บทบาทของนักกิจกรรมบำบัดในการสร้างเสริมสุขภาวะต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง


กิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง

ผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง เกิดจากการตรวจพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อ โดยทั่วไปมะเร็งจะถูกตรวจพบเมื่อมีจำนวนเซลล์ที่ผิดปกติของเนื้อเยื่อจำนวน 1x10^9 เซลล์ ในกรณีของผู้ป่วยที่ขาดการตรวจมะเร็งจะลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้เป็นอันตรายต่อชีวิตผู้ป่วยมากขึ้น

ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่เมื่อตรวจพบก้อนมะเร็งจะมีความรู้สึกลบภายใจจิตใจอย่างชัดเจน มีความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ และหมดกำลังใจ


ระยะของมะเร็งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

ระยะแรก : มะเร็งยังไม่มีการลุกลามหรือรบกวนเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง มะเร็งยังจำกัดการรบกวนแค่บริเวณที่เป็น

ระยะที่ 2 : มะเร็งเริ่มเกิดการรบกวนเนื้อเยื่อข้างเคียง แต่ยังไม่รบกวนข้ามอวัยวะ

ระยะที่ 3 : การลุกลามของมะเร็งไปถึงต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง

ระยะที่ 4 : การรบกวนของมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ มีการแพร่กระจายของมะเร็ง


ดิฉันขอแบ่งการให้การรักษาทางกิจกรรมบำบัดออกเป็น 3 ระยะ

ระยะแรก : ระยะตรวจพบ

ในระยะนี้ผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างมาก ผู้ป่วยจะมีความอ่อนล้าทางความคิดและจิตใจ และจะส่งผลให้อ่อนล้าร่างกายตามลำดับ วิตกกังวลต่อผลกระทบของโรคมะเร็งมากเกินไป จนไม่อยากทำกิจกรรม ไม่มีเป้าหมาย ทำให้จุดมุ่งหมาย

ในการทำกิจกรรมบำบัดเน้นไปที่การสร้างกำลังใจ สร้างแจงจูงใจในการใช้ชีวิตต่อ ลดความอ่อนล้าภายในจิตใจ สนับสนุนทั้งด้านความรู้สึกในด้านบวก กระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากทำกิจกรรมที่มีความหมายเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกมีเป้าหมาย


จากหนังสือ “การจัดการตนเอง เมื่อเป็นมะเร็ง” (หน้า 6-8)

โปรแกรมการจัดการตนเองเมื่อเป็นมะเร็ง ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ทบทวนและวางแผนความคิดของตนเอง แบ่งกิจกรรมภายในโปรแกรมออกเป็น 6 สัปดาห์

สัปดาห์ที่ 1 : การสำรวจพลังงานของร่างกายในท่านั่ง ยืน เดิน และท่าทางในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยแบ่งเป็นคะแนนความรู้สึกถึงพลังงานที่ร่างกายใช้ในการทำกิจกรรมและคะแนนการคาดคะเนพลังงานที่ใช้ในการทำกิจกรรม การให้คะแนนให้คะแนนจาก 0 (รู้สึกไม่ได้ใช้พลังงานเลย) - 10 (รู้สึกใช้พลังงานจนหมด)

สัปดาห์ที่ 2 : เป็นการนำข้อมูลจากสัปดาห์ที่ 1 มาปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำให้กิจกรรม เพื่อให้ร่างกายใช้พลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ น้อยที่สุด

สัปดาห์ที่ 3 : เป็นสัปดาห์ของการปรับอารมณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยใช้พลังงานร่างกายในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันน้อยที่สุด

สัปดาห์ที่ 4 : ประเมินความรู้สึกล้าหรือเจ็บปวดที่เป็นผลกระทบมาจากโรคมะเร็งในช่วงขณะทำกิจกรรม เกณฑ์การให้คะแนนความรู้สึก จาก 0-5 คะแนน 0 (ไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือล้าเลย) 3 (รู้สึกกลางๆยังทนไหว) 5(รู้สึกเจ็บปวดหรือล้ามากจนทนไม่ไหว)

สัปดาห์ที่ 5 : จัดลำดับและความพึงพอใจในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งหรือได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็ง

สัปดาห์ที่ 6 : วิเคราะห์และปรับกิจกรรมให้เกิดความสมดุลในการดำเนินชีวิต ปรับรูปแบบกิจกรรมกระตุ้นให้รู้สึกมั่นใจที่จะทำ ประเมินความพึงพอใจ ความถี่ในการทำกิจกรรมและการให้ความสำคัญในกิจกรรมนั้นๆ คะแนนจาก 0-10 คะแนน 0 คือไม่มีความสำคัญ 10 คือสำคัญต่อการดำเนินชีวิตมาก


ระยะที่สอง : ระยะรักษา

ในช่วงระหว่างการรักษานอกจากเรื่องของการสร้างกำลังใจ การสร้างแรงจูงใจแล้ว จะมุ่งเน้นไปเรื่องของการดำเนินชีวิตระหว่างการรักษา เช่น ในช่วงการใช้คีโมในรักษา ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บ คลื่นไส้ อาเจียน ในกรณีที่กล่าวมานักกิจกรรมบำบัดจะมีส่วนช่วยในการลดความเจ็บ (Pain management) เป็นต้น

ในช่วงระหว่างการักษาผู้ป่วยจะมีความรู้สึกล้าของจิตใจและร่างกาย ที่ได้รับผลกระทบมาจากสาเหตุต่อไปนี้

1.ปฏิกิริยาระหว่างเซลล์มะเร็งและการตอบสนองต่อสารเคมีของร่างกาย

2.อ่อนเพลียจากการรักษา เช่น อ่อนเพลียหลังการผ่าตัดหรือการฉายรังสี เป็นต้น

3.นอนไม่พอ ซึมเศร้า วิตกกังวล รู้สึกท้อแท้ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ

4.ภาวะโลหิตจาง และภาวะติดเชื้อต่างๆ


นักกิจกรรมจะทำอย่างไร ?

ร่วมวางแผนกิจกรรมการดำเนินชีวิตระหว่างกานรักษาร่วมกับผู้ป่วย เน้นการพักผ่อนและการทำในกิจกรรมที่ชอบเพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกแง่บวกและเพื่อพักร่างกายและจิตใจจากความเหนื่อยล้า โดยในการวางแผนการพักผ่อนจะไม่ให้พักครั้งเดียวนานๆ แต่จะแบ่งเป็นพักสั้นๆ เป็นช่วงๆ เพื่อลดอาการอ่อนเพลียของร่างกาย จัดกิจกรรมที่ชอบให้สลับกับการพักผ่อน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อ รูปแบบของการพักมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การนอนพัก นั่งพัก ดูหนัง ฟังเพลงที่ชอบ สวดมนต์ รวมไปถึงการนั่งสมาธิ นอกการการบำบัดที่ตัวผู้ป่วยแล้วนักกิจกรรมยังมีบทบาทในการปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม โปร่งโล่งสบาย เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย

นักกิจกรรมบำบัดจะทำการประเมินความรู้สึกพึงพอใจในการทำกิจกรรมและความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมอยู่เสมอ (วันละ 1 ครั้ง หลังเสร็จกิจกรรมทั้งหมด) เพื่อประเมินผลการบำบัดและนำไปปรับกับกิจกรรมต่อๆไป


ระยะหลังการรักษา (จนถึงผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล)

นักกิจกรรมบำบัดจะมีบทบาทในการวางแผนการดำเนินชีวิตหลังการรักษา โดยการสอบถามถึงการให้ความสำคัญต่อกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เน้นการวางแผนการพักผ่อน ฟื้นฟูร่างกายเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกิจกรรม ปรับรูปแบบการทำกิจกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยลดการใช้พลังงาน ลดความเหนื่อยล้าในการทำกิจกรรม รวมไปถึงการจัดการตนเองตลอดชีวิตมุ่งสร้างเสริมให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน


รูปแบบการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดพลังงานในการทำกิจกรรม

การนอน : ควรนอนในที่โปร่งสบาย (สบายตา) ที่นอนไม่แข็งไม่นิ่มจนเกินไป ไม่นอนหมอนที่สูงจนเกินไป นอนเอียง้างไปด้านใดด้านหนึ่งที่ถนัด แล้วนำหมอนข้างมารองขาด้านบนใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับอุณหภูมิห้องนอน เช่น หากอากาศห้องร้อน ลมถ่ายเทไม่สะดวก ควรใส่ผ้าโปร่งที่สามารถระบายความร้อนร่างกายได้ดี เป็นต้น

การนั่ง : ในกรณีของการนั่งพักผ่อนทั่วไป ควรนั่งเก้าอี้ที่สบาย สามารถนั่งได้โดยไม่เกร็ง อาจจะเป็นเก้าอี้ตัวโปรดเพื่อเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลาย ในส่วนของกรณีที่ต้องนั่งทำงานนานๆ ให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงหลังแนบพนักพิงของเก้าอี้ ขาทั้งสองข้างวางแนบกับเบาะนั่ง ระยะระหว่างเก้าอี้กับโต๊ะไม่ห่างจนเกินไป ควรชิดพอดี

การยืน : ในกรณีที่ยืนนานๆ ให้ถ่ายน้ำหนักไปที่ขาด้านใดด้านหนึ่ง แล้วสลับไปมาเมื่อรู้สึกเมื่อย แขนสองข้างปล่อยตามสบาย และไม่อยู่ท่าเดิมนานๆ หากทำงานที่ต้องยืนนานมากๆ อาจจะหารองเท้าที่ใส่แล้วรู้สึกสบาย เพื่อลดอาการปวดและเมื่อยล้า



ขอขอบคุณ

คณะผู้จัดทำแจกเป็นวิทยาทาน. (2553). หนังสือการจัดการตนเองเมื่อเป็นมะเร็ง. สำนักพิมพ์ : เทพประทานการพิมพ์.

ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง. (2551). กิจกรรมบำบัดพัฒนาชีวิต. สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์แสงดาว.

ISBN 978-974-04-2782-7

Charles L. McGarvay III . (2533). Physical Therapy for the Cancer patient. Printed in the United States of America.

ISBN 0-443-08667-2

ไพรัช เทพมงคล. (2523). โรคมะเร็งสำหรับ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และนักศึกษาแพทย์. จัดพิมพ์โดยสถาบันมะเร็งโรงพยาบาลศิริราช.

สร้อยสุดา วิทยากร และคณะอาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2555). Sensory integration frame of reference : Theory and clinical practice in Occupational Therapy. สำนักพิมพ์ : พิมพ์นานา.

หมายเลขบันทึก: 625960เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2017 02:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2017 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท