสิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ก็เขียนฮูปแต้มไว้บนผนังเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องราวพุทธประวัติ รูปพระพุทธเจ้า พระสาวก ส่วนที่สามเป็นภาพนิทาน และลวดลายภาพแบบต่างๆ ผนังภายนอกด้านหลังส่วนหนึ่ง เขียนเรื่องราวของนรกขุม แทรกกับการละเล่นพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต งานบุญประเพณีต่างๆ ของชาวบ้านที่สะท้อนวิถีชีวิตอขงคนอีสาน เช่น ประเพณีหดสงฆ์(พิธีเถราภิเษก) บุญผะเหวด(เวสสันดร) การรักษาโรค การค้าขาย การทำนา การทำมาหากิน ทอดแหหาปลา ปริศนาธรรม เป็นต้น ถือเป็นเอกลักษณ์ของช่างแต้มฮูปชาวอีสาน ที่ช่างวาดมักจะสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตดังกล่าวไว้ นอกจากจะได้ทราบเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาแล้ว ผู้มาเยี่ยมชมยังได้ทราบวิถีการดำรงชีวิตของคนอีสานในอดีตอีกด้วย จะเห็นว่า ฮูปแต้มเป็นผลงานของชาวบ้านที่เขียนขึ้น เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีจุดเด่น คือ สีที่ใช้เป็นสีฟ้าคราม เขียว ขาว ซึ่งเกิดจากฝีมือของชาวบ้านที่เคยบวชเรียน มีความรู้ มีคุณค่ากลั่นออกมาจากความจริงใจ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นอีสาน (สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 2551)
จากข้อมูลการศึกษาของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามดังกล่าวข้างต้นประกอบกับการลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานของผู้เขียน สังเกตเห็นมีตัวอักษรปรากฏอยู่ เป็นลักษณะการเขียนตัวอักษรกำกับฮูปแต้มหรือเขียนอักษรอธิบายฮูปแต้ม ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจตัวอักษรที่ปรากฏในฮูปแต้มบนผนังสิมอีสาน ว่ามีอักษรอะไรบ้างและมีขนบการใช้อย่างไร ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้อธิบายว่า อักษร เป็นคำนาม หมายถึง ตัวหนังสือหรือวิชาหนังสือ ซึ่งอาจารย์ไฟโรจน์ สโมสรได้เขียนไว้ในหนังสือจิตรกรรม ฝาผนังอีสานว่า สิ่งที่แสดงเอกลักษณ์ของฮูปแต้มอีสานอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวอักษรบรรยายภาพซึ่งมีทั้งตัวอักษรธรรม อักษรไทยและอักษรไทยปัจจุบัน อักษรเหล่านี้เป็นตัวเสริมให้ผู้ชมภาพเกิดความเข้าใจในภาพ บางคำแสดงฉากของเรื่องนำมาวาด บางคำบอกเฉพาะชื่อตัวละคร ในเรื่อง ตัวอักษรไทยปัจจุบันเป็นตัวอักษรที่เติมเข้าไปใหม่เนื่องจากชาวบ้านในปัจจุบันน้อยคนที่จะอ่านตัวอักษรแบบเดิมได้
อักษรตัวธรรม คือตัวอักษรที่มีลักษณะกลมคล้ายอักษรมอญ ซึ่งยอร์ช เซเตส์ เรียกว่า หนังสือธรรม เป็นอักษรที่ใช้ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และยูนาน เพื่อบันทึกเรื่องราวทางคติธรรม เพ็ญพักตร์ ลิ้มสัมพันธ์ (2526) ได้ให้ความหมายของ อักษรธรรมอีสาน หมายถึง อักษรที่กลุ่มชนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณใกล้เคียงกับลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งดินแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ใช้จดบันทึกข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ดังหลักฐานซึ่ง นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ กล่าวไว้ว่า “เป็นประเพณีของชาวภาคอีสานมาแต่โบราณกาลว่า โดยเฉพาะผู้ชายที่อยู่ในหมู่บ้านในเมือง จะอ่านหนังสือได้แทบทุกคน เว้นแต่คนป่าคนดอย ทั้งนี้ เพราะทุกหมู่บ้านในภาคอีสานจะมีวัด เด็กอายุสิบกว่าขวบ พ่อแม่จะให้บวชเป็น “จัว” (สามเณร) เพื่อรับการศึกษาขั้นต้น จะต้องเรียนธรรมะ เรียนอ่านและจารหนังสือ ตัวอักษรหรือตัวหนังสือในภาคอีสานมี 2 อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่าตัวธรรม คำสอนทางศาสนาต้องจารด้วยตัวธรรม” ในปัจจุบันยังมีปรากฏอยู่ทั่วไปในหนังสือใบลาน หรือหนังสือผูก ที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เช่น หนังสือลำผะเหวด (เวสสันดร) ที่พระสงฆ์ใช้เทศในงานบุญผะเหวด และหนังสือชาดกต่างๆ (พระครูสุเทพสารคุณ และคณะ, 2544) ส่วนอักษรไทยน้อย หมายถึง อักษรที่ใช้อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และอาณาจักรล้านช้างในสมัยก่อน มีรูปแบบคล้ายอักษรไทยแต่ต่างออกไปอยู่บ้าง อักษรลาวในปัจจุบันก็ได้วิวัฒนาการจากอักษรไทยน้อยนี้เอง อักษรไทยน้อยนี้ชาวอีสานใช้บันทึกเรื่อราวทั่วๆไป อันได้แก่ วรรณกรรม การจดบันทึก วิชาการที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ สรุปว่าอักษรไทยน้อยใช้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับคดีโลก ในปัจจุบันมีปรากฏอยู่ทั่วไปในหนังสือใบลาน หรือหนังสือผูก ที่เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านประเภทนิทานต่างๆรวมทั้งวรรณกรรมที่เกี่ยวกับยาสมุนไพร ตำราหมอดู ซึ่งมีทั้งชนิด “ลานยาว” (ใบลานที่จารึกตัวอักษรมีขนาดยาวประมาณ 19 นิ้ว) เรียกว่า “หนังสือผูก” และชนิดลานสั้น (ใบลานที่มีจารึกมีขนาดยาวครึ่งหนึ่งของลานยาวคือประมาณ 9 นิ้ว) เรียกว่า “หนังสือก้อม” (พระครูสุเทพสารคุณ และคณะ, 2544) ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน ที่อธิบายว่า อักษรไทยน้อยและอักษรธรรม เป็นอักษรที่ใช้ในสังคมลุ่มน้ำโขงมาแต่สมัยโบราณ คือทั้งอาณาจักรล้านช้างและภาคอีสานของไทย อักษรไทยน้อยนี้ใช้เป็นอักษรทางราชการของอาณาจักรล้านช้างและใช้บันทึกเรื่องราวที่เป็นคดีโลก ส่วนอักษรตัวธรรมนั้นชาวลุ่มน้ำโขงจะใช้บันทึกพระธรรมคัมภีร์ ตำราวิชาการชาดก และคาถาอาคมต่างๆ ซึ่งถือกันว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์

ต่อมาชาวอีสานได้รับอิทธิพลอักษรไทย สมัยมีการตั้งโรงเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ปี พ.ศ. 2464 ชาวอีสานจึงเรียนอักษรไทยในโรงเรียน และเลิกเรียนอักษรไทยน้อยที่วัดตามระบบการศึกษาแบบจารีตของท้องถิ่น ฉะนั้นอักษรธรรมอีสานและอักษรไทยน้อยจึงลดความสำคัญลง อิทธิพลวัฒนธรรมจากเมืองหลวงจึงแพร่หลายเข้ามาในดินแดนอีสาน จนปัจจุบันชาวอีสานที่อ่านและเขียนอักษรธรรมอีสานและอักษรไทยน้อยได้จึงมีอยู่จำนวนน้อย ยกเว้นผู้ที่ศึกษามาจากวัด หรือผู้ที่ชำนาญทางพิธีกรรมต่างๆ เช่น หมอแผนโบราณ และพระสงฆ์บางรูปเท่านั้น(เพ็ญพักตร์ ลิ้มสัมพันธ์, 2526)


ในการลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ระหว่างวันที่ 23 – 26 ตุลาคม 2557 ของผู้เขียน จากการสังเกต สอบถามและบันทึกภาพ ฮูปแต้มในสิมอีสาน พบว่าในฮูปแต้มของสิมมีตัวอักษรธรรมอีสาน ตัวอักษรไทยน้อย และตัวอักษรไทยปัจจุบัน ปรากฏอยู่ในลักษณะเขียนกำกับภาพและอธิบายภาพ ซึ่งในฮูปแต้ม มีการใช้อักษรธรรมอีสานมากที่สุด ซึ่งสามารถสรุปเป็นตารางได้ดังนี้คือ

ลำดับที่

สิมและสถานที่ตั้ง

พ.ศ.ที่สร้างสิม

ตัวอักษรที่พบในฮูปแต้ม

1

สิมวัดป่าเลไลย์ บ้านหนองพอก จ.มหาสารคาม

2400

อักษรธรรม

2

สิมวัดประตูชัย บ้านประตูชัย จ.ร้อยเอ็ด

2441

อักษรธรรม อักษรไทยน้อย อักษรไทยปัจจุบัน

3

สิมวัดโพธาราม บ้านดงบัง จ.มหาสารคาม

2451

อักษรธรรม

4

สิมวัดสระบัวแก้ว บ้านสระวังคูณ จ.ขอนแก่น

2466

อักษรธรรม อักษรไทยน้อย อักษรไทยปัจจุบัน

5

สิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม บ้านหัวหนอง
จ.ขอนแก่น

2466

อักษรธรรม อักษรไทยปัจจุบัน

6

สิมวัดมัชฌิมวิทยาราม บ้านลาน จ.ขอนแก่น

2470

อักษรธรรม อักษรไทยปัจจุบัน

ที่มาข้อมูลพ.ศ.ที่สร้างสิม : บุรินทร์ เปล่งดีสกุล. (2555).พัฒนาการของจิตรกรรมฝาผนังอีสาน กรณีศึกษาจังหวัดขอนแก่น จังหวัด มหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด.
ขนบการใช้ตัวอักษรในการเขียนกำกับหรืออธิบายฮูปแต้ม ส่วนใหญ่เป็นไปตามแบบ คือ ฮูปแต้มที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหรือคดีธรรม เช่น พระเวสสันดรชาดก พระมาลัยโปรดสัตว์ นรกภูมิ จะใช้ตัวอักษรธรรมอีสานในการเขียนกำกับภาพหรืออธิบายภาพให้ทราบว่าเป็นตอนใด ส่วนฮูปแต้มที่เป็นเรื่องราวทางคดีโลก เช่น นิทาน วรรณกรรม ประเพณี วิถีชีวิต จะใช้ตัวอักษรไทน้อยและตัวอักษรไทยปัจจุบันเขียนกำกับภาพหรืออธิบายภาพจากขนบในการใช้ตัวอักษรแต่ละประเภทที่กล่าวมานี้ ก็ยังมีการใช้ตัวอักษรที่ต่างขนบอยู่ดังจะเห็นได้จากฮูปแต้มด้านหน้าประตูทางเข้าของสิมวัดสระบัวแก้ว บ้านวังคูณ ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณี และวิถีชีวิตแต่ใช้ตัวอักษรธรรมในการเขียนกำกับและการเขียนอธิบายฮูปแต้ม ในฮูปแต้มสิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม การใช้ตัวอักษรในการเขียนในประโยคเดียวกันก็มีการใช้อักษรผสมกันทั้งอักษรธรรมและอักษรไทยปัจจุบัน ในสิมวัดประตูชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ก็มีการใช้ตัวอักษรทั้งตัวอักษรธรรม ตัวอักษรไทยน้อย ตัวอักษรไทยปัจจุบัน ผสมกันในข้อความตอนเดียวกัน ซึ่งบอกเล่าถึงชื่อผู้สร้างสิมและปีที่สร้างบริเวณฮูปแต้มเหนือประตูทางเข้า และเมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับ ปี พ.ศ.ที่สร้างสิมของวัดต่างๆแล้ว จะเห็นว่าสร้างในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือ ระหว่าง พ.ศ. 2400 ถึง พ.ศ. 2470 ซึ่งประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ปี พ.ศ. 2464 มีการเรียนอักษรไทยในโรงเรียน การใช้อักษรธรรมและอักษรไทยน้อยจึงลดความนิยมลง มีการใช้อักษรไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นที่มาของตัวอักษรไทยที่ปรากฎในฮูปแต้มสิมอีสาน เมื่อมีการบูรณะสิมเดิมหรือสร้างสิมใหม่ขึ้น หลังปี พ.ศ. 2464


ดังนั้น จากขนบการใช้ตัวอักษรในฮูปแต้มสิมอีสาน ที่ใช้ตัวอักษรธรรมในการเขียนกำกับหรืออธิบายฮูปแต้มที่เป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา(เรื่องราวทางธรรม) ใช้ตัวอักษรไทยน้อยในการเขียนกำกับหรืออธิบายฮูปแต้ม ที่เป็นเรื่องราวทางวรรณกรรม วิถีชีวิต (เรื่องราวทางโลก) และมีการใช้อักษรไทยปัจจุบันรวมอยู่ด้วย หรือแม้กระทั่ง มีการใช้ปะปน ผสมกันทั้งตัวอักษรธรรม ตัวอักษรไทยน้อย และตัวอักษรไทยปัจจุบัน ในเรื่องราวทั้งทางโลกและ ทางธรรม(พระพุทธศาสนา) โดยไม่ยึดขนบ ซึ่งอาจเกิดจากความตั้งใจ หรือความสามารถในการเขียนตัวอักษร ที่มีภูมิรู้ ความชำนาญแตกต่างกันของช่างผู้เขียน หรือมีการเพิ่มเติมในภายหลังเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ ก็ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดซึ่งต้องอาศัยหลักฐานและผู้รู้มาคลี่คลายข้อสงสัยนี้ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

จารุบุตร เรืองสุวรรณ. ของดีอีสาน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา; 2520.
บุรินทร์ เปล่งดีสกุล. พัฒนาการของจิตรกรรมฝาผนังอีสาน กรณีศึกษาจังหวัดขอนแก่น จังหวัด มหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2555.
พระครูสุเทพสารคุณและคณะ. มรดกไทอีสานฉบับสมบูรณ์. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา; 2544.

ไพโรจน์ สโมสร. จิตรกรรมฝาผนังอีสาน. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์ปริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด; 2532.
เพ็ญพักตร์ ลิ้มสัมพันธ์. อักษรธรรมอีสาน. นครปฐม: แผนกบริการกลาง สำนักงานอธิการบดี
พระราชวังสนามจันทร์มหาวิทยาลัยศิลปากร; 2526.

วิโรฒ ศรีสุโร. สิมอีสาน. กรุงเทพมหานคร: บริษัท เมฆาเพลส จำกัด; 2536.
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. โครงการอนุรักษ์ภาพจิตกรรมฝาผนัง(ฮูปแต้ม)
ในจังหวัดมหาสารคาม.
มหาสารคาม: โรงพิมพ์สารคามการพิมพ์-สารคามเปเปอร์; 2551.

__________ . สาราณุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์; 2542.

หมายเลขบันทึก: 628583เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2017 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2017 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท