เส้นทางธุรกิจครอบครัวเซนทรัล



“จิราธิวัฒน์” ถือเป็นต้นแบบการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวที่ดีเยี่ยม เป็นตระกูลที่สามารถสร้างกิจการครอบครัวให้เติบใหญ่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ โดยยังรักษาความเป็นครอบครัวที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไว้ได้ แม้ปัจจุบันจะมีสมาชิกถึงเกือบ 200 ชีวิตแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าเป็นการยากที่จะเลียนแบบ “จิราธิวัฒน์” ได้ เพราะส่วนมากธุรกิจครอบครัวไทยจะเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก แถมสมาชิกครอบครัวก็ไม่ได้มากมายเช่นตระกูล จิราธิวัฒน์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจครอบครัวทุกขนาดสามารถถอดรหัสแนวคิดการบริหารธุรกิจครอบครัวของจิราธิวัฒน์ แล้วนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจครอบครอบครัวของตนเองได้

แนวคิดการบริหารธุรกิจครอบครัวจากบุคคลสำคัญ 2 ท่านจากตระกูลเจ้าของเซ็นทรัล ได้แก่ รศ.คร. สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ เลขาธิการสภาตระกูลจิราธิวัฒน์รุ่นที่หนึ่ง และ คุณปริญญ์ จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารเงินกงสีของครอบครัวและหนึ่งในคลื่นลูกที่ 3 ของตระกูลจิราธิวัฒน์

ตระกูลจิราธิวัฒน์ และเครือเซ็นทรัล ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจครอบครัวที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน “เจ็งนี่เตียง” หรือ “เตียง จิราธิวัฒน์” ผู้นำตระกูลจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 1 ได้เดินทางจากประเทศจีนมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิในปี 2470 โดยเริ่มต้นธุรกิจจากร้านขายของชำเล็กๆ แถวฝั่งธนบุรี และได้ขยับขยายเป็นกิจการครอบครัวในชื่อ “ห้างเซ็นทรัล เทรดดิ้ง” ในปี 2490 ซึ่งเป็นร้านค้าหนึ่งคูหาเล็กๆ ขายหนังสือและสินค้าทั่วไปบนถนนเจริญกรุง กิจการเติบโตรุดหน้าอย่างต่อเนื่องจนกลายมาเป็นอาณาจักร “เซ็นทรัล” กลุ่มธุรกิจที่มียอดขายนับแสนล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน ธุรกิจครอบครัว “จิราธิวัฒน์” ที่เป็น “ต้นแบบ” ของการดำเนินธุรกิจค้าปลีกของไทย ได้ถูกส่งไม้สืบทอดกันมาเป็นลำดับจากรุ่นที่หนึ่งจนมาถึงรุ่นที่ 3 ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มธุรกิจอย่างเต็มตัวในปัจจุบัน

ซึ่งในบทนี้ เราจะมาเรียนรู้แนวคิดการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวของตระกูลจิราธิวัฒน์ใน 6 เรื่องสำคัญตามโมเดล “บ้านธรรมนูญ”

(1) “คณะกรรมการ” นวัตกรรมเพื่อการสื่อสาร ตัดสินใจ และระงับความขัดแย้ง

สามารถแบ่งแยกที่มาของกรรมการออกได้เป็น3 กลุ่ม คือ

1.ผู้อาวุโสของตระกูล (Founders) คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของกรรมการทั้งหมด (ประมาณ 3 คน)

2.ตัวแทนผู้ถือหุ้น (ขึ้นกับอัตราส่วนหุ้นของธุรกิจครอบครัวที่สมาชิกถือ – หนึ่งหุ้น หนึ่งโหวต) จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของกรรมการ (ประมาณ 6 คน)

3.ผู้มีความสามารถนอกตระกูล ซึ่งผู้อาวุโสของครอบครัวแต่งตั้งเข้ามาจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ (ประมาณ 1-3 คน)

สรุป

1)สื่อสาร ตัดสินใจ ระงับความขัดแย้งผ่านกลไก “คณะกรรมการ”

2)แบ่งแยกเรื่องธุรกิจกับครอบครัวอย่างชัดเจน – เรื่องธุรกิจให้ไปที่บอร์ดใหญ่ เรื่องครอบครัวให้มาที่สภาครอบครัว

3)กำหนดโครงสร้างและหน้าที่ของคณะกรรมการอย่างชัดเจน

(2) การสืบทอดธุรกิจครอบครัว(Succession)

การสืบทอดธุรกิจของครอบครัวจิราธิวัฒน์จะประกอบไปด้วยประเด็นเรื่อง การฟูมฟักทายาทธุรกิจครอบครัว กติกาสำหรับสมาชิกที่ต้องการไปทำธุรกิจส่วนตัว และกติกาเรื่องมืออาชีพ เขย-สะใภ้ และความก้าวหน้าในธุรกิจครอบครัว

1)ฟูมฟักทายาทธุรกิจครอบครัว ด้วยการปลูกฝังค่านิยมสำคัญของครอบครัว ให้เรียนรู้งานตั้งแต่เด็ก และเปิดโอกาสให้แสดงฝีมือ

2)ถ้าอยากทำธุรกิจส่วนตัว สามารถทำได้แต่ต้องแจ้ง/ขออนุญาตจากคณะกรรมการหากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตระกูล และการทำธุรกิจนั้นๆ จะต้องไม่กระทบต่องานหลักของครอบครัวด้วย

3)“ธุรกิจจะไปได้ต้องเอาคนเก่งเข้ามา” ถ้าหากคุณสมบัติไม่ต่างกันมาก “จิราธิวัฒน์” มาก่อนแต่ก็ต้องสร้างสมดุลไม่ให้ Morale ของพนักงานเสีย

(3) การให้ค่าตอบแทนสมาชิกครอบครัว(Compensation)

1)ให้เงินเดือนสมาชิกครอบครัวตามราคาตลาด

2)ถ้าผลงานดีได้โบนัส แต่ไม่ได้หุ้นเพิ่ม

3)มีการจ่ายปันผลมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการเก็บเงินไว้ที่เดียวกัน (ที่กงสี)

4)มีค่าตอบแทนให้แก่สมาชิกที่กำลังจะเกษียณโดยดูจากจำนวนหุ้นและความรับผิดชอบในอดีต

(4) การจัดการกงสีของครอบครัว (Family Wealth)

สิ่งหนึ่งที่ตระกูลจิราธิวัฒน์สามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าระบบ “กงสี” นั่นเอง ในสมัยก่อน ครอบครัวจิราธิวัฒน์เคยใช้ระบบกงสี 100 เปอร์เซ็นต์มาก่อน ค่ากินค่าอยู่ทุกอย่างกงสีก็ออกให้ทั้งหมด จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2541 จึงได้มีการจัดตั้งแฟมิลี่ เคาน์ซิล (Family Council) ขึ้น โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริษัทขึ้นมาอย่างชัดเจน และออกกฎระเบียบมากขึ้นเพื่อให้การใช้เงินกงสีนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม โดยสมาชิกครอบครัวจะมีสิทธิในกงสีทั้งในเรื่องค่าการศึกษา ค่ารักษาพยาบาล ค่าที่อยู่อาศัย และมีการระบุว่าใครมีสิทธิได้รับสวัสดิการใดบ้าง เช่น ผู้ที่มีสิทธิรับสวัสดิการของครอบครัวต้องมีความประพฤติที่เหมาะสม ไม่ทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมเสียร้ายแรง เป็นต้น ซึ่งอาจเข้าใจได้ว่า เหล่านี้เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการควบคุมดูแลให้ลูกหลานของตระกูลตั้งอยู่ในความประพฤติที่ดีและเหมาะสมนั่นเอง

1)ให้เฉพาะสวัสดิการที่จำเป็นเท่านั้น

2)เพื่อให้สมาชิกอยู่ดีกินดีพอสมควร ไม่มีปัญหากับสังคมและดูแลชื่อเสียงของตระกูลไม่ให้เสียหาย

3)จะมีกติกาการให้แตกต่างกันไปสำหรับสวัสดิการแต่ละประเภท

4)สภาครอบครัวเป็นผู้ดูแลจัดการ

(5) การจัดการหุ้นของธุรกิจครอบครัว(Ownership)

ในเรื่องของ “หุ้น” ครอบครัวจิราธิวัฒน์มีแนวคิดในการบริหารจัดการที่น่าสนใจยิ่งใน 2 ประเด็น ได้แก่ กติกาในการจัดสรรหุ้น และกติกาในการควบคุมให้หุ้นยังอยู่ในมือของสมาชิกครอบครัว โดยที่ในปัจจุบัน สัดส่วนหุ้นที่แต่ละครอบครัวย่อยๆ ในตระกูลถือจะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อยุคของคุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นที่ 2 ได้จัดสรรไว้ และมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการบริหารจัดการหุ้นของบริษัทครอบครัว

1)ทรัพย์สินทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นหุ้นและอยู่ที่ “ส่วนกลาง” ส่วนเดียว ดังนั้น สัดส่วนหุ้นที่สมาชิกแต่ละคนถือจึงเท่ากันหมดไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนในบริษัทในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์

2)ใช้เงินส่วนกลางของตระกูลในการเพิ่มทุนซึ่งจะทำให้อัตราส่วนการถือหุ้นของแต่ละคนไม่เปลี่ยนแปลง

3)จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อทำหน้าที่ในการถือที่ดินและหุ้นของบริษัทลูก

4)ไม่ให้ขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่น ขายหุ้นได้เฉพาะภายในครอบครัวกันเองเท่านั้น โดยใช้ราคาตลาดเป็นเกณฑ์

5)มีคณะกรรมการซึ่งได้รับการยอมรับจากสมาชิกครอบครัวตรวจสอบ

(6) การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในตระกูล (Relationship)

ความรักใคร่กลมเกลียวกันของสมาชิกในครอบครัวถือเป็นรากฐานสำคัญของการทำธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อตระกูลนั้นมีสมาชิกเกือบ 200 ชีวิต “คุณปู่เป็นคนที่ค่อนข้างเก่งในเรื่องที่จะทำให้พวกเรารักกัน สมัยก่อน ตอนที่ครอบครัวยังมีสมาชิกประมาณ 50-60 คน ทุกคนจะอยู่ด้วยกันหมด โดยมีกิจกรรมร่วมกัน เล่นกัน กินข้าวโต๊ะเดียวกัน ทะเลาะกัน ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราเกิดความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน”

1)ให้ทำงานในธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เล็ก

2)ผสมผสานกลมกลืนลูกหลานผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างพี่น้องจากต่างสายครอบครัว

3)เชื่อมสัมพันธ์ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากตระกูลธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตระกูลหนึ่งของไทย แน่นอนว่าไม่มีสองครอบครัวไหนที่เหมือนกัน แต่ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมานั่งคิดจินตนาการเอาเองจากศูนย์ว่าการบริหารธุรกิจครอบครัวที่ดีควรเป็นอย่างไรในเมื่อมีครอบครัวที่ทำสำเร็จมาแล้วเป็นตัวอย่าง “ปรับปรุงและต่อยอด” น่าจะเป็นคำตอบ จากที่บางครอบครัวใช้เวลานานนับปีเพื่อที่จะเขียนธรรมนูญครอบครัวให้สำเร็จ การ “ปรับปรุงและต่อยอด” จากสิ่งที่มีอยู่แล้วจะช่วยย่นระยะเวลาลงได้มากทีเทียว



SUMMARY

แนวคิดการบริหารธุรกิจครอบครัวสไตล์จิราธิวัฒน์

1.แบ่งแยกธุรกิจและครอบครัวออกจากกันโดยให้ “สภาครอบครัว” ดูแลจัดการเรื่องของครอบครัว และ “คณะกรรมการบริษัท” ดูแลในเรื่องธุรกิจไม่ปะปนกัน

2.ใช้ระบบ “คณะกรรมการ” ในการสื่อสาร ตัดสินใจ และระงับความขัดแย้งระหว่างกันในครอบครัว

3.กติกาครอบครัวมักจะสะท้อนค่านิยมที่สำคัญของตระกูล ซึ่งสำหรับครอบครัวจิราธิวัฒน์แล้วค่านิยมที่ชัดเจนคือเรื่องของการเสียสละเพื่อส่วนรวม การให้เกียรติผู้อาวุโส ความยุติธรรมในเรื่องของการแบ่งผลประโยชน์ และการถ่วงดุลกันระหว่างสายครอบครัวเมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องต่างๆ



อ้างอิง

http://familybusinessasia.blogspot.com/2016/06/blo...

หมายเลขบันทึก: 622426เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2017 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2017 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท