นาคำไฮ โมเดล : ผลจากการพัฒนาโจทย์วิจัยระดับชุมชน


วสันต์ บุญล้น และคณะ

เมื่อนักวิจัยพบว่า ข้อมูลที่ได้มา เป็นข้อมูลในระดับปรากฏการณ์ของชุมชน เป็นข้อมูลที่นักวิจัยและคนในชุมชนได้ช่วยกันคิด วิเคราะห์มาแล้ว นักวิจัยจึงทำหน้าที่รวบรวมและจัดระบบ ต่อเมื่อเวลาผ่านไป นักวิจัยจึงดำเนินการสังเคราะห์และตีความจากข้อมูล แล้วเอาความจริงที่ค้นพบมาสะท้อนกลับให้ชุมชนได้รับรู้ หาแนวทาง และลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน กระบวนการเหล่านี้บางบริบทต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร อาจใช้เวลาแรมเดือน หลายเดือน อาจเป็นปี หรือหลายปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย

กล่าวเฉพาะปัญหาในชุมชนปัญหาบางอย่างมีความจำเป็นเร่งด่วน บางอย่างมีความซับซ้อน บางอย่างเกิดขึ้นแล้วดับไป บางอย่างอยู่ยาวมาจนถึงปัจจุบัน และบางอย่างกำลังเกิดขึ้นในขณะที่เรากำลังสื่อสารกันอยู่นี้ การจัดการกับปัญหาแต่ละอย่างจึงแตกต่างกัน

การดำเนินงานวิจัยชุมชน จึงไม่ควรใช้ระยะเวลาการดำเนินงาน เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของงานวิจัยชุมชนเสมอไป ใช่ว่างานวิจัยชุมชนที่ดี มีคุณภาพ จะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน เพราะหากความรู้ความจริงที่ค้นพบ อุปมาเหมือนยาดีที่นักวิจัยเชื่อมั่นว่ารักษาปัญหาของชุมชนได้ ถูกนำมาใช้ไม่ถูกจุด ไม่ทันการณ์ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองในหลายด้าน แต่ปัญหาดังกล่าวอาจขยายตัวลุกลามจนยากจะแก้ไข

สำหรับโครงการวิจัย รูปแบบและแนวทางการพัฒนาผ้าพื้นเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู ถูกออกแบบให้มีการดำเนินงานเชิงรุก มีเป้าหมายหลักเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยคำนึงถึงการกินดีอยู่ดีของครอบครัวคนทอผ้าพื้นเมือง ทั้งนี้ เชื่อว่า ถึงที่สุดแล้วคนที่ประกอบอาชีพทอผ้าอาจไม่จำเป็นจะต้องทอผ้าเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น หากฟ้าฝนไม่อำนวย ชาวบ้านทำการเกษตรไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็น อาชีพทอผ้าพื้นเมือง อาจเป็นอาชีพทางเลือกที่จะทำให้คนหนองบัวลำภู มีรายได้อย่างต่อเนื่อง เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว

ความเป็นมา

จากการจัดกิจกรรมพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอในจังหวัดหนองบัวลำภู และเป็นที่ยอมรับของคนในจังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโพธิ์ค้ำ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนากลาง หมู่ 7 กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านเพ็กเฟื้อย กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดกวางสร้อย กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโนนสว่าง กลุ่มเย็บผ้าด้วยมือขวัญตาผ้าทอ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายแม่บ้านสิ่งแวดล้อมตำบลนาสี ในวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมโชควิวัฒน์ เฮาส์ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ผ่านมา

ทำให้ได้โจทย์วิจัยกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบและแนวทางการพัฒนาผ้าพื้นเมืองในภาพรวมของจังหวัด ในรายละเอียดกำหนดแนวทางการพัฒนาสำหรับกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองที่มีศักยภาพสูง กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองที่มีศักยภาพปานกลาง และกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองที่กำลังพัฒนา เป็นการศึกษาภาพใหญ่เพื่อให้เห็นโครงสร้างการดำเนินงาน ศักยภาพและปัญหาอุปสรรค ตลอดจนแนวทางการพัฒนาของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู

ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานระยะต่อมา คณะนักวิจัยและตัวแทนกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองในจังหวัดหนองบัวลำภู ได้มีความเห็นร่วมกันว่า สมควรค้นหารูปแบบและแนวทางการพัฒนาในระดับชุมชน สร้างชุมชนต้นแบบการพัฒนา แล้วจึงขยายผลการเรียนรู้สู่กลุ่มอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ใช้วิธีการประเมินศักยภาพกลุ่มที่มีความพร้อม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพสูงในหลายประเด็น จากนั้นจึงทดลองจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อประเมินความพร้อมด้านการจัดการ

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีศักยภาพสูง เป็นกลุ่มที่นักวิจัยได้ตัดสินใจ คัดเลือกให้นำร่องชุมชนต้นแบบการพัฒนา เนื่องจากกลุ่มนี้มีการสืบทอดภูมิปัญญา มีความเป็นชุมชนสูง สมาชิกมีความสัมพันธ์กันในหลายด้านไม่จำเพาะความสัมพันธ์ทางธุรกิจเท่านั้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน มีผู้นำกลุ่มที่เข้มแข็ง สมาชิกมีทักษะการดำเนินงานในบทบาทหน้าที่ของตน และมีจำนวนคงอยู่ถาวร ยอมรับกฎกติกากลุ่มร่วมกัน มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าพื้นเมืองสม่ำเสมอ มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่สมาชิกกลุ่มยอมรับและเห็นว่ามีความยุติธรรม

ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ประธาน ที่ปรึกษา และสมาชิกกลุ่ม มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา ผลักดันให้การทอผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวหนองบัวลำภู จนสามารถเป็นทางเลือก ใช้ประกอบเป็นอาชีพหลัก นอกเหนือจากอาชีพในภาคเกษตรกรรม

การออกแบบกิจกรรมการพัฒนาโจทย์วิจัยกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ คณะนักวิจัย ได้

กำหนดจัดกิจกรรมเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก เป็นการวิเคราะห์ศักยภาพและปัญหาอุปสรรคร่วมกัน เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยระดับชุมชน ระหว่างวันที่ 1- 3 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ ช่วงที่ 2 เป็นการปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ระหว่างวันที่ 4- 6 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ

มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ ซึ่งเป็นโจทย์วิจัยระดับชุมชน ต่อยอดจากโจทย์วิจัยในระดับจังหวัดที่เคยจัดกิจกรรมไปแล้ว

ประการที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาจากโจทย์วิจัย โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกกลุ่ม

<code>        ประการที่ 3  เพื่อทดลองจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ต้นแบบ  เพื่อให้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของชุมชน  เช่น  การบริหารจัดการกลุ่ม  ทัศนคติ  ความสนใจ  ความพร้อมเพรียง  และความกระตือรือร้นของสมาชิก  ความพร้อมของอาคารสถานที่  ศักยภาพในการจัดการอาหารพื้นบ้าน  เป็นต้น
</code>

การดำเนินงาน


การจัดกิจกรรมช่วงแรก อาจารย์บุญเสริฐ เสียงสนั่น และอาจารย์วิเชียร สอนจันทร์ วิทยากรกระบวนการ, อาจารย์วสันต์ บุญล้น หัวหน้าโครงการ, นักวิจัยวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู, แกนนำกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ, ได้ร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพและปัญหาอุปสรรคของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ เพื่อเก็บประเด็นทั้งหมด และถอดบางประเด็นที่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน


จากนั้น ได้นำประเด็นเข้าสู่ที่ประชุมสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ

ผลปรากฏว่า สมาชิกกลุ่มมีความเห็นร่วมกันว่า กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ เป็นกลุ่มที่ทอผ้าลายขิดสลับหมี่ เป็นลายเอกลักษณ์เนื้อผ้ามีสัมผัสอ่อนนุ่มจากการหมักน้ำข้าวพันธุ์พื้นเมือง สีสันออกแบบเป็นสีพื้น ไม่ฉูดฉาด จึงได้รับการยอมรับจากผู้ซื้อ กลุ่มนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องการสร้างอัตลักษณ์

การบริหารจัดการกลุ่ม นางพันธ์ สุภาผล เป็นที่ปรึกษากลุ่ม นายกิติพันธ์ สุทธิสา เป็นประธานกลุ่ม นางเทวา สุทธิสา เป็นผู้ช่วยประธานกลุ่ม ในส่วนบริหารทำหน้าที่หาช่องทางการจำหน่าย กำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิก ประเภท ราคา และควบคุมคุณภาพผ้าทอ ออกแบบลวดลายใหม่ๆ และกรรมวิธีการทอเพื่อถ่ายทอดแก่สมาชิก จัดการปริมาณการผลิตให้สัมพันธ์กับความต้องการของตลาด หาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกลุ่ม และจัดการปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม

สมาชิกกลุ่ม ได้แบ่งบทบาททำหน้าที่ เลขานุการ เหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ และหน้าที่อื่น เช่นเดียวกันกับกลุ่มผ้าทออื่นๆ กลุ่มนี้มีการประชุมกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ มีกฎกติกาที่ยอมรับร่วมกันชัดเจน มีการชี้แจงทำความเข้าใจรายรับรายจ่าย มีการแบ่งปันผลประโยชน์ตามกำลังการผลิตที่แต่ละคนทำได้ กลุ่มนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม

สำหรับกำลังการผลิตและคุณภาพผ้าทอของกลุ่ม มีกำลังการผลิตต่อเดือน ผ้าขิด ประมาณ 1,000 เมตร ผ้าพื้น ประมาณ 500 เมตร ผ้าของกลุ่มได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.) และกำหนดมาตรฐานกลาง ให้ผ้าทอของกลุ่ม ทอแน่น ไม่โปร่งบาง โดยกำหนดขนาดฟืมต้องไม่ต่ำกว่า 1,200 ฟันฟืม ต่อเมตร ผ้าจึงจะทอแน่นมีความละเอียด เนื้อผ้ามีความอ่อนนุ่ม สีไม่ตก ทนต่อแสงแดดและการซักรีด น้ำที่ใช้ย้อมมีความเป็นกลางไม่ทำให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่ ส่วนน้ำหมักข้าวพันธุ์พื้นเมืองต้องนำน้ำซาวข้าวมาทิ้งไว้ให้ตกตะกอน แล้วรินน้ำส่วนบนที่ไม่ตกตะกอนนำมาหมัก ผ้าจึงจะมีกลิ่นหอมและอ่อนนุ่ม หากหมักผ้าลงในน้ำที่ตกตะกอน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่าง จะทำให้เนื้อผ้าแข็งกระด้าง ไม่น่าสวมใส่

ส่วนช่องทางการจำหน่าย ร้านประจำ ได้แก่ ร้านเทวาผ้าทอ(ที่ตั้งกลุ่ม) ร้านในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู(ใกล้กับ บขส.เก่า จังหวัดหนองบัวลำภู) ร้านในศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ร้านใน JJ Mall ส่วนการสั่งซื้อ มีออเดอร์สั่งซื้อจากลูกค้าประจำ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และร้านผ้าทอในจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดชัยภูมิ กลุ่มนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องช่องทางการจำหน่าย

กระบวนการผลิตผ้าพื้นเมือง สามารถแบ่งอย่างง่ายเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ ได้แก่ การเตรียมเส้นพุง เส้นยืน และการทอ

สำหรับสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ การทอเป็นขั้นตอนที่สมาชิกกลุ่มทุกคนทำได้ ทำเป็น มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากเป็นคุณสมบัติที่สมาชิกจะต้องมี จึงจะสามารถรับเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มได้ และขั้นตอนการย้อมก็ถือเป็นขั้นตอนที่ทุกคนทำได้ แม้มีเทคนิคแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ให้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างกันมากนัก เมื่อรวมระยะเวลาการผลิตแล้ว ผ้าทอแต่ละม้วนสมาชิกกลุ่มใช้ระยะเวลาการผลิตไม่ต่ำกว่า 2 เดือน เมื่อสอบถามคณะกรรมการบริหารกลุ่มก็พบว่า ปัจจุบันกลุ่มประสบปัญหาเรื่องการผลิตไม่ทันตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในช่วงฤดูทำนา ทำไร่อ้อย

ในอดีตที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารกลุ่มใช้วิธีการรับซื้อผ้าทอจากสมาชิกเพื่อกักตุนไว้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งสมาชิกกลุ่มจะทอผ้ามาก เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูทำการเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ขาดความยั่งยืน เนื่องจากออเดอร์สั่งซื้อจากลูกค้าในแต่ละปีมีจำนวนมาก และมักกำหนดส่งผ้าทอในห้วงเวลาจำกัด เมื่อกลุ่มไม่สามารถผลิตให้ทันตามความต้องการ ลูกค้าจึงขาดความเชื่อมั่น และมักจะเปลี่ยนไปสั่งผ้าทอประเภทอื่นจากกลุ่มอื่นแทน

คณะนักวิจัย และสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ จึงมีความเห็นร่วมกันว่า กลุ่มประสบปัญหาเรื่องการผลิตไม่ทันตามความต้องการของตลาด แต่จะอยู่ในขั้นตอนใดนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จะต้องไม่ใช่ขั้นตอนการทอแน่นอน เพราะขั้นตอนนี้สมาชิกทุกคนมีความเชี่ยวชาญ และสามารถทอได้อย่างน้อยคนละ 2 เมตรต่อวัน

นับเป็นปัญหาที่ท้าทาย สำหรับคณะนักวิจัย และสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ

ในวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการพัฒนาโจทย์วิจัยระดับชุมชน คณะนักวิจัย และสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อค้นหา ขั้นตอนสำคัญที่ทำให้การทอผ้าพื้นเมืองของกลุ่มมีความล่าช้า จนได้ข้อสรุปว่า มีอยู่ 4 ขั้นตอน ดังนี้

1.การกรอด้าย

2.การค้นและสืบเส้นยืน

3.การสอดฟันฟืม

4.การเก็บเขา

สรุปเป็นโจทย์วิจัยระดับชุมชนของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ

การจัดกิจกรรมช่วงที่สอง อาจารย์จรูญ พาระมี และคณะ วิทยากรปฏิบัติการ, นักวิจัยวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู, สมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ, ได้นำโจทย์วิจัยระดับชุมชนของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ มาพิจารณาทั้ง 4 ขั้นตอน ได้แก่ การกรอด้าย การค้นและสืบเส้นยืน การสอดฟันฟืม

การเก็บเขา โดยให้สมาชิกกลุ่มสาธิตวิธีดั้งเดิมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในอดีต ซึ่งมีความล่าช้า จากนั้นอาจารย์จรูญ พาระมี และคณะ ได้เสนอวิธีการที่ประยุกต์มาจากวิธีการเดิมที่เน้นการใช้วัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว แต่ใช้ระยะเวลาน้อยลง



การกรอด้าย สาธิตวิธีการทำ และเสนอให้ใช้มอเตอร์ประยุกต์มาใช้ เพื่อประหยัดเวลา



การค้นและสืบเส้นยืน สาธิตวิธีการทำ และเสนอให้ใช้น็อตวางทับเส้นด้ายที่หัวตะปูรางยึด และใช้กระบอกไม้ไผ่ผิวเรียบรูดเส้นด้าย แทนการใช้มือรูดเพื่อประหยัดเวลา และช่วยการเรียงตัวของเส้นด้ายไม่ให้พันกัน

การสอดฟันฟืม จากเดิมที่ใช้ คนเดียวสอดใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 วันต่อฟืม สาธิตวิธีการทำ และเสนอให้ใช้ 2 คนช่วยกัน โดยตั้งฟืมในแนวตั้ง คนแรกทำหน้าที่ใช้เล็บกดฟันฟืม แล้วใช้ไม้สอดฟันฟืมไปฝั่งตรงข้าม อีกคนหยิบด้ายลงมาทีละเส้นเพื่อคล้องปลายไม้ วิธีการนี้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีต่อฟืม จึงถือว่าประหยัดเวลาลงไปได้มาก


การเก็บเขา สาธิตวิธีการทำ และเสนอให้ใช้ไม้แผ่นสั้นมาช่วยในการทำงาน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

จากการทดลองปฏิบัติของสมาชิกกลุ่มทุกคน พบว่า ทุกคนมีทัศนคติที่ดีต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสามารถทำได้ แต่จะมีความชำนาญแตกต่างกัน บางคนถนัดสอดฟันฟืม บางคนถนัดเก็บเขา ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นฐานในกระบวนการทอผ้า ความถนัด และความสนใจ

ภายหลังการฝึกปฏิบัติเสร็จสิ้น สมาชิกทุกคนเห็นว่า หากฝึกปฏิบัติจนมีความชำนาญทุกขั้นตอน ปัญหาเรื่องการผลิตไม่ทันตามความต้องการของตลาดของกลุ่มก็จะหมดไป จึงกล่าวได้ว่าการดำเนินงานครั้งนี้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย รูปแบบและแนวทางการพัฒนาผ้าพื้นเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู

แต่จะบรรลุเป้าหมายเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนหรือไม่นั้น สมาชิกกลุ่มยังไม่แน่ใจ

อาจารย์วสันต์ บุญล้น และคณะนักวิจัย จึงได้นำเสนอนาคำไฮ โมเดล

โดยมีความเชื่อว่ากลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ มีความเข้มแข็งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าสู่ชุมชนได้ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนแล้ว จึงส่งต่อนักท่องเที่ยวไปสู่กลุ่มอาชีพอื่นเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ โดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม การประชาสัมพันธ์ การคมนาคมที่ความสะดวกสบาย และความร่วมมือจากกลุ่มอาชีพอื่น ที่มีอยู่ในชุมชน เช่น กลุ่มข้าวฮาง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มอาหาร กลุ่มศิลปินพื้นบ้าน เป็นต้น

ในระดับชุมชน อนาคตอันใกล้ ควรได้มีการหารือแนวทางการกำหนด “แผนที่ท่องเที่ยวโดยชุมชน” ในพื้นที่ตำบลนาคำไฮ โดยเชิญตัวแทนกลุ่มอาชีพทุกกลุ่ม ตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่ วัด สถานศึกษา ผู้นำชุมชน มาค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของนาคำไฮ ร่วมกันออกแบบ หาแนวทางพัฒนากลุ่ม ตลอดจนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกัน เพราะลำพังการดำเนินงานของกลุ่มอาชีพใดอาชีพหนึ่ง หากไม่บูรณาการความร่วมมือกับกลุ่มอาชีพอื่นในชุมชนแล้ว ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้

ในระดับจังหวัด อนาคตอันใกล้ ควรได้มีการหารือแนวทางการกำหนด ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกลุ่มอาชีพ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มข้าวฮาง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรเชื่อมโยงกับการจัดการที่พักขนาดเล็ก อาหารพื้นบ้าน และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เช่น ถ้ำเอราวัณ วนอุทยานน้ำตกเฒ่าโต้ พิพิธภัณฑ์หอยหินโบราณ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ วัดถ้ำกลองเพล เป็นต้น

นาคำไฮ โมเดล เป็นผลจากการพัฒนาโจทย์วิจัยระดับชุมชน เป็นทางเลือกการพัฒนาที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่คณะนักวิจัยเชื่อมั่นว่าชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูที่มีบริบทคล้ายกันอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ “เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน”


หมายเลขบันทึก: 621879เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2017 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2017 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลเพิ่มเติม www.nbcc.ac.th


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท