ประสบกาณ์ครั้งใหญ่ในกิจกรรมบำบัดผู้สูงอายุ


ในวันที่ 30 มกราคม และ 3 กุมภาพันธ์ 2560 พวกเรา นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 ได้มีโอกาสเดินทางไปที่บ้านพักผู้สูงอายุ ศูนย์คามิลเลียน โซเชียล เซนเตอร์ สามพราน เพื่อฝึกการประเมินและการให้การรักษาทางกิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุจริงๆค่ะ

ในภาพรวมของการไปครั้งนี้คือ วันแรกจะเป็นการทำกิจกรรมเพื่อการประเมินผู้สูงอายุเพื่อนำมาตั้งเป้าประสงค์และเตรียมกิจกรรมเพื่อการรักษาทางกิจกรรมบำบัดให้เหมาะสมและตรงกับบริบทของผู้รับบริการให้ได้มากที่สุด

สำหรับการไปครั้งนี้ก็ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มาลองเจอผู้รับบริการจริงๆ และได้รับประสบการณ์มากมาย รวมไปถึงได้รับรู้ในสิ่งที่ตนเองจะต้องนำไปพัฒนาต่อ ฉะนั้นก็ก่อนอื่นดิฉันอยากขอขอบพระคุณคุณลุงชาติ (นามสมมติ) ที่หนูได้รับประสบการณ์มากขึ้น ทางศูนย์คามิลเลียน โซเชียล เซนเตอร์ สามพราน ที่มอบคำแนะนำและโอกาสดีๆ รวมไปถึงขอบพระคุณอาจารย์ทุกๆท่านสำหรับความรู้และคำแนะนำต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากค่ะ

โดยผู้สูงอายุที่ดิฉันได้เข้าไปให้การประเมินและการรักษาคือคุณลุงสุชาติค่ะ โดยคุณลุงสุชาติอยู่ในหอผู้สูงอายุติดเตียง แต่ในวันนั้นคุณลุงกำลังนั่งอยู่บนรถเข็น ดิฉันก็เลยเริ่มสร้างสัมพันธภาพโดยการถามคุณลุงว่าอยากไปข้างนอกไหม คุณลุงจะตอบว่า “อยากครับ” ดิฉันจึงอาสาพาคุณลุงไปด้วยตนเอง แต่ในระหว่างทางได้มีการให้คุณลุงลองเลือกเส้นทางที่จะไปเมื่อถึงทางแยก ถามว่าคุณลุงจะไปที่ไหน พบว่าคุณลุงไม่สามารถตอบได้ และตัดสินใจไม่ได้ โดยในทุกคำถาม คุณลุงจะตอบว่า “จำไม่ได้ครับ, ไม่รู้ครับ” ซึ่งคุณลุงมีภาวะเป็น Traumatic Brain Injury ที่ซีกซ้าย ทำให้ร่างกายซีกขวามีอาการอ่อนแรง ไม่สามารถใช้ร่างกายซีกขวาในการทำกิจกรรมได้ มีการให้อาหารทางสายยางและใส่สายสวนปัสสาวะด้วย รวมไปถึงมีระดับการรู้คิดอยู่ที่ระดับ 1 ถึง 2 โดยคุณลุงสามารถขยับตามคำพูดหนึ่งคำได้ เช่น “พูดว่าคุณลุงชอบทำอะไร” “มีกิจกรรมที่ชอบทำไหม” คุณลุงจะส่ายหน้า หรือ “คุณลุงเคยรำไหม?” คุณลุงก็จะยังนิ่ง แต่เมื่อหลังจากนั้นเราพูดว่า “รำ” คุณลุงก็จะยกมือข้างซ้ายขึ้นมาแล้วทำท่ารำ พร้อมยิ้มชอบใจ แต่เมื่อให้คุณลุงลองแตะมือหรือทำตามคำสั่งที่มีความยากมากขึ้น พบว่าคุณลุงจะเกิดอาการสับสน และไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ หรือแม้กระทั่งการตอบคำถามเกี่ยวกับตนเอง คุณลุงสามารถตอบได้เพียงชื่อของตนเองเท่านั้น สามารถนับเลขจาก 1-10 ได้เมื่อสามารถเริ่มนับให้ และจะหยุดก็ต่อเมื่อมีการบอกให้คุณลุงหยุด ส่วนในด้านของการมองเห็นคุณลุงไม่สามารถมองไกลๆได้ และมองได้ไม่ชัด รวมไปถึงคุณลุงมักจะมองขึ้นไปข้างบนเพดาน มีนัยน์ตาเศร้า แทบจะตลอดเวลา (ยกเว้นขณะออกมาข้างนอก และตอนแสดงท่ารำ)

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ดิฉันก็นำข้อมูลต่างๆทั้งหมดมาตั้งเป้าประสงค์ และคิดกิจกรรมเพื่อการบำบัดรักษาทางกิจกรรมบำบัด โดยในตอนแรกนั้น กิจกรรมที่ดิฉันคิดไปไม่สามารถใช้ได้จริง เนื่องจากเมื่อเจอสถานการณ์จริงๆเราจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงบริบทและปัจจัยหลายๆอย่างนอกจากความสามารถของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น

  • ความพร้อมของผู้สูงอายุ เช่น
    • การจัดท่านั่งหรือท่านอนเอื้อต่อการทำกิจกรรมที่เตรียมมาหรือไม่ ผู้สูงอายุอยู่ในท่าที่สบายหรือเปล่า มีอาการไอขณะทำกิจกรรม
  • อารมณ์และความรู้สึก ณ ขณะนั้นที่อาจแตกต่างไปจากวันที่เรามาทำการประเมิน
    • ให้อาหารทางสายยาง คุณลุงก็จะซึมไปสักพักใหญ่ๆ และไม่อยากที่จะทำกิจกรรม (ซึ่เวลาพยาบาลจะให้อาหารทางสายยางอยู่ในช่วงที่เราจะเข้าไปให้กิจกรรม)
  • สิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบ เช่น
    • ในวันประเมินได้พาคุณลุงออกมาทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้สูงอายุท่านอื่นที่ด้านนอกหอผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งคุณลุงดูมีความสุขมากกว่าขณะอยู่ในหอ โดยสื่อออกมาได้ชัดผ่านสายตาของคุณลุง

และอื่นๆ โดยนักกิจกรรมบำบัดจะมองและให้การรักษาโดยการมองแบบองค์รวมทำให้ต้องดูในหลายๆองค์ประกอบ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องต่อการแสดงพฤติกรรมนั้นๆ

เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง ทำให้แผนการรักษาต้องเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากให้ลุงชาตินั่งหรือนอนอยู่ในท่าที่เหมาะสม ไม่งอตัวหรือเหยียดมากเกินไป ให้เราหายใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รู้สึกผผ่อนคลาย หรือภาวะการไอนี้เกิดจากคอแห้งมากๆ และขั้นตอนการกลืนจะค่อนข้างช้า ฉะนั้นค่อยๆให้คุณลุงจิบน้ำ ด้วยวิธีการใช้สำลีก้านจุ่มน้ำ แล้วแตะๆไปที่ใต้ลิ้น

และ ณ ก่อนที่จะได้กระทำจริงๆ คุณลุงมีภาวะกลัวไม่ให้สัมผัสหน้า หลีกหนี ซึ่งที่เราทำได้คือสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น มีการใช้ทั้ง hand-under-hand technique, rapport ซึ่งในส่วนนี้ใช้เวลาค่อนข้างที่จะนาน แต่เมื่อทำได้สำเร็จก็ทำให้ความสัมพันธระหว่างนักกิจกรรมบำบัดและผู้สูงอายุมีมากขึ้น

นอกจากนั้นระหว่างที่ทำกิจกรรมร่วมกัน คุณลุงมักมีอาการเหม่อลอย มองเพดานตลอดเวลา อาจารย์ป๊อบได้แนะนำให้จับความรู้สึก คุณลุงมีนัยน์ตาที่ค่อนข้างเศร้า ลองมาดูกันถึงว่าคุณลุงเป็นอย่างไร มีความคิด นิสัย เป็นอย่างไร แล้วชีวิตความเป็นอยู่ก่อนหน้าของคุณลุงเป็นอย่างไรเพื่อดูจิตวิญญาณที่แท้จริงของคุณลุง เพื่อนำมาพัฒนาโปรแกรมการรักษาทางกิจกรรมบำบัดต่อไปให้สามารถเห็นผลได้ดีขึ้นจริง

และทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ปํอบเป็นพิเศษที่คอยให้คำแนะนำและปรึกษาตลอดทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน และขณะปฏิบัติจริงค่ะ ทำให้ได้เรียนรู้และเติบโตมากยิ่งขึ้น


สำหรับการมาครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ครั้งใหญ่ของดิฉันเลยก็ว่าได้ และดิฉันมั่นใจว่าประสบการณ์ในครั้งนี้ทำให้ฉันได้ก้าวเข้าไปใกล้สู่ความเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่เก่งและดีเข้าไปได้อีกหนึ่งก้าว ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 624862เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2017 04:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2017 04:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท