​เรียนรู้วิธีอยู่อย่างชาญฉลาด (SMART LIVING) ตอนที่ 2


คำถามยากๆที่ตั้งขึ้นนี้ อาจจะถูกตอบด้วยคนกลุ่มเล็กๆที่มีความตั้งใจใหญ่ๆกลุ่มนี้ก็ได้

ตอนที่ 2 โลกสูงอายุ และ Daycare Dilemma

SMART Living Workshop ที่ได้มาร่วมนี้จัดขึ้นเพื่อตอบสนองการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศทั่วโลก ซึ่งข้อมูลพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติคือในปี 2050 ประชากรโลก 1 ใน 3 คนจะมีอายุมากกว่า 65 ปี ที่น่าสนใจคือทุกประเทศที่ร่วม workshop ครั้งนี้ต่างถูกคาดหมายว่าจะอยู่ใน 15 อันดับแรกของประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลกในปี 2060 คือ ประเทศไต้หวัน เป็นอันดับ 2 (ร้อยละ 39.3) ประเทศเกาหลีอันดับ 5 (ร้อยละ 37.0) ประเทศญี่ปุ่นอันดับ 6 (ร้อยละ36.9) ประเทศเยอรมันอันดับ 10 (ร้อยละ 33.2) ประเทศไทยอันดับ 12 (ร้อยละ 32.9) และประเทศสิงคโปร์อันดับ 14 (ร้อยละ 32.4)

ขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคือ มีประชากรมากกว่า 1 ใน 5 คน (ร้อยละ 20) ที่เป็นผู้สูงอายุ ในประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะเป็นเช่นนั้นในปี 2025 ส่วนประเทศไต้หวันเจ้าภาพเขาเรียกตัวเองว่าเข้าสู่สังคม Mega-aging ไปแล้ว

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาเตรียมตัวเป็นการใหญ่ คือการสร้างระบบ long term care เพราะเขาตระหนักว่าในช่วงท้ายของชีวิตมนุษย์จะต้องอยู่แบบพึ่งพิงและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ โดยแต่ละประเทศอาจจัดระบบการดูแลแตกต่างกันไปบ้าง แต่มักใช้หลักการเดียวกันตาม ICF model คือการให้การดูแลที่คำนึงถึงความต้องการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพได้แก่ กาย ใจ ความเป็นอยู่ และการมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งสัมพันธ์กับความสามารถหลายอย่างเช่น การอ่าน การเขียน การคำนวณ การแก้ปัญหา การสื่อสาร การเคลื่อนที่ การดูแลตนเอง การทำงานบ้าน การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การมีเครือข่ายสนับสนุน การศึกษาและเรียนรู้ และการร่วมในกลุ่มสังคมและชีวิตพลเมือง

นอกจากนี้แนวคิดของ successful aging และภายหลังถูกพัฒนาเป็น optimal aging ก็เป็นแนวคิดที่บุคลากรสุขภาพใช้กันมาก รวมทั้งนักกายภาพบำบัด แนวคิดนี้ตระหนักว่า ความเสื่อมถอยตามอายุนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การปรับวิธีการใช้ชีวิต (life style) จะสามารถทำให้ผู้สูงอายุยังคงทำสิ่งต่างๆตามความคาดหวังของตนเองและมีส่วนร่วมทางสังคมได้

สภาพสังคมและความเชื่อของคนไต้หวันมีผลต่อวิธีการจัดการดูแลสุขภาพ การเป็นอยู่ และการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุหลายอย่าง เช่นผู้สูงอายุไต้หวันเป็นคนรุ่นที่เคยใช้ชีวิตอย่างลำบากยากจน มีความเชื่อเรื่องการทำงานหนัก ความอดทน และความประหยัด บางครั้งเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยผู้สูงอายุจะไม่ไปพบแพทย์หรือไม่บอกลูกหลาน เพราะเกรงจะเสียค่าใช้จ่ายมาก จึงมักมาโรงพยาบาลเมื่ออาการหนักแล้ว และหากเจ็บป่วยมากจนต้องการการช่วยเหลือดูแลจะรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นคนไร้ค่า เสียศักดิ์ศรี

ส่วนความคาดหวังของสังคม ภาระการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวนั้นเป็นของผู้หญิงเช่น ภรรยา ลูกสาว หรือลูกสะใภ้ การส่งผู้สูงอายุไปอยู่สถานดูแลมักทำให้คนในครอบครัวรู้สึกผิดโดยเฉพาะลูกสาว นอกจากนั้นจำนวนสถานดูแลในไต้หวันก็มีไม่เพียงพอและไม่เป็นที่รู้จัก ด้วยสภาพสังคมและโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนของเด็กน้อยลง จึงมีการทยอยปรับใช้ตึกที่เคยเป็นโรงเรียนประถม ให้กลายเป็น daycare สำหรับผู้สูงอายุ และยังมีปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและถูกนำมาใช้เป็น theme การเรียนรู้ของ workshop ครั้งนี้คือการขาดแคลนผู้ทำงานดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น day care หรือ home care

ปัจจุบันประเทศไต้หวันมีผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลระยะยาวอย่างน้อย 6 แสนคน และเป็นคนที่มีภาวะหลงลืมประมาณครึ่งหนึ่งคือ 3 แสนคน ในขณะที่มีแรงงานผู้ดูแลอยู่ 26,000 คนทั่วประเทศ จึงมีความขาดแคลนแรงงานประเภทนี้มาก รัฐได้ผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่อให้ได้แรงงานมากขึ้น คือผู้ที่จะทำงานนี้ได้เป็นคนที่จบชั้นประถม อายุ 16 ปีขึ้นไปและมีร่างกายแข็งแรงพอที่จะเข้าร่วมอบรมเตรียมตัวทำงาน เมื่อจบการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรและทำงานในภาคบริการได้ เมื่อเข้าอบรมง่ายทำให้บางครั้งจึงได้คนที่มีคุณสมบัติและทัศนคติไม่เหมาะกับงานและยังขาดระบบการฝึกฝนงานเพิ่มเติม ค่าจ้างทั่วไปต่ำคือประมาณ 20,000-25,000 เหรียญไต้หวัน จึงมีการเปลี่ยนงานมาก ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุประมาณ 45-55 ปีจบชั้นมัธยมหรืออาชีวศึกษา

ในประเทศไต้หวันผู้สูงอายุที่ยังออกนอกบ้านได้ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะหลงลืมและความพิการอื่นๆที่ต้องการผู้ดูแล จะมาใช้ชีวิตใน day care center ในช่วงกลางวันโดยมาเช้าเย็นกลับ อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุที่มีภาวะหลงลืมเหล่านี้มักมีความต้องการทางสุขภาพที่พิเศษ บางคนมีพฤติกรรมดื้อรั้นหรือขี้โมโหเหมือนเด็กเนื่องจากมีปัญหาในการสื่อสารสิ่งที่ตนเองต้องการ งานของผู้ดูแลคืออยู่เป็นเพื่อน ดูแลการกินอาหารและยาตามเวลา อาบน้ำ เปลี่ยนท่าทาง ช่วยทำกิจกรรมต่างๆที่ศูนย์จัดขึ้น พาเดินเล่นรอบๆ โดยผู้แล 1 คนต้องดูแลผู้สูงอายุประมาณ 6-8 คน แต่ละวันผู้ดูแลมักต้องจัดการกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่นการพลัดตกหกล้ม การทะเละเบาะแว้งระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันเอง หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รวดเร็วของผู้สูงอายุ โดยต้องบันทึกเหตุการณ์ และสื่อสารกับผู้สูงอายุและครอบครัวของผู้สูงอายุตลอดเวลา ทำให้งานของผู้ดูแลกลายเป็นงานที่ยากและหนักขึ้น

สิ่งที่ workshop นี้ต้องการให้กลุ่ม day care ทำคือออกแบบระบบการสร้างทักษะและทัศนคติของผู้ดูแลที่ทำงานใน day care ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะหลงลืม และหาวิธีที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สนใจทำงานดูแลผู้สูงอายุ ลดการเปลี่ยนงานของผู้เข้าทำงานใหม่

รูปแบบการเรียนรู้แบบproject based learning ของ workshop ใช้ living lab คือนำผู้เรียนมาที่สถานที่จริงคือ day care แห่งหนึ่งของเมือง ให้ผู้เรียนสัมผัสสถานที่และร่วมกิจกรรมจริง สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และใช้การตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการระดมสมองอย่างเป็นขั้นตอน โดยใช้ post it และการสะท้อนคิดบ่อยๆ กระบวนกรจาก 5% Action เตรียมตัวมาอย่างดี นำกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมชาติ

เมื่อเห็นกระบวนการทั้งหมดที่ใช้ใน workshop ครั้งนี้ทำให้คิดว่า คำถามยากๆที่ตั้งขึ้นนี้ อาจจะถูกตอบด้วยคนกลุ่มเล็กๆที่มีความตั้งใจใหญ่ๆกลุ่มนี้ก็ได้

หมายเลขบันทึก: 626284เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2017 06:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2017 06:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Good article! My question is: what is optimal aging? What are the criteria?

Thanks,



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท