ประเทศไทย และ กัมพูชา ความเหมือนที่แตกต่างกัน


ความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งที่คล้ายคลึงและแตกต่างกันเป็นผลมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ รากฐานทางวัฒนธรรมและการนับถือศาสนา ซึ่งจะสรุปให้เห็นเป็นภาพรวมได้ ดังนี้

1. ศาสนา ศาสนาสำคัญที่เผยแผ่เข้ามาและได้รับการยอมรับนับถือจากชนชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา ล้วนนับถือ ดังนั้นประเพณี พิธีกรรมทางศาสนา ลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ของพม่า ลาว กัมพูชา ก็จะคล้ายคลึงกับคนไทย เช่น การทำบุญตักบาตร การสวดมนตร์ไหว้พระ การให้ความเคารพพระสงฆ์ การนิยมให้บุตรหลานเข้ารับการอุปสมบท เป็นต้น
สำหรับประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงมีวัฒนธรรมแบบอิสลาม ประเทศฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนา ประเทศสิงคโปร์และเวียดนาม นับถือหลายศาสนา โดยนับถือลัทธิธรรมเนียมตามแบบจีนเป็นหลัก

2. ภาษา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพูด เขียน คล้ายคลึงกับไทยก็คือ ลาวเพียงชาติเดียวเท่านั้น ส่วนชาติอื่น ๆ ก็จะใช้ภาษาของตน ไม่ว่าจะเป็นพม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยที่ภาษาอังกฤษและภาษาจีนจะเป็นภาษากลางที่ใช้ติดต่อกันได้ทั่วทั้งภุมิภาค

3. ประเพณี พิธีกรรม หากชาติใดที่มีรากฐานการนับถือศาสนาเป็นพระพุทธศาสนา ประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะคล้ายคลึงกับของไทย เช่น การทำบุญเลี้ยงพระ การเวียนเทียนเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา ประเพณีเข้าพรรษา เป็นต้น ส่วนประเพณีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา พบว่าหากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย เช่น พม่า ลาว กัมพูชา ก็จะมีประเพณีหลายอย่างคล้ายคลึงกับไทย เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง เพียงแต่รายละเอียดของการจัดพิธีจะแตกต่างกันออกไป
ขณะเดียวกันวัฒนธรรมไทยในการแสดงความเคารพ โดยการไหว้ของคนไทย ชาติเหล่านี้ก็จะมีธรรมเนียมการไหว้เช่นเดียวกัน
สำหรับชาติอื่น ๆ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรุไน จะมีประเพณีพิธีกรรมตามแบบอิสลาม เวียดนามกับสิงคโปร์จะมีประเพณีพิธีกรรมตามแบบจีน และมีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสาน ส่วนชาติที่มีแบบแผนประเพณี พิธีกรรมเหมือนอย่างตะวันตก คือ ฟิลิปปินส์

4. อาหาร อาหารของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยข้าว พืชผัก และเนื้อสัตว์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น การปรุงอาหารโดยมากจะใช้เครื่องเทศประเภท กะทิ น้ำมันรสชาติจัดจ้าน โดยอาหารของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอยู่อย่างหลากหลาย สีสันดูน่ารับประทาน รสชาติเผ็ดร้อน ประเทศที่รับประทานอาหารไม่แตกต่างจากคนไทยก็ยังคงเป็นพม่า ลาว กัมพูชา ขณะเดียวกันก็มีอาหารจากชาติอื่น ๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี เข้ามาเผยแพร่ด้วย

5. การแต่งกาย ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากไม่นับชุดพื้นเมืองและชุดประจำชาติแล้ว จะแต่งกายไม่แตกต่างกัน กล่าวคือสังคมเมืองในปัจจุบัน ผู้ชายสวมเสื้อ กางเกง ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อ กางเกง หรือกระโปรง แต่ในชนบทผู้หญิงจำนวนมากก็ยังคงสวมใส่ผ้าซิ่นกันอยู่ ทั้งนี้ชุดประจำชาติของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เมื่อดูแล้วสามารถบอกได้ทันทีว่าชุดแต่งกายนั้น ๆ เป็นของชนชาติใด
กล่าวโดยสรุปวัฒนธรรมไทย เป็นสิ่งดีงามที่บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมและสืบทอดต่อกันมาจนเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาติไทย อย่างไรก็ตามประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและมีดินแดนติดต่อกัน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย จะมีวัฒนธรรมบางส่วนที่คล้ายคลึงกันหรือมีมติความเชื่อและประเพณีที่เหมือนหรือคล้ายกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศาสนา เช่น พระพุทธศาสนา เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดประเพณีที่คล้ายคลึงกัน ส่วนศาสนาอิสลามในมาเลเซีย ก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกับจังหวัดชายแดนทางภาคใต้แต่กลับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างออกไป เช่น สิงคโปร์ บรูไน ก็จะทำให้มีวัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างกับของไทย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรม นอกจากจะเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ความเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาติแล้ว วัฒนธรรมยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี ความรู้สึกเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชาในทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในกัมพูชาประมาณ 1,500 คน ส่วนใหญ่เข้าไปประกอบธุรกิจส่วนตัว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และค้าขาย ประเทศไทยถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญและเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกัมพูชา แต่โดยที่ระบบการบริหารจัดการภายในของกัมพูชา อาทิ การจัดเก็บภาษี การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ความโปร่งใส ฯลฯ ยังขาดมาตรฐานและไม่เป็นสากล ทำให้การค้าและการลงทุนของไทยในกัมพูชามีต้นทุนสูงและเติบโตช้าซึ่งไม่สอดคล้องกับศักยภาพและสถานะทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลสองฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและตกลงที่จะร่วมมือกันเร่งรัดการแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป

มูลค่าการค้าทวิภาคีไทย – กัมพูชา ในปี 2549 มีมูลค่า 1,216.28 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,150.65 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบสินค้าเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง เครื่องดื่มและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนสินค้าสำคัญที่นำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์จากไม้ สินค้ากสิกรรม สินค้าประมงและปศุสัตว์ สิ่งทอ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์กระดาษ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร

สำหรับการค้าชายแดนไทย – กัมพูชา ในปี 2549 มีมูลค่าการค้าชายแดน 900.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 831.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการค้าชายแดนมีความสำคัญในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าหลังการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมทางบกระหว่างไทย – กัมพูชาแล้วเสร็จ ได้แก่ ถนนหมายเลข 5 (ช่วงปอยเปต – ศรีโสภณ) และหมายเลข 6 (ช่วงศรีโสภณ – เสียมราฐ) หมายเลข 67 (สะงำ – อันลองเวง – เสียมราฐ) และหมายเลข 48 (เกาะกง – สแรอัมเบิล) การค้าชายแดนจะขยายตัวอีกมาก นอกจากนี้ ไทยกับกัมพูชายังขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบต่าง ๆ โดยเฉพาะ ACMECS อาทิ การจัดทำ Contract Farming การรับซื้อผลิตผลการเกษตร 10 ชนิด ในอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 การส่งเสริมการซื้อขายสินค้าแบบหักบัญชี (Account Trade) การจัดตั้งOne Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีศุลกากร การฝึกอบรมและพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร โครงการจัดทำแปลงเกษตรสาธิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนของกัมพูชา เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #ไทย กัมพูชา
หมายเลขบันทึก: 627034เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2017 01:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2017 01:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท