สิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ


สิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ



สิทธิผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546

พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ได้รับรองให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่บุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย ซึ่งในกฎหมายใช้คำว่า สิทธิผู้สูงอายุ ให้มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังนี้

1. สิทธิได้รับการบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขที่จัดไว้โดยให้ความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นพิเศษ

2. สิทธิได้รับบริการด้านการศึกษา การศาสนา และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต

3. สิทธิได้รับบริการด้านการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม

4. สิทธิในการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชน

5.สิทธิได้รับการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือการบริการสาธารณะอื่น

6. สิทธิได้รับการช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะตามความเหมาะสม

7. สิทธิได้รับการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ

8. สิทธิในการได้รับการช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง

9. สิทธิในการได้รับคำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี หรือในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว

10. สิทธิได้รับบริการการจัดที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง

11. สิทธิได้รับการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพตามความจำเป็นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

* เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ*

เป็นผู้สูงอายุที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาก่อน และมีสัญชาติไทย

ในเดือนตุลาคม ของปีที่มีการขึ้นทะเบียน ต้องมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป (ในกรณีที่ในทะเบียนราษฎรไม่ปรากฎ วันที่ และเดือนเกิดให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดในวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น)

1. อายุ 60 - 69 ปี ให้ได้รับคนละ 600 บาท ต่อเดือน

2. อายุ 70 - 79 ปี ให้ได้รับคนละ 700 บาท ต่อเดือน

3. อายุ 80 - 89 ปี ให้ได้รับคนละ 800 บาท ต่อเดือน

4. อายุ 90 ปี ขึ้นไป ให้ได้รับคนละ 1,000 บาท ต่อเดือน


12. สิทธิได้รับการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี

13. สิทธิประการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

กองทุนผู้สูงอายุ

กองทุนผู้สูงอายุ เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 13 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้ง"กองทุนผู้สูงอายุ” ขึ้น ในสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุน ผู้สูงอายุ ให้มีศักยภาพความมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนผู้สูงอายุมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และสนับสนุนผู้สูงอายุ และกิจกรรมกองทุนผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์ คือ

1.) สนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการให้องค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุในลักษณะกลุ่ม ชมรม ศูนย์บริการ ศูนย์อเนกประสงค์ในชุมชน

2.) การให้ทุนประกอบอาชีพ ประเภทกู้ยืมรายบุคคล และรายกลุ่มสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมที่กองทุนให้การสนับสนุน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.การให้การสนับสนุนโครงการ กรอบวงเงินที่ให้การสนับสนุน ซึ่งแบ่งตามขนาดของโครงการ คือ

1.1 โครงการขนาดเล็ก ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท

1.2 โครงการขนาดกลาง วงเงินเกิน 50,000 – 300,000บาท

1.3 โครงการขนาดใหญ่ วงเงินเกิน 300,000 บาท ขึ้นไป

2. การให้บริการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2ประเภท คือ

2.1 การกู้ยืมรายบุคคล รายละไม่เกิน 30,000 บาท และ

2.2 การกู้ยืมรายกลุ่ม กลุ่มละไม่น้อยกว่า 5 คน กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท โดยการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ต้องชำระเงินคืนเป็นรายงวดทุกเดือน ระยะเวลา 3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย

ที่มา : https://www.m-society.go.th/ewt_news.php?nid=11355

http://www.stou.ac.th/stoukc/elder/main2_14.html

หมายเลขบันทึก: 626555เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2017 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2017 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท