การนิเทศ ติดตาม การพัฒนาการเรียนการสอน เทคนิค walk together


เราเดินมาถูกทางจริงหรือ กับความเชื่อที่ว่า พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติให้สูงขึ้น จะสร้างคุณภาพที่แท้จริงให้กับนักเรียน

เป้าหมายของการศึกษา อยู่ที่ไหน ก็แล้วแต่มุมมองของใคร และกำลังอยู่ในสถานการณ์ใด

ถ้าหากมองในฐานะครู และอยู่ในสถานการณ์ การปฏิรูปการศึกษา จุดเน้น นโยบายสำคัญของหน่วยงานต้นสังกัด ในขณะนี้ จากการสัมภาษณ์ คุณครูในหลายโรงเรียนที่รับผิดชอบ ในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาหนึ่ง เป้าหมายตอนนี้ก็คือ "การมุ่งพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ จากผลคุณภาพสีแดง ให้กลายเป็นสีเขียว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การพัฒนาคุณภาพและรูปแบบการสอนของครู การนิเทศการศึกษา กลยุทธ์การบริหารจัดการในโรงเรียนด้านวิชาการเป็นสำคัญ หรือแม้กระทั่งการกระตุ้นผู้เรียนให้เห็นความสำคัญของการทดสอบระดับชาติอย่าง O-NET , NT เป็นต้น"

แล้วในฐานะศึกษานิเทศก์ ที่ได้พยายามพาตัวเองเข้าไปใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด และพยายามทำความเข้าใจกับปัญหาว่า มีสาเหตุมาจากอะไร ก็พบว่า ปัญหา ณ ตอนนี้ มีสาเหตุมาจาก ครูและผู้บริหารมัวแต่กลัวว่าผลสัมฤทธิ์จะตกต่ำลงไปอีก พากันวุ่นวายกับการหาทางแก้ไขผลสัมฤทธิ์ให้สูงขึ้น จนลืมไปว่า ละเลยความรู้สึกจริงๆ ของเด็กๆ ลูกๆ นักเรียนไป เขากำลังเบื่อ และกำลังถูกยัดเยียดสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย ทรมาน ฝืนความรู้สึก ถูกขโมยอิสระภาพทางการเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ ถูกเติมเต็มสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและเป็นปฏิปักษ์ต่อการแสวงหาความรู้ ถูกกลืนกินความถนัดและอัจฉริยภาพในตัวตนของเขาโดยสิ้นเชิง จากการติวข้อสอบ การสอนเสริมในเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับการสอบ ถึงแม้จะมีนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นหาหรือเลือกในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนรู้จริงๆ ในแต่ละวัน แต่อาจยังไม่เพียงพอ ที่จะเยียวยาสิ่งที่ผู้เรียนกำลังถูกกระทำ ณ เวลานี้

พื้นฐานปัญญาของมนุษย์ เริ่มต้นจากการเรียนรู้สิ่งที่สนใจ สิ่งที่กระตุ้นให้อยากค้นหาคำตอบ สิ่งใกล้ตัว และจะยิ่งทวีความต้องการอยากเรียนรู้มากขึ้น หากสิ่งที่กำลังพยายามหาคำตอบอยู่นั้น มีผลต่อบุคคลรอบข้าง สิ่งรอบข้าง หรือประสบผลสำเร็จเป็นลำดับขั้นไป หากครูเข้าใจพื้นฐานปัญญาเหล่านี้ ครูก็จะสามารถออกแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน ออกแบบการจัดการเรียนรู้ของตนเอง หรือแม้กระทั่งออกแบบการจัดการความรู้ในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นเครื่องมือสำคัญของวิชาชีพครู ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับศึกษานิเทศก์ ผู้ซึ่งคอยสนับสนุน คอยช่วยเหลือ กระตุ้นให้ครูมีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนอันจะส่งผลต่อผู้เรียนโดยตรง ดังนั้นการนิเทศ ติดตาม การพัฒนาการเรียนการสอน จึงส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างแน่นอน

เทคนิคการนิเทศ ที่ช่วยให้คุณครูมีกำลังใจในการพัฒนาการเรียนการสอน ที่กำลังใช้อยู่ คือ เทคนิค walk together เดินร่วมทาง ซึ่งผู้นิเทศ จะเคียงข้างอยู่กับผู้รับการนิเทศไปทุกๆ ระยะ ของการพัฒนา ซึ่งจะเห็นกระบวนการและเข้าใจปัญหาและอุปสรรคร่วมกัน ร่วมค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะพัฒนาหรือแก้ปัญหาร่วมกันจนประสบผลสำเร็จ ทำให้ได้ข้อคิด และมุมมองจากสถานการณ์ที่เป็นจริง สามารถนำไปปรับใช้กับอีกหลากหลายสถานการณ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน

คำสำคัญ (Tags): #เทคนิคการนิเทศ
หมายเลขบันทึก: 627474เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2017 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2017 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท