มะเร็งในระยะเริ่มแรก


การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรก

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายหากสามารถตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้นของความผิดปกติก็สามารถดำเนินการรักษา ป้องกัน และเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการดำเนินไปของความผิดปกติบางชนิดไม่ก่อให้เกิดอาการแสดงทางร่างกายภายนอกที่สามารถพบได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยเทคนิควิธี การตรวจทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ที่ต้องใช้สารบ่งชี้ทางชีวภาพต่างๆ เทคโนโลยีที่มีความไว และความจำเพาะ ร่วมกับสิ่งส่งตรวจต่างๆ จากร่างกายเพื่อแสดงสถานะสุขภาพ อันเป็นการประเมินสุขภาพภายในร่างกาย ประกอบกับข้อมูลภายนอกจากการซักประวัติ อาการต่างๆ ล้วนเป็นข้อมูลในการใช้ประเมินสถานะสุขภาพได้อย่างครบถ้วนต่อไป โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่มีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป มักไม่ปรากฏอาการ และมักปรากฏอาการแสดงภายนอกเมื่อการดำเนินโรคเป็นไปมากแล้ว ดังนั้นข้อมูลต่อไปนี้จึงมีประโยชน์ในการใช้ประเมินสถานะสุขภาพ ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ ดังนี้

1. ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ ปัจจัยต่างๆ

      • ประวัติครอบครัว เพราะมะเร็งบางชนิดมีความเกี่ยวพันกับพันธุกรรม เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม เป็นต้น
      • ปัจจัยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงานอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมได้ เช่น กลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับสารกัมมันตภาพรังสีนานๆ อาจเสี่ยงต่อโรงมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
      • พฤติกรรมส่วนบุคคล การดำรงชีวิตของแต่ละบุคคลอาจนำไปสู่การเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น การสูบบุหรี่ทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด หรือกลุ่มที่มีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย อาจเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยแต่งงาน
      • ประวัติการตรวจสุขภาพ และอาการเจ็บไข้ต่างๆ ซึ่งจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบ เช่น เป็นหวัดไอเรื้อรัง มีแผลในปาก เรื้อรังไม่หาย หรือตกขาวมากผิดปกติ เป็นต้น

2. การตรวจร่างกายโดยละเอียด ทั้งการตรวจเบื้องต้นด้วยตัวเอง หรือจากผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ เช่น การตรวจดูลักษณะของผิวหนัง คอ ทรวงอก(เต้านม) หรือการถ่ายอุจจาระ เป็นต้น

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ หรือนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งมีความแม่นยำและความถูกต้องในผลการวิเคราะห์ เพื่อที่จะนำไปสู่การนำไปใช้เป็นข้อมูล ใช้เป็นแนวทางในการวินิจฉัย การสืบค้นหา การรักษา และติดตามดูผลของการรักษา เป็นต้น

4. การตรวจทางเอกเรย์ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคและการรักษาสุขภาพ เช่น การเอกซเรย์ปอดเพื่อดูความผิดปกติเกี่ยวกับเรื่องของวัณโรคหรือมะเร็งปอด การเอกซเรย์ระบบทางเดินอาหารเพื่อดูความผิดปกติของกระเพาะตลอดจนลำไส้ใหญ่ หรือตรวจเต้านมโดยทำ mammogramเพื่อดูลักษณะหรือจุดตำแหน่งที่พบ

5. การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หลักการที่สำคัญ คือในกรณีที่แพทย์สงสัยตามอาการที่ตรวจพบ แพทย์จะมีการให้ผู้ป่วย กลืน/ฉีด สารกัมมันตภาพรังสีบางชนิดแล้วทำการถ่ายภาพดูการกระจายของเป้าหมายที่สร้างสารนั้นแสดง เช่นเรื่องการตรวจเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ สมองหรือที่ตับ เป็นต้น

6. การตรวจทางเซลล์วิทยา และทางพยาธิวิทยา เป็นวิธีการพื้นฐานของการตรวจภาวะเสี่ยงหรือมะเร็งในระยะแรกของอวัยวะบางชนิด เช่น จากการดูเยื่อบุในช่องปาก หรือช่องคลอด เป็นต้น

โรคมะเร็งส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่อาจมีสาเหตุรวมซึ่งอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการดูแลร่างกายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อความผิดปกติต่างๆอย่างน้อยปีละครั้งจึงมีความจำเป็น ด้วยเหตุดังกล่าวการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะมีประโยชน์ในการวางแผนการรักษาที่มักจะประสบผลสำเร็จ ผู้ป่วยมีการฟื้นฟูได้เร็ว สามารถป้องกันการรุกรานของมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในระยะยาวได้



สัญญาณอันตราย 8 ประการ

      • มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย เช่น อุจจาระสีดำ ปัสสาวะเป็นเลือด
      • กลืนอาหารลำบาก มีอาการเสียดแน่นท้องนานๆ
      • มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรัง โดยหาสาเหตุไม่ได้
      • มีเลือดหรือตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น
      • เป็นแผลรักษาแล้วไม่ยอมหาย
      • มีก้อนที่เต้านมหรือส่วนต่างๆของร่างกาย
      • มีการเปลี่ยนแปลงของไฝหรือหูดตามร่างกาย
      • หูอื้อ มีเลือดกำเดาไหล

หากมีข้อใดข้อหนึ่งใน 8 ข้อนี้ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย ควรต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และตรวจว่ามีโรคมะเร็งอยู่หรือไม่ เพราะถ้าพบตั้งแต่แรกๆ โอกาสในการรักษามีโอกาสหายขาดได้



อาการของโรคมะเร็ง

      • ในกรณีที่เซลล์มะเร็งมีจำนวนน้อย จะไม่แสดงอาการ
      • พบมีสัญญาณอันตราย 8 ประการ
      • มีอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วโดยไม่ทรายสาเหตุ
      • มีอาการเจ็บปวดและทรมานในกรณีที่มีมะเร็งลุกลาม หรือเป็นมาก

มะเร็ง... รักษาได้

มะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้และแม้ว่ามะเร็งอีกหลายชนิดจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

วิธีการรักษามะเร็งมี 3 วิธีที่สำคัญคือ การผ่าตัด เพื่อนำเอาก้อนมะเร็งออก การฉายรังสี สำหรับมะเร็งที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หรือผ่าตัดออกได้ไม่หมด หรือให้ร่วมกับการผ่าตัดแบบสงวนอวัยวะ การให้เคมีบำบัด ซึ่งเป็นยาฆ่าเซลล์มะเร็งเพื่อยับยั้งหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ

ปัจจุบัน การรักษาโรคมะเร็งจะผสมผสานวิธีร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรค โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาจะประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน



บทบาทของนักกิจกรรมบำบัดในโรคมะเร็ง

      • นักกิจกรรมบำบัดควรให้ผู้ที่กำลังใช้ชีวิตกับโรคมะเร็งได้คิดและทบทวนถึงความสามารถในปัจจุบันว่ายังสามารถที่จะทำอะไรได้บ้าง และนึกถึงชีวิตที่ผ่านมาให้เป็นบทเรียนในการใช้ร่างกายให้เหมาะสมต่อความสามารถของตนเองในปัจจุบัน
      • นักกิจกรรมบำบัดควรให้ให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงผลกระทบของโรคมะเร็ง และร่วมกันหาแนวทางในการจัดการตนเองให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีเป้าหมายและมีความสุข เช่น การดูแลรักษาตนเอง ทั้งเรื่องของอาหารและภาวะเสี่ยงต่างๆ การทำกิจกรรมเพื่อสุขภาวะที่ดี เน้นพัฒนาในเรื่องของจิตใจเป็นสำคัญ
      • นักกิจกรรมบำบัดควรให้คำแนะนำ ให้ผู้ป่วยแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง เช่น การอ่านหนังสือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้มีประสบการณ์โรคมะเร็ง(ทั้งผู้บำบัดและผู้ป่วย)
      • ให้ผู้ป่วยได้พิจารณาถึงประสิทธิผลทางการแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับการแพทย์ทางเลือก หากไม่ได้ผลก็ให้ทบทวนถึงเหตุแล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยจิตใจที่มุ่งมัน ให้มอง “มะเร็ง” ว่าเป็น “เพื่อนชีวิต” อย่าคิดว่ามะเร็งนั้นน่ากลัว มั่นใจที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งจนถึงวันสิ้นชีวิต

“แม้ร่างกายจะอ่อนแอ แต่จงปล่อยวางและพัฒนาจิตวิญญาณด้วยการกระทำดีของเราต่อไป”



อ้างอิงจาก

คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2550). มะเร็งร้าย พ่ายมีดหมอ. สถานที่พิมพ์ : บริษัท สรรพสาร จำกัด
ISBN 978-974-8485-12-6

งานบริการเทคนิคการแพทย์ชุมชน ศูนย์ความเป็นเลิศการบริการสุขภาพและมาตรฐานวิชาชีพ คณะเทคนิคการแพทย์
มหาวิทยาลัยมหิดล. (ม.ป.ป.). มะเร็งที่ทุกคนควรรู้. สถานที่พิมพ์ : หจก. เหยินหยาง โฟร์ คัลเลอร์
ISBN 978-974-11-1558

ศุภลักษณ์ เข็มทอง. (2537). กิจกรรมบำบัดเพื่อประชาชน. สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์แสงดาว จำกัด
ISBN 978-616-508-503-8



หมายเลขบันทึก: 625950เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2017 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2017 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท