การจัดการขยะสัมปทวนเดินหน้า เพิ่มกองทัพ ปรับกลุ่มเป้าหมาย


วันที่ 14 มีนาคม 2560 คณะทำงาน Node นครปฐมนำโดยอาจารย์พีรพัฒน์ พันศิริ และพี่เลี้ยงลงพื้นที่ติดตามโครงการการจัดการขยะในชุมชนหมู่ที่ 5 บ้านต้นลาน ตำบลสัมปทวน


เดินหน้า..

หลังจากที่คณะทำงานโครงการจัดการขยะสัมปทวน ชะลอการดำเนินกิจกรรมสักระยะเนื่องจากเป้าหมายที่เคยตั้งไว้คือการจัดตั้งธนาคารขยะ ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แม้จะท้อถึงกับเอ่ยปากกับ Node ว่าขอยกเลิกโครงการ แต่เมื่อได้ปรึษาพูดคุยกับ Node และได้กำลังใจ นั้นทำให้ คุณสุคนธ์ แขกประยูร ผู้รับผิดชอบโครงการมีแรงสู้อีกครั้ง ด้วยแนวคิดที่ว่า "ในเมื่อคุณบอกให้ผมสู้ ผมก็ต้องสู้ กัดฟันดินหน้าต่อให้ได้" จึงทำให้มีการประชุมระหว่างคณะทำงานปรับเป้าหมาย มองหาสิ่งที่เป็นไปได้ คือการส่งเสริมให้ครัวเรือนคัดแยกขยะให้เป็นโดยใช้วิธีการ ให้ความรู้ทีละครัวเรือน เนื่องจากอาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชนมีอาชีพรับจ้างทำงานโรงงาน ชาวบ้านที่มีเวลาที่จะคัดแยกขยะได้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน ซึ่งไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการอบรม ดังนั้นคณะทำงานจึงต้องใช้วิธีลงไปให้ความรู้พร้อมกับติดตามในชุมชนทีละบ้าน ซึ่งปรากฏว่าได้ผล การสำรวจของคณะทำงานพบว่า

"จากเดิมที่ชาวบ้านไม่แยกขยะ หลังจากเริ่มโครงการ ชาวบ้านคัดแยกขยะได้มากกว่า 20 ครัวเรือน"

เมื่อแนวทางการดำเนินงานขั้นแรกเกิดผลแล้วคุณสุคนธ์และคณะทำงาน ยังได้มีแนวคิดที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นด้วยว่า นอกจากจะให้ความรู้ให้ชาวบ้านจะได้ผลแล้ว การสร้างความตระหนักในการจัดการแยกขยะด้วยตนเองตามบันไดผลลัพธ์ขั้นที่ 2 ก็มีความสำคัญจึง มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักวิธีการ

ใช้ประโยชน์จากขยะให้ได้มากที่สุด อย่างเช่น ส่งเสริมให้นำถุงปุ๋ยมาปลูกต้นไม้แทนการใช้กระถาง

เพิ่มกองทัพ...

เมื่อคนในชุมชนเริ่มมองเห็นผลลัพธ์ ที่คณะทำงานโครงการทำ ว่าสามารถสร้างประโยชน์ได้จริง นักศึกษา กศน. ที่เป็นคนในชุมชนและต้องทำโครงการในเรื่องการจัดการขยะของชุมชน จึงเข้ามาร่วม กองทัพ นี้ด้วยซึ่งถือเป็นเรื่องราวดีๆ ที่จะมีคนรุ่นใหม่ เข้ามาช่วยเป็นคณะทำงานและขยายเครือข่ายในการทำงานให้เข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้อาจารย์พีรพัฒน์ พันศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาชุมชน ก็ได้ส่งนักศึกษาพัฒนาชุมชนเข้าศึกษาชุมชน ช่วยในเรื่องของการเก็บข้อมูล ทำแผนที่เดินดินและเป็นมดงานให้กับกองทัพของชุมชนสัมปทวนด้วย ซึ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ คณะทำงานเดิมที่ทำงานอยู่แล้ว ครั้งนี้ Node ก็สังเกตได้ว่าคณะทำงานให้ความร่วมมือและรับฟัง สนใจมากขึ้นกว่าครั้งก่อน ๆ อาจเป็นเพราะผู้นำเองก็ได้มีการปรับแนวทางการทำงานที่จะรับฟังคณะทำงานมากขึ้นด้วย นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ Node มองว่า น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีในการทำงานต่อไปของโครงการ




ปรับกลุ่มเป้าหมาย...

เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเดิมของชุมชนนั้น ได้มีการลดน้อยลงตามธรรมชาติของการทำโครงการ อาจารย์พีรพัฒน์จึงเน้นย้ำว่าคณะทำงานจะต้องหาแนวทาง สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มคนที่เริ่มแรกยังไม่ได้เห็นประโยชน์ของโครงการแต่เมื่อเห็นแล้วสนใจเข้าร่วมได้ อย่างน้อยควรจะมีผู้เข้าร่วมโครงการ ไม่น้อยกว่า 50 คน

นอกจากนี้ในการติดตามครั้งนี้ คณะทำงาน Node ได้เน้นย้ำเรื่องของกระบวนการทำงาน ควรที่จะเดินให้เป็นไปตามกิจกรรมที่วางไว้ และมีแผนการทำงานร่วมกัน รวมถึงช่วยกันตรวจสอบอยู่เสมอว่าตกหล่นในเรื่องใดหรือไม่ อยู่ในบันไดขั้นใดและจังหวะก้าวต่อไป จะไปอย่างไร ? ซึ่งขณะนี้คณะทำงานทราบว่ากำลังดำเนินการอยู่ในบันไดขั้นที่ 2 และจะร่วมกันวางแผนทบทวนกระบวนการเพื่อก้าวต่อไปสู่บันไดขึ้นที่ 3 โดยการประชุมร่วมกันในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคมนี้








หมายเลขบันทึก: 625889เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2017 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2017 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท