(48) HA KM R2R เป็นดั่งกันและกัน


บทต้นเรื่องอันเป็นเป้าหมาย (Knowledge Vision)

ภารกิจวันสุดท้ายของการศึกษาดูงาน (ภาษาเดิม) ซึ่งเป็นการศึกษาดูงานที่มีในลักษณเปิดพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ต่างฝ่ายต่างนำของดีมาแบ่งปันกัน (ผลัดกันเป็นผู้ให้ผลัดกันเป็นผู้รับ) ให้ทุกคนได้มีโอกาสมาเจอกัน ตามวาสนาที่มีต่อกัน ตามกำหนดที่ทางเครือข่าย R2R รพ.ปทุมธานีเดินทางมา คือ 16-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของการทำงานที่มุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพแบบคนทำงานมีความสุข ดังนั้น HA KM R2R จึงเป็นเรื่องเดียวกันที่ไร้รอยต่อ

ขณะเดียวกันต้องการให้ทีมขับเคลื่อนได้เกิด Inspiration จากการได้ทำ Reflection ซึ่งเป็นการทำ Reflection ผ่านการเล่าเรื่องงานของตน(sss: success story sharing) ผ่านการทำภารกิจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

นอกจากที่จะมาดูงานแล้วในฐานะคนในพื้นที่ยังต้องการที่จะเปิดพื้นที่แห่งความเป็นเมืองเกิดพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายปฏิบัติให้ทุกท่านที่มาเยือนได้กราบองค์ท่านและรับฟังโอวาทธรรม ในขณะเดียวกันสลับกับการท่องเที่ยงเชิงธรรมชาติ ซึ่งแถวนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นวัดและการตามรอยพ่อแม่ครูบาอาจารย์ อันเป็นศานาสถานสะท้อนถึงคำสอนและการปฏิบัติต่างๆ

ในฐานะเป็นคุณอำนวยในพื้นที่ (R2R Facilitator) จึงมีเป้าหมายซ่อนอยู่หลายเรื่องแบบไม่แยกส่วน

ภาพกิจกรรมการเรียนรู้ (Knowledge Sharing)

กระบวนการที่ออกแบบไว้ จะต้องผสมผสานทั้งความเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีความยืดหยุ่นสูง สอดรับกับความต้องการของผู้คน มีกระบวนท่าที่ไม่ตึงเครียดหรือบีดรัดมากเกินไป แบบนี้ไม่ได้ก็ปรับแบบใหม่ เป็นการเปิดบ้านแบบมีความเป็นกัลยาณมิตรและเอื้ออาทรต่อผู้มาเยือน

สร้างปรากฏการณ์ให้ที่ทำงานคล้ายบ้าน ไม่ว่าแขกผู้มาเยือนจะเดินไปที่ไหน ก็พร้อมไม่ต้องจัดฉากหรือเตรียมการที่เป็นทางการ ให้ทุกอย่างดำเนินไปธรรมชาติ ให้ได้เห็นของจริงเรื่องจริงที่เราทำเป็นวิถี ได้เจอคนทำงานแบบตัวเป็นๆ ได้เห็นทั้งความสำเร็จที่เราทำและช่องว่าง(Gap) ที่เรายังสามารถพัฒนาต่อได้อีก ถ้าเรามีความเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบทุกอย่างคือ การเรียนรู้ การเปิดพื้นที่เช่นนี้เราจะทำได้อย่างสบายใจ

ดังนั้นการเตรียมการของเราจึงเป็นแบบสบายๆ ไม่ต้องชมจากไวนิลหรือโปสเตอร์ แต่ไปชมของจริงเลย เดินไปมุมไหน ส่วนไหนก็ได้ รับฟังการโปรยจากการนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องประชุมพอกระตุ้นให้อยากเห็นภาพจริง แล้วตามไปดูบริบทจริงเลย ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า การให้ได้มาซึ่งคุณภาพในการพัฒนางาน(HA) ทุกอย่างต้องมีอยู่จริงในวิถี และช่องว่างที่ยังทำให้เราไม่บรรลุผลเป็นโอกาสที่เราสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกและบางประเด็นนำ R2R มาเป็นเครื่องมือในการทำให้ช่องว่าง (GAP) นั้นแคบลง ในขณะเดียวกัน KM จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามองเห็นตนเองชัดเจนขึ้นและแตกยอดความคิด

วันแรก:

- ทีมผู้บริหารกล่าวต้อนรับและพบปะแลกเปลี่ยนกัน

- ตัวแทนนักพัฒนางานประจำด้วยการทำวิจัย (R2R) มาโปรยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

- กราบพระบรมสารีริกธาตุ และดูการทำงานของหอผู้ป่วยสงฆ์อาพาธ

- กราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์องค์หลวงปู่ประสาร สุมโน องค์ประธานมูลนิธิสงฆ์อาพาธ

- พักผ่อนท่องเที่ยวตามอัธยาศัย

วันที่สอง:

- ผู้บริหารมอบของที่ระลึกระหว่างกันและกันซึ่งเป็นของพื้นเมืองประจำจังหวัด

- ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้หน้างาน ตามหอผู้ป่วยต่างๆ

- แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคำเขื่อนแก้วและมหาชนะชัย ซึ่งเป็นเครือข่าย R2R ในพื้นที่

- ร่วมกันถอดบทเรียน

- กราบสักการะพระคู่บ้านคู่เมือง และท่องเที่ยวชมจุดแลนด์มาร์คของจังหวัด

สิ่งที่ได้เรียนรู้ในตนเอง (Knowledge Asset)

เรื่องของการพัฒนาคุณภาพทุกอย่างถือเป็นเรื่องเดียวกัน เราบูรณาการเครื่องมือ 3 อย่างเข้าด้วยกันแบบสอดรับกันให้เนียนเป็นหนึ่งเดียวแบบไร้รอยต่อ "KM R2R HA" ทุกครั้งของการพูดเรื่องคุณภาพสามอย่างนี้จะหลอมรวมอยู่ในสิ่งเดียวกันอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนเวลาที่เราปรุงอาหารได้อาหารมาหนึ่งอย่าง ส่วนผสมและเครื่องปรุงก็จะรวมอยู่ในอาหารนั้น ความอร่อยจะสะท้อนถึงคุณภาพ จะไม่สามารถระบุชัดได้ว่า น้ำปลาอร่อยกว่าน้ำตาล หรือน้ำตาลอร่อยกว่าเกลือ เป็นต้น เพราะทุกอย่างต่างเป็นองค์ประกอบและเป็นส่วนหนึ่งระหว่างกัน ในการทำงานพัฒนาคุณภาพเช่นเดียวกัน "ผู้ป่วยปลอดภัย คนทำงานมีความสุขซึ่งเป็นสุขจากการได้เป็นผู้ให้ ผู้รับคือผู้ป่วยจะปลอดภัยแล้วยังมีความสุขความพึงพอใจเกิดขึ้นด้วย"

เครื่องมือสามอย่าง "KM R2R HA" จึงเป็นดั่งต้นไม้ต้นเดียวกัน ปรากฎการณ์ที่มองว่า "ตอนนี้ฉันทำ KM อยู่ R2R และ HA ไม่เกี่ยวก็ไม่ได้" หรือ "ตอนนี้ฉันทำ R2R อยู่ KM และ HA ไม่เกี่ยวก็ไม่ได้" หรือ "ตอนนี้ฉันทำ HA อยู่ KM และ R2R ไม่เกี่ยวก็ไม่ได้" ถ้าใครคิดเช่นนี้แสดงว่ายังเข้าไม่ถึงคุณภาพในระดับที่ลึกซึ้ง การพัฒนาคุณภาพต้องเนียนอยู่ในวิถีของคนทำงาน ทำอย่างเป็นธรรมชาติ ในจิตจะมีความตระหนักในเรื่องการปรารถนาที่จะให้ผู้ป่วยปลอดภัย เมื่อปลอดภัยคนทำงานก็จะมีความสุข คนไข้และญาติก็มีความสุขด้วย

สองวันนี้จากการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลปทุมธานีและโรงพยาบาลยโสธร จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความคิดความเชื่อที่มีว่า "ทุกอย่างเป็นดั่งกันและกัน" "KM R2R HA ไร้รอยต่อ"

การถอดบทเรียนจากทีมผู้มาเยือน ที่สะท้อนว่า

"ที่นี่ใจมาก่อน ทำด้วยใจ ใจเชื่อมใจ"

"มีอยู่ในชีวิตการทำงานเป็นวัฒนธรรมเป็นธรรมชาติ"

"มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานในหัวใจคนทำงาน"

"สัมผัสถึงความเอื้ออาทร และใจของการเป็นผู้ให้"

"ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากจะกลับไปพัฒนาโรงพยาบาลปทุมฯ"

ฯลฯ

ส่วนตัวประทับใจทุกเหตุการณ์และเรื่องราว ภูมิใจในความเป็นคนยโสธรเมืองเกิดแห่งพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน แหล่งบ่มเพาะทางปัญญาจากการปฏิบัติ พี่ๆ น้องๆ มาช่วยกัน แม้คนไม่ได้มาช่วยก็ส่งใจมาช่วย ได้รับความเมตตากรุณาจากท่านผู้บริหารทุกระดับในการทำให้กระบวนการครั้งนี้ราบรื่นและผ่านไปได้ ซาบซึ้งในน้ำใจพี่เม็งและพี่นิดที่คอยประคองและเฝ้ามองพร้อมกระโดดเข้ามาช่วยทุกเวลา มือซ้ายมือขวาอย่างน้องโย๋และน้องนก กัลยาณมิตรที่เชื่อมั่นกันอย่างไร้เงื่อนไขว่าไงว่าตามกันอย่างพี่แกะและพี่ปัท เต็มที่กันทุกโอกาสที่เรามี พี่เจี๊ยบและทีมโภชนการเตรียมอาหารบ้านเราให้ทานอย่างอร่อย ชาติและพี่แต๋มเตรียมสถานที่ให้อย่างสะอาดสอดรับความต้องการ และที่สำคัญขอบพระคุณพี่กุ้ง R2R Facilitator จากโรงพยาบาลปทุมธานีที่นำพาเราทุกคนมาเจอกัน

16-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560




คำสำคัญ (Tags): #self reflection#K2R#km
หมายเลขบันทึก: 623580เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2017 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2017 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท