ธุรกิจพอเพียง ๐๐๒ : ​BAR จาก อ.พีร์ ก่อนวง PLC ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐


เรียน ผอ.เขต ๓๕, รองผอ.เขต ตลอดจนผู้บริหาร และครูทุกท่าน

(ในกรณีที่ท่านยังไม่มีเวลาอ่านรายละเอียดทั้งหมดของบันทึกฉบับนี้ ท่านสามารถข้ามไปอ่านย่อหน้าสุดท้ายก่อนได้ครับ)

เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๐ ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ผมได้รายงานและหารือ ท่านผู้อำนวยการเขต สพม.๓๕ (ผอ.พิทยา ไชยมงคล) อย่างไม่เป็นทางการ ถึงผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ

“การขับเคลื่อนนโยบายโรงเรียนนวัตกรโดยรูปแบบการเรียนรู้ธุรกิจพอเพียง” ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีครูผู้เข้าร่วมการประชุม แสดงความจำนงให้ทีมงานของธุรกิจพอเพียง ไปร่วมหารือกับผู้บริหารที่โรงเรียน เพื่อมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะจัดการเรียนรู้ ‘ธุรกิจพอเพียง’ ในรูปแบบต่างๆ

ทีมงานธุรกิจพอเพียง ได้ใช้โอกาสระหว่างวันที่ ๑-๑๐ เมษายน ๒๕๖๐ ตระเวณไปตามโรงเรียนต่างๆที่เชิญมา ได้พบกับผู้บริหารไม่ว่าระดับผู้อำนวยการ หรือ รองผู้อำนวยการ จนครบตามที่มีการแสดงความจำนงเข้ามา ในการไปเยือนเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น ทีมงาน ‘ธุรกิจพอเพียง’ มีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับแต่ละโรงเรียน ตลอดจนได้เรียนรู้บริบทเบื้องต้นของแต่ละโรง และพอมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน จึงเสนอต่อท่านผอ.เขต ๓๕ ว่า น่าจะจัดการประชุมหารือในรูปแบบกึ่ง PLC สักครั้งหนึ่ง

เมื่อท่านผู้อำนวยการเขต ๓๕ เห็นด้วยและกำหนดวันในช่วงเปิดภาคการศึกษา ๑/๒๕๖๐ เป็นวันที่ ๒๓ พฤษภาคมผมได้พยายามสื่อสารให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านทราบโดยวาจา หรือ ทางไลน์ล่วงหน้าอย่างไม่เป็นทางการรวมทั้งชักชวนโรงเรียนนอกเขตสพม.๓๕ แต่สนใจและขับเคลื่อนแนวคิด ‘ธุรกิจพอเพียง’ มาร่วมสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ครั้งนี้ด้วย

มีโรงเรียนที่ตอบรับคำเชิญดังต่อไปนี้

๑. โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขลางค์นคร (พร้อมกับเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ)

๒. โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย

๓. โรงเรียนทุ่งอุดมวิทยา

๔. โรงเรียนประชารัฐธรรมคุณ

๕. โรงเรียนลำปางกัลยาณี

๖. โรงเรียนธีรกานท์บ้านโฮ่ง

๗. โรงเรียนแม่ทะประชาสามัคคี

๘. โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา

๙. โรงเรียนทุ่งหัวช้างพิทยาคม

โดยมีโรงเรียนนอกเขตสพม.๓๕ ซึ่งขับเคลื่อนแนวคิด ‘ธุรกิจพอเพียง’ และผมได้ขอเชิญมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย ดังนี้

๑๐.โรงเรียนยูงทองพิทยาคม จ.อุดรธานี

๑๑. โรงเรียนคอนสวรรค์จ.ชัยภูมิ

๑๒. โรงเรียนแก้งสนามนางพิทยาคม จ.นครราชสีมา

และอีกสองโรงเรียนที่ให้ความสนใจ ‘ธุรกิจพอเพียง’ แต่ยังไม่ได้ขับเคลื่อน ได้แก่

๑๓. โรงเรียนทาขุมเงินวิทยาคาร จ.ลำพูน สพม.๓๕

๑๔. โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จ.นนทบุรี สพม.๓

เช้าวันนี้ ผมได้อ่านบันทึกของ ท่านศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ใน Gotoknow หัวข้อ ‘การศึกษากับการเมืองไทย’ ซึ่งอ้างถึง บทความเรื่อง Poor schools are at the heart of Thailand’s political malaise ในนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ บอกว่า ในประเทศไทยการลดช่องว่างของคุณภาพการศึกษาระหว่างเมืองกับชนบท เป็นเรื่องสำคัญต่อการลดความขัดแย้ง ทางการเมืองระหว่างชนบทกับเมือง ที่คุกรุ่นอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ผมมั่นใจว่า แนวคิด ‘ธุรกิจพอเพียง’ ซึ่งให้โอกาสนักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ โดยมีหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกำกับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างแน่นอน

แนวคิด ‘ธุรกิจพอเพียง’ ที่ผมนำเสนอต่อ สำนักมัธยมปลายฯ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ถึง สิงหาคม ๒๕๕๙ และได้รับการตอบรับจากโรงเรียนมัธยมในสังกัดสพฐ.ทั่วประเทศ มากกว่า ๕๐๐ แห่งนั้น มุ่งให้เกิดความสงสัยใครรู้ มุ่งให้เกิดความชำนาญ มุ่งให้เกิดความกล้าที่จะสร้างรายได้ด้วยตัวเองและมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้ในอนาคตอันจะทำให้มีส่วนในการลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมของประเทศ

‘ธุรกิจพอเพียง’ เป็นแนวคิดทางการศึกษาที่มุ่งไปยังการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นมัธยมรวมทั้งในระดับอุดมศึกษา เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงง่าย (volatile), ไม่แน่นอน (uncertain), สลับซับซ้อน (complex) และคลุมเครือ (ambiguous) บนความเชื่อในผลการวิจัยด้านการทำงานของสมอง (Neuroscience) ด้านศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ (Cognitive Science) และด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ (Learning Psychology) ว่าการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากการสอนหรือถ่ายทอดความรู้แต่เกิดจากการกระทำของผู้เรียน ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด โดยมีครูคอยช่วยเหลือให้ศิษย์เรียนแล้วรู้จริงในความรู้ที่จำเป็น โดยไม่ต้องรู้เนื้อหาสาระทั้งหมดตามมาตรฐานกลาง แต่สามารถเชื่อมโยงความรู้ และเอาตัวรอดเพื่อประโยชน์สุขอย่างยั่งยืนทั้งตนเองและผู้อื่น หรือกล่าวอีกนัยยะคือ สามารถบูรณาการทั้ง Attitude, Skills และ Knowledge นั่นเอง (หนึ่งในทีมงานของ ‘ธุรกิจพอเพียง’ นิยมเรียกว่า วิชาการ-วิชาชีพ-วิชาชีวิต แม้โดยความหมายของถ้อยคำจะไม่ตรงกัน แต่ผมถือว่าในความหมายปลายทางแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน)*

สิ่งที่บันทึกฉบับนี้มุ่งหวังที่จะสื่อสารกับท่านผู้บริหารและครู ก่อนการพบปะกันในวง PLC วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ คือ

(๑) ความเข้าใจที่ตรงหรือใกล้เคียงกันของคำว่า ‘ผู้ประกอบการ, ธุรกิจ และนวัตกรรม’ โดยขออนุญาตดัดแปลงข้อความบางตอนของ ดร.นารา กิตติเมธีกุล มาให้ความกระจ่าง ณ ที่นี้

...“การเป็นผู้ประกอบการเป็นคุณสมบัติของบุคคลที่จะสร้างการพัฒนาให้กับองค์กร ซึ่งการเป็นผู้ประกอบการไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การเป็นผู้ดำเนินการทางธุรกิจเท่านั้น แต่หมายถึงบุคคลที่อยู่ในองค์กรทุกระดับ ซึ่งมีบุคลิกภาพแบบพิเศษในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ การพัฒนาความคิดใหม่ๆ แบบไม่หยุดยั้ง กล้าได้กล้าเสีย การสร้างความผู้ประกอบการใน DNA ขององค์นั้น จะเป็นการสร้างพฤติกรรมขององค์กรที่มีความเป็นผู้ประกอบการในทุกระดับ ซึ่งจะต้องแบ่งออกเป็น 5 Module คือ

• นักตั้งเป้าหมายของชีวิต

• นักแสวงหาโอกาส

• นักสร้างสรรค์และนวัตกร

• นักบริหารทรัพยากร

• นักจัดการความเสี่ยง”

(๒) ‘ธุรกิจพอเพียง’ โดยถ้อยคำก็ประกอบด้วยคำว่า ‘ธุรกิจ’ + ‘พอเพียง’ จึงเป็นไปไม่ได้ว่ารูปแบบการเรียนรู้ใดๆที่ขาดคุณลักษณะทั้งสองประการนี้จะเรียกว่า รูปแบบการเรียนรู้ธุรกิจพอเพียง

คำว่า ‘พอเพียง’ เป็นการย่อคำจาก หลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งถือเป็นหลักคิดที่ดีที่สุดในโลก เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งองค์กรสหประชาชาติเสนอให้เป็นแนวคิดสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก และเป็นที่คุ้นเคยกันในวงการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัดของสพฐ. คงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะมากล่าวซ้ำในที่นี้

เพราะฉะนั้นคำว่า ‘ธุรกิจ’ จึงมิได้หมายความว่าเอามาแทนที่คำว่า ‘เศรษฐกิจ’ และเกิดเป็นทฤษฎีใหม่ขึ้นมาอีก นั่นคงเป็นความเข้าใจเอาเองที่ผิดอย่างยิ่ง ‘ธุรกิจพอเพียง’ นั้นหมายความถึง การทำธุรกิจ หรือ การฝึกทำโครงงานธุรกิจ โดยน้อมนำหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

คำว่า ‘ธุรกิจ’ ในความหมายของ ‘ธุรกิจพอเพียง’ เน้นไปยังการคิด และมีความหมายเฉพาะตามคำจำกัดความที่ให้ไว้ในบทความเรื่อง “ธุรกิจพอเพียง กับบทบาทของนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา” ดังนี้

‘การคิดเชิงธุรกิจ’ (Business Method of Thinking) หมายถึง กระบวนการพิจารณาในการทำกิจกรรมใดๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้ของมนุษย์ ด้วยการซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยน โดยรู้จักสำรวจปัญหาและข้อมูลที่จำเป็นในวิถีชีวิต เพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆที่สอดคล้องกับศักยภาพของตนมาวางแผนผลิตสินค้าหรือให้บริการ โดยคำนึงถึงปัจจัยการผลิต ไม่ว่ากำลังคน, การเงิน, สถานที่, ทรัพยากร, การจัดการ, เทคโนโลยี, การตลาดและการแข่งขัน, การขาย, การเจรจาต่อรอง, การรักษาชื่อเสียง การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ความรับผิดชอบต่อผู้ซี้อ, ความเสี่ยงต่อปัจจัยภายนอก มีการคาดคะเนในผลกำไร, ยอดขาย บนความยั่งยืนทั้งของตนเองและผู้อื่น

จะเห็นได้ว่า ‘การคิดเชิงธุรกิจ’ ในความหมายของ ‘ธุรกิจพอเพียง’ มีการเพิ่มเติมขึ้นจากความหมายธุรกิจทั่วๆไป

• ตอบสนองความต้องการที่แท้ของมนุษย์

• ต้องมีการสำรวจ (ปัญหา) ความจำเป็นในวิถีชีวิต

• บนความยั่งยืนของตนเองและผู้อื่น

แต่ก็หนีไม่พ้นจากความรู้และทักษะพื้นฐานของการทำธุรกิจ และการระบุคำจำกัดความนี้ มิได้มุ่งให้เน้นสอนในทางทฤษฎี แต่ให้เริ่มจากการฝึกมองปัญหาให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ รู้จักใช้ศักยภาพและเงื่อนไขรอบๆตัวมาสร้างสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด โดยเฉพาะตลาดแห่งอนาคตที่อยู่บนโลก online

(๓) ‘ธุรกิจพอเพียง’ มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ มุ่งให้เกิดการสร้างความรู้โดยผู้เรียน มุ่งให้เกิดทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ มุ่งไปยังการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) และพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนเปลง (Chang Agent) ในที่สุด

การจะมุ่งเช่นนี้ได้ครูจะต้องสนใจและสอนแบบ active learning และยอมรับจากภายในว่า บทบาทของครูต่อนักเรียน ต่อตนเอง และต่อเพื่อนครูด้วยกัน จะต้องเปลี่ยนไป

(๔) ข้อเสนอของบทบาทของ ‘ครู’ ที่จะต้องเปลี่ยนไป*

๔.๑ บทบาทต่อนักเรียนจาก “ครูสอน” ไปเป็น “ครูฝึก” เพิ่มพูนทักษะดังเช่น
๔.๑.๑ ทักษะการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงาน
๔.๑.๒ ทักษะการตั้งโจทย์ชิ้นงานให้ทีมนักเรียนทำเพื่อเรียนรู้
๔.๑.๓ ทักษะการกระตุ้นความใฝ่รู้ หรือสร้างแรงบันดาลใจ ต่อการเรียนรู้ของศิษย์
๔.๑.๔ ทักษะการตั้งคำถามเพื่อยั่วยุท้าทายนักเรียน
๔.๑.๕ ทักษะการชื่นชมความอดทนมานะพยายาม
๔.๑.๖ ทักษะการยับยั้งตนเองให้ไม่ตอบคำถามของศิษย์ที่ถามเนื้อความรู้ที่เขาควรค้นหาเองได้
๔.๑.๗ ทักษะในการประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียน (Embedded Formative Assessment) และการสะท้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Feedback)

๔.๒ บทบาทต่อตนเอง ==> จาก “ครูสอน” สู่การเป็น “ครูฝึก” แล้วเป็น “ครูนักเรียนรู้” โดยพัฒนาฉันทะและทักษะในการเรียนรู้สะสม (รวมทั้งแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสอนวิชาของตน)

๔.๓. บทบาทต่อเพื่อนครู ==> PLC และ วงกลมกัลยาณมิตร

(๕) ’ธุรกิจพอเพียง’ สนใจและมุ่งพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล รวมทั้งพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สำหรับประเด็นนี้ ครูนภาลิน ครรชิตวัฒนาได้ไปช่วยวางแผนและสอน ‘ธุรกิจพอเพียง’ ที่โรงเรียนยูงทองพิทยาคม อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี้ ได้พบกรณีความสำเร็จและกรณีศึกษา จากห้องเรียน ๔/๓ มีเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าติดตามมากมาย (สามารถติดตามได้ใน blog ของท่านได้ในอนาคต)

(๖) คำว่า ‘อาสาสมัคร’ ในความหมายของ ’ธุรกิจพอเพียง’ ไม่ได้หมายถึงทำงานให้ฟรี และไม่ได้แปลว่า ถึงโรงเรียนจะไม่มีงบประมาณ ก็จะเลิกทำ

ในทางตรงกันข้ามผมเชื่อว่ายังมี ‘พลังสร้างสรรค์’ ที่ต้องการสนับสนุนการศึกษาไทยอีกมากมาย การศึกษาไทยซึ่งเป็นหนทางสำคัญที่สุดที่จะพัฒนา ‘คน’ และ พัฒนา ‘ประเทศ’ แต่ทำอย่างไรจึงจะมีโครงสร้างและพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ ‘พลังสร้างสรรค์’ เหล่านี้ได้มีโอกาสสนับสนุนการศึกษาที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้วิธีการเดียวกับส่วนกลาง แนวคิด ‘ธุรกิจพอเพียง’ เชื่อว่า ความหลากหลายคือความงดงามอย่างยิ่ง โดยความหลากหลายนั้นยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กรอบนโยบาย และไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การสนับสนุนไม่ได้หมายถึง เป็นแค่ผู้มีจิตศรัทธา เอาเงินไปให้โรงเรียนในฐานะผู้ปกครอง แล้วในที่สุดก็มีแต่โรงเรียนชั้นดีในเมืองเท่านั้น ยิ่งทำให้ทุกอย่างห่างออกไปเรื่อยๆ

‘พลังสร้างสรรค์’ เหล่านี้ยังขาดการจัดการและเชื่อมโยงที่เป็นระบบ แนวคิด

แนวคิด ‘ธุรกิจพอเพียง’ เชื่อว่าการนำเสนอแต่ความคิดเห็นเชิงลบ คงไม่ได้ช่วยให้การศึกษาไทยซึ่งมีความสลับซับซ้อน และยังมีค่านิยมที่ไม่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกหลายประการจะเป็นทางออกที่ดีของการศึกษาไทย

แนวคิด ‘ธุรกิจพอเพียง’ จึงเปรียบเสมือนพื้นที่การเรียนรู้แบบเปิดกว้าง โดยกำหนดเพียงหลักการไว้คร่าวๆข้างต้น คุณค่าแท้จริงจึงเกิดขึ้นภายใต้ของความเป็นอาสาสมัครที่มีอิสระ ที่ได้ร่วมมือกับครูอย่างใกล้ชิด ที่ไม่ต้องตรึงอยู่กับการบังคับบัญชาโดยตรงต่อส่วนกลาง ส่วนหน่วยงานไหน พื้นที่เขตการศึกษา โรงเรียน หรือแม้แต่ชุมชนไหนๆ จะเอาไปปฏิบัติและไม่ได้ออกมาหน้าตาเหมือนกันก็ได้ เพียงแต่ให้รักษาองค์ประกอบทั้งสาม (ผู้ประกอบการธุรกิจ+เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง+หลักคิดปศพพ.) ไว้ให้ได้เท่านั้น

แนวคิด ‘ธุรกิจพอเพียง’ จึงให้คุณค่ากับความเป็นอาสาสมัคร ที่มีอิสระที่จะคิด ที่จะปฏิบัติภายใต้กรอบข้างต้น ให้เมล็ดพันธุ์พืชสามารถเติบโตได้อย่างสร้างสรรค์และงดงามในทุกสภาพ ทุกสถานการณ์ อันเปรียบเช่น VUCA ในข้างต้นของบันทึกฉบับนี้

(๗) เป้าหมายบนเส้นทางคือกระบวนการเรียนรู้ แต่เป้าหมายรูปธรรมของภาคการศึกษานี้ คือการไปให้ถึงงาน EDUCA2017 งานมหกรรมทางการศึกษาแห่งชาติเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู ในภาคการศึกษานี้เราจะมีพันธะสัญญาร่วมกันว่า เราจะนำรูปแบบธุรกิจ อย่างน้อยพร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์หรือบริการอันนำไปสู่นวัตกรรมของนักเรียน พร้อมการอธิบายกระบวนการ คุณประโยชน์ ความน่าสนใจ อุปสรรค วิธีแก้ปัญหา ฯลฯ กว่าจะมาเป็นชิ้นงานนั้นๆโดยตัวนักเรียนเอง เรามิได้ไปเพื่อขายของ เพื่อสร้างยอดขาย เพื่อแสวงกำไรเป็นหลัก แต่เราต้องการพื้นที่ซึ่งสามารถนำเสนอรูปแบบธุรกิจ รูปแบบการเรียนรู้ โดยมีการนำเสนอของนักเรียนต่อผู้เข้าชมเป็นประจักษ์พยาน โดยผู้ชมคือเพื่อนครู ผู้บริหารการศึกษา และที่ขาดเสียมิได้คือ นักธุรกิจเอกชน รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาที่จะมาซื้อหุ้นของธุรกิจนักเรียน ให้สามารถดำเนินงานต่อไปนั่นเอง ผมจึงเรียก ๓ วัน ของงาน EDUCA ว่า ‘วันระดมทุน’

(๘) บันทึกแนวคิด ‘ธุรกิจพอเพียง’ เพื่อทำหน้าที่ BAR หรือ Befor Action Review ก่อนวง PLC ผู้บริหารและครูธุรกิจพอเพียง จะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ ห้องทานตะวัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขลางค์นคร จังหวัดลำปาง ด้วยความมุ่งหวังว่า ผู้เข้าร่วมทุกท่านจะได้อ่านอย่างพิเคราะห์กับบริบทของตน และมีความพร้อมที่จะใช้เวลาจริงประมาณ ๕ ชั่วโมง (หักการกล่าวเปิดและพักกาแฟกับอาหารกลางวัน) ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายเนื้อหาทั้งหมดนี้ก่อนแบ่งกลุ่มย่อย

(๙) เมื่อต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ ขณะนั้นผมยังทำงานเป็นที่ปรึกษามูลนิธิรากแก้ว ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมครั้งสำคัญซึ่งริเริ่มโดย ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ในการเชิญหน่วยงานและองค์กรซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมดมาประชุมกัน ณ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม (การประชุมคราวนั้นมีท่านรมต.ศธ.มาร่วมในฐานะผู้ก่อนตั้งศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ มีดร.ปรียานุช ธรรมปิยา มาร่วมในฐานะศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ เช่นกัน) โดยมีทีมงานของ ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ จัดการประชุม ๓ วัน ๒ คืน เต็มรูปแบบของ Social Lab/Transformative Scenario Planning: Working Together to Change the Future ซึ่งเจ้าตำรับคือ Adam Kahane

การประชุมหรือ Dialogue คราวนี้นับว่าได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ความคิดของทุกๆฝ่าย ได้นำมาเรียนรู้และแบ่งปันกัน เพื่อออกแบบอนาคต คำสำคัญคือ เพื่อออกแบบอนาคต ที่ยังมาไม่ถึง นั่นแปลว่า อาจจจะถูกก็ได้ จะผิดก็ได้ แต่อนาคตนั้นต้องออกแบบ และการออกแบบไม่จำเป็นต้องมาจากส่วนกลางอย่างเดียว เพราะนั่นเท่ากับไม่ ‘สร้างสรรค์’ โดยเฉพาะการศึกษาที่ต้องอาศัยปัญญาปฏิบัติและประสบการณ์จากครูและผู้บริหารเช่นที่เราจะได้ ‘สนทนา’ มากกว่า ‘ประชุมเพื่อสั่งการ’ ในวันที่ ๒๓ นี้

ผมกราบขออภัยล่วงหน้า ที่กำหนดการซึ่งออกโดยเขตสพม.๓๕ ฉบับทางการ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้างตามความเหมาะสม และกราบขออภัยที่การจัดประชุมอาจจะมีรูปแบบที่ท่านทั้งหลายไม่คุ้นเคยและฝืนความรู้สึกเดิมๆของท่านบ้างเล็กน้อย

(๑๐) ข้อนี้สำคัญที่สุด และถือเป็น Climax ของการจัดประชุมครั้งนี้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นจริงได้ เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนที่จะมาในวัน PLC จะต้องเป็น ผู้ประกอบการหมายเลข ๑ ทำตนเป็นแบบอย่างกับครูและนักเรียนเสียก่อนนั่นเอง

สรุป ประเด็นบันทึกฉบับนี้

๑. ความเข้าใจตรงกันในคำสำคัญ - ผู้ประกอบการ-ธุรกิจ-นวัตกรรม

๒. ปศพพ. กับ ธุรกิจพอเพียง

๓. Transformative Learning/Change Agent

๔. บทบาทครูที่ต้องพัฒนา

๕. การพัฒนานักเรียนรายบุคคล

๖. อาสาสมัคร

๗. เป้าหมายรูปธรรม EDUCA2017

๘. หน้าที่ของ BAR ฉบับนี้

๙. รูปแบบการประชุมที่ไม่คุ้นเคย

๑๐. ผอ.โรงเรียนในฐานะผู้ประกอบการหมายเลข ๑

(*เนื้อหาส่วนนี้ผมได้รับแรงบันดาลใจและความรู้มาจากบทความชื่อ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากับการสร้างผู้นำในศตวรรษที่ ๒๑ โดย ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช ตอ. ๒๑)

(โปรดเข้าใจว่าคำว่า ‘แนวคิดธุรกิจพอเพียง’ คือ การให้ความหมาย หรือการอธิบายโดยผู้เขียนเองในฐานะผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ มิได้หมายความว่าคณะทำงาน หรือ ทีมจะต้องเห็นพ้องต้องกันด้วยในรายละเอียดทุกประการ หรือทุกถ้อยคำ และผมยินดีรับฟังการตีความ หรือการอธิบายความใดๆที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งปวง)

(และกราบขออภัย หากมีความผิดพลาดในการพิสูจน์อักษรหรือประโยคหรือสำนวนต่างๆแม้พยายามจะทบทวนแล้ว เพราะต้องการส่งถึงมือท่านเช้านี้ครับ)

หมายเลขบันทึก: 628562เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2017 05:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2017 05:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท