เทคนิคการโค้ชตนเองเพื่อจัดการไอ้ตัวแสบล่องหน โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


ซุนวู นักปราชญ์และผู้เขียนตำราพิชัยสงครามได้กล่าวถึงหลักการสำคัญในการรบข้อหนึ่งไว้ สรุปใจความสำคัญว่า ‘รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง’

ในฐานะโค้ชและมนุษย์คนหนึ่ง ผู้เขียนได้เรียนรู้ว่า รากฐานของปัญหาเกือบทุกรูปแบบในชีวิตมนุษย์ มีที่มาจากการขาดความสามารถในการ ‘รู้เรา’ เป็นลำดับแรก เมื่อไม่รู้เรา ย่อมไม่รู้เขา เหมือนส่องกระจกไม่เห็นตัวเรา ย่อมไม่เห็นผู้อื่นเช่นกัน

‘การรู้เรา’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการตระหนักรู้จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเราในเชิงของความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญญาหรือ IQ เท่านั้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการตระหนักรู้ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง (Self-Awareness) และผู้อื่น หากเราตระหนักรู้ชัดแจ้งว่าเรากำลังคิดอะไร รู้สึกอะไร มองเรื่องนี้ด้วยมุมมองอย่างไร ทำไมเราถึงมองเช่นนั้น เมื่อตระหนักรู้แล้ว และยอมรับ (Acknowledge) ความจริงเกี่ยวกับความคิด และสภาวะอารมณ์ของตนเอง ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกของเราเองว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความสามารถในการสำรวจความคิด และสภาวะอารมณ์ของตนเองได้ทุกขณะ เนื่องจากแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะพื้นฐานและความสามารถในการตระหนักรู้ตนในระดับที่แตกต่างกัน ประกอบกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์รอบตัวที่เผชิญอยู่ทุกวัน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีเทคนิคง่ายๆที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง เทคนิคดังกล่าวนี้ช่วยลูกค้าของผู้เขียนซึ่งเป็นผู้รับการโค้ช (โค้ชชี่) มาแล้วหลายรายให้ประสบความสำเร็จ มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และความคิด จนสามารถเอาชนะใจตนเองและบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ

เทคนิคดังกล่าวเรียกว่า ‘การจับไอ้ตัวแสบ’ เป็นเทคนิคการระบุไอ้ตัวแสบซึ่งก็คือสภาวะอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นคำสั้นๆ ทำไมผู้เขียนจึงเรียกมันว่าไอ้ตัวแสบ เพราะเจ้าอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆนั้น เราไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องมันได้เลย แต่มันกลับส่งผลขับเคลื่อนพฤติกรรม ส่งผลต่อการตัดสินใจที่กำหนดชะตาชีวิตของเรา การจับไอ้ตัวแสบเหล่านี้ รู้เท่าทันมัน จัดการกับมันได้ จะทำให้เรากลายเป็นผู้นำ ผู้กุมบังเหียนชีวิตตนเองโดยแท้จริง

สำหรับวิธีการจับไอ้ตัวแสบ ขั้นตอนแรกคือให้เราสังเกตตัวเราเอง เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่า มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในใจเรา จิตเราไม่นิ่ง มันหวั่นไหว ไม่สงบ ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการผิดปกติดังกล่าวได้จากอาการทางกายได้เช่นกัน เช่น ปวดหัว ใจสั่น หน้าแดง มวนท้อง อาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า เราอาจกำลังรู้สึกเครียด เราจึงปวดหัว เรากำลังรู้สึกโกรธ หัวใจเราจึงเต้นแรง เรากำลังกังวล เราจึงรู้สึกมวนท้อง

ขั้นตอนที่สอง ให้เราตั้งคำถามกับตัวเราว่า ขณะนี้ เรารู้สึกอะไร? และระบุสภาวะอารมณ์นั้นออกมาเป็นคำสั้นๆ เช่น กลัว กังวล สุข โกรธ คับข้องใจ สภาวะอารมณ์ที่ระบุสามารถเป็นได้ทั้งอารมณ์เชิงลบและเชิงบวก เพราะไม่ว่าอารมณ์ด้านใดก็ล้วนส่งผลให้สภาวะจิตใจของเราสูญเสียความเป็นกลางทั้งสิ้น ทำให้มองสถานการณ์ไม่ขาด และตัดสินใจผิดพลาดได้

ขั้นตอนที่สาม ถือเป็นทางเลือกของเราว่าจะเลือก ‘ละ’ หรือจะ ‘ถือ’ อารมณ์นั้นไว้ต่อไป โดยปกติ เมื่อเราจับไอ้ตัวแสบได้ อิทธิพลของมันมักจะลดลงในทันที เหมือนผีย่อมไม่อาจอยู่ในที่สว่างได้ อย่างไรก็ตาม หากเราอยากถือหรือแบกอารมณ์ที่เราจับได้ต่อ เช่น อารมณ์สุข หรืออารมณ์โกรธก็ตาม อย่างน้อย เราก็จะได้รู้ว่ากำลังถือตัวแสบอะไรอยู่ อิทธิพลของมันที่มีต่อเราจะน้อยลงกว่าในตอนแรก และหากเราต้องการ เราก็จะละมันได้ หรือเมื่อถึงจุดหนึ่งอารมณ์นั้นก็จะค่อยๆหายไป และในอนาคต ก็อาจมีอารมณ์ใหม่เกิดขึ้นให้เราจับ และบริหารจัดการมันอีก

เทคนิคการจับไอ้ตัวแสบ เป็นเทคนิคง่ายๆ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง และหากทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง จะช่วยทำให้ตระหนักรู้อารมณ์ของตนได้เร็วขึ้นและละวางได้เร็วขึ้น กลายเป็นผู้มีสติทุกขณะและเป็นผู้ชนะใจตนโดยแท้จริง


หมายเลขบันทึก: 621287เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2017 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2017 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท