ฟื้นวัฒนธรรม “ลาวเวียง” บ้านเนินขาม ชุมชนประสานใจ-คนทุกวัยร่วมสืบสอด


เมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวลาวจากเวียงจันทร์ถูกกวาดต้อนมาอยู่ไทยเป็นจำนวนมาก ตั้งรกรากกระจัดกระจายหลายจังหวัด โดยเฉพาะภาคกลางและภาคอีสานตามเส้นทางลำเลียง

ที่บ้านเนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ชาวลาวจากเวียงจันทร์เข้ามาตั้งรกราก จนปัจจุบันกลายเป็นชุมชนใหญ่ ชุมชนแห่งนี้เรียกตัวเองว่า ลาวเวียง ย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่เดิม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เพื่อมาหาที่ทำกินแห่งใหม่เมื่อ 150 ปีที่แล้วจวบจนถึงปัจจุบัน

ชาวลาวเวียง ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม ทั้งการใช้ภาษา ศิลปะ การแต่งกาย อาหาร และวิถีชีวิต แบบเรียบง่าย เลื่อมใสพุทธศาสนา มีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงใช้ภาษาและการแต่งกายดั้งเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง

แต่กับหนุ่มสาว หรือเด็กสมัยใหม่ เริ่มจะห่างเหินจากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตออกไปตามความเจริญและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ของเก่าจึงแทบจะถูกกลืนหายไป และหากไม่รักษาไว้ท้ายสุดแล้ววัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของชาวลาวเวียงก็จะสูญหายจนยากจะรื้อฟื้น


เครือข่ายอนุรักษ์วัฒนธรรมลาวเวียง จึงได้จัดทำ โครงการปลูกต้นกล้าวัฒนธรรมลาวเวียงเพื่อสุขภาวะบ้านเนินขาม ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท โดยได้รับการสนับสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณี โดยการกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนให้ภูมิใจในรากเง้า ความเป็นตัวตนของลาวเวียงพร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรวัฒนธรรมลาวเวียงในรั้วโรงเรียน และค้นหา รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นจากปราชญ์ชาวบ้าน ด้วยการเชื่อมโยงของคน 3 วัยในการสร้างความรักใคร่ผูกพันของคนในชุมชน


“การขาดช่วงในการสานต่อหรือการเปิดรับวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาจนเกินไป ทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมถูกกลืนกิน จนทำให้ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีถูกผสมผสาน ไม่เหลือเค้าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเราจึงต้องสร้างความตระหนักและสร้างการมีส่วนร่วมสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมต่อไป” แดน พุ่มจำปา ผู้รับผิดชอบโครงการ ชี้ถึงความจำเป็นของโครงการ

ชาวเนินขาม สืบทอดวัฒนธรรมเดิมของชาวลาวที่เป็นเอกลักษณ์มาจนถึงทุกวันนี้ เช่น การทอผ้า การแต่งกาย ภาษาพูด วัฒนธรรมทางศาสนา แต่ปัจจุบันเด็กและเยาวชนยุคหลังๆ เริ่มเปิดรับความทันสมัยมากขึ้น วัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามไม่ถูกเหลียวแล ทำให้น่าเป็นห่วงว่าอนาคตเยาวชนบ้านเนินขามอาจจะลืมวัฒนธรรมลาวเวียงก็เป็นได้

โดยเห็นได้จากคนรุ่นไม่สนใจวัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่ใช้ภาษาลาวเวียง ไม่กินอาหารพื้นบ้าน ชอบอาหาร มีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ พิธีกรรมต่างๆ ในงานบุญเลือนหายไป เช่น การบวงสรวง งานบุญพระเวส การแห่ข้าวพันก้อน และอื่นๆ การแต่งกายเปลี่ยนไปตามแฟชั่น จนไม่เหลือรูปแบบดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ประเพณีบางอย่างเลือนหายไป เช่น พิธีนางกวัก การทอผ้าและ ปักลาย ชุดลาวเวียง และเยาวชนในโรงเรียนไม่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นจึงไม่เกิดความรักและผูกพันกับท้องถิ่น


แดน พุ่มจำปา กล่าวถึงแนวทางการจัดทำโครงการว่า ขั้นแรกคือจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการซึ่งมาจากทุกภาคส่วน จำนวน 30 คน จากนั้นจัดเวทีเรื่องเล่าของชุมชนโดยผู้สูงอายุ เนื้อหาเช่น ประวัติหมู่บ้าน วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การทำอาหารพื้นบ้านลาวเวียง จัดกิจกรรมสาธิตปักผ้าลาวเวียง ปลูกฝังจิตสำนึกรักวัฒนธรรมลาวเวียง ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ วัฒนธรรมหมู่บ้าน ประเพณีพื้นบ้าน ความเชื่อ อาหารพื้นบ้าน อาทิตย์ละ 1 ครั้ง รวม 48 ครั้ง ส่วนการปลูกฝังให้เยาวชนมีสำนึกรักจะมีการจัดกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมลาวเวียงในโรงเรียน ขณะเดียวกันได้ร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ลาวเวียง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้สนใจและคนในชุมชนได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวลาวเวียงด้วย

อัตลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดของชาวลาวเวียง คือ การแต่งกายด้วยผ้าทอปักมือ ชาวเนินขามทุกคนจะแต่งกายด้วยชุดลาวเวียงอย่างภาคภูมิในวันสำคัญหรืองานบุญประเพณี และพยายามปลูกฝังให้ลูกหลานแต่งชุดลาวเวียงสอน และสอนการเย็บลาวด้วยเช่นกัน


ป้าสมบูรณ์ สุดจันทร์พิพัฒน์ ปราชญ์ผ้าทอ กล่าวว่า ผ้าทอลาวเวียงมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์มากมาย เช่น ลายหัวนาค สำเภา กระแตยองตอ หงส์หลังหัก กระโบกตาล เป็นต้น ซึ่งถือเป็นงานฝีมือทอด้วยกี่โบราณ อย่างไรก็ดีบางส่วนมีการปรับลายตามยุคสมัยใหม่บ้าง แต่ลายเดิมๆ ยังอนุรักษ์ไว้

“เราพยายามรื้อฟื้นการแต่งกายด้วยผ้าทอลาวเวียงมาอย่างจริงจังเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ แต่ก่อนคนยังไม่ค่อยสวมใส่ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นที่เห็นว่าเชย ไม่ทันสมัย เราพยายามสร้างจิตสำนึกขึ้นมาเรื่อยๆ สืบทอดเรื่องการแต่งกายไปยังเด็กๆ ให้เขาได้สวมใส่เป็นประจำ นอกจากนี้แล้วให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้ในการผลิตแบบง่ายๆ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และซึมซับว่าผ้าทอลาวเวียงน่าสวมใส่เพียงใด” ป้าสมบูรณ์ เล่า

การอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมลาวเวียง จะไร้อนาคตขึ้นมาทันทีหากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ให้ความสนใจ ซึ่งเรื่องนี้ทางโรงเรียนอนุบาลเนินขาน โรงเรียนที่อยู่ใจกลางชุมชนที่มีนักเรียนอยู่ 227 คน ก็พร้อมจะทำหน้าที่เป็นแหล่งเพาะต้นกล้าแห่งวัฒนธรรมของท้องถิ่น


วันเพ็ญ ภูมัง ครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.อนุบาลเนินขาม กล่าวว่า การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน 3 วัย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีแบบดั้งเดิมได้ ซึ่งทางโรงเรียนได้สอดแทรกเข้าไปในการเรียนการสอนด้วยเสมอ โดยทุกวันอังคารครูและนักเรียนจะแต่งกายด้วยชุดลาวเวียงไปโรงเรียน และปลูกฝังให้ใส่ชุดลาวเวียงเวลาอยู่ที่บ้านเป็นประจำ ขณะเดียวกันยังได้ส่งเสริมชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในเด็ก ป.4-ป.6 สัปดาห์ละ 1 ช.ม. ด้วยการนำปราชญ์ชาวบ้านสอนการปักเสื้อ จักสาน การทำบายศรี ทำอาหารพื้นบ้าน เช่น แกงเปอะ แกงขี้เหล็ก แกงบอน ทำขนม เช่น ขนมหมก เป็นต้น ร่วมถึงการจัดทำตำราวัฒนธรรมลาวเวียงไว้ศึกษาหาความรู้

“เราอยากให้เด็กได้สืบทอด และเกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมลาวเวียงในโรงเรียนและชุมชน ซึ่งเราต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ เอาเด็กเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเด็กมีความสนใจและมีส่วนร่วม ทุกอย่างก็จะง่าย ถ้าเราไม่ทำกับเด็กๆ มัวแต่รณรงค์กับคนวัยกลางคนขึ้นไป ยังไงก็สูญหายแน่นอน แต่ทำกับเด็กยังไงก็ไม่สูญเปล่า สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ก็จะค่อยๆ แทรกซึมและติดตัวเขาโดยไม่รู้ตัว และเขาจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวตนอย่างแท้จริง เขาจะรักและหวงแหนวัฒนธรรมและประเพณีลาวเวียงและสืบทอดต่อไปไม่จบสิ้น” ครูวันเพ็ญ กล่าว


วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามหากขาดการสืบสาน ไม่อาจจะต้านทานการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ก็จะสูญหายไปตามกาลเวลา แต่หากชุมชนนั้นๆ ตระหนัก และร่วมกันสืบสานอย่างภาคภูมิใจ โดยการมีส่วนร่วมของทั้งชุมชน วัฒธรรมและประเพณีนั้นก็จะคงอยู่แม้จะผ่านไปเนินนานเพียงใด ดังเช่นที่ บ้านเนินขาม กำลังทำอยู่ ณ ขณะนี้




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท