ถอดบทเรียนการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย จ.ขอนแก่น


วิวัฒนาการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางสถานีวิทยุในเขตจังหวัดขอนแก่น

การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสถานีวิทยุกระจายเสียงในอดีตนั้น ทางสถานีวิทยุมีมาตรการควบคุมกำกับสื่อโฆษณาที่จะเผยแพร่ โดยการตรวจสอบใบอนุญาตโฆษณา ข้อความที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ ซึ่งเอกสารเหล่านี้จะมีไว้ประจำที่สถานีวิทยุเพื่อแสดงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกขณะที่ไปตรวจ โดยนักจัดรายการของสถานีวิทยุจะต้องสอบผ่านการเป็นผู้ประกาศ แต่นับจากปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา สถานีวิทยุท้องถิ่นมีการแพร่กระจายตามชุมชนต่างๆมากขึ้น ตามมาด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต การโฆษณาใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรืออวดอ้างเกินจริง การโฆษณาโรคที่ห้ามโฆษณา(กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ยา) อย่างแพร่หลาย ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีมาตรการในการจัดการตามลำดับดังนี้


1.การดำเนินงานตามโครงการหูฟังโฆษณา ตาอ่านฉลาก ปากร้องเรียน(พ.ศ.2545)

เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นเป็นเจ้าภาพหลักได้ดำเนินโครงการจัดการปัญหาโฆษณา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีการจัดอบรมนายสถานีวิทยุและนักจัดรายการในประเด็นกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจโฆษณา และการตรวจเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุชภาพทางสถานีวิทยุต่างๆร่วมกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและประชาชน

2.การสืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีผู้กระทำความผิด(พ.ศ.2552)

เนื่องจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นปัญหาที่มีการกระจายในวงกว้าง โดยผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่กระจายสื่อโฆษณาไปตามสถานีต่างๆทั่วประเทศไทย จึงมีการสืบสวน สอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำผิดรายใหญ่ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องดื่มสมุนไพรและยาน้ำสมุนไพร

3.การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านโฆษณาร่วมกับแผนงานพัฒนากลไกและเฝ้าระวังระบบยา(พ.ศ.2555)

จากมาตรการเพื่อจัดการปัญหาโฆษณาของจังหวัดขอนแก่นที่ผ่านมา ปรากฏว่าไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ดังนั้นจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านโฆษณาภายใต้แนวคิด “ถ้าไม่มีคนซื้อ ก็ไม่มีคนขาย” โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้บริโภคทุกกลุ่มวัย ครอบคลุมเครือข่ายทุกกลุ่มเป้าหมายได้แก่ เครือข่าย อย.น้อย สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น พบส.เภสัชกรรมจังหวัดขอนแก่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อ ชมรม อสม.เทศบาลนครขอนแก่น ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น และชมรมสตรีฟื้นฟูพัฒนาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เครือข่ายเข้มแข็งที่สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง 2 กลุ่มคือ ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น และชมรมสตรีฟื้นฟูพัฒนาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


4.การจัดตั้งและพัฒนาศูนย์เฝ้าระวังและผู้เสียหายจากโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ จ.ขอนแก่นร่วมกับแผนงานพัฒนากลไกและเฝ้าระวังระบบยา(พ.ศ.2556)

จากประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายโฆษณาเมื่อปี 2555 พบว่า ผู้บริโภคมีความตื่นตัวหลังจากได้รับข้อมูลผู้ทีได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพตามโฆษณา จึงได้นำแนวคิดนี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานขึ้นที่ชมรมสตรีฟื้นฟูพัฒนาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการของชมรมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์ประสานงาน แต่พบปัญหาคือ ผู้เสียหายเกิดความเกรงกลัว มิกล้าแสดงตนหรือเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนเอง ประกอบกับการตรวจสอบและบ่งชี้อาการอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดผลต่อสุขภาพว่ามีสาเหตุจากผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นไปได้ยาก จึงทำให้การดำเนินโครงการนี้จึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร


5.การเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ 1 คลื่น 1 อำเภอ (พ.ศ.2557)

ในปีงบประมาณ 2557 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีตัวชี้วัดการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยมีการเฝ้าระวังคลื่นวิทยุชุมชน 1 คลื่น 1 อำเภอ ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นและสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นเพื่อเฝ้าระวังและร่วมกันจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยสุ่มตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสถานีวิทยุระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2557 พบผู้กระทำความผิดจำนวน 6 สถานีได้แก่ สถานีวิทยุในสังกัดกองทัพอากาศ 1 แห่ง สถานีวิทยุในสังกัดกองทัพบก 1 แห่ง สถานีวิทยุในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 แห่ง และสถานีวิทยุธุรกิจ 3 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 38 ผลิตภัณฑ์ เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 18 รายการ ผลิตภัณฑ์ยา 32 รายการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 2 รายการ โดยพบรูปแบบการเผยแพร่ ดังนี้

5.1 สถานีวิทยุลูกข่ายที่อยู่ในส่วนภูมิภาคเชื่อมสัญญาณจากบริษัทเอกชนผู้ได้รับสัมปทานในการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสถานีแม่ข่ายที่ส่วนกลาง

5.2 สถานีลูกข่ายที่อยู่ในส่วนภูมิภาคออกอากาศโดยการเปิดแผ่นซีดีรายการตามผังเวลาของบริษัทเอกชนที่ไปซื้อเวลาต่อจากบริษัทเอกชนที่ประมูลรายการและเวลาได้จากสถานีแม่ข่ายที่ส่วนกลาง

5.3 ารออกอากาศโดยหน่วยงานส่วนกลางให้ผู้ประกอบการเอกชนประมูลเวลาของสถานีวิทยุ ซึ่งบริษัทที่ได้รับการประมูลและส่งพนักงานมาประจำ ณ สถานีวิทยุเพื่อจัดรายการและเผยแพร่โฆษณาของลูกค้า



แม้จังหว้ดขอนแก่นจะมีมาตรการจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย แต่ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีการขับเคลื่อนเพื่อจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับชุมชนครอบคลุมหลายพื้นที่ทำให้สถานการณ์การโฆษณาทางสถานีวิทยุดีขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

1.การขับเคลื่อนทั้งระบบครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงาน กสทช. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานในสังกัด เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายสถานีวิทยุ ในหลายจังหวัดที่ดำเนินการพัฒนา ตรวจสอบ เฝ้าระวัง ดำเนินคดีร่วมกัน โดยมีการส่งต่อและประสานงานร่วมกันทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง

2.การประสานความร่วมมือของภาคีเครือข่ายครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อบูรณาการเพื่อร่วมกันในการจัดการปัญหา

3.การเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงาน กสทช. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภค เครือข่ายผู้พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค






หมายเลขบันทึก: 622669เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2017 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2017 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท