การใช้มาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกา


ในการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน รัฐบาลของประเทศต่างๆจะมีการนำเอานโยบายทางการเงินมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีนโยบายมากมายสำหรับใช้แก้ไข แต่ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ นโยบายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือเรียกสั้นๆว่า มาตรการ QE

มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) หรือ มาตรการ QE เป็นมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่นโยบายทางการเงินที่เป็นแบบแผนตามปกติไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจได้ โดยการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินของเอกชนด้วยการสร้างเม็ดเงินใหม่ๆ โดยการจัดพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม และอัดฉีดปริมาณเงินที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่ตกต่ำให้สูงขึ้น นอกจากนี้ธนาคารกลางยังเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลในระยะสั้นเพื่อที่จะดำรงอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้อยู่ในระดับต่ำ และเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการกระตุ้นการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันการเงินสามารถดำเนินการปล่อยสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้นอีกด้วย

จากการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2551-2555 ได้มีการนำมาตรการนี้มาใช้ โดยการดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกาที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 3 ครั้ง คือ QE1, QE2 และ QE3 ในระยะเวลา 2-4 ปี ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาให้มีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดีในเวลาต่อมาซึ่งก็รวมทั้งประเทศไทยด้วย จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นปรากฏการณ์ “เงินท่วมโลก” และนำไปสู่การแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินตราสกุลท้องถิ่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในประเทศที่มีเงินไหลเข้าอย่างมากมาย รวมทั้งเกิดการเก็งกำไรในตลาดหุ้นอีกด้วย จนกระทั่งการประกาศลดมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกาทำให้สถานการณ์กลับเป็นทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เม็ดเงินที่เคยไหลเข้าประเทศต่างๆอย่างมากมายในช่วงก่อนหน้าเริ่มไหลกลับ สร้างความผันผวนให้กับภาวะการเงินของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการดำเนินนโยบายของประเทศต่างๆในการดูแลเศรษฐกิจมีความยากลำบากมากขึ้น

ซึ่งจากการที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการQE ติดต่อกัน 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2551-2555 มีวงเงินมูลค่ารวมกันถึง 3.5 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าว ได้ไหลเข้าลงทุนในตราสารการเงินทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีทิศทางเพิ่มขึ้นตลอดช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา และทำให้ส่งผลเสียต่อฐานะการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) เพราะการอัดฉีดเม็ดเงินดังกล่าว ทำให้ขนาดของสินทรัพย์ของ Fed จากระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงก่อนดำเนินมาตรการ QE โตขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้หนี้สินของ Fed เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ต้องทำการปรับลดเม็ดเงินที่ใช้ในมาตรการ QE หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและสามารถเติบโตได้เองเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินของธนาคารกลาง

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

จากการที่สหรัฐอเมริกาได้พิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมาก จะทำให้เงินเหล่านั้นทะลักเข้าไปลงทุนเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมันและอาหาร ทำให้สินค้าปรับตัวขึ้น กำลังซื้อของประชาชนลดลง อาจมีการไหลเข้าของเงินทุนของต่างชาติอย่างมหาศาล จะส่งผลต่อค่าเงินของประเทศที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้มีการเก็งกำไรค่าเงินที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน การส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น



หมายเลขบันทึก: 625389เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2017 02:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2017 03:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท