สร้างเยาวชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ก้าวตามรอยบาทนำศาสตร์พระราชาสู่ชุมชน


เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่มีอะไรเป็นมาตรฐาน สามารถปรับเปลี่ยนตามสภาพบริบทและสภาพแวดล้อมได้ อย่างคนรวยสามารถเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปเป็นกรอบในการดำเนินชีวิตได้ ก็มีความสุขในกรอบของคนรวย คนจนก็มีความสุขในแบบคนจน ดังนั้นจึงเอามาตรฐานความสุขมาวัดด้วยกันไม่ได้

หลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงชี้แนวทางให้แก่ปวงชนชาวไทยในดำเนินชีวิตภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามกระแสโลกาภิวัตน์ นั่นคือ การพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาผู้อื่น อันเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพิสูจน์ให้แก่ผู้ที่น้อมนำไปใช้แล้วว่า ได้ผลจริง

หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือตัวบุคคล ต่างนำหลักปรัชญานี้ไปขยายผล ดังเช่น สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้บริการวิชาการสู่ท้องถิ่น โดยการเผยแพร่องค์ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่ชุมชน

นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการดำเนินงานจิตอาสา เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนพื้นที่ภาคตะวันออก ของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยได้จัดทำโครงการ “ก้าวย่างตามรอยบาท ด้วยศาสตร์พระราชา” เพื่อสร้างเยาวชนแกนนำให้มีองค์ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้าใจและลึกซึ้ง จนสามารถนำไปขยายผลในชุมชน

“การก้าวเดินตามแบบที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ ทำให้เราสามารถอยู่รอดภายใต้วิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้จริง”ธนานันท์ เหล็กเกตุ หัวหน้าสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง พูดอย่างเชื่อมั่น พร้อมทั้งอธิบายถึง ความพอเพียง ประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถปรับตัวได้เข้ากับทุกสถานการณ์ เช่นคำว่า “พอกิน” อาหารคือสิ่งจำเป็นที่เราต้องกินทุกวัน ก็ปลูกเองกินเองได้ แต่คนส่วนใหญ่มักจะซื้อกิน หรือ “พอใช้” คือ อะไรที่ใช้ทุกวัน ก็ทำเองบ้างก็ได้ เช่น สบู่ ยาสระผม น้ำยาเอนกประสงค์ เป็นต้น

“สิ่งสำคัญสุด คือจะทำอะไรให้มองจากความต้องการของตัวเอง ทำเพื่อตัวเองให้พออิ่ม เมื่ออิ่มแล้ว จึงเผื่อแผ่คนอื่น ท้ายที่สุดจึงนึกถึงเรื่องการขาย นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง แบบนี้ถึงจะอยู่รอด” ธนานันท์ กล่าว

เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่มีอะไรเป็นมาตรฐาน สามารถปรับเปลี่ยนตามสภาพบริบทและสภาพแวดล้อมได้ อย่างคนรวยสามารถเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปเป็นกรอบในการดำเนินชีวิตได้ ก็มีความสุขในกรอบของคนรวย คนจนก็มีความสุขในแบบคนจน ดังนั้นจึงเอามาตรฐานความสุขมาวัดด้วยกันไม่ได้

เหตุนี้ทางสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ต้องการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปขยายผลสู่ชุมชน จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวร่วมกับสสส.ขึ้น เพื่อคัดเลือกเยาวชนแกนนำจำนวน 5 คน มาเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเข้มข้น ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วให้เยาวชนแกนนำทั้ง 5 คนนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และลงพื้นที่ส่งผ่านความรู้สู่ชุมชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เพราะการที่จะไปบอกให้ใครทำตาม เราต้องทำให้เขาเห็นก่อน เขาจึงจะเชื่อและทำตามในที่สุด” ธนานันท์ กล่าว

เยาวชนแกนนำทั้ง 5 คนจะต้องผ่านการอบรมอะไรบ้าง ผอ.สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า ทั้ง 5 คนต้องมาผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามฐานการอบรมของสถาบัน รวม 9 ฐานเรียนรู้ ได้แก่ ฐานคนรักแม่ธรณี คือการเรียนรู้เรื่องดิน ฐานคนรักษ์สุขภาพ คือการให้ความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรและนวดกดจุด ฐานคนมีน้ำยา ฝึกการทำน้ำยาต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ยาสระผม ครีมอาบน้ำ สบู่ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น ฐานคนรักษ์ป่า เรียนรู้เรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ฐานคนรักน้ำ สร้างความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการน้ำ ฐานคนรักทุ่ง ฝึกการทำนา ฐานคนมีไฟ สร้างพลังงานไฟจากสิ่งรอบตัว ฐานคนเอาถ่าน สอนการเผาถ่านจากเศษกิ่งไม้ และฐานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้

“เราจะเคี่ยวเข็ญให้ทั้ง 5 คน เกิดความชำนาญด้านใดด้านหนึ่งจนสามารถนำเอาความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้กับตนเอง และนำไปขยายต่อด้วยการเป็นวิทยากรสอนชุมชน หรือโรงเรียนในพื้นที่ที่สนใจต่อไป ในคน 100 คน ขอเพียงแค่มีคนนำไปทำตามได้เพียงแค่คนเดียวก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะอย่างน้อยคนนั้นก็จะขยายผลต่อไปอีกมากมาย” ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กล่าว


สำหรับเยาวชนแกนนำทั้งห้านั้น เจษฎา บุญจันทร์ หรือ “ชา” คือหนึ่งในนั้น เขาเคยทำงานประจำมาก่อน แต่ก็ลาออกมาช่วยงานที่บ้านทำสวนฟักทอง และเริ่มสนใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงมุ่งหน้าหาความรู้เพิ่มเติมที่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง

เจษฎา เล่าว่า ทางบ้านทำสวนผักเป็นหลัก แต่ก็ประสบปัญหาทุกปี คือทำแล้วไม่คุ้มทุน ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ขายได้เท่าไหร่ก็ต้องเอามาใช้หนี้ แล้วก็ต้องกู้มาลงรอบใหม่ เป็นวงจรไม่จบสิ้น ก็เลยสนใจเรื่องของการพึ่งพาตนเอง แม้จะได้ผลผลิตน้อยลงแต่ก็มีต้นทุนต่ำด้วยเช่นกัน เมื่อหักลบแล้วยังพอมีเงินเหลืออยู่บ้าง จึงตัดสินใจอยากมาช่วยเหลือครอบครัว จึงเข้าอบรมเพื่อจะได้นำเอาหลักปรัชญาพอเพียงไปปรับใช้ แต่เมื่อไปชักชวนพ่อให้มาทำตาม ก็ต้องทะเลาะกัน เพราะพ่อยังไม่เชื่อ

เมื่อทราบข่าวมีโครงการจึงได้สมัครเข้าเป็น 1 ใน 5 เยาวชนแกนนำ ชาก็คาดหวังจะนำความรู้ที่ได้นำถ่ายทอดให้กับคนที่สนใจ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีความพร้อมที่จะทำหน้าที่นี้ อย่างไรก็ตาม ชายอมรับว่าคงต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการโน้มน้าวคนให้เชื่อ อย่างแรก คือเขาต้องทำให้เห็นก่อน เพราะหากจะไปอธิบาย แต่ทำไม่เป็น ทุกอย่างก็จบ

“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ต้องค่อยเป็นค่อยไป ทำเพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น แต่สังคมมันเป็นการทำเพื่อขาย ต้องการความรวดเร็ว อดทนรอไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้”เจษฎา กล่าว

ห้าเยาวชนแกนนำโครงการก้าวย่างตามรอยบาท ด้วยศาสตร์พระราชา คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเดินตามรอยเท้าพ่อที่ให้ไว้ และพร้อมแล้วที่จะส่งผ่านความรู้ “ความพอเพียง” เพื่อให้ผู้อื่นได้ประจักษ์อย่างเช่นที่น้องๆ ได้ทำมา


หมายเลขบันทึก: 627368เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2017 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2017 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท