Creation


ตั้งแต่จำความได้  ผมรู้สึกทึ่งกับ creation ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน ป.1   แต่แน่นอนครับ   ตอนนั้น  คงไม่รู้จักว่ามันคืออะไร    หลายท่านคงสงสัยว่า  แล้วชอบได้อย่างไร?    ผมนั่งทบทวนดูวัยเด็ก  เรามักจะเรียนรู้จากสิ่งของที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนเกือบทั้งหมด   ยิ่งเรามีโอกาสอยู่ใกล้  สิ่งของประดิษฐ์สร้างสรรค์  มากเท่าไร   เชื่อว่าเราจะซึมซับวิธีคิด creation  เอาไว้ใต้จิตสำนึกของเรา  โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว    มันทำให้เราชอบมองหาอะไรใหม่ๆเสมอ  (แต่ใช่ว่าจะทั้ง 100% นะครับ)  หรือชอบที่มองในมุมใหม่ๆ

ก่อนเข้าโรงเรียน   ที่บ้านโต๊ะ (ตา-ยาย) ของผมมีไม้กวาดไม้ใผ่ที่ใช้กวาดลานบ้าน  ไม้กวาดประเภทนี้ส่วนใหญ่เห็นอยู่ทั่วไปแถบปักษ์ใต้    วันหนึ่ง โต๊ะผมทำ "ไม้กวาดน้อย"  ให้ผม 1 ด้าม   ตอนนั้นผมชอบมาก  มันแปลกสำหรับผม  และไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน  ขนาดของมันเหมาะกับความสูงของผมมาก   เห็นแต่ไม้กวาดของผู้ใหญ่  แต่ไม่เคยเห็นไม้กวาดของเด็กซักที   จึงประทับใจความคิดของโต๊ะมากในตอนนั้น   และยังมีของเล่นแปลกให้เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ  เช่น  ไม้หัดเดินสำหรับเด็กที่เข้าวัยเริ่มเตาะแตะ    โดยการทำแกนไม้หรือเหล้กปักไว้ในดินให้แน่น  และเอาไม้ใผ่ 2 ท่อนมาเข้าไม้เป็นรูปตัว L คว่ำ  สวมลงบนแกนไม้ที่ปักไว้ในดิน   เด็กก็สามารถเกาะแกนไม้ใผ่  และเดินหมุนรอบเป็นวงกลม  

ส่วนโต๊ะฝ่าย ป๊ะ (พ่อ) ก็ไม่น้อยหน้า  โดยเฉพาะโต๊ะหญิง (ย่า)  ซึ่งเป็นช่างไม้ ช่วงปิดเทอม ผมได้ไปอยู่บ้านโต๊ะหญิง  และเคยมีโอกาสช่วยทำโต๊ะโรงเรียน (อันนี้โต๊ะจริงๆ อย่าเพิ่งสับสนนะครับ)  คือว่า  โรงเรียนแถบนั้นมาว่าจ้างให้โต๊ะหญิงผมทำโต๊ะเขียนหนังสือ  แบบที่เอากระเป๋านักเรียน  หรือหนังสือใส่เข้าไปข้างในได้  หลายชุดเหมือนกัน (รวมเก้าอี้ด้วย)  ผมก็ช่วยงานแผนกอัดดินสอพองตรงหัวตะปู  และช่วยขัดกระดาษทราย  (ทำกันแค่ 2 คน โต๊ะกับผม)  สิ่งที่ผม surprise มากตอนนั้น    ท่านลองคิดดูว่าระหว่าง "แกลลอนน้ำมันหล่อลื่น"  กับ  "เลื่อยหูฉลาม"  มีความสัมพันธ์กันได้อย่างไร?   พอมองออกมั๊ยครับ!

คือว่า  เลื่อยหูฉลามของโต๊ะหญิงนั้น  ส่วนที่เป็นมือจับ (ไม้) เดิมนั้นมันหักไป    โต๊ะหญิงผมเลยไปตัดหูหิ้วแกลลอนน้ำมันมา   พอเท่าขนาดประกบตรงน๊อตยึดได้   แล้วเจาะรูขันยึดแน่นด้วยน๊อตธรรมดาตรงจุดรูเดิมของตัวเลื่อย   ผมหยิบมันมาทดลองดู   นำหนักเบากว่าเดิมนิดหน่อย  อาจจะไม่คุ้นตอนใช้ใหม่ๆ   แต่พอใช้ไปซักพักก็ชินไปเองครับ      นี่เพียง 1 รายการเท่านั้นนะครับ   ยังมีของใช้ชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย  ที่รังสรรค์ขึ้นมาได้อย่าน่าทึ่งในไอเดีย   ซึ่งเดี๋ยวนี้หาดูยาก  เช่น  ที่คั่นน้ำกระทิมะพร้าว   ไม่ซ้ำแบบใครเลย

มาถึง ป๊ะ (พ่อ) ของผม  จบแค่ ป.4 (5 ปี ตกซ้ำชั้นไปปีหนึ่ง) แต่ฝีมือช่างไม่เลวเลย  โดยเฉพาะ ช่างยนต์  ช่างเชื่อม  ช่างสี  และช่างไม้นิดหน่อย   ผมเคยถามว่า  ป๊ะไปฝึกหัดมาจากไหน  ป๊ะเล่าให้ฟังว่าใช้วิธี  "ครูพักลักจำ"  คือ เคยป็นลูกมือช่างซ่อมมอเตอร์ไซด์  เลยได้วิชามา  แล้วพอมาทำเองก็พัฒนาเรื่องช่างอื่นๆไปด้วย    ผมยังเคยถูกจับมานั่ง "บดบ่าวาวล์ไอดี-ไอเสีย"  (เมื่อมีกรณียกเครื่องใหม่), ปะยางมอเตอร์ไซด์  ฯลฯ  ช่วงปิดเทอม   ตอนนั้นก็ไม่ค่อยชอบเท่าไร  เพราะไม่ได้ไปวิ่งเล่นกับเพื่อน      ที่ประทับใจมาก  คือ  ของเล่นทำเอง   เช่น  รถบรรทุกดิน ที่สามารถเปิดประตูได้  ยกดั้มพ์เทดินได้  มีระบบกันสะเทือน   หรือ  รถขนไม้ โบราณที่เคยเห็นตามโรงเลื่อยปักษ์ใต้  สมัยนั้น   ป๊ะออกแบบใส่ระบบรอกดึงไม้ให้ด้วย      หรือว่าเป็น  รถล้อเลื่อน  คล้ายๆ skateboard  ทำด้วยไม้และใช้ตลับลูกปืนเป็นล้อ  และอื่นๆอีกหลายชิ้นมาก  เสียดายสมัยนั้นผมยังไม่มีกล้องถ่ายภาพ  จึงไม่สามารถเก็บมาโชว์ท่านได้

"ไอเดียบรรเจิด"  แนวๆนี้   ถือว่าช่วยให้ผมได้รู้จักคำว่า Creation ตั้งแต่ยังไม่รู้หนังสือด้วยซ้ำ

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 6228เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2005 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท