โจทย์วิจัยกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู


วสันต์ บุญล้น และคณะ

งานวิจัยชุมชน หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าความคิดเห็นของนักวิจัยที่มีต่อผลการดำเนินงาน ก็คือ สรุปผลการวิจัยดีๆ นี่เอง ฉะนั้นการทำงานกับชุมชนจึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ทั้งความคิดเห็น และการกระทำ โดยไม่เผลอไปสร้างความคาดหวังให้กับชุมชนมากเกินไป

ขอนำเรียน พี่น้องนักพัฒนาว่า บนเส้นทางการพัฒนา ชาวบ้านไม่ใช่ภาชนะว่างเปล่า นักวิจัยจึงไม่ควรคิดแทน แต่ควรคำนึงถึงความเป็นมาและสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ ควรทำหน้าที่เชื่อมประสานอดีตกับปัจจุบัน ปัจจุบันกับสิ่งที่ชุมชนคาดหวังในอนาคต และนักวิจัยต้องเลิกมองชาวบ้านเป็นคนนอก เป็นเครื่องมือ เป็นใครก็ได้ที่สามารถให้ข้อมูลกับเรา

กระบวนทัศน์เดิมที่มุ่งแสวงหาความรู้ความจริง ผ่านกระบวนการวิจัยที่เข้มงวด จนละเลยการนำความจริงมาใช้ประโยชน์จึงสมควรได้รับการทบทวน ธรรมชาติของงานวิจัยชุมชนจึงเป็นงานกรณีศึกษา ไม่สามารถอนุมานผลการศึกษาไปยังชุมชนอื่นโดยตรง ไม่สามารถควบคุมตัวแปรได้เหมือนในห้องทดลอง เวลาเปลี่ยน บริบทชุมชนเปลี่ยน ความจริงที่เคยค้นพบไม่สามารถนำมาใช้ได้

สำหรับวารสารฉบับนี้ กระผมขอนำเสนอผลการพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านที่ทอผ้าได้ ทอผ้าเป็น จนรวมตัวกันเป็นกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองในจังหวัดหนองบัวลำภู ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย รูปแบบและแนวทางการพัฒนาผ้าพื้นเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมีปรัชญาการดำเนินงาน : พัฒนาคนผ่านกระบวนการวิจัย สู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม

กำหนดวัตถุประสงค์

หนึ่ง เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านกระบวนการวิจัยชุมชน

สอง เพื่อค้นหารูปแบบและแนวทางการพัฒนาผ้าพื้นเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู

สาม เพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองหนองบัวลำภู

สี่ เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายผ้าพื้นเมืองหนองบัวลำภู

กำหนดกิจกรรม

หนึ่ง เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง

สอง พัฒนาโจทย์วิจัย

สาม ดำเนินการวิจัย

สี่ สรุป ประเมินผล ถอดบทเรียน สร้างองค์ความรู้

ห้า นำไปใช้ในพื้นที่ ขยายผลการเรียนรู้


จากการศึกษาวิจัย โดยการเก็บรวบรวมข้อมูล เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกับตัวแทนกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของคนในท้องถิ่น จำนวน 8 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอในจังหวัดหนองบัวลำภู ได้แก่ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโพธิ์ค้ำ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนากลาง หมู่ 7 กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านเพ็กเฟื้อย กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดกวางสร้อย กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโนนสว่าง กลุ่มเย็บผ้าด้วยมือขวัญตาผ้าทอ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายแม่บ้านสิ่งแวดล้อมตำบลนาสี

พบว่า กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่มมีการกำหนดเป้าหมายกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนโดยคำนึงถึงศักยภาพและข้อจำกัดของกลุ่มทอผ้าเป็นสำคัญ มีรายละเอียด ดังนี้

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีความโดดเด่น คือ ผ้าลายขิดสลับหมี่ จากปณิธานของคุณแม่พันธ์ สุภาผล ที่ต้องการประยุกต์ผ้าลายสามกษัตริย์ที่เป็นลายเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดอุดรธานีในอดีต(เดิมหนองบัวลำภูเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี) ให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของตลาด กลุ่มทอผ้าได้ทอผ้าที่มีสัมผัสอ่อนนุ่มจากการหมักน้ำข้าวพันธุ์พื้นเมือง ออกแบบ เลือกโทนสีผ้า กำหนดให้เป็นสีพื้นที่มีความร่วมสมัย ไม่ฉูดฉาด คนทั่วไปสามารถใช้ได้เนื่องจากสวมใส่ได้หลากหลายโอกาส ให้ความรู้สึกเรียบง่ายและหรูหรา กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จึงเป็นคนวัยทำงาน คนชั้นกลางในสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับการยอมรับและส่งจำหน่ายทั่วประเทศ

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโพธิ์ค้ำ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีความโดดเด่น คือ ผ้าขิดไหม เป็นการทอผ้าด้วยกรรมวิธี เขี่ย หรือสะกิดเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืน จังหวะการสอดเส้นพุ่งจะทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่างๆ การออกแบบลายขิด สร้างจากจินตนาการของคุณแม่ลำดวน นันทะสุธา ครูภูมิปัญญาในพื้นที่ ลวดลายใหม่ๆ ถูกคิดค้นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยจินตนาการขึ้นจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว วัฒนธรรมประเพณีอีสาน ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการทอผ้า ทำให้ผ้าขิดไหมบ้านโพธิ์ค้ำ มีความหรูหรา ทรงคุณค่า ได้รับการยอมรับทั้งจากคนในพื้นที่ และคนต่างจังหวัด ในปี พ.ศ.2558 ผ้าลายคำขวัญจังหวัดหนองบัวลำภู ของกลุ่มทอผ้าได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 OTOP 2015 ระดับประเทศ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป กลุ่มลูกค้าของกลุ่มทอผ้าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูง นักสะสมหรือผู้ที่มีความนิยมผ้าพื้นเมืองเป็นพิเศษ เนื่องจากผ้าแต่ละผืนของกลุ่ม ผลิตจากเส้นไหมคุณภาพ มีกรรมวิธีผลิตที่ละเอียดซับซ้อน ต้องใช้ความชำนาญ และความอดทนของผู้ทอสูง

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนากลาง หมู่ 7เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอนาวัง เป็นกลุ่มที่เรียนรู้ประสบการณ์จากกลุ่มอื่น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ และตอบสนองความต้องการของตลาด สมาชิกกลุ่มมีความรักความสามัคคี เนื่องจากรูปแบบการมีส่วนร่วมไม่จำเพาะการทอผ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมทางสังคม การมีส่วนร่วมกับหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมากลุ่มทอผ้าให้ความสำคัญกับอุปสงค์ของผู้ซื้อเป็นหลัก แต่ต่อมาได้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างเอกลักษณ์ มองหาจุดยืนในตลาดผ้าทอ แต่ยังคงมีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน วัสดุราคาไม่แพง คนพื้นถิ่นสามารถซื้อหาได้ ปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนากลาง หมู่ 7 จำหน่ายทั้งผ้าผืนและผ้าสำเร็จรูป กลุ่มลูกค้าเป็นคนวัยทำงาน โดยเฉพาะชาวหนองบัวลำภู ที่ต้องการผ้าสำเร็จรูปราคาไม่แพงมากนัก รูปแบบไม่หรูหราเกินไป

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านเพ็กเฟื้อย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีความโดดเด่น คือ ผ้าไหมพื้นเมือง กลุ่มนี้มีสมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ลวดลายบนผืนผ้าเป็นลวดลายเลขาคณิต เช่น ลายข้าวหลามตัด ลายขัดพื้นฐาน ลายคลื่นทะเล ซึ่งลวดลายเหล่านี้ พบเห็นได้ทั่วไปในท้องตลาด แต่จากการส่งเสริมของกรมหม่อนไหม ทำให้สมาชิกกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง ไหมที่ได้จึงเป็นไหมพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางจิตใจ กล่าวได้ว่า ผ้าทุกผืนของกลุ่มมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของสมาชิกกลุ่ม การทอผ้าแต่ละผืนจึงต้องใช้ระยะเวลามากกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับการยอมรับจากกลุ่มลูกค้าชาวหนองบัวลำภู เมื่อมีงานบุญกฐิน บุญผ้าป่า งานแต่งงาน หรืองานประเพณีอื่นๆ ก็มักจะเป็นที่ทราบกันว่าต้องมาซื้อหาที่กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านเพ็กเฟื้อย

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดกวางสร้อย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีความโดดเด่น คือ ผ้าลายกุดกวางสร้อย ซึ่งออกแบบลายจากโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในพื้นที่ กลุ่มนี้มีหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนหลายฝ่าย โดยออกแบบพื้นที่ให้มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน บริการโฮมสเตย์ และมีคุณสุมามาลย์ เต๋จ๊ะ ประธานกลุ่มเย็บผ้าด้วยมือขวัญตาผ้าทอ เป็นผู้ให้ความรู้ และส่งเสริมการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มส่วนใหญ่จึงเป็นผ้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะชุดซาฟารีทั้งชายและหญิง ซึ่งกลุ่มอื่นๆ ไม่นิยมตัดเย็บ

ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ผ่านการออกแบบ การตัดเย็บ การควบคุมคุณภาพ จากกลุ่มเย็บผ้าด้วยมือขวัญตาผ้าทอ แล้วส่งคืนมาจำหน่ายภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดกวางสร้อย

กลุ่มลูกค้าที่สำคัญของกลุ่ม คือ บุคลากรของหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ในจังหวัดหนองบัวลำภู และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งต้องการผ้าสำเร็จรูปที่สะท้อนความเป็นหนองบัวลำภูบนผืนผ้า

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโนนสว่าง ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีความโดดเด่น คือ ผ้าลายราชวัตร โดยคุณทองใบ บุญแน่น คิดค้นกระบวนการทอเป็น 4 ตะกอ การให้เส้นยืน เส้นพุ่ง ที่มีความแตกต่าง ผ้าทอที่ได้จะให้ความรู้สึกลึกลับ น่าค้นหา ให้ภาพ 3 มิติ มองดูไม่เบื่อง่าย โทนสีอยู่ในกลุ่มเทา ดำ น้ำตาล ม่วง สีสนิม สีพื้นดิน

กลุ่มทอผ้ามีสมาชิกเป็นคนในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง กำหนดตารางการผลิตผ้าพื้นเมืองโดยไม่ให้กระทบต่องานในภาคเกษตรกรรม สมาชิกจึงมีความพึงพอใจ และให้ความร่วมมือในกิจกรรมของกลุ่มเป็นอย่างดี กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว คนวัยทำงานที่ต้องการผ้าทอที่แปลกตา มีความสร้างสรรค์

กลุ่มเย็บผ้าด้วยมือขวัญตาผ้าทอ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีความโดดเด่น คือ ผ้าแปรรูป ทั้งที่เป็นเสื้อผ้าด้นมือ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เนคไท และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย โดยคุณสุมามาลย์ เต๋จ๊ะ ประธานกลุ่มเย็บผ้าด้วยมือขวัญตาผ้าทอ มีปณิธานที่จะผลิตผ้าพื้นเมืองผนวกกับแนวคิดแฟชั่นยุคใหม่ให้ออกมาดูร่วมสมัย คนทั่วไปสามารถสวมใส่ได้หลายโอกาส จากปณิธานดังกล่าว ทำให้กลุ่มนี้ ไม่ได้อ้างอิงตลาดภายในจังหวัดหนองบัวลำภู ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจำหน่ายทั่วประเทศ โดยมีร้านสาขาในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอุดรธานี การกำหนดราคาจึงอ้างอิงตลาดสากลทั่วไป

ส่วนกลุ่มลูกค้าภายในจังหวัดที่สำคัญ คือ บุคลากรของหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ และเอกชน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งต้องการผ้าสำเร็จรูปที่สะท้อนความเป็นหนองบัวลำภูบนผืนผ้า เช่นเดียวกันกับกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดกวางสร้อย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายแม่บ้านสิ่งแวดล้อมตำบลนาสี ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีความ

โดดเด่น คือ ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จากกระบวนการผลิตที่ใส่ใจทุกขั้นตอน โดยนำเปลือกไม้ในพื้นที่ เช่น เปลือกประดู่ เปลือกเพกา เปลือกมะกอก เปลือกยูคาลิปตัส มาย้อมสร้างสีสันบนผืนผ้า ทำให้ผ้าฝ้ายที่ได้มีเสน่ห์ มีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากเปลือกไม้ต่างชนิดกันจะให้สีที่แตกต่างกัน เปลือกไม้ชนิดเดียวกัน แต่อายุไม้ไม่เท่ากัน ก็ให้สีที่แตกต่างกัน

ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ภายหลังจากการเก็บเปลือกไม้เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการย้อมสี ชาวบ้านจะใช้ดินโคลนที่อุดมสมบูรณ์โป่ะบริเวณปากแผลทันที เพื่อรักษาเนื้อเยื่อ ทอดระยะเวลาอีก 6 เดือน จะสามารถเก็บเปลือกไม้บริเวณนั้นได้ใหม่ จึงถือได้ว่ากระบวนการผลิตผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาของชาวหนองบัวลำภู

กลุ่มลูกค้าของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวที่นิยมความเป็นธรรมชาติ และกลุ่มธรรมชาติบำบัดที่เชื่อว่าเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติแล้วจะช่วยบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บบางประเภท เช่น โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง โรคไซนัส เป็นต้น

แนวทางการพัฒนากลุ่มทอผ้าพื้นเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโพธิ์ค้ำ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโนนสว่างกลุ่มเย็บผ้าด้วยมือขวัญตาผ้าทอ

กลุ่มเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน มีผู้นำกลุ่มที่เข้มแข็ง สมาชิกมีทักษะการดำเนินงานในบทบาทหน้าที่ของตนและมีจำนวนคงอยู่ถาวร ยอมรับกฎกติกากลุ่มร่วมกัน ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ศักยภาพและปัญหาอุปสรรคร่วมกัน มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าพื้นเมืองสม่ำเสมอ มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่สมาชิกกลุ่มยอมรับและเห็นว่ามีความยุติธรรม

สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไป คือ การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยขยายกรอบการพัฒนาให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายคนในชุมชน ซึ่งไม่จำเพาะกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเท่านั้น

ในระยะแรกของการพัฒนา อาจทดลองจัดประชุมในพื้นที่ต้นแบบ เพื่อให้เห็นศักยภาพที่แท้จริง และกระจายรายได้สู่ชุมชน

โดยอาจใช้แนวคิด การท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้ามาต่อยอด เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีทุนด้านผ้าทอพื้นเมือง(สมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถควรส่งเสริมให้เป็นวิทยากร), กลุ่มอาชีพอื่นในชุมชน(กลุ่มข้าวฮาง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มจักสาน กลุ่มเกษตรอินทรีย์), อาหารพื้นบ้านอีสาน(ส้มตำ แกงหน่อไม้ แกงอ่อม ลาบปลา ลวกผักหวาน หมกเห็ด ยำไข่มดแดง ข้าวต้มมัด น้ำสมุนไพร), ป่าชุมชน(ส่งเสริมไกด์ท้องถิ่น การดูแลรักษาป่าร่วมกัน), การแสดงพื้นบ้าน(หมอลำ หมอแคน), การสู่ขวัญ(ส่งเสริมอาชีพการทำบายศรีสู่ขวัญ การสร้างไวยาวัจกรณ์รุ่นใหม่) และอื่นๆ

ทั้งนี้ ใช้กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าสู่ชุมชน เพื่อสร้างอาชีพ และกระจายรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพอื่น จนบรรลุเป้าหมายการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในภาพรวม

2.กลุ่มที่มีศักยภาพปานกลาง คือ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดกวางสร้อย

กลุ่มนี้มีทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม และทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้กลุ่มทอผ้า ดำเนินการอยู่ได้ แต่ขาดผู้นำ หรือผู้รู้ด้านผ้าพื้นเมืองในชุมชนที่เข้มแข็ง กลุ่มจึงยังต้องอาศัยบุคคลภายนอกชุมชนเข้ามาช่วยเหลือ โดยปัจจุบันบุคคลหรือหน่วยงานยังไม่สามารถถอนตัวออกได้ เนื่องจากหลายปัจจัย ทำให้กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดกวางสร้อยไม่สามารถดำเนินการได้เอง ขาดความเป็นเอกภาพ แต่มีข้อดี คือ มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าพื้นเมืองสม่ำเสมอ

สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไป คือ การสร้างผู้นำกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดกวางสร้อยที่แท้จริง

โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน การกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องมีความชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน ทุกส่วนที่เข้าไปต้องมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ให้ชุมชนกุดกวางสร้อยพึ่งตนเองได้

ทั้งนี้เมื่อเห็นว่าชุมชนมีความพร้อม จึงขับเคลื่อนแนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชนต่อไป

3.กลุ่มกำลังพัฒนา ได้แก่ กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนากลาง หมู่ 7 กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านเพ็กเฟื้อย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายแม่บ้านสิ่งแวดล้อมตำบลนาสี

กลุ่มเหล่านี้ สมาชิกกลุ่มมีบทบาทในชุมชน การดำเนินงานของกลุ่มผูกติดอยู่กับความเป็นไปในชุมชน มิได้มุ่งผลิตเพื่อจำหน่าย แต่เป็นการผลิตตามฤดูกาลที่ว่างเว้นจากการทำงานอื่น ซึ่งอาจเป็นเพราะกำลังการผลิต ศักยภาพและการจัดการกลุ่ม การประชาสัมพันธ์ไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย การมีช่องทางการจำหน่ายจำกัด ผลิตภัณฑ์ยังไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับของสังคมได้ โดยเฉพาะชาวต่างจังหวัด แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มเหล่านี้มีผู้นำกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีความกระตือรือร้น สร้างโอกาสในการพัฒนากลุ่มอยู่เสมอ

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านเพ็กเฟื้อย จะมีสภาพแตกต่างจากกลุ่มอื่น กลุ่มนี้สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง มีความพึงพอใจกับสิ่งที่ดำเนินการอยู่ และรายได้ที่ได้รับ แนวทางการส่งเสริมระยะแรกควรส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อไม่ให้ขาดการสืบทอด

สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไป คือ การใช้งานบริการวิชาการ งานฝึกอบรมเข้าไปให้ความรู้ และฝึกปฏิบัติตามความต้องการของสมาชิกกลุ่ม ทั้งนี้ต้องระมัดระวังบทบาทของวิทยากร โดยสร้างความเข้าใจเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ร่วมกันกับทุกฝ่าย

กิจกรรมที่ทุกกลุ่มต้องดำเนินการร่วมกัน คือ การเผยแพร่ประวัติ ความเป็นมา การดำเนินงาน ขั้นตอนการผลิตของกลุ่ม และการถอดองค์ความรู้ในรูปแบบของเอกสาร และสื่อวีดีทัศน์ที่น่าสนใจ เช่น

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาคำไฮ ควรถอดองค์ความรู้การทอ และการหมักน้ำข้าว

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโพธิ์ค้ำ ควรถอดองค์ความรู้การออกแบบลวดลาย และการนำลวดลายใส่ลงไปบนผืนผ้า

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนากลาง หมู่ 7 ควรถอดองค์ความรู้การมีส่วนร่วมของกลุ่มในกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินงานกลุ่มทอผ้า

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านเพ็กเฟื้อย ควรถอดองค์ความรู้การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การสาวไหม

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านกุดกวางสร้อย ควรถอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชุมชน

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านโนนสว่าง ควรถอดองค์ความรู้การออกแบบลวดลาย และการนำลวดลายใส่ลงไปบนผืนผ้า

กลุ่มเย็บผ้าด้วยมือขวัญตาผ้าทอ ควรถอดองค์ความรู้การออกแบบผ้าสำเร็จรูป การด้นมือ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน และการจัดการตลาด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายแม่บ้านสิ่งแวดล้อมตำบลนาสี ควรถอดองค์ความรู้การเก็บเปลือกไม้ การย้อมผ้าสีธรรมชาติให้เกิดสีต่างๆ

นอกจากนี้ วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู ควรส่งเสริมให้ทุกกลุ่มได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ไปศึกษาดูงานการดำเนินงานของกลุ่มอื่นในต่างจังหวัด ในประเด็นที่กลุ่มสนใจ สามารถนำแนวทางมาใช้ประโยชน์ได้ ส่งเสริมให้จัดนิทรรศการเพื่อจำหน่ายสินค้าเพื่อให้กลุ่มมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับได้เป็นวิทยากร เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กลุ่มอื่นๆ

หมายเลขบันทึก: 621876เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2017 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2017 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท